คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๙๕๓/๒๕๔๙


แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)


ชั้นต้น
โจทก์ฟ้องว่า
จำเลยให้การ
ศาลชั้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า
ชั้นอุทธรณ์
ชั้นฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวน ประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสามเป็นคนร้ายกระทำความผิดตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือไม่
ปัญหาดังกล่าว โจทก์นำสืบว่า
จำเลยทั้งสามนำสืบว่า
พิเคราะห์แล้ว สมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า ผู้ตายถูกคนร้ายฆ่าในเวลาใด ด้วยพฤติการณ์อย่างไร และหลังจากนั้น คนร้ายได้จัดศพผู้ตายให้นอนคว่ำตะแคงซ้ายตามที่พนักงานโรงแรมเกิดเหตุไปพบเห็นหรือไม่
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไป คือ จำเลยทั้งสามเป็นคนร้ายหรือไม่
พิพากษา





คำพิพากษา
 


เรื่อง   ความผิดต่อชีวิต ลักทรัพย์ ความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม ความผิดต่อการชันสูตรพลิกศพ ความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ

ตราครุฑ
ตราครุฑ
ที่ ๕๙๕๓/๒๕๔๙

ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
ศาลฎีกา
 
พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์
ระหว่าง
พันตรี เฉลิมชัย มัจฉากล่ำ   ที่ ๑ จำเลย
สิบเอก มานิตย์ ศรีสะอาด   ที่ ๒
สิบเอก สุวัฒน์ คำเหง้า   ที่ ๓



จำเลยทั้งสามฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ลงวันที่ ๒๖ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๔๗ ศาลฎีการับวันที่ ๑๖ เดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๔๘

คดีนี้ เดิมศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกับคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๑๘๔๒/๒๕๔๔ หมายเลขแดงที่ ๒๙๑๗/๒๕๔๕ ของศาลชั้นต้น แต่คดีดังกล่าวยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามและจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๑๘๔๒/๒๕๔๔ ของศาลชั้นต้น ซึ่งเป็นพลเรือน กับพวกอีกหลายคนที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ร่วมกันกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ เมื่อระหว่างวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๔๔ เวลากลางคืนก่อนเที่ยง ถึงวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๔๔ เวลากลางวัน จำเลยทั้งสามกับพวกร่วมกันมีอาวุธปืนพกรูปร่างคล้ายไฟแช็ก ชนิดสองลำกล้อง ขนาด .๒๒ magnum หนึ่งกระบอก ไม่มีเครื่องหมายทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับ กับกระสุนปืนขนาด .๒๒ magnum หนึ่งนัด ซึ่งใช้ยิงได้ ไว้ในครอบครอง และร่วมกันใช้อาวุธปืนกับเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ เหตุเกิดที่แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง และแขวงวังทองหลาง เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร เกี่ยวพันกัน กับเมื่อวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๔๔ เวลากลางวัน จำเลยทั้งสามกับพวกร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายรุมจับตัวนายปรีณะ ลีพัฒนะพันธ์ ผู้ตาย จนอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ แล้วใช้ของแหลมมีคมแทง เชือด ปาดที่บริเวณลำคอของผู้ตายหลายครั้งจนเกิดเป็นบาดแผลฉกรรจ์หลายแผลลึกถึงหลอดลมและเส้นโลหิตฉีกขาด และใช้อาวุธปืนกับเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวยิงศีรษะผู้ตายซ้ำอีกหนึ่งนัด โดยมีเจตนาฆ่าและไตร่ตรองไว้ก่อน อันเป็นการฆ่าโดยทรมานและกระทำทารุณโหดร้าย เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย วันเวลาเดียวกัน หลังจากนั้น จำเลยทั้งสามกับพวกร่วมกันลักเอากระเป๋าเงินหนึ่งใบ, แหวนทองคำหัวพลอยสีฟ้าหนึ่งวง ราคาสองแสนบาท และโทรศัพท์เคลื่อนที่หนึ่งเครื่อง ราคาเก้าพันบาท รวมราคาทรัพย์สองแสนเก้าพันบาท ของผู้ตายไปโดยทุจริต ต่อมา ระหว่างวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๔๔ เวลากลางวัน หลังเกิดเหตุดังกล่าวแล้ว จนถึงวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๔๔ เวลากลางวัน ต่อเนื่องกัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยทั้งสามกับพวกที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องร่วมกันเคลื่อนย้ายศพผู้ตายซึ่งตายโดยผิดธรรมชาติ ก่อนมีการชันสูตรพลิกศพของเจ้าพนักงานตามกฎหมายเสร็จสิ้น อันเป็นการย้ายและกระทำการใด ๆ แก่ศพผู้ตายเพื่อปิดบังการตายหรือเหตุแห่งการตายและเพื่ออำพรางคดี ในประการที่น่าจะทำให้การชันสูตรพลิกศพและผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไป เหตุเกิดที่โรงแรมรอยัลแปซิฟิค แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร วันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๔๔ เจ้าพนักงานพบกระสุนปืนหนึ่งลูก (ที่ถูก หัวกระสุนปืนหนึ่งหัว) ในที่เกิดเหตุ จึงยึดเป็นของกลาง วันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๔๔ จำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๑๘๔๒/๒๕๔๔ ของศาลชั้นต้น เข้ามอบตัวต่อเจ้าพนักงาน และนำยึดแหวนทองคำหัวพลอยสีฟ้าของผู้ตายที่ร่วมกันลักไป และอาวุธปืนพกรูปร่างคล้ายไฟแช็ก ขนาด .๒๒ magnum ที่ร่วมกันมีไว้และใช้ในการกระทำความผิด เป็นของกลาง ต่อมา วันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๔๔ เจ้าพนักงานจับกุมจำเลยที่ ๑ ได้ และในวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๔ จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน จำเลยที่ ๑ เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ ๕ ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๓๒๐๓/๒๕๔๐ ของศาลชั้นต้น ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒, ๓๓, ๘๓, ๙๑, ๑๙๙, ๒๘๘, ๒๘๙, ๓๓๕, ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๐ ทวิ, พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๗๒ โดยนับโทษจำเลยที่ ๑ ต่อจากโทษของจำเลยที่ ๕ ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๓๒๐๓/๒๕๔๐ ของศาลชั้นต้น ริบอาวุธปืนและลูกกระสุนปืน (ที่ถูก หัวกระสุนปืน) ของกลาง ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ลักไปและยังไม่ได้คืนเป็นเงินเก้าพันบาทแก่เจ้าของ

จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ ๑ รับว่า เป็นบุคคลเดียวกับจำเลยที่ ๕ ในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙ (๔), ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๐ ทวิ วรรคสอง, พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๗๒ วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ การกระทำของจำเลยที่ ๑ เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ให้ประหารชีวิต, ฐานความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๐ ทวิ จำคุกหนึ่งปี, ฐานใช้อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกหนึ่งปี แต่เมื่อลงโทษประหารชีวิตจำเลยที่ ๑ แล้วจึงไม่นำโทษกระทงอื่นมารวมอีก คงลงโทษประหารชีวิตจำเลยที่ ๑ สถานเดียว และเมื่อลงโทษประหารชีวิต ย่อมไม่อาจนับโทษจำเลยที่ ๑ ต่อได้ ริบอาวุธปืนและลูกกระสุนปืน (ที่ถูก หัวกระสุนปืน) ของกลาง ข้อหาและคำขออื่นให้ยก และยกฟ้องจำเลยที่ ๒ และที่ ๓

โจทก์และจำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ โดยอัยการสูงสุดรับรนองให้โจทก์อุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริงในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๐ ทวิ

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙ (๔), ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๐ ทวิ วรรคสอง, พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๗๒ วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ การกระทำของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ให้ประหารชีวิต, ฐานความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๐ ทวิ จำคุกหนึ่งปี และฐานร่วมกันใช้อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกหนึ่งปี แต่เมื่อลงโทษประหารชีวิตจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ในกระทงความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนแล้ว ก็ไม่อาจนำโทษจำคุกมารวมอีกได้ คงลงโทษประหารชีวิตจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ สถานเดียว นอกจากที่แก้ ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสามฎีกา

ศาลฎีกาตรวจสำนวน ประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์และจำเลยทั้งสามนำสืบรับไม่ได้โต้แย้งกัน และคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ซึ่งจำเลยทั้งสามมิได้ฎีกาคัดค้าน ฟังได้ในเบื้องต้นว่า นายปรีณะ ลีพัฒนะพันธ์ ผู้ตาย รู้จักและเคยมีเพศสัมพันธ์กับนางสาวเบญจวรรณ มนัสไพบูลย์ และนางสาวอัญคนางค์ หรือปิยะดา หรือน้อย สุนทรวิภาต หรือสุนทรวิภาค จำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๑๘๔๒/๒๕๔๔ หมายเลขแดงที่ ๒๙๑๗/๒๕๔๕ ของศาลชั้นต้น ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษไปแล้วในความผิดฐานมีอาวุธปืนพกรูปร่างคล้ายไฟแช็ก ขนาด .๒๒ magnum หนึ่งกระบอก ของกลาง และกระสุนปืนขนาดเดียวกันหนึ่งนัด ที่คนร้ายใช้ยิงผู้ตาย ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต, ฐานพาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวไปในเมืองและทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและไม่มีเหตุสมควร และฐานรับของโจร แหวนทองคำหัวพลอยสีฟ้าหนึ่งวง ของกลาง ซึ่งเป็นของผู้ตาย ขณะเกิดเหตุ ผู้ตายดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร เมื่อเดินทางไปยังกรุงเทพมหานคร ผู้ตายมักจะไปพักที่โรงแรมรอยัลแปซิฟิค ถนนพระราม ๙ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร สถานที่เกิดเหตุคดีนี้ วันเกิดเหตุคือวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๔๔ เวลาเช้า ผู้ตายเดินทางด้วยเครื่องบินโดยสารไปยังกรุงเทพมหานครเพื่อร่วมงานมงคลสมรสในเย็นวันนั้น และเข้าประชุมรับนโยบายการบริหารราชการจากนายกรัฐมนตรีในเช้าวันรุ่งขึ้น เสร็จแล้วจะเดินทางกลับในเย็นวันดังกล่าว ผู้ตายไปถึงสนามบินดอนเมืองเมื่อเวลา ๙:๔๐ นาฬิกา แล้วผู้ตายได้ไปพบนางสาวเบญจวรรณที่ห้องพักอาคารชุดในซอยสุขุมวิท ๓๖ ร่วมหลับนอนกับนางสาวเบญจวรรณ แล้วรับประทานอาหารกลางวันเสร็จเมื่อเวลาประมาณ ๑๔ นาฬิกา จากนั้น ผู้ตายได้นั่งรถแท็กซีไปยังโรงแรมเกิดเหตุและเข้าพักที่ห้องเกิดเหตุหมายเลข ๔๐๐๖ ซึ่งอยู่ในชั้นที่ ๔ เมื่อเวลา ๑๕:๓๐ นาฬิกา โดยผู้ตายได้นัดนางสาวอัญคนางค์ให้ไปพบ นางสาวอัญคนางค์ไปหาผู้ตายที่ห้องเกิดเหตุเมื่อเวลาประมาณ ๑๖ นาฬิกา โดยนำอาวุธปืนของกลางที่พันโท เศรษฐ์ชัย สุทนต์ คนรัก มอบให้ไว้สำหรับใช้ป้องกันตัว และมีดปอกผลไม้หนึ่งเล่มที่เพิ่งซื้อจากห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์บางกะปิใส่กระเป๋าติดตัวไปด้วย แล้วนางสาวอัญคนางค์ได้ร่วมหลับนอนกับผู้ตายอยู่ในห้องเกิดเหตุ จนกระทั่งนางสาวอัญคนางค์เปิดประตูห้องเกิดเหตุจะกลับ คนร้ายซึ่งอยู่ด้านนอกได้เข้าไปในห้อง ใช้อาวุธปืนของกลางและมีดปอกผลไม้ดังกล่าวเป็นอาวุธฆ่าผู้ตาย โดยใช้มีดปาด แทง และเชือดที่ลำคอหลายครั้ง และใช้อาวุธปืนจ่อยิงที่ศีรษะด้านหลังบริเวณข้างกกหูซ้ายหนึ่งนัด เป็นเหตให้ผู้ตายได้รับบาดแผลหลายแห่ง รวมทั้งแผลถูกมีดบาดที่นิ้วนาง นิ้วชี้ และฝ่ามือขวา กับรอยช้ำเขียวที่พับในศอกซ้าย อันเนื่องมาจากการปัดป้องขัดขืน ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ตามรายงานการชันสูตรพลิกศพ เอกสารหมาย จ. ๒๗, รายงานการตรวจศพ เอกสารหมาย จ. ๓๒, ภาพถ่ายหมาย จ. ๒๕ ภาพที่ ๗ ถึงภาพที่ ๑๑ และภาพถ่ายหมาย จ. ๒๖ จากนั้น นางสาวอัญคนางค์ได้ออกจากห้องเกิดเหตุโดยเอาแหวนทองคำหัวพลอยสีฟ้าของผู้ตายไปด้วย และนำไปขายให้แก่นายธันยวัตร แซ่โง้ว ที่ร้านซีลอน แซฟไฟร์ จิวเวลรี่ ซึ่งอยู่ในห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์บางปะกิเมื่อเวลาประมาณ ๑๘ นาฬิกา ต่อมา วันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๔๔ เวลาประมาณ ๑๔ นาฬิกา พนักงานโรงแรมจึงพบว่า ผู้ตายถูกฆ่านอนขวางประตูทางเข้าอยู่ในห้องเกิดเหตุบริเวณหน้าตู้เสื้อผ้าซึ่งตั้งอยู่ริมผนังด้านปลายเตียงนอนชิดขอบประตูทางเข้าซึ่งอีกด้านหนึ่งมีเก้าอี้ชุดรับแขกตั้งอยู่ ในลักษณะนอนคว่ำตะแคงซ้าย ศีรษะชนตู้เสื้อผ้า ลำตัวขนานกับแนวขอบเตียงนอนด้านเก้าอี้ชุดรับแขก ปลายเท้าหันไปทางหัวเตียง โดยมีผ้าเช็ดตัวผืนหนึ่งพันรอบลำคอ อีกผืนหนึ่งคลุมทับปิดถึงศีรษะ ชายผ้าทั้งสองข้างสอดอยู่ด้านใต้ศพ มีโลหิตไหลกองเป็นลิ่มอยู่ที่พื้นห้องบริเวณใต้ศีรษะและลำคอของศพ กับมีโลหิตกระเซ็นติดตู้เสื้อผ้าอยู่เล็กน้อยบริเวณเหนือศีรษะสูงประมาณหนึ่งฟุต ตามภาพถ่ายหมาย จ. ๒๕ ภาพที่ ๓ ถึงภาพที่ ๖ และภาพที่ ๑๑ ภายในห้องเกิดเหตุไม่มีร่องรอยการต่อสู้ จำเลยทั้งสามรับราชการเป็นทหาร ขณะเกิดเหตุ ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในศูนย์อำนวยการร่วม ๑๐๘ กองบัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งมีภารกิจเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด มีพลโท นรเศรษฐ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา เป็นหัวหน้าศูนย์ พันเอก นเรนทร์ฤทธิ์ มหารักขกะ เป็นหัวหน้านายทหารสืบสวน โดยจำเลยที่ ๑ เป็นนายทหารสืบสวน มีจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นผู้ใต้บังคับบัญชา และใช้อาคารในบ้านจำเลยที่ ๑ บางส่วนเป็นที่ทำงานและพบปะสั่งการ เรียกว่า บ้านปลอดภัย วันเกิดเหตุ เวลาประมาณ ๒ นาฬิกา ก่อนผู้ตายจะเข้าพักในห้องเกิดเหตุ จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นลูกค้าประจำของโรงแรมเกิดเหตุ ได้พานางสาวประยูร ถาวร ซึ่งเป็นภริยาคนหนึ่ง กับจำเลยที่ ๒, ที่ ๓ และลูกน้องอื่น รวมห้าถึงหกคน ไปพักที่โรงแรมเกิดเหตุ ห้องหมายเลข ๔๐๑๕ และ ๔๐๑๗ ซึ่งอยู่ติดกันในชั้นที่ ๔ ปีกเดียวกับห้องเกิดเหตุ แต่อยู่คนละฟากของทางเดิน ห่างกันประมาณสิบห้าเมตร ตามแผนผัง เอกสารหมาย จ. ๘๒ โดยจำเลยที่ ๑ และนางสาวประยูรพักห้องหมายเลข ๔๐๑๕ จำเลยที่ ๒, ที่ ๓ และพวกที่เหลือพักห้องหมายเลข ๔๐๑๗ ซึ่งประตูทางเข้าเปิดโดยผลักบานประตูเข้าไปในห้อง อยู่เยื้องกับห้องเกิดเหตุ และเมื่อเปิดบานประตูแง้มไว้ ผู้ที่อยู่ในห้องหมายเลข ๔๐๑๗ สามารถมองเห็นคนเดินไปห้องเกิดเหตุได้โดยไม่ต้องชะโงกหน้าออกไป วันเกิดเหตุ เวลาบ่าย จำเลยที่ ๑ กับพวกได้ออกไปจากโรงแรมเกิดเหตุแล้วกลับเข้ามา และขอเปลี่ยนห้องหมายเลข ๔๐๑๗ เป็นห้องหมายเลข ๔๐๑๖ ซึ่งอยู่ตรงกันข้าม แล้วพักแรมต่อจนกระทั่งวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๔๔ เวลาประมาณ ๑๓ นาฬิกา จำเลยที่ ๑ จึงได้คืนห้องพักและออกจากโรงแรมเกิดเหตุพร้อมกับจำเลยที่ ๒, ที่ ๓, นางสาวประยูร และพวกไปก่อนที่พนักงานโรงแรมจะพบศพผู้ตายและแจ้งเจ้าพนักงานตำรวจ เมื่อทราบเหตุแล้ว ร้อยตำรวจโท มารุต แก้วประเสริฐ พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลวังทองหลาง ได้ไปยังที่เกิดเหตุตั้งแต่เวลา ๑๔:๔๕ นากา แล้วร่วมกับพวก และแพทย์สถาบันนิติเวชวิทยา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กับเจ้าพนักงานตำรวจ กองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชันสูตรพลิกศพผู้ตายและตรวจสถานที่เกิดเหตุเฉพาะห้องเกิดเหตุ โดยยังไม่ได้ใช้สารเคมีตรวจหาคราบโลหิตที่มองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า จากนั้น ได้ส่งศพผู้ตายไปตรวจพิสูจน์ทั้งภายนอกภายในที่สถาบันนิติเวชวิทยา ปรากฏว่า ศพผู้ตายมีรอยจ้ำโลหิตตกสู่ที่ต่ำ (lividity)[1] อยู่ที่ใบหน้าซีกขวา ขาขวา ลำตัวด้านขวา และต้นแขนซ้ายด้านใน กับมีอาหารที่ยังย่อยไม่หมดเหลืออยู่ในกระเพาะประมาณหนึ่งร้อยลูกบาศก์เซนติเมตร ตามรายงานการตรวจศพ เอกสารหมาย จ. ๓๒ ต่อมา วันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๔๔ ร้อยตำรวจเอกหญิง โศรดา ปิติเลิศปัญญา เจ้าพนักงานตำรวจ กองพิสูจน์หลักฐาน ได้ร่วมกับเจ้าพนักงานตำรวจ สถานีตำรวจนครบาลวังทองหลาง และเจ้าพนักงานตำรวจ กองปราบปราม ไปตรวจหาคราบโลหิตที่ห้องเกิดเหตุ กับห้องหมายเลข ๔๐๑๕, ๔๐๑๖, ๔๐๑๗ และห้องในชั้นที่ ๔ ที่มีผู้เข้าพักทุกห้อง ปรากฏว่า พบคราบโลหิตที่อ่างล่างหน้า หัวก๊อกน้ำและท่อน้ำทิ้งของอ่างล้างหน้า กับที่อ่างอาบน้ำ หัวก๊อกน้ำและท่อน้ำทิ้งของอ่างอาบน้ำ ทั้งในห้องหมายเลข ๔๐๑๕ และ ๔๐๑๗ จึงนำไปตรวจพิสูจน์ว่า เป็นคราบโลหิตของผู้ตายหรือไม่ ด้วยการตรวจสารพันธุกรรม (DNA) เปรียบเทียบกับสารพันธุกรรมในคราบโลหิตของผู้ตายโดยใช้น้ำยา polymarker ผลปรากฏว่า สารพันธุกรรมในคราบโลหิตที่พบในท่อน้ำทิ้งของอ่างล่างหน้าในห้องหมายเลข ๔๐๑๕ ตรงกับสารพันธุกรรมในคราบโลหิตของผู้ตายทุกตำแหน่ง ตามรายงานการตรวจพิสูจน์ เอกสารหมาย จ. ๓๔ แผ่นที่ ๔ ส่วนคราบโลหิตซึ่งพบในที่อื่น ๆ มีจำนวนน้อย ไม่สามารถตรวจสารพันธุกรรมได้ว่าเป็นคราบโลหิตมนุษย์หรือไม่และเป็นของผู้ตายหรือไม่ ต่อมา วันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๔๔ พันตำรวจเอก พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธ์ เจ้าพนักงานตำรวจ กองปราบปราม กับพวก นำหมายค้นไปตรวจค้นบ้านจำเลยที่ ๑ พบกระดาษเขียนแผนผังห้องเกิดเหตุ, ห้องหมายเลข ๔๐๑๕ และห้องหมายเลข ๔๐๑๗ ซึ่งจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ทำขึ้น ตามเอกสารหมาย จ. ๔๙ แผ่นที่ ๒ ขยำทิ้งอยู่ในถังขยะข้างโต๊ะในห้องทำงานของจำเลยที่ ๑ กับพบคราบโลหิตที่แป้นเบรกรถยนต์ยี่ห้ออีซูซุทรูปเปอร์สีเลือดหมู หมายเลขทะเบียน กท-๓๙๖๕ เชียงใหม่ ของจำเลยที่ ๑ และพบคราบโลหิตที่รองเท้าผ้าใบของจำเลยที่ ๓ แต่คราบโลหิตดังกล่าวมีจำนวนน้อย ไม่สามารถตรวจพิสูจน์ได้ว่าเป็นโลหิตมนุษย์หรือไม่ วันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๔๔ นางสาวอัญคนางค์เข้ามอบตัวและให้การรับสารภาพต่อพันตำรวจเอก วีระศักดิ์ มีนะวาณิชย์ และพวกว่า เป็นคนฆ่าผู้ตาย และทำเพียงคนเดียว เหตุเพราะขอเลิกมีความสัมพันธ์กับผู้ตาย แต่ผู้ตายไม่ยอม ทำให้โกรธ จึงใช้อาวุธปืนของกลางยิงที่กกหูซ้ายผู้ตายในขณะที่ผู้ตายเผลอเข้ามายืนโอบกอด ผู้ตายล้มลงแต่ยังไม่ถึงแก่ความตาย จึงใช้มีดปอกผลไม้แทงที่ลำคอหลายครั้ง โดยแทงแล้วกระชากสองถึงสามครั้ง ผู้ตายพยายามต่อสู้และใช้มือปัดป้อง เป็นเหตุให้ถูกมีดบาดมือ และนางอัญคนางค์เห็นโลหิตผู้ตายออกเป็นจำนวนมาก เกิดความกลัว จึงใช้ผ้าเช็ดตัวสองผืนคลุมที่ศีรษะและลำคอของผู้ตาย เมื่อเห็นว่าผู้ตายนอนแน่นิ่งไปแล้วจึงได้ออกจากห้องเกิดเหตุโดยนำแหวนของกลางไปด้วย เจ้าพนักงานตำรวจจึงจับกุมนางสาวอัญคนางค์เป็นผู้ต้องหาและสอบสวน นางสาวอัญคนางค์ก็ให้การรับสารภาพโดยนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ แม้ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจะแจ้งข้อหาเพิ่มเติม นางสาวอัญคนางค์ก็ยังยืนยันให้การรับสารภาพเช่นเดิม ตามบันทึกคำรับสารภาพ, บันทึกการจับกุม, บันทึกคำให้การผู้ต้องหา และบันทึกคำให้การผู้ต้องหาเพิ่มเติม เอกสารหมาย จ. ๕๙, จ. ๖๐, จ. ๙๕ ถึง จ. ๙๘, บันทึกการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพและภาพถ่ายหมาย จ. ๗๕ ถึง จ. ๘๐ ต่อมา วันที่ ๒๔, วันที่ ๒๘ และวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๔๔ ขณะถูกควบคุมตัวอยู่ในทัณฑสถานหญิงกลาง นางสาวอัญคนางค์ได้ให้การใหม่ว่า ไม่ได้เป็นคนฆ่าผู้ตาย ผู้ที่ฆ่าผู้ตายคือชายคนร้ายสามคนที่เข้าไปในห้องเกิดเหตุขณะนางสาวอัญคนางค์เปิดประตูจะกลับ และคนร้ายดังกล่าวคนหนึ่งคือจำเลยที่ ๑ ตามบันทึกคำให้การเพิ่มเติม เอกสารหมาย จ. ๙๙ ถึง จ. ๑๐๑ โดยนางสาวอัญคนางค์ได้นำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำให้การไว้ด้วย ตามบันทึกการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำให้การและภาพถ่ายหมาย จ. ๙๓ และ จ. ๙๔ สำหรับฐานความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๐ ทวิ วรรคสอง และฐานร่วมกันใช้อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ ๑ กระทงละหนึ่งปี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนในความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ วรรคหนึ่ง ที่จำเลยที่ ๑ ฎีกาว่า ไม่ได้กระทำความผิดนั้น เป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสามเป็นคนร้ายกระทำความผิดตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษา นอกเหนือจากความผิดที่ต้องห้ามฎีกา หรือไม่ ปัญหาดังกล่าว โจทก์นำสืบว่า ก่อนเกิดเหตุ ผู้ตายมีข้อขัดแย้งกับผู้มีอิทธิพลเกี่ยวกับโครงการบำบัดน้ำเสียในจังหวัดยโสธรมูลค่าประมาณห้าร้อยล้านบาทซึ่งผู้ตายตรวจพบว่า มีการทุจริต จะไม่อนุมัติให้เบิกจ่ายเงิน ปกติจำเลยที่ ๑ เข้าพักในโรงแรมเกิดเหตุโดยใช้ชื่อตนเอง วันเกิดเหตุ เริ่มแรก นายถวิล หม้อไธสง พนักงานยกกระเป๋า ได้เขียนชื่อจำเลยที่ ๑ เป็นผู้เข้าพักลงในบัตรจดชื่อผู้เข้าพักแทนจำเลยที่ ๑ แต่ก่อนที่พนักงานต้อนรับจะนำไปกรอกลงในข้อมูลหลักฐานของโรงแรม จำเลยที่ ๑ ได้ให้นายถวิลเปลี่ยนชื่อผู้เข้าพักเป็นชื่ออื่น นายถวิลจึงขีดฆ่าชื่อจำเลยที่ ๑ ออกและเขียนชื่อเล่นของตนเองว่า Guy แทน วันดังกล่าว เวลาประมาณ ๑๔ นาฬิกา นายคำภีร์ ลิภา พนักงานทำความสะอาด เห็นผู้ที่อยู่ในห้องหมายเลข ๔๐๑๗ เปิดประตูห้องแง้มไว้ เมื่อมีลมพัดกระแทกประตู คนในห้องก็ชะโงกหน้าออกไปมอง เวลาประมาณ ๑๕ นาฬิกา นางสาวณัฏฐา เครือนาค พนักงานต้อนรับ และนายวสันต์ บุญทะเล พนักงานยกกระเป๋า เห็นจำเลยที่ ๑ กับพวกออกไปจากโรงแรมเกิดเหตุ ก่อนออกไป จำเลยที่ ๑ บอกให้พนักงานทำความสะอาดห้องด้วย แล้วกลับเข้ามาเมื่อเวลาประมาณ ๑๗ นาฬิกา ต่อมา เวลาประมาณ ๒๑ นาฬิกา ผู้เข้าพักห้องหมายเลข ๔๐๑๗ ขอเปลี่ยนห้องพักหมายเลข ๔๐๑๗ เป็นห้องหมายเลข ๔๐๑๖ โดยอ้างว่า เครื่องปรับอากาศไม่มีความเย็น ความจริงเครื่องปรับอากาศห้องดังกล่าวใช้การได้ตามปกติ ด้านหลังของกระดาษเขียนแผนผังห้องเกิดเหตุและห้องที่จำเลยที่ ๑ กับพวกเข้าพักตามเอกสารหมาย จ. ๔๙ แผ่นที่ ๒ มีข้อความเขียนถึงเวลาออกจากการทำงานของพนักงานโรงแรมอยู่ด้วย ไม่ใช่กระดาษร่างแผนผังห้องดังกล่าวเพื่อทำรายชี้แจงต่อผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ ๑ รถยนต์ยี่ห้ออีซูซุทรูปเปอร์ หมายเลขทะเบียน กท-๓๙๖๕ เชียงใหม่ ของจำเลยที่ ๑ เพิ่งเข้าอู่ซ่อมในวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๔๔ และออกจากอู่ในวันรุ่งขึ้น จำเลยที่ ๒ ตกม้าเมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๔๓ ได้รับบาดเจ็บเป็นบาดแผลฉีกขาดและแผลถลอกที่เท้าเพียงเล็กน้อย ใช้เวลารักษาประมาณสิบวัน โลหิตที่ไหลออกจากร่างกายจะแข็งตัวเป็นลิ่มภายในเวลาประมาณสองชั่วโมง โลหิตที่ยังไม่แข็งตัวเมื่อถูกน้ำจะละลายเป็นเนื้อเดียวกับน้ำ จะมองไม่เห็นเป็นตะกอนโลหิต แต่จะปะปนไปกับคราบสกปรกที่ตกตะกอน แต่โลหิตที่แข็งตัวแล้วจะไม่ละลายเป็นเนื้อเดียวกับน้ำ เมื่อนำมาหยดด้วยน้ำยาจะเห็นเป็นจุด ๆ และยังมีสภาพเป็นก้อนโลหิตอยู่ คราบโลหิตที่พบอยู่ในท่อน้ำทิ้งของอ่างล้างหน้าในห้องหมายเลข ๔๐๑๕ เป็นคราบของโลหิตที่ยังไม่แข็งตัว ผลการตรวจสารพันธุกรรมโดยใช้น้ำยา polymarker แม่นยำถูกต้องเชื่อถือได้ อาหารที่มนุษย์รับประทานจะถูกย่อยหมดภายในเวลาสี่ชั่วโมง รอยจ้ำโลหิตตกสู่ที่ต่ำจะเริ่มพบในช่วงเวลาหลังจากถึงแก่ความตายสองชั่วโมงขึ้นไป จากนั้น รอยจ้ำโลหิตตกสู่ที่ต่ำจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงหลังจากถึงแก่ความตายแปดถึงสิบสองชั่วโมง บาดแผลถูกปาด แทง และเชือดที่ลำคอ กับบาดแผลถูกยิงที่ศีรษะด้านหลังบริเวณกกหูซ้าย ต่างก็ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายได้ แต่บริเวณบาดแผลถูกยิงมีเส้นโลหิตใหญ่และกระสุนปืนถูกกะโหลกศีรษะแตกยุบไปกดทับสมองใหญ่ด้านซ้ายซึ่งควบคุมแขนขวาและร่างกายซีกขวา บาดแผลถูกปาดที่ลำคอปาดจากซ้ายไปขวาบริเวณลูกกระเดือก ตัดกล่องเสียง หลอดลม และเส้นโลหิตแดงใหญ่ลำคอด้านซ้าย เป็นแผลขอบเรียบ บาดแผลถูกแทงมีสิบเอ็ดแผล ส่วนใหญ่อยู่ที่บริเวณลำคอด้านขวา ตัดเส้นโลหิตดำใหญ่บริเวณลำคอด้านขวา และหลายแผลแทงทะลุกระดูกสันคอ เป็นแผลขอบเรียบ ส่วนแผลถูกเชือดอยู่ขอบขากรรไกรล่างด้านขวาลึกถึงกล้ามเนื้อโคนลิ้นเป็นแผลขอบรุ่งริ่ง ผู้ตายสูงประมาณหนึ่งร้อยหกสิบแปดเซนติเมตร ที่ศพผู้ตายมีโลหิตเปรอะเปื้อนเฉพาะร่างกายและเสื้อด้านหน้าส่วนบนไม่ถึงกางเกง ด้านหลังไม่มีโลหิต จากสภาพห้องเกิดเหตุ สภาพศพ บาดแผล และคราบโลหิตของผู้ตาย สันนิษฐานได้ว่า คนร้ายมีหลายคนเข้ามาช่วยกันจับผู้ตายนอนคว่ำกดลงกับพื้น ล็อกแขนซ้ายไขว้หลังจนเกิดรอยช้ำเขียว เอาแขนขวาไว้ด้านหน้า ให้อีกคนหนึ่งใช้มีดปาด แทง และเชือดที่ลำคอ โดยจับศีรษะผู้ตายดึงขึ้นในลักษณะตะแคงขวาแล้วปาด แทง และเชือดตามลำดับ ต่อมา จึงใช้อาวุธปืนจ่อยิงที่ศีรษะ โดยก่อนที่จะถูกปาดด้วยมีด ผู้ตายได้ดิ้นรนขัดขืนใช้มือขวาจับมีดของคนร้ายจนถูกมีดบาดตามภาพถ่ายหมาย จ. ๓๓ แพทย์และเจ้าพนักงานตำรวจที่พิสูจน์ศพผู้ตายและสถานที่เกิดเหตุมีความเห็นไม่น่าเชื่อว่า นางสาวอัญคนางค์จะฆ่าผู้ตายโดยทำได้เพียงคนเดียวและใช้อาวุธปืนยิงก่อนในขณะที่ผู้ตายยืนอยู่ดังที่นางสาวอัญคนางค์ให้การรับสารภาพตามเอกสารหมาย จ. ๕๙, จ. ๖๐, จ. ๙๕ ถึง จ. ๙๘ ก่อนที่นางสาวอัญคนางค์จะให้การรับสารภาพดังกล่าว วันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๔๔ เวลาประมาณ ๑๘ นาฬิกา ขณะที่พันตำรวจเอก จิรสิทธิ์ มหินทรเทพ รองผู้บังคับการตำรวจทางหลวง ซึ่งนางสาวอัญคนางค์เคารพนับถือ กำลังจะเดินทางไปราชการที่จังหวัดจันทบุรี นางสาวอัญคนางค์ได้โทรศัพท์ไปหาพันตำรวจเอก จิรสิทธิ์พร้อมกับร้องไห้และบอกว่า กลัว พันตำรวจเอก จิรสิทธิ์จึงสอบถามว่า เรื่องอะไร นางสาวอัญคนางค์แจ้งว่า ตนคือหญิงที่อยู่ในห้องกับผู้ตายในวันเกิดเหตุและเอาแหวนของผู้ตายไปตามข่าวในหนังสือพิมพ์ โดยยังไม่ได้เล่ารายละเอียด พันตำรวจเอก จิรสิทธิ์ต้องรีบเดินทางไปราชการจึงนัดให้นางสาวอัญคนางค์โทรศัพท์ไปหาใหม่ในวันจันทร์ที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๔๔ เมื่อถึงวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๔๔ เวลาบ่าย นางสาวอัญคนางค์ก็โทรศัพท์ไปหาพันตำรวจเอก จิรสิทธิ์ พันตำรวจเอก จิรสิทธิ์จึงให้นางสาวอัญคนางค์ไปพบในวันรุ่งขึ้นที่ห้องทำงานของตนแล้วสอบถามข้อเท็จจริง รายละเอียด และสาเหตุที่นางสาวอัญคนางค์ไปอยู่ในห้องเกิดเหตุกับผู้ตาย นางสาวอัญคนางค์ก็เล่าถึงความสัมพันธ์กับผู้ตายให้ฟังตั้งแต่ต้นจนถึงวันเกิดเหตุโดยบอกว่า หลังจากร่วมเพศกันเสร็จแล้ว ขณะนางสาวอัญคนางค์แต่งตัวนั่งรออยู่ที่เก้าอี้ชุดรับแขกในห้อง ผู้ตายนอนเล่นอยู่บนเตียง มีเสียงเคาะประตูดังขึ้น ผู้ตายให้นางสาวอัญคนางค์ไปเปิดประตู ปรากฏว่า มีชายสองคนซึ่งนางสาวอัญคนางค์ไม่รู้จักยืนอยู่หน้าห้อง ผู้ตายถามชายทั้งสองว่า รู้ได้อย่างไรว่าผู้ตายอยู่ที่นั่น ชายดังกล่าวตอบว่า มีอะไรบ้างที่ผู้ตายทำแล้วตนไม่รู้ ผู้ตายถึงให้นางสาวอัญคนางค์ไปหยิบกระเป๋าเงินมาให้แล้วเอาเงินในกระเป๋าให้นางสาวอัญคนางค์ห้าพันบาท จากนั้น นางสาวอัญคนางค์ก็ออกจากห้องเกิดเหตุโดยเอาแหวนของผู้ตายที่แอบหยิบฉวยตอนผู้ตายให้หยิบกระเป๋าเงินไปด้วยและนำไปขายที่ร้านขายเพชรในห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์บางกะปิ โดยนางสาวอัญคนางค์เล่าไปด้วยร้องไห้ไปด้วยและมีอาการหวาดกลัว พันตรำวจเอก จิรสิทธิ์จึงนำไปปรึกษาพลตำรวจตรี สุขุม เทียมกิจ ผู้บังคับการตำรวจทางหลวง พลตำรวจตรี สุขุมให้พานางสาวอัญคนางค์ไปพบ รุ่งขึ้น พันตำรวจเอก จิรสิทธิ์จึงพานางสาวอัญคนางค์ไปพบพลตำรวจตรี สุขุม พลตำรวจตรี สุขุมซักถาม นางสาวอัญคนางค์ก็เล่าให้ฟังเช่นเดิม พลตำรวจตรี สุขุมจึงโทรศัพท์ไปหาพลตำรวจตรี จักรทิพย์ กุญชร ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่น และดำเนินการให้นางสาวอัญคนางค์ได้พบกับพลตำรวจตรี จักรทิพย์ในเวลา ๑๙:๓๐ นาฬิกา พลตำรวจตรี จักรทิพย์ซักถามข้อเท็จจริง นางสาวอัญคนางค์ก็ยืนยันตามเดิม พลตำรวจตรี จักรทิพย์จึงให้พันตำรวจเอก วีระศักดิ์ มีนะวาณิชย์ ผู้กำกับการสืบสวนสอบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล ๔ นำตัวนางสาวอัญคนางค์ไปสอบปากคำ นางสาวอัญคนางค์กลับให้การว่า เป็นคนฆ่าผู้ตาย โดยทำเพียงคนเดียว เหตุเพราะขอเลิกมีความสัมพันธ์กับผู้ตาย แต่ผู้ตายไม่ยอม ทำให้โกรธ จึงใช้อาวุธปืนยิง แล้วใช้มีดแทงผู้ตาย จนกระทั่งมีการจับกุมและสอบสวนนางสาวอัญคนางค์เป็นผู้ต้องหาตามเอกสารหมาย จ. ๕๙, จ. ๖๐ และ จ. ๙๕ ถึง จ. ๙๘ ก่อนที่นางสาวอัญคนางค์จะเปลี่ยนคำให้การเป็นว่า ผู้ที่ฆ่าผู้ตายคือจำเลยที่ ๑ กับพวกอีกสองคน ตามเอกสารหมาย จ. ๙๙ ถึง จ. ๑๐๑ นางสาวอัญคนางค์ได้เขียนจดหมายติดต่อกับญาติ แต่มารดาและพี่สาวของนางสาวอัญคนางค์ไม่เชื่อว่า นางสาวอัญคนางค์เป็นคนฆ่าผู้ตาย ตามเอกสารหมาย จ. ๑๐๓ และมีพระภิกษุซึ่งเป็นญาติของนางสาวอัญคนางค์เข้าพับพันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง ผู้กำกับการ ๒ กองปราบปราม แจ้งว่า ได้ไปเยี่ยมนางสาวอัญคนางค์ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง นางสาวอัญคนางค์จะขอให้การใหม่โดยขอให้พันตำรวจเอก จิรสิทธิ์ร่วมฟังการสอบสวนด้วย พันตำรวจเอก ทวีกับพวกจึงไปสอบสวนนางสาวอัญคนางค์เพิ่มเติมต่อหน้าพันตำรวจเอก จิรสิทธิ์, ผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงกลาง, จิตแพทย์ และทนายความจากสภาทนายความ นางสาวอัญคนางค์ให้การใหม่ว่า จำเลยที่ ๑ กับพวกเป็นคนร้าย และนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำให้การตามเอกสารหมาย จ. ๙๙ ถึง จ. ๑๐๑ และภาพถ่ายหมาย จ. ๙๓ และ จ. ๙๔ ด้วยความสมัครใจ มิได้มีการจูงใจหรือให้คำมั่นสัญญา และพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำพยานที่จำเลยทั้งสามกล่าวอ้างรวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องไว้ด้วยตามเอกสารหมาย จ. ๑๐๘ ถึง จ. ๑๔๐

จำเลยทั้งสามนำสืบว่า จำเลยทั้งสามไม่รู้จักและไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ตาย ไม่ทราบว่า ผู้ตายจะเข้าพักในโรงแรมเกิดเหตุ จำเลยที่ ๑ พานางสาวประยูร กับจำเลยที่ ๒, ที่ ๓ และพวกไปพักที่โรงแรมเกิดเหตุ เพราะวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๔๔ เวลาประมาณ ๕ นาฬิกา ขณะที่จำเลยที่ ๑ ไปพักกับนางสาวประยูรอยู่ที่เพ็ญศิริอพาร์ตเมนต์ในซอยรางน้ำ นางแสงเดือน กลัดสมบัติ ภริยาของจำเลยที่ ๑ อีกคนหนึ่ง ได้ตามไปหึงหวง จำเลยที่ ๑ จึงโทรศัพท์เรียกจำเลยที่ ๒ และนายปราโมทย์ ไม่ทราบนามสกุล ให้ไปนำนางแสงเดือนกลับ แต่นางแสงเดือนไม่ยอมและเกิดทะเลาะกัน จำเลยที่ ๑ จึงพานางสาวประยูรหนีไปพักที่โรงแรมเฟิร์ส โดยจำเลยที่ ๒ ไปด้วย จนกระทั่งเวลาประมาณ ๑๒ นาฬิกา จำเลยที่ ๑ ได้ปลีกตัวกลับไปทำงานที่บ้าน และได้พบจำเลยที่ ๓ จึงกลับไปหานางสาวประยูรและจำเลยที่ ๒ ด้วยกัน แล้วออกจากโรงแรมเฟิร์สไปหาพันตำรวจเอก ชัยวัฒน์ เกตุวรชัย ที่อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี จนกระทั่งเวลาประมาณ ๒ นาฬิกาของวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๔๔ จึงได้พากันกลับและย้ายไปพักที่โรงแรมเกิดเหตุโดยไม่ได้จองล่วงหน้า แต่จำเลยที่ ๓ กับพวกบางคนอยู่ที่นั่นเพียงประมาณ ๓ นาฬิกาก็ขอกลับไปนอนที่บ้าน ไม่ได้พักอยู่ด้วย โดยจำเลยที่ ๑ นัดให้จำเลยที่ ๓ ไปพบในเวลา ๑๒ นาฬิกาเพื่อจะไปสนามม้า เมื่อจำเลยที่ ๓ กลับไปที่โรงแรมเกิดเหตุตามเวลานัด ปรากฏว่า จำเลยที่ ๑ ยังไม่ตื่น จำเลยที่ ๓ จึงไปรออยู่ในห้องหมายเลข ๔๐๑๗ สั่งอาหารมารับประทานและนั่งดูโทรทัศน์อยู่กับจำเลยที่ ๒ และพวก โดยเปิดประตูห้องหมายเลข ๔๐๑๗ ไว้ เวลาประมาณ ๑๓ นาฬิกา จำเลยที่ ๑ ก็มาบอกว่า อีกสักครู่จะไปสนามม้า แล้วเวลาประมาณ ๑๔ นาฬิกา จำเลยที่ ๑, ที่ ๓, นางสาวประยูร และพวกก็ออกจากโรงแรมเกิดเหตุไปดูการแข่งม้าการกุศลหาเงินบำรุงโรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์ หรือโรงพยาบาลทหารเรือ จังหวัดชลบุรี ที่สนามม้าราชกรีฑาสโมรสร ถนนอังรีดูนังต์ เขตปทุมวัน โดยจำเลยที่ ๒ รออยู่ในห้องหมายเลข ๔๐๑๗ ไม่ได้ไปด้วย เพราะจำเลยที่ ๒ เจ็บเท้าเนื่องจากประสบอุบัติเหตุตกม้าขณะร่วมแสดงภาพยนตร์เรื่อง สุริโยไท เมื่อปลายเดือนธันวาคม ๒๕๔๓ ทำให้ไม่สามารถใส่รองเท้าหุ้มส้นและแต่งกายให้เรียบร้อยตามระเบียบของสนามม้าได้ จำเลยที่ ๑, ที่ ๓ กับนางสาวประยูร และพวกไปถึงสนามม้าเมื่อเวลาประมาณ ๑๕ นาฬิกา และจำเลยที่ ๑ แทงม้าอยู่จนม้าเที่ยวสุดท้ายแข่งเสร็จ จึงได้พากันออกจากสนามม้าเมื่อเวลาเกือบ ๑๙ นาฬิกา โดยระหว่างนั้น จำเลยที่ ๑ ได้พบกับคนรู้จักหลายคน รวมทั้งพลเรือเอก บรรณวิทย์ เก่งเรียน ผู้แนะนำให้มีการจัดแข่งม้าการกุศลในวันดังกล่าว, พลเรือตรี อนันต์ ต่อประดิษฐ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์ ซึ่งไปรับเงินบริจาค และพลตรี ไตรรงค์ อินทรทัต ผู้ร่วมส่งม้าเข้าแข่งขัน ภายหลังออกจากสนามม้าแล้ว จำเลยที่ ๑ แวะไปซื้อเสื้อกางเกงที่ร้านแม็กเอ็มโพเรียม และรับประทานอาหารที่ร้านไออาต้าในสยามสแควร์ จนกระทั่งเวลา ๒๐:๓๐ นาฬิกาจึงได้พาจำเลยที่ ๓, นางสาวประยูร และพวกกลับ ไปถึงโรงแรมเกิดเหตุเมื่อเวลาประมาณ ๒๑ นาฬิกา ก่อนเข้าห้องพักของตน จำเลยที่ ๑ ได้เคาะประตูห้องหมายเลข ๔๐๑๗ เรียกบอกจำเลยที่ ๒ เมื่อจำเลยที่ ๒ เปิดประตูห้อง ปรากฏว่า มีกลิ่นเศษอาหารเหม็นบูด จำเลยที่ ๑ จึงให้พนักงานโรงแรมเปลี่ยนห้องดังกล่าวเป็นห้องหมายเลข ๔๐๑๖ ขณะเกิดเหตุ รถยนต์ยี่ห้ออีซูซุทรูปเปอร์ หมายเลขทะเบียน กท-๓๙๖๕ เชียงใหม่ ของจำเลยที่ ๑ อยู่ในอู่ซ่อม โดยนำเข้าอู่เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๔๔ รับกลับวันที่ ๘ เดือนเดียวกัน รองเท้าผ้าใบของจำเลยที่ ๓ มีคราบโลหิตติดอยู่เพราะก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ ๓ ใส่รองเท้าดังกล่าวเตะสุนัขที่ไล่เห่าจำเลยที่ ๓ ขณะขับขี่รถยนต์กลับบ้าน หลังจากจำเลยที่ ๑ คืนห้องพักหมายเลข ๔๐๑๕, ๔๐๑๖ และ ๔๐๑๗ แล้ว ห้องดังกล่าวถูกเปิดทิ้งไว้ อาจมีพนักงานของโรงแรมบางคนที่เข้าไปในห้องเกิดเหตุแล้วเปรอะเปื้อนคราบโลหิตของผู้ตายจึงเข้าไปล้างคราบโลหิต หรือแพทย์ที่ชันสูตรพลิกศพผู้ตายเอาถุงมือเปื้อนคราบโลหิตผู้ตายเข้าไปทิ้ง และเจ้าพนักงานตำรวจบางคนบอกจำเลยที่ ๑ ว่า มีเจ้าพนักงานตำรวจนำผ้าเช็ดตัวที่เปื้อนคราบโลหิตผู้ตายไปบิดใส่ไว้ในอ่างล้างหน้าในห้องหมายเลข ๔๐๑๕ เพื่อใช้เป็นข้อต่อรองให้จำเลยที่ ๑ หาคนไปรับผิด การตรวจสารพันธุกรรมที่ได้ผลถูกต้องแน่นอนต้องตรวจโดยใช้น้ำยาที่ตรวจได้สิบตำแหน่ง การตรวจสารพันธุกรรมโดยใช้น้ำยา polymarker ซึ่งตรวจได้เพียงหกตำแหน่งอาจได้ผลไม่ถูกต้อง จำเลยที่ ๑ เขียนแผนผังห้องเกิดเหตุห้องหมายเลข ๔๐๑๕ และ ๔๐๑๗ ตามเอกสารหมาย จ. ๔๙ แผ่นที่ ๒ ขึ้นหลังวันเกิดเหตุเพื่อการทำรายงานชี้แจงข้อเท็จจริงต่อผู้บัญชาการทหารสูงสุดตามคำแนะนำของพลโท นรเศรษฐ์และพันเอก นเรนทร์ฤทธิ์ ผู้บังคับบัญชา จำเลยที่ ๑ ถูกเจ้าพนักงานตำรวจกลั่นแกล้งเพราะจำเลยที่ ๑ เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับพลตำรวจเอก พรศักดิ์ ดุรงควิบูลย์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยเมื่อปี ๒๕๔๑ ขณะพลตำรวจเอก พรศักดิ์เป็นรองอธิบดีกรมตำรวจ จำเลยที่ ๑ ได้รับมอบหมายจากสำนักงานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงให้ช่วยสืบสวนติดตามการหลบหนีของนายสุรชัย หรือบังรอน เงินทองฟู ผู้ต้องหาคดียาเสพติดให้โทษรายใหญ่ และจำเลยที่ ๑ ได้รับเอกสารฉบับหนึ่งระบุว่า นายสุรชัยเคยเข้าพบภริยาของพลตำรวจเอก พรศักดิ์ที่บ้าน จำเลยที่ ๑ ยังไม่ทันตรวจสอบว่าเป็นความจริงหรือไม่ ความก็ทราบถึงพลตำรวจเอก พรศักดิ์ ทำให้พลตำรวจเอก พรศักดิ์และผู้ใต้บังคับบัญชาโกรธว่า จำเลยที่ ๑ ใส่ร้าย ถึงขนาดจะออกหมายจับจำเลยที่ ๑ ฐานขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจ จำเลยที่ ๑ ต้องขอให้นายทหารชั้นผู้ใหญ่ช่วยชี้แจงต่อพลตำรวจเอก พรศักดิ์ เรื่องดังกล่าวจึงได้ยุติ

พิเคราะห์แล้ว สมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า ผู้ตายถูกคนร้ายฆ่าในเวลาใด ด้วยพฤติการณ์อย่างไร และหลังจากนั้น คนร้ายได้จัดศพผู้ตายให้นอนคว่ำตะแคงซ้ายตามที่พนักงานโรงแรมเกิดเหตุไปพบเห็นหรือไม่ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า โรงแรมเกิดเหตุตั้งอยู่ที่ถนนพระราม ๙ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร เกิดเหตุแล้ว นางสาวอัญคนางค์นำแหวนที่ผู้ตายสวมอยู่ก่อนถึงแก่ความตายไปขายให้แก่นายธันยวัตร แซ่โง้ว ที่ร้านซีลอนแซฟไฟร์จิวเวลรี่ในห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์บางกะปิซึ่งอยู่ต่างท้องที่เมื่อเวลาประมาณ ๑๘ นาฬิกา แสดงให้เห็นว่า ผู้ตายถูกฆ่าก่อนเวลาดังกล่าว และข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้ตายรับประทานอาหารมื้อสุดท้ายเมื่อเวลาประมาณ ๑๔ นาฬิกา ขณะถึงแก่ความตาย มีอาหารที่ผู้ตายรับประทานยังย่อยไม่หมดเหลืออยู่ในกระเพาะประมาณหนึ่งร้อยลูกบาศก์เซนติเมตร ซึ่งพันตำรวจโท สุวิชัย ประทีปวิศรุต แพทย์ผู้ผ่าศพผู้ตายตรวจพิสูจน์ พยานโจทก์ เบิกความว่า ปกติอาหารที่รับประทานจะถูกย่อยหมดภายในเวลาสี่ชั่วโมง การที่มีอาหารเหลืออยู่ในกระเพาะของผู้ตายดังกล่าว น่าเชื่อว่า ผู้ตายถึงแก่ความตายหลังจากรับประทานอาหารแล้วสองถึงสามชั่วโมง จำเลยทั้งสามมิได้นำสืบโต้แย้ง จึงฟังได้ว่า ผู้ตายถูกฆ่าในช่วงเวลาประมาณ ๑๗ นาฬิกา พันตำรวจโท สุวิชัยเบิกความต่อไปว่า บาดแผลถูกปาด แทง และเชือดที่บริเวณลำคอ กับบาดแผลถูกยิงที่ศีรษะด้านหลังบริเวณข้างกกหูซ้าย ต่างก็ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายได้ แต่บริเวณบาดแผลที่ผู้ตายถูกยิงมีเส้นโลหิตใหญ่และกระสุนปืนถูกกะโหลกศีรษะแตกยุบไปกดทับเนื้อสมองใหญ่ด้านซ้ายซึ่งควบคุมแขนขวาและร่างกายซีกขวา หากผู้ตายถูกยิงก่อน ผู้ตายจะไม่สามารถใช้มือขวาปัดป้องจับมีดที่คนร้ายใช้เป็นอาวุธได้ และจะต้องมีโลหิตออกที่ใต้เยื่อหุ้มสมองของผู้ตาย จำเลยทั้งสามมิได้นำสืบหักล้าง เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ตายไม่มีโลหิตออกที่ใต้เยื้อหุ้มสมอง และมีบาดแผลถูกมีดทึ่คนร้ายใช้เป็นอาวุธบาดที่นิ้วนาง นิ้วชี้ และฝ่ามือขวาอันเนื่องมาจากการปัดป้องขัดขืน จึงฟังได้ว่า ผู้ตายถูกคนร้ายใช้มีดปาด แทง และเชือดที่บริเวณลำคอก่อน แล้วจึงใช้อาวุธปืนยิงที่ศีรษะ พันตำรวจโท สุวิชัยเบิกความด้วยว่า บาดแผลถูกปาดที่ลำคอมีสองแผล ปาดจากซ้ายไปขวาบริเวณลูกกระเดือก ตัดกล่องเสียง หลอดลม และเส้นโลหิตแดงใหญ่ลำคอด้านซ้าย เป็นแผลขอบเรียบ แผลถูกแทงมีสิบเอ็ดแผล ส่วนใหญ่อยู่ที่บริเวณลำคอด้านขวา ตัดเส้นโลหิตดำใหญ่ลำคอด้านขวา มีหลายแผลที่แทงทะลุกระดูกสันหลังคอ เป็ยแผลขอบเรียบ ส่วนแผลถูกเชือดอยู่ที่ขอบขากรรไกรล่างด้านขวา ลึกถึงกล้ามเนื้อโคนลิ้น เป็นแผลขอบรุ่งริ่ง คนร้ายใช้มีดซึ่งยังไม่สูญเสียความคมปาดลำคอผู้ตายก่อน แผลถูกปาดจึงมีขอบเรียบ จากนั้น จึงได้แทง และคมมีดถูกกระดูกสันหลังคอ ทำให้สูญเสียความคม แล้วจึงใช้มีดดังกล่าวซึ่งสูญเสียความคมแล้วเชือดลำคอผู้ตาย ขอบแผลถูกเชือดจึงรุ่งริ่ง ผู้ตายสูงประมาณหนึ่งร้อยหกสิบแปดเซนติเมตร ดังนั้น หากผู้ตายถูกปาด แทง เชือด และถูกจ่อยิงในขณะยืนหรือนั่ง โลหิตจากแผลถูกปาด แทง และเชือดซึ่งตัดเส้นโลหิตแดงใหญ่และเส้นโลหิตดำใหญ่ที่ลำคอทั้งสองด้านจะต้องไหลเปื้อนร่างกายส่วนล่างลงไปจนถึงกางเกงที่ผู้ตายนุ่ง และโลหิตจากแผลถูกจ่อยิงจะต้องกระเซ็นติดตู้เสื้อผ้าเป็นวงกว้างและอยู่ในระดับสูงเกินกว่าหนึ่งเมตรในกรณีผู้ตายยืน หรือสูงเกินกว่าหนึ่งฟุตในกรณีผู้ตายนั่ง เมื่อจำเลยทั้งสามมิได้นำสืบคัดค้าน และข้อเท็จจริงปรากฏว่า ที่ร่างกายส่วนล่างและกางเกงของผู้ตายไม่มีโลหิตเปรอะเปื้อน ที่ตู้เสื้อผ้าก็มีโลหิตของผู้ตายกระเซ็นติดอยู่เพียงเล็กน้อยในระดับต่ำประมาณหนึ่งฟุต ผู้ตายจึงไม่ได้ถูกปาด แทง เชือด และจ่อยิงในขณะที่ผู้ตายยืนหรือนั่ง เชื่อได้ว่า ผู้ตายถูกฆ่าในขณะผู้ตายนอนอยู่ที่พื้น หากผู้ตายถูกฆ่าในขณะผู้ตายนอนหงาย โลหิตจากบาดแผลถูกปาด แทง และเชือดที่ลำคอด้านหน้าจะต้องไหลเปื้อนร่างกายและเสื้อที่ผู้ตายสวมด้านหลังเป็นจำนวนมาก แต่ปรากฏว่า ที่ร่างกายและเสื้อผู้ตายด้านหลังไม่มีโลหิตเปรอะเปื้อน มีแต่โลหิตเปื้อนอยู่เฉพาะด้านหน้าเป็นจำนวนมากไหลซึมไปจนถึงบริเวณทรวงอก จึงฟังได้ว่า ผู้ตายถูกฆ่าในขณะนอนคว่ำ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ภายในห้องเกิดเหตุไม่มีร่องรอยการต่อสู้ ที่พับในศอกซ้ายของผู้ตายมีรอยช้ำเขียวเนื่องมาจากการขัดขืน และผู้ตายถูกปาดลำคอจากซ้ายไปขวา เชื่อได้ว่า คนร้ายมีหลายคน จู่โจมเข้าถึงตัวผู้ตายอย่างกะทันหัน จับผู้ตายนอนคว่ำกดลงกับพื้น คนหนึ่งจับแขนซ้ายของผู้ตายล็อกไว้จนเกิดรอยช้ำเขียว คนหนึ่งจับศีรษะผู้ตายดึงขึ้นในลักษณะตะแคงขวา และใช้มีดปาดที่ลำคอ แล้วแทงและเชือด จากนั้น จึงใช้อาวุธปืนจ่อยิงที่ศีรษะของผู้ตาย จากลักษณะการกระทำของคนร้ายและบาดแผลของผู้ตาย เชื่อได้ว่า คนร้ายผ่านการฝึกฝนชำนาญการฆ่า และโลหิตของผู้ตายต้องเปรอะเปื้อนคนร้าย เกิดเหตุแล้ว ไม่ปรากฏว่า พนักงานของโรงแรมพบเห็นผู้ที่มีโลหิตเปรอะเปื้อนออกจากโรงแรมเกิดเหตุ จึงฟังได้ว่า คนร้ายล้างโลหิตที่เปรอะเปื้อนออกก่อนแล้วจึงออกไปจากโรงแรมเกิดเหตุ พันตำรวจโท สุวิชัย พยานโจทก์ เบิกความว่า รอยจ้ำโลหิตตกสู่ที่ต่ำจะเริ่มเกิดขึ้นหลังจากถึงแก่ความตายแล้วสองชั่วโมงไปจนถึงแปดชั่วโมง หลังจากนั้น รอยจ้ำโลหิตตกสู่ที่ต่ำจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง จำเลยทั้งสามมิได้นำสืบหักล้าง เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ศพผู้ตายมีรอยจ้ำโลหิตตกสู่ที่ต่ำอยู่ที่ใบหน้าซีกขวา ขาขวา ลำตัวด้านขวา และแขนซ้ายด้านใน ไม่มีรอยจ้ำโลหิตตกสู่ที่ต่ำอยู่ทางด้านหน้าหรือซีกซ้าย จึงฟังได้ว่า ผู้ตายนอนตายอยู่ในท่านอนตะแคงขวาเป็นเวลาไม่ต่ำกว่าแปดชั่วโมง หลังจากนั้น ศพจึงถูกพลิกให้นอนคว่ำตะแคงซ้ายตามที่พนักงานโรงแรมเกิดเหตุไปพบเห็น และเชื่อได้ว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำของคนร้ายเพื่ออำพรางให้การชันสูตรพลิกศพและผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ฟังได้ด้วยว่า ฆ่าผู้ตายแล้ว คนร้ายยังอยู่ในโรงแรมเกิดเหตุไม่น้อยกว่าแปดชั่วโมง ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไป คือ จำเลยทั้งสามเป็นคนร้ายหรือไม่ ปัญหาดังกล่าว ปรากฏว่า โจทก์ไม่มีผู้รู้เห็นมาเบิกความเป็นประจักษ์พยาน มีแต่พยานแวดล้อมและคำให้การชั้นสอบสวนของนางสาวอัญคนางค์ตามเอกสารหมาย จ. ๙๙ ถึง จ. ๑๐๑ ซึ่งระบุว่า นางสาวอัญคนางค์เห็นคนร้าย จำได้ว่า คือ จำเลยที่ ๑ กับพวก เป็นพยาน เห็นว่า แม้นางสาวอัญคนางค์จะถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๑๘๔๒/๒๕๔๔ หมายเลขแดงที่ ๒๙๑๗/๒๕๔๕ ของศาลชั้นต้น ข้อหาร่วมกับจำเลยทั้งสามและพวกฆ่าผู้ตาย จึงตกอยู่ในฐานะผู้ร่วมกระทำความผิด คำให้การชั้นสอบสวนของนางสาวอัญคนางค์ตามเอกสารหมาย จ. ๙๙ ถึง จ. ๑๐๑ เป็นพยานบอกเล่าและมีลักษณะเป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิด แต่ก็ไม่มีกฎหมายห้ามไม่ให้รับฟังคำให้การชั้นสอบสวนและคำซัดทอดของผู้ที่กระทำความผิดด้วยกันแต่อย่างใด เพียงแต่มีน้ำหนักน้อย และต้องรับฟังด้วยความระมัดระวัง หากศาลเห็นว่า คำให้การชั้นสอบสวนของนางสาวอัญคนางค์ดังกล่าวชอบด้วยเหตุผล เชื่อได้ว่า ให้การไปตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ศาลก็มีอำนาจรับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ลงโทษจำเลยทั้งสามได้ ตามคำให้การชั้นสอบสวนของนางสาวอัญคนางค์ตามเอกสารหมาย จ. ๙๙ ถึง จ. ๑๐๑ และบันทึกการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำให้การและภาพถ่ายหมาย จ. ๙๓ และ จ. ๙๔ สรุปได้ว่า หลังจากนางสาวอัญคนางค์ไปพบผู้ตายที่ห้องเกิดเหตุเมื่อเวลาประมาณ ๑๖ นาฬิกาแล้ว นางสาวอัญคนางค์ได้ร่วมเพศและอยู่กับผู้ตายเป็นเวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง ซึ่งก็คือ เวลาประมาณ ๑๗ นาฬิกา นางสาวอัญคนางค์จะกลับ ผู้ตายหยิบเงินให้ห้าพันบาทและเดินไปส่งที่ประตู เมื่อนางสาวอัญคนางค์เปิดประตูจะออกจากห้องเกิดเหตุ มีชายคนร้ายสามคนผลักประตูเข้าไปในห้อง คนหนึ่งลักษณะเป็นหัวหน้า คนอื่นเรียกว่า นาย นางสาวอัญคนางค์จำได้ว่าเป็นจำเลยที่ ๑ ผลักนางสาวอัญคนางค์ไปนั่งที่เก้าอี้ชุดรับแขก หยิบกระเป๋าถือของนางสาวอัญคนางค์ไป และบังคับให้นั่งก้มหน้าโดยยืนควบคุมตัวไว้ ก่อนจำเลยที่ ๑ จะบังคับให้นางสาวอัญคนางค์นั่งก้มหน้า มีชายคนร้ายอื่นเข้าไปในห้องเกิดเหตุอีกสองถึงสามคน หลังจากถูกบังคับให้นั่งก้มหน้าแล้ว นางสาวอัญคนางค์มองไม่เห็นอะไร เห็นแต่ปลายเท้าผู้ตายลักษณะถูกกดนอนคว่ำลงกับพื้น และได้ยินเสียงผู้ตายดังอู้อี้คล้ายถูกปิดปากส่งเสียงร้อยไม่ออก กับได้ยินเสียงจำเลยที่ ๑ รื้อค้นกระเป๋าถือและพูดว่า เฮ้ย มีปืนกับมีดโว้ย ก่อนพูดว่า มีปืนกับมีด จำเลยที่ ๑ ถามนางสาวอัญคนางค์ว่า รู้จักผู้ตายหรือไม่ นางสาวอัญคนางค์กลัวจึงโกหกว่า ไม่รู้จัก ตนเป็นเพียงหญิงหาเงิน มีบุตรมีมารดาต้องดูแล โดยบอกชื่อที่อยู่ของตัวเองและของบุตรตลอดจนโรงเรียนที่บุตรเรียนหนังสือตามที่จำเลยที่ ๑ ถามไปตามความเป็นจริง หลังจากจำเลยที่ ๑ พูดว่า มีปืนกับมีด แล้วสักครู่ นางสาวอัญคนางค์ก็ได้ยินเสียงปืนดังขึ้นและเห็นเท้าของผู้ตายกระตุก นางสาวอัญคนางค์จึงร้องขอชีวิต จำเลยที่ ๑ เอาแหวนของผู้ตายส่งให้นางสาวอัญคนางค์พร้อมกระเป๋าถือและพูดว่า เอานี่ไป ปิดปากให้สนิท มิฉะนั้น จะฆ่าล้างโคตร แล้วจึงปล่อยนางสาวอัญคนางค์ออกจากห้องเกิดเหตุ เห็นได้ว่า คำให้การของนางสาวอัญคนางค์ตามเอกสารหมาย จ. ๙๙ ถึง จ. ๑๐๑ สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นตามคำวินิจฉัยข้างต้น ทั้งในเรื่องเวลาที่ผู้ตายถูกฆ่า จำนวนคนร้าย และพฤติการณ์ในการฆ่า จึงมีน้ำหนักเชื่อถือได้ แม้ก่อนหน้านั้น นางสาวอัญคนางค์จะได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนไว้ตามเอกสารหมาย จ. ๕๙, จ. ๖๐ และ จ. ๙๕ ว่า นางสาวอัญคนางค์เป็นคนฆ่าผู้ตายและทำคนเดียว โดยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายก่อนในขณะที่ผู้ตายเผลอเข้ามายืนโอบกอด แล้วจึงได้ใช้มีดแทงหลังจากผู้ตายล้มลง คำให้การดังกล่าวขัดกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ทั้งนางสาวอัญคนางค์ได้ให้การไว้ในเอกสารหมาย จ. ๙๙ ว่า เหตุที่ต้องให้การรับสารภาพว่าเป็นคนฆ่าผู้ตาย เพราะกลัวครอบครัวจะเกิดอันตรายโดยเฉพาะบุตร ต่อมาภายหลังถูกจับกุมแล้ว มารดาได้เขียนจดหมายไปหา ทำให้รู้สำนึกและต้องการจะพูดความจริง จึงได้ให้การใหม่ตามเอกสารหมาย จ. ๙๙ ถึง จ. ๑๐๑ ซึ่งน่าเชื่อถือ เพราะโจทก์มีพันตำรวจเอก จิรสิทธิ์ มหินทรเทพ ผู้พานางสาวอัญคนางค์เข้าพบพลตำรวจตรี สุขุม เทียมกิจ ผู้บังคับการตำรวจทางหลวง และพลตำรวจตรี จักรทิพย์ กุญชร ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจนครบาล จนเป็นเหตุให้มีการจับกุม สอบสวน และนางสาวอัญคนางค์ ให้การตามเอกสารหมาย จ. ๕๙, จ. ๖๐ และ จ. ๙๕ เป็นพยานเบิกความยืนยันว่า ก่อนหน้านั้น นางสาวอัญคนางค์ได้โทรศัพท์ไปหาพันตำรวจเอก จิรสิทธิ์พูดเรื่องผู้ตายถูกฆ่าและหญิงที่อยู่กับผู้ตายในวันเกิดเหตุที่เอาแหวนของผู้ตายไปด้วยอาการหวาดกลัวและร้องไห้ โดยยังไม่ได้ให้รายละเอียด หลังจากนั้น ก่อนที่จะพานางสาวอัญคนางค์ไปพบกับพลตำรวจตรี สุขุมและพลตำรวจตรี จักรทิพย์ นางสาวอัญคนางค์ก็เล่าว่า หลังจากร่วมเพศกับผู้ตายเสร็จแล้ว ขณะนางสาวอัญคนางค์แต่งตัวนั่งรออยู่ในห้อง มีเสียงเคาะประตูดังขึ้น ผู้ตายใช้ให้นางสาวอัญคนางค์ไปเปิด ปรากฏว่า มีชายสองคนยืนอยู่หน้าประตูและพูดโต้ตอบกับผู้ตาย ผู้ตายจึงให้นางสาวอัญคนางค์ไปหยิบกระเป๋าสตางค์แล้วเอาเงินส่งให้ห้าพันบาท จากนั้น นางสาวอัญคนางค์ก็ออกจากห้องเกิดเหตุ โดยเอาแหวนของผู้ตายซึ่งแอบหยิบฉวยไปด้วย นำไปขายที่ร้านเพชรในห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์บางกะปิ โดยนางสาวอัญคนางค์เล่าไปร้องไห้ไปด้วยและมีอาการหวาดกลัวเช่นเดียวกัน นางสาวอัญคนางค์มิได้บอกว่า นางสาวอัญคนางค์เป็นคนฆ่าผู้ตาย โดยโจทก์มีเอกสารหมาย จ. ๑๐๓ ซึ่งเป็นจดหมายที่มารดาและพี่สาวของนางสาวอัญคนางค์เขียนถึงนางสาวอัญคนางค์ มีใจความว่า คนทั้งสองไม่เชื่อว่านางสาวอัญคนางค์จะเป็นคนฆ่าผู้ตาย ต้องการให้นางสาวอัญคนางค์พูดความจริงโดยไม่ต้องกลัวผู้ใด เป็นพยานสนับสนุน คำให้การของนางสาวอัญคนางค์ตามเอกสารหมาย จ. ๕๙, จ. ๖๐ และ จ. ๙๕ จึงไม่ทำให้น้ำหนักความน่าเชื่อถือของคำให้การตามเอกสารหมาย จ. ๙๙ ถึง จ. ๑๐๑ ลดลง เชื่อว่า นางสาวอัญคนางค์ให้การตามเอกสารหมาย จ. ๙๙ ถึง จ. ๑๐๑ ไปตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น และพฤติการณ์ที่คนร้ายเข้าไปในห้องเกิดเหตุขณะที่นางสาวอัญคนางค์กำลังเปิดประตู แล้วผลักนางสาวอัญคนางค์ไปนั่งที่เก้าอี้ชุดรับแขก หยิบกระเป๋าถือของนางสาวอัญคนางค์ไป และสอบถามว่า รู้จักผู้ตายหรือไม่ ก่อนที่จะบังคับให้ก้มหน้า ย่อมมีเวลาและโอกาสที่นางสาวอัญคนางค์จะเห็นหน้าและจำคนร้ายดังกล่าวได้ สำหรับพยานแวดล้อมอันประกอบด้วยพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสามที่เข้าพักในโรงแรมเกิดเหตุ ห้องหมายเลข ๔๐๑๕ และ ๔๐๑๗ ซึ่งอยู่ชั้นเดียวและปีกเดียวกับห้องเกิดเหตุ หากเปิดประตูห้องหมายเลข ๔๐๑๗ สามารถมองเห็นคนเดินไปห้องเกิดเหตุได้ โดยจำเลยที่ ๑ ให้ใช้ชื่อผู้อื่นในบัตรจดชื่อผู้เข้าพัก และจำเลยที่ ๒, ที่ ๓ กับพวกเปิดประตูห้องหมายเลข ๔๐๑๗ แง้มไว้ก่อนที่ผู้ตายจะเข้าพักในห้องเกิดเหตุ มีการเปลี่ยนห้องหมายเลข ๔๐๑๗ เป็นห้องหมายเลข ๔๐๑๖ หลังเกิดเหตุ ฐานที่อยู่ของจำเลยทั้งสามในขณะเกิดเหตุ แผนผังของห้องเกิดเหตุ, ห้องหมายเลข ๔๐๑๕ และ ๔๐๑๗ ที่จำเลยที่ ๑ เขียนขึ้นตามเอกสารหมาย จ. ๔๙ แผ่นที่ ๒ กับคราบโลหิตที่พบในห้องหมายเลข ๔๐๑๕, ห้องหมายเลข ๔๐๑๗, ที่แป้นเบรกรถยนต์ยี่ห้ออีซูซุทรูปเปอร์สีเลือดหมู หมายเลขทะเบียน กท-๓๙๖๕ เชียงใหม่ ของจำเลยที่ ๑ และที่รองเท้าผ้าใบของจำเลยที่ ๓ ซึ่งจำเลยทั้งสามอ้างว่า จำเลยที่ ๑ พาจำเลยที่ ๒, ที่ ๓ และนางสาวประยูร กับพวกไปพักที่โรงแรมเกิดเหตุโดยไม่ได้ใช้ชื่อของจำเลยที่ ๑ ก็เพื่อหนีและปกปิดไม่ให้นางแสงเดือน กลัดสมบัติ ภริยาของจำเลยที่ ๑ อีกคนหนึ่ง ตามไปหึงหวงจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๑ ไม่ได้เจาะจงห้องและไม่ทราบว่า ผู้ตายจะมาพักในห้องเกิดเหตุ จำเลยที่ ๒, ที่ ๓ กับพวกเปิดประตูห้องหมายเลข ๔๐๑๗ แง้มไว้เพื่อรอจำเลยที่ ๑ มาบอกให้ออกเดินทางไปสนามม้า ขณะเกิดเหตุ จำเลยที ๑, ที่ ๓ และนางสาวประยูร กับพวกยังอยู่ที่สนามม้า จำเลยที่ ๑ ให้พนักงานของโรงแรมเปลี่ยนห้องหมายเลข ๔๐๑๗ เป็นห้องหมายเลข ๔๐๑๖ ก็เพราะห้องหมายเลข ๔๐๑๗ มีกลิ่นอาหารเหม็นบูด จำเลยที่ ๑ เขียนแผนผังของห้องเกิดเหตุ, ห้องหมายเลข ๔๐๑๕ และ ๔๐๑๗ ขึ้นหลังเกิดเหตุเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงต่อผู้บังคับบัญชา ผลการตรวจสารพันธุกรรมโดยใช้น้ำยา polymarker ไม่แน่นอน เหตุที่มีคราบโลหิตอยู่ในห้องหมายเลข ๔๐๑๕ และ ๔๐๑๗ อาจเนื่องมาจากพนักงานของโรงแรมซึ่งเปรอะเปื้อนคราบโลหิตของผู้ตายเข้าไปล้างคราบโลหิต หรือแพทย์ที่ชันสูตรพลิกศพเอาถุงมือที่เปื้อนคราบโลหิตผู้ตายเข้าไปทิ้งไว้ หรือเจ้าพนักงานตำรวจเอาผ้าเช็ดตัวเปื้อนคราบโลหิตผู้ตายไปบิดไว้เพื่อใช้เป็นข้อต่อรองกับจำเลยที่ ๑ คราบโลหิตที่รองเท้าของจำเลยที่ ๓ เป็นคราบโลหิตสุนัข ขณะเกิดเหตุ รถยนต์ยี่ห้ออีซูซุทรูปเปอร์สีเลือดหมู หมายเลขทะเบียน กท-๓๙๖๕ เชียงใหม่ ของจำเลยที่ ๑ อยู่ในอู่ซ่อม และจำเลยที่ ๑ ถูกกลั่นแกล้งเพราะเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับพลตำรวจเอก พรศักดิ์ ดุรงควิบูลย์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในระหว่างที่จำเลยที่ ๑ ปฏิบัติหน้าที่ติดตามการหลบหนีของนายสุรชัย หรือบังรอน เงินทองฟู ผู้ต้องหาค้ายาเสพติดให้โทษ เห็นว่า พันเอก นิรันดร์ฤทธิ์ มหารักขกะ พยานจำเลย ซึ่งร่วมปฏิบัติหน้าที่ติดตามการหลบหนีของนายสุรชัย เบิกความตอบพนักงานอัยการ โจทก์ ถามค้านว่า ข้อขัดแย้งระหว่างจำเลยที่ ๑ กับพลตำรวจเอก พรศักดิ์ เกิดขึ้นและได้ยุติลงไปแล้วตั้งแต่ปี ๒๕๔๑ หลังจากนั้น มิได้มีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นอีก จึงไม่น่าจะเป็นสาเหตุให้จำเลยที่ ๑ ถูกกลั่นแกล้ง ผู้ตายเป็นข้าราชการระดับผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อเดินทางเข้ากรุงเทพมหานครมักจะไปพักโรงแรมเกิดเหตุ วันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๔๔ วันถัดจากวันเกิดเหตุ มีการประชุมผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อรับนโยบายบริหารราชการจากนายกรัฐมนตรีที่กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ ๑ เป็นนายทหารปฏิบัติหน้าที่ด้านการสืบสวนหาข่าวมาเป็นเวลานาน ย่อมสามารถจะสืบทราบได้ว่า ผู้ตายต้องเดินทางมายังกรุงเทพมหานครเพื่อเข้าร่วมประชุมดังกล่าว และคาดหมายได้ว่า ผู้ตายจะไปพักที่โรงแรมเกิดเหตุในห้องพักชั้นที่ ๔ ซึ่งเป็นชั้นเดียวที่มีห้องพักแบบห้องวีไอพีหรือห้องสูตซึ่งราคาห้องพักเพียงคืนละเจ็ดร้อยเอ็ดบาท แม้ผู้ตายจะไม่ได้สั่งจองไว้ก็ตาม และนางสาวเสาวลักษณ์ เอกธุรการ พนักงานต้อนรับของโรงแรมเกิดเหตุ พยานโจทก์ เบิกความว่า ขณะจำเลยที่ ๑ เข้าไปติดต่อขอเปิดห้องพัก นายถวิล พนักงานยกกระเป๋า ซึ่งจำเลยที่ ๑ ใช้ให้เปลี่ยนชื่อจำเลยที่ ๑ ในบัตรจดชื่อผู้เข้าพักเป็นชื่ออื่นในเวลาต่อมา เข้ามายืนอยู่ใกล้ ๆ พยานถามจำเลยที่ ๑ ว่า ต้องการพักชั่วคราวหรือค้างคืน ห้องธรรมดาหรือห้องวีไอพี จำเลยที่ ๑ บอกว่า พักค้างคืน ยังไม่ทันจะบอกว่าห้องแบบไหน นายถวิลก็เข้าไปบอกว่า จะเอาห้องพักชั้นที่ ๔ จำนวนสองห้อง หมายเลข ๔๐๑๕ และ ๔๐๑๗ พยานจึงขอให้จำเลยที่ ๑ วางมัดจำสองพันบาท จำเลยที่ ๑ ก็มอบเงินจำนวนดังกล่าวให้พยาน แสดงว่า ตรงตามความประสงค์ของจำเลยที่ ๑ ตามทางนำสืบของจำเลยทั้งสามได้ความว่า ก่อนที่จำเลยที่ ๑ จะพาจำเลยที่ ๒, ที่ ๓ และนางสาวประยูร กับพวกไปพักที่โรงแรมเกิดเหตุ จำเลยที่ ๑ ได้พานางสาวประยูรและจำเลยที่ ๒ ไปพักที่โรงแรมเฟิร์สมาแล้วคืนหนึ่ง โดยไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ ๑ ได้ปกปิดชื่อ ที่จำเลยทั้งสามอ้างว่า จำเลยที่ ๑ ให้นายถวิลเปลี่ยนชื่อจำเลยที่ ๑ ในบัตรจดชื่อผู้เข้าพักเป็นชื่ออื่นเพราะกลัวว่า นางแสงเดือนจะตามไปหึงหวง จึงไม่สมเหตุผล ที่จำเลยที่ ๓ อ้างว่า เมื่อถึงเวลานัดไปสนามม้าในเวลา ๑๒ นาฬิกา จำเลยที่ ๑ ยังไม่ตื่น จำเลยที่ ๒, ที่ ๓ และพวกจึงเปิดประตูห้องหมายเลข ๔๐๑๗ แง้มไว้เพื่อรอจำเลยที่ ๑ มาบอกให้เดินทางไปสนามม้า จำเลยที่ ๒ ก็เบิกความว่า จำเลยที่ ๑ ได้มาเคาะประตูห้องหมายเลข ๔๐๑๗ ตั้งแต่เวลาประมาณ ๑๒ นาฬิกาเพื่อบอกว่า จะไปสนามม้าในเวลา ๑๓ นาฬิกาเศษแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะต้องเปิดประตูห้องหมายเลข ๔๐๑๗ รอจำเลยที่ ๑ ดังที่จำเลยที่ ๓ อ้างอีก ที่จำเลยทั้งสามอ้างว่า จำเลยที่ ๑ ให้เปลี่ยนห้องหมายเลข ๔๐๑๗ เป็นห้องหมายเลข ๔๐๑๖ เพราะห้องหมายเลข ๔๐๑๗ มีกลิ่นอาหารเหม็นบูด จำเลยที่ ๓ ก็เบิกความว่า ได้สั่งอาหารมารับประทานกับจำเลยที่ ๒ และพวกในระหว่างรอจำเลยที่ ๑ ก่อนจะไปสนามม้า แต่จำเลยที่ ๒ เบิกความว่า จำเลยที่ ๒ เพิ่งสั่งอาหารขึ้นมารับประทานหลังจากจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๓ กับพวกไปสนามม้าแล้ว ขัดแย้งกันเอง ทั้งนางสาวณัฏฐา เครือนาค พนักงานต้อนรับผู้ทำหน้าที่จัดห้องพักให้ลูกค้าและคอยรับฝากกุญแจจากลูกค้าที่เปิดห้องพัก พยานโจทก์ เบิกความว่า เวลาประมาณ ๒๑ นาฬิกา ผู้เข้าพักในห้องหมายเลข ๔๐๑๗ ขอเปลี่ยนห้องเป็นห้องหมายเลข ๔๐๑๖ อ้างว่า เครื่องปรับอากาศไม่เย็น โดยมีนายถวิลเบิกความสนับสนุนว่า นางสาวณัฏฐาบอกให้พยานไปเปลี่ยนห้องหมายเลข ๔๐๑๗ เป็นห้องหมายเลข ๔๐๑๖ ด้วยเหตุผลเครื่องปรับอากาศไม่เย็น และนายเชษฐดนัย เครือแก้ว พนักงานทำความสะอาดผู้เข้าไปทำความสะอาดห้องหมายเลข ๔๐๑๗ หลังจากมีการเปลี่ยนห้องแล้ว เบิกความว่า ความจริงเครื่องปรับอากาศห้องดังกล่าวไม่ได้เสีย เหตุที่ไม่เย็นก็เพราะผู้พักไม่เปิดสวิตช์ควบคุมอุณหภูมิ ข้ออ้างเกี่ยวกับเหตุแห่งการขอเปลี่ยนห้องหมายเลข ๔๐๑๗ เป็นห้องหมายเลข ๔๐๑๖ ของจำเลยทั้งสามจึงรับฟังไม่ได้ ที่จำเลยทั้งสามอ้างว่า จำเลยที่ ๑, ที่ ๓ และนางสาวประยูร กับพวกออกจากโรงแรมเกิดเหตุไปสนามม้าราชกรีฑาสโมสรตั้งแต่เวลาประมาณ ๑๔ นาฬิกา โดยจำเลยที่ ๒ รออยู่ในห้องหมายเลข ๔๐๑๗ ไม่ได้ไปด้วยเพราะเจ็บเท้าเนื่องจากตกม้าในระหว่างการแสดงภาพยนตร์เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๔๓ จำเลยที่ ๑, ที่ ๓ และนางสาวประยูร กับพวกไปถึงสนามม้าดังกล่าวเมื่อเวลาประมาณ ๑๕ นาฬิกา จำเลยที่ ๑ แทงม้าอยู่จนเที่ยวสุดท้ายแข่งเสร็จ จึงได้พากันออกจากสนามม้าเมื่อเวลาเกือบ ๑๙ นาฬิกา แล้วไปซื้อของและรับประทานอาหารที่ย่านสยามสแควร์ จนกระทั่งเวลา ๒๐:๓๐ นาฬิกาจึงเดินทางกลับ และไปถึงโรงแรมเกิดเหตุเมื่อเวลาประมาณ ๒๑ นาฬิกา ก็ได้ความจากบันทึกคำให้การของนายประสงค์ ตรีวิจิตรศิลป์ แพทย์โรงพยาบาลสระบุรีผู้ตรวจรักษาจำเลยที่ ๒ ให้การไว้ในชั้นสอบสวน ตามเอกสารหมาย จ. ๑๒๓ แผ่นที่ ๑๖ ว่า จำเลยที่ ๒ ตกม้าเมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๔๓ ได้รับบาดเจ็บเป็นบาดแผลฉีกขาดที่หลังเข้าขวาขนาดกว้างสามเซนติเมตร ยาวห้าเซนติเมตร กับแผลถลอกที่ข้อเท้าขวาและหลังเท้าซ้าย บาดแผลดังกล่าวสามารถรักษาให้หายได้ในเวลาประมาณสิบวัน ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อน โรงพยาบาลได้รับตัวจำเลยที่ ๒ ไว้รักษาตั้งแต่วันที่ ๒๓ ถึงวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๔๓ ด้วยวิธีผ่าตัดล้างแผลและเย็บแผล จำเลยที่ ๒ ก็แจ้งว่า จะไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าเพราะอยู่ใกล้บ้าน และเนื่องจากสภาพบาดแผลของจำเลยที่ ๒ สามารถรักษาโดยไม่ต้องนอนที่โรงพยาบาลได้ จึงให้จำเลยที่ ๒ ออกจากโรงพยาบาลสระบุรี จำเลยที่ ๒ เองก็เบิกความว่า ได้ไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าและโรงพยาบาลกองพลทหารม้าที่ ๒ โดยมีแพทย์จากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้ามารักษาจนกระทั่งหาย จำเลยที่ ๒ จึงได้กลับไปทำงาน จึงฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ ๒ หายจากการบาดเจ็บเพราะตกม้าแล้ว นางสาวประยูร ถาวร พยานจำเลย เบิกความว่า จำเลยที่ ๑, ที่ ๓ และพยาน กับพวกไปถึงสนามม้าราชกรีฑาสโมสรขณะม้าเที่ยวที่ห้ากำลังแข่ง จำเลยที่ ๑ แทงม้าเที่ยวดังกล่าวไม่ทัน จึงถามหาพลตรี ไตรรงค์ อินทรทัต เมื่อทราบว่า พลตรี ไตรรงค์มาที่สนามม้าด้วย ก็บอกพยานว่า จะไปหา ให้พยานนั่งรอ แต่นายธีนะชัย ศิริยศ พยานจำเลยอีกปาก กลับเบิกความว่า จำเลยที่ ๑ ให้พยานไปแทงม้าให้ตั้งแต่เที่ยวที่ห้าจนเที่ยวสุดท้าย และจำเลยที่ ๑ เบิกความว่า เมื่อไปถึงสนามม้าแล้ว จำเลยที่ ๑ พานางสาวประยูรไปนั่งที่ห้องวีไอพีในสโมสรของสนามม้า แล้วจำเลยที่ ๑ ออกไปดูม้าแข่งและไปพบกับพลเรือเอก บรรณวิทย์ เก่งเรียน ผู้แนะนำให้มีการจัดการแข่งม้าการกุศลหาเงินบำรุงโรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์ซึ่งไปรับเงินบริจาค หลังจากมอบรางวัลให้แก่ม้าชนะแล้ว พลเรือเอก บรรณวิทย์และพลเรือตรี อนันต์ได้ชวนจำเลยที่ ๑ ไปพบพลเรือตรี ไตรรงค์ เจ้าของม้าชนะ เพื่อขอรับเงินบริจาค จำเลยที่ ๑ จึงได้ไปพบกับพลตรี ไตรรงค์ที่ห้องจ๊อกกีด้วย จำเลยที่ ๑ พูดคุยกับพลเรือตรี ไตรรงค์ต่ออีกประมาณสิบนาทีจึงกลับไปที่ห้องวีไอพีและดูม้าแทงม้าอยู่จนม้าเที่ยวสุดท้ายแข่งเมื่อเวลาเกือบ ๑๘ นาฬิกา โดยต้องเสียเวลาถกเถียงเกี่ยวกับเงินแทงม้าก่อนออกสนามม้าด้วย แต่พลเรือเอก บรรณวิทย์ เก่งเรียน พยานจำเลย เบิกความว่า พยานพบจำเลยที่ ๑ ขณะพยานเดินไปคล้องพวงมาลัยให้ม้าหลังจากที่ได้มอบรางวัลให้แก่ม้าชนะและพลตรี ไตรรงบค์ได้บริจาคเงินเข้าการกุศลแล้ว พยาน กับพลเรือตรี อนันต์ และจำเลยที่ ๑ ไปพบพลตรี ไตรรงค์ที่ห้องจ๊อกกีเพื่อมอบพระรูปกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ให้แก่พลตรี ไตรรงค์ ไม่ได้ไปขอรับเงินบริจาค แตกต่างขัดแย้งกัน แม้พลเรือเอก บรรณวิทย์จะเบิกความว่า พยานและพลเรือตรี อนันต์ออกจากห้องจ๊อกกีก่อนจำเลยที่ ๑ และกลับไปนั่งดูการแข่งม้าอยู่จนเวลาประมาณ ๑๗ นาฬิกา จึงได้ออกจากสนามม้ากลับไปปฏิบัติหน้าที่อื่นโดยเดินผ่านห้องวีไอพี ระหว่างนั้น พยานยังเห็นจำเลยที่ ๑ นั่งคุยกับพวกอยู่ในห้องดังกล่าว แต่พลเรือเอก บรรณวิทย์ได้เคยให้การต่อพนักงานสอบสวนไว้ตามเอกสารหมาย จ. ๑๒๒ แผ่นที่ ๒๒ ว่า หลังจากพยานออกจากห้องจ๊อกกีเมื่อเวลาประมาณ ๑๕:๑๕ นาฬิกาแล้ว พยานไม่ได้พบกับจำเลยที่ ๑ ในสนามม้าอีกเลย การที่พลเรือเอก บรรณวิทย์เบิกความอธิบายว่า ถ้อยคำที่ให้การไว้ดังกล่าวหมายความว่า พยานไม่ได้พบจำเลยที่ ๑ ในบริเวณสนามม้าเดินวนซึ่งเป็นสถานที่สำหรับพาม้าเดินวนก่อนการแข่งขัน จึงรับฟังไม่ได้ ข้ออ้างของจำเลยทั้งสามขาดน้ำหนัก ปัญหาดังกล่าว นางสาวณัฏฐา และนายวสันต์ บุญทะเล พยานโจทก์อีกปาก เบิกความตรงกันว่า จำเลยที่ ๑ กับพวกออกจากโรงแรมเกิดเหตุหลังจากผู้ตายเข้าพักที่ห้องเกิดเหตุแล้ว และกลับเข้ามาเมื่อเวลาประมาณ ๑๗ นาฬิกา โดยนางสาวณัฏฐาเบิกความว่า จำเลยที่ ๑ เอากุญแจห้องหมายเลข ๔๐๑๔ มาฝากพยานและออกจากโรงแรมเกิดเหตุไปกับพวกเมื่อเวลา ๑๕ ถึง ๑๖ นาฬิกา หลังจากนั้น ประมาณหนึ่งชั่วโมง จำเลยที่ ๑ กับพวกก็กลับเข้ามาที่โรงแรม และพวกของจำเลยที่ ๑ คนหนึ่งมาเอากุญแจห้องดังกล่าวไปจากพยาน นายวสันต์เบิกความว่า เวลาประมาณ ๑๕ นาฬิกา ขณะพยานยืนอยู่ที่บริเวณล็อบบีของโรงแรม เห็นจำเลยที่ ๑ กับพวกห้าถึงหกคนนั่งรถยนต์สองคันออกจากโรงแรมไป หลังจากนั้น เวลาประมาณ ๑๗ นาฬิกา ขณะพยานยืนอยู่ทางเข้าออกของพนักงานต้อนรับ เห็นจำเลยที่ ๑ กับพวกมายืนรอรับกุญแจจากนางสาวณัฏฐาอยู่ที่หน้าเคาน์เตอร์ คำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวสอดคล้องกัน มีน้ำหนักเชื่อถือได้ แม้นางสาวณัฏฐาจะเบิกความตอบทนายจำเลยที่ ๑ ถามค้านว่า พวกที่กลับมาพร้อมกับจำเลยที่ ๑ ไม่มีผู้หญิง แต่นายวสันต์เบิกความว่า มีผู้หญิงกลับมาด้วย ก็ไม่ทำให้น้ำหนักความน่าเชื่อถือลดลง เพราะจำเลยที่ ๑ กลับมากับพวกหลายคน นางสาวณัฏฐาอาจสังเกตไม่ทั่วถึงหรือเกิดความสับสนได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ขณะผู้ตายถูกฆ่า จำเลยทั้งสามอยู่ในโรงแรมเกิดเหตุ สำหรับเรื่องแผนผังห้องเกิดเหตุ, ห้องหมายเลข ๔๐๑๕ และ ๔๐๑๗ ตามเอกสารหมาย จ. ๔๙ แผ่นที่ ๒ ซึ่งจำเลยที่ ๑ อ้างว่า จำเลยที่ ๑ เขียนขึ้นหลังเกิดเหตุเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงต่อผู้บังคับบัญชา เห็นว่า จำเลยที่ ๑ เบิกความว่า หลังเกิดเหตุ วันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๔๔ หนังสือพิมพ์ลงข่าวว่า จำเลยที่ ๑ พักอยู่ห้องตรงข้ามกับผู้ตาย จำเลยที่ ๑ จึงไปพบผู้บังคับบัญชาที่บ้านปลอดภัยของศูนย์อำนวยการร่วม ๑๐๘ และอธิบายให้ผู้บังคับบัญชาทราบว่า ห้องที่จำเลยที่ ๑ พักอยู่เยื้องกับห้องผู้ตาย ไม่ได้อยู่ตรงกันข้าม ผู้บังคับบัญชาแนะให้ทำรายงานเสนอผู้บัญชาการทหารสูงสุด จำเลยที่ ๑ จึงได้ทำรายงานเพื่อเสนอผู้บัญชาการทหารสูงสุด โดยมีแผนผังห้องเกิดเหตุและห้องที่จำเลยที่ ๑ กับพวกพักแนบท้าย ตามเอกสารหมาย ล. ๓๕ โดยก่อนทำเอกสารดังกล่าว จำเลยที่ ๑ ได้นำกระดาษสำหรับจดข้อความในการรับโทรศัพท์มาเขียนแผนผังตามเอกสารหมาย จ. ๔๙ แผ่นที่ ๒ เพื่อเป็นต้นร่าง แต่พลโท นรเศรษฐ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา และพันเอก นเรนทร์ฤทธิ์ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ ๑ กลับเบิกความว่า จำเลยที่ ๑ เขียนแผนผัง เอกสารหมาย จ. ๔๙ แผ่นที่ ๒ ให้พยานทั้งสองดูในระหว่างการชี้แจงต่อพยานทั้งสอง โดยพันเอก นเรนทร์ฤทธิ์เบิกความด้วยว่า หลังจากนั้น พยานจึงได้สั่งให้จำเลยที่ ๑ ทำรายงานเสนอต่อผู้บังคับบัญชา ประการสำคัญ ด้านหลังของแผนผัง เอกสารหมาย จ. ๔๙ แผ่นที่ ๒ มีข้อความเขียนไว้ด้วยว่า "บ่าย ๓ บ๋อยแคชเชียร์ออก ๒" อันเป็นข้อความที่แสดงถึงเวลาออกจากกะการทำงานของพนักงานดังกล่าว ซึ่งไม่เกี่ยวกับเรื่องที่จำเลยที่ ๑ อ้างว่า จะชี้แจงต่อผู้บัญชาการทหารสูงสุด ข้ออ้างของจำเลยที่ ๑ ขาดน้ำหนัก ฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ ๑ ทำแผนผังห้องเกิดเหตุ, ห้องหมายเลข ๔๐๑๕ และ ๔๐๑๗ ตามเอกสารหมาย จ. ๔๙ แผ่นที่ ๒ ขึ้นหลังเกิดเหตุ เชื่อว่า จำเลยที่ ๑ ทำขึ้นก่อนเกิดเหตุ ส่วนเรื่องคราบโลหิตที่จำเลยทั้งสามอ้างว่า เหตุที่มีคราบโลหิตอยู่ในห้องหมายเลข ๔๐๑๕ และ ๔๐๑๗ เพราะมีผู้อื่นนำโลหิตของผู้ตายเข้าไปล้างหลังจากที่พบศพผู้ตายแล้ว และผลการตรวจสารพันธุกรรมโดยใช้น้ำยา polymarker ไม่แน่นอนนั้น เห็นว่า พันตำรวจโท สุวิชัย และร้อยตำรวจเอกหญิง โศรดา ปิติเลศปัญญา พยานโจทก์ เบิกความตรงกันว่า ปกติโลหิตในร่างกายมนุษย์เป็นของเหลวไหลเวียนไปตามร่างกาย แต่มีกลไกลทำให้แข็งตัวเมื่อไหลออกจากร่างกายแล้ว เมื่อทิ้งไว้ระยะหนึ่งจะแข็งตัวเป็นลิ่ม ซึ่งพันตำรวจโท สุวิชัย เบิกความว่า ภายในเวลาประมาณสองชั่วโมง โลหิตที่ยังไม่แข็งตัวหรือโลหิตสดเมื่อถูกน้ำจะละลลายเป็นเนื้อเดียวกับน้ำ โลหิตที่แข็งตัวแล้วจะไม่ละลายเป็นเนื้อเดียวกับน้ำ จะยังคงสภาพเป็นลิ่มเป็นก้อน และร้อยตำรวจเอกหญิง โศรดาเบิกความด้วยว่า คราบโลหิตที่ตรวจพบในห้องหมายเลข ๔๐๑๕ และ ๔๐๑๗ เป็นคราบโลหิตสด ส่วนคราบโลหิตที่แข็งตัวแล้วเมื่อนำมาหยดด้วยน้ำยาจะเห็นเป็นจุด ๆ และยังมีสภาพเป็นก้อนโลหิต จำเลยทั้งสามไม่ได้นำสืบคัดค้าน เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้ตายถูกฆ่าเมื่อวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๔๔ เวลาประมาณ ๑๗ นาฬิกา พนักงานของโรงแรมไปพบศพผู้ตายในวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๔๔ เวลาประมาณ ๑๔ นาฬิกา ห่างกันถึงยี่สิบเอ็ดชั่วโมง จึงเป็นไปไม่ได้ที่คราบโลหิตที่พบในห้องหมายเลข ๔๐๑๕ และ ๔๐๑๗ ซึ่งเป็นคราบโลหิตสดจะเป็นคราบโลหิตของผู้ตายที่เกิดขึ้นเพราะบุคคลอื่นนำไปล้างภายหลังจากที่พบศพผู้ตายแล้วดังที่จำเลยทั้งสามอ้าง ที่จำเลยทั้งสามอ้างว่า ผลการตรวจสารพันธุกรรมโดยใช้น้ำยา polymarker ไม่แน่นอน คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ พยานจำเลยทั้งสาม ก็เบิกความยอมรับว่า น้ำยา polymarker ซึ่งตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรมได้หกตำแหน่ง เป็นน้ำยาที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ใช้กันทั่วโลก เพียงแต่ปัจจุบันมีน้ำยาอื่นที่ตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรมได้มากตำแหน่งกว่าน้ำยา polymarker เท่านั้น พยานไม่สามารถระบุได้ว่า ผลการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรมด้วยน้ำยา polymarker ในคดีนี้ไม่ถูกต้อง ทั้งยังเบิกความตอบพนักงานอัยการ โจทก์ ถามค้านว่า การตรวจสารพันธุกรรมเพื่อพิสูจน์ตัวบุคคล หากวัตถุที่ใช้ตรวจเป็นของบุคคลคนเดียวกัน ไม่ว่าจะตรวจพิสูจน์โดยใช้น้ำยาที่ตรวจสารพันธุกรรมได้กี่ตำแหน่ง ผลการตรวจก็จะตรงกัน และการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรมในคดีนี้เป็นการตรวจพิสูจน์ยืนยันตัวบุคคล จึงฟังได้ว่า ผลการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรมจากคราบโลหิตที่พบในท่อน้ำทิ้งของอ่างล้างหน้าในห้องหมายเลข ๔๐๑๕ ถูกต้อง คราบโลหิตดังกล่าวเป็นคราบโลหิตของผู้ตาย ดังได้วินิจฉัยมาแล้วว่า คนร้ายเปรอะเปื้อนโลหิตผู้ตายและล้างออกก่อนที่จะไปจากโรงแรมเกิดเหตุ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ร้อยตำรวจเอกหญิง โศรดาได้ตรวจหาคราบโลหิตในห้องพักชั้นที่ ๔ ที่มีผู้เข้าพักทุกห้อง แต่ไม่พบคราบโลหิตในห้องอื่นอีกนอกจากห้องหมายเลข ๔๐๑๗ แม้จะมีจำนวนน้อยไม่สามารถตรวจพิสูจน์ได้ว่า เป็นคราบโลหิตของผู้ตายหรือไม่ก็ตาม แต่เป็นห้องที่จำเลยที่ ๑ กับพวกเช่าพักพร้อมกับห้องหมายเลข ๔๐๑๕ จึงเชื่อได้ว่า คราบโลหิตที่พบในห้องหมายเลข ๔๐๑๗ เป็นคราบโลหิตของผู้ตายเช่นกัน สำหรับคราบโลหิตที่แป้นเบรกรถยนต์ยี่ห้ออีซูซุทรูปเปอร์สีเลือดหมู หมายเลขทะเบียน กท-๓๙๖๕ เชียงใหม่ ของจำเลยที่ ๑ ซึ่งจำเลยที่ ๑ อ้างว่า ขณะเกิดเหตุ รถยนต์คันดังกล่าวอยู่ในอู่ซ่อมรถ โดยนำนายบุญยัง ศรีเกษ เจ้าของอู่หนุ่มดำเซอร์วิส และนางอรัญญา ศรีเกษ ภริยา มาเป็นพยานเบิกความว่า เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๔๔ นายเปี๊ยก ไม่ทราบนามสกุล คนขับรถของจำเลยที่ ๑ ได้นำรถยนต์คันดังกล่าวมาให้ซ่อมเครื่องยนต์และช่วงล่างแล้วรับกลับไปในวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๔๔ ก็ปรากฏว่า นายบุญยังได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนไว้ตามเอกสารหมาย จ. ๑๐๙ แผ่นที่ ๑ ว่า ความจริงวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๔๔ นายเปี๊ยกนำรถมาให้ตรวจเช็กรายการที่จะต้องซ่อมแซมก่อน แล้วนำกลับไป เพิ่งนำมาให้ซ่อมในวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๔๔ และรับกลับไปในวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๔๔ ทั้งได้ความจากคำให้การในชั้นสอบสวนของนางอรทัย มัจฉากล่ำ ภริยาของจำเลยที่ ๑ อีกคนหนึ่ง, นางรำพรรณ ศรีสะอาด มารดาของจำเลยที่ ๒ และพระครูพัฒนสารคุณ เจ้าคณะตำบลบุแกรง อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ ตามเอกสารหมาย จ. ๑๐๘, จ. ๑๓๖, จ. ๑๓๗ และ จ. ๑๔๐ ว่า ในวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๔๔ จำเลยที่ ๒ ได้พานางอรทัยไปให้พระครูพัฒนสารคุณรดน้ำมนต์สะเดาะเคราะห์ที่จังหวัดสุรินทร์ และให้เจิมรถยนต์ที่ใช้เป็นพาหนะ ซึ่งนางรำพรรณให้การว่า เป็นรถขับเคลื่อนที่ล้อ ยกสูง สีออกมืด ๆ พระครูพัฒนสารคุณให้การว่า คล้ายรถตู้ สีเปลือกมังคุด ลักษณะเดียวกับรถยนต์ในภาพที่พนักงานสอบสวนเอาให้ดู แม้จะไม่ปรากฏชัดว่า รถยนต์ในภาพดังกล่าวคือรถยนต์ยี่ห้ออีซูซุทรูปเปอร์สีเลือดหมู หมายเลขทะเบียน กท-๓๙๖๕ เชียงใหม่ ของจำเลยที่ ๑ แต่พระครูพัฒนสารคุณก็ให้การไว้ว่า เหตุที่จำได้ว่ารถยนต์ในภาพที่พนักงานสอบสวนให้ดูเป็นรถยนต์ที่นางอรทัยนำมาให้เจิม เพราะเป็นรถหมายเลขทะเบียนจังหวัดเชียงใหม่ ทำให้เชื่อได้ว่า เป็นรถยนต์คันเดียวกัน ขณะเกิดเหตุ รถยนต์ยี่ห้ออีซูซุทรูปเปอร์สีเลือดหมู หมายเลขทะเบียน กท-๓๙๖๕ เชียงใหม่ ของจำเลยที่ ๑ จึงไม่ได้อยู่ในอู่ซ่อมดังที่จำเลยที่ ๑ อ้าง ส่วนคราบโลหิตที่รองเท้าผ้าใบของจำเลยที่ ๓ ซึ่งจำเลยที่ ๓ อ้างว่า เป็นคราบโลหิตสุนัข ปรากฏว่า จำเลยที่ ๓ เบิกความลอย ๆ ว่า เกิดขึ้นเพราะก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ ๓ ใส่รองเท้าดังกล่าวเตะสุนัขที่ไล่เห่าจำเลยที่ ๓ ขณะขับขี่รถจักรยานยนต์กลับบ้าน โดยไม่ให้รายละเอียดเพื่อให้ศาลได้วินิจฉัยว่า เป็นความจริงหรือไม่ ข้ออ้างของจำเลยที่ ๓ จึงขาดน้ำหนัก ฟังไม่ได้ว่า คราบโลหิตดังกล่าวเป็นคราบโลหิตของสุนัขดังที่จำเลยที่ ๓ อ้างเช่นกัน สรุปแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้ตายถูกฆ่าเมื่อวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๔๔ เวลาประมาณ ๑๗ นาฬิกา ขณะพักอยู่ในโรงแรมเกิดเหตุ ชั้นที่ ๔ ห้องหมายเลข ๔๐๐๖ โดยคนร้ายหลายคนซึ่งชำนาญการฆ่าและรออยู่ด้านนอกอาศัยจังหวะที่นางสาวอัญคนางค์ซึ่งไปพบผู้ตายเปิดประตูออกจากห้องเกิดเหตุจู่โจมเข้าไปจับผู้ตายนอนคว่ำกดลงกับพื้น แล้วใช้มีดปอกผลไม้และอาวุธปืนของกลางที่นางสาวอัญคนางค์นำติดตัวไปด้วยเป็นอาวุธฆ่าผู้ตายด้วยการปาด แทง เชือดที่ลำคอ และยิงที่ศีรษะด้านหลังบริเวณกกหูซ้าย เป็นเหตุให้ผู้ตายนอนตะแคงขวาตายอยู่ในห้องเกิดเหตุ โดยโลหิตจากบาดแผลของผู้ตายเปรอะเปื้อนคนร้าย แล้วคนร้ายล้างออก และหลังจากฆ่าผู้ตายแล้วไม่ต่ำกว่าแปดชั่วโมง คนร้ายได้จัดศพผู้ตายให้นอนคว่ำตะแคงซ้ายเพื่ออำพรางให้การชันสูตรพลิกศพและผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไป จากนั้น คนร้ายจึงได้หลบหนีออกจากโรงแรมเกิดเหตุ พฤติการณ์ที่จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นทหารผ่านการฝึกฝนด้านยุทธวิธีและปฏิบัติหน้าที่ด้านการสืบสวนหาข่าวสามารถสืบทราบได้ว่า ผู้ตายจะเดินทางมาประชุมที่กรุงเทพมหานคร และคาดหมายได้ว่า ผู้ตายจะไปพักที่โรงแรมเกิดเหตุในห้องพักชั้นใด จึงได้เข้าไปพักในโรงแรมเดียวกัน ชั้นเดียวกัน ห้องหมายเลข ๔๐๑๕ และ ๔๐๑๗ ซึ่งสามารถมองเห็นผู้ตายเดินไปห้องพักได้ก่อนที่ผู้ตายจะเข้าห้องพัก โดยปกปิดชื่อ และเปิดประตูห้องหมายเลข ๔๐๑๗ แง้มไว้คอยมองเหตุการณ์ภายนอก โดยจำเลยที่ ๑ ได้เขียนแผนผังห้องที่ผู้ตายและห้องที่จำเลยทั้งสามกับพวกเข้าพักขึ้นตามเอกสารหมาย จ. ๔๙ แผ่นที่ ๒ ซึ่งมีรายละเอียดแสดงทิศทางเข้าออกของห้องดังกล่าว ขณะผู้ตายถูกฆ่า จำเลยทั้งสามอยู่ในโรงแรมเกิดเหตุ เพิ่งออกไปหลังจากที่คนร้ายจัดศพผู้ตายให้เปลี่ยนท่านอนตายแล้ว ภายในห้องที่จำเลยทั้งสามพักทั้งสองห้องมีคราบโลหิตของผู้ตายที่คนร้ายล้างออกปรากฏอยู่ ที่แป้นเบรกรถยนต์ยี่ห้ออีซูซุทรูปเปอร์ หมายเลขทะเบียน กท-๓๙๖๕ เชียงใหม่ ของจำเลยที่ ๑ ซึ่งยังใช้การได้อย่างปกติ และจำเลยที่ ๒ เกี่ยวข้องกับการใช้ กับที่รองเท้าของจำเลยที่ ๓ มีคราบโลหิตติดอยู่ ประกอบกับคำให้การชั้นสอบสวนของนางสาวอัญคนางค์ตามเอกสารหมาย จ. ๙๙ ถึง จ. ๑๐๑ ฟังได้โดยปราศจากความสงสัยว่า จำเลยทั้งสามกับพวกเป็นคนร้ายร่วมกันกับพวกใช้มีดปอกผลไม้และอาวุธปืนของกลางซึ่งเป็นของนางสาวอัญคนางค์นำติดตัวไปเป็นอาวุธฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แล้วจัดศพผู้ตายให้เปลี่ยนท่านอนตายเพื่ออำพรางให้การชันสูตรพลิกศพและผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป จำเลยทั้งสามจึงมีความผิดตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น แต่ความผิดฐานใช้อาวุธปืนของจำเลยทั้งสามเกิดขึ้นโดยจำเลยทั้งสามร่วมกันหยิบฉวยอาวุธปืนของกลางที่นางสาวอัญคนางค์นำติดตัวไปเป็นอาวุธยิงฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ความผิดฐานร่วมกันใช้อาวุธปืนของจำเลยทั้งสามกับความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความจะมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้

พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดฐานร่วมกันใช้อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต กับความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ นอกจากที่แก้ คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์



จรัส พวงมณี


นินนาท สาครรัตน์


สถิตย์ ทาวุฒิ



เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ แก้ไข

  1. คือ "รอยเขียวช้ำหลังตาย" (postmortem lividity, livor mortis, hypostasis หรือ suggillation)




ขึ้น

 

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"