รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511


ตราราชโองการ
ตราราชโองการ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร
ตราไว้ ณ วันที่ ๒๐ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๑๑
เป็นปีที่ ๒๓ ในรัชกาลปัจจุบัน

ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนกาลเป็นอดีตภาค ๒๕๑๑ พรรษา ปัจจุบันสมัย จันทรคตินิยม กปิสมพัตสร เชฏฐมาส กาฬปักษ์ ทสมีดิถี สุริยคติกาล มิถุนายนมาส วีสติมสุรทิน พฤหัสบดีวาร โดยกาลบริเฉท

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร เสด็จออก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ท่ามกลางอุดมสันนิบาต พระบรมวงศานุวงศ์ ทูตานุทูตผู้แทนนานาประเทศ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ และเสนามาตยราชบริพาร เฝ้าเบื้องบาทบงกชพรั่งพร้อมกันโดยอนุกรม

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า ตามที่สมเด็จพระบรมปิตุลาธิราช พระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ณ วันที่ ๑๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๕ นั้น เป็นการสถาปนาการปกครองระบอบประชาธิปไตยขึ้นในประเทศไทย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ทรงใช้อำนาจอธิปไตยซึ่งมาจากปวงชนชาวไทยตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติทางรัฐสภา ทรงใช้อำนาจบริหารทางคณะรัฐมนตรี และทรงใช้อำนาจตุลาการทางศาล

การปกครองระบอบประชาธิปไตยดังกล่าวได้วิวัฒนาการมาโดยลำดับ ภาวะการณ์บ้านเมืองผันแปรไป เป็นเหตุให้ต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายครั้งหลายคราว เพื่อให้เหมาะสมกับกาลสมัย

ตามวิวัฒนาการ ปรากฏว่า ระบอบการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้นเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของปวงชนชาวไทยเป็นการถาวรมั่นคงตลอดมา ข้อที่จำต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้แก่ สัมพันธภาพระหว่างรัฐสภากับคณะรัฐมนตรีและรูปของรัฐสภาเป็นสำคัญ ถ้าอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารอยู่ในฐานะที่คานกันและสมดุลกันตามควรแล้ว บ้านเมืองก็จะอยู่ในเสถียรภาพตามที่ต้องการ

วิธีที่จะให้มีการคานกันและสมดุลกันดังกล่าว เคยใช้วิธีให้มีสมาชิกสองประเภทอยู่ในสภาเดียวกัน คือ สมาชิกที่ราษฎรเลือกตั้ง และสมาชิกที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง แล้วใช้วิธีให้มีสองสภา คือ สภาที่ราษฎรเลือกตั้ง และสภาที่เลือกตั้งอย่างอื่น หรือสภาที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง แล้วกลับไปใช้วิธีเดิม แต่ก็รักษาเสถียรภาพไว้ไม่ได้

คณะปฏิวัติสังเกตเห็นว่า มีความอลเวงไม่สงบเรียบร้อย บ้านเมืองอาจประสบอันตรายได้อย่างมาก ถ้าจะให้การปกครองประเทศเป็นไปโดยเรียบร้อย และจะให้การปกครองระบอบรัฐธรรมนูญเป็นการมั่นคงถาวรโดยแท้แล้ว จะต้องสร้างรากฐานของระบอบนั้น โดยพัฒนาการศึกษาและการเศรษฐกิจของชาติตามแผนและโครงการที่แน่นอน กับทั้งจัดให้มีรัฐธรรมนูญที่เหมาะสม จึ่งได้ทำการปฏิวัติเมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๐๑ และคณะปฏิวัติได้ประกาศให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๗๕ แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๙๕

การที่จะให้มีรัฐธรรมนูญที่เหมาะสมนั้น หัวหน้าคณะปฏิวัติได้นำความกราบบังคมทูลว่า สมควรจัดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญและมีธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรเพื่อใช้ไปพลางก่อน ทรงพระราชดำริเห็นชอบด้วย เมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๐๒ จึ่งได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร จนกว่าจะได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญซึ่งสภาร่างรัฐธรรมนูญจะได้จัดร่างขึ้น

สภาร่างรัฐธรรมนูญได้ดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญโดยละเอียดถี่ถ้วน กล่าวคือ ได้ตั้งคณะกรรมาธิการฟังความคิดเห็นประชาชนมีหน้าที่รวบรวมพิจารณาความคิดเห็นของประชาชน คณะกรรมาธิการระเบียบวาระมีหน้าที่ค้นคว้าและรวบรวมหลักสารสำคัญอันควรพิจารณา และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมีหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ และในการนี้ เฉพาะหลักสารสำคัญ ให้ถือตามมติของสภา

ในการร่างรัฐธรรมนูญนี้ ทั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญและคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาดูบทรัฐธรรมนูญที่มีมาแล้วในประเทศไทย กับทั้งบทรัฐธรรมนูญของนานาประเทศประกอบด้วย แต่ความมุ่งหมายโดยเฉพาะ ก็คือ จะบัญญัติบทรัฐธรรมนูญให้เหมาะสมกับความต้องการของประเทศชาติ เพื่อให้ตั้งอยู่ในเสถียรภาพและความเจริญก้าวหน้าสืบไป

สภาร่างรัฐธรรมนูญลงมติกำหนดหลักสารสำคัญเป็นการทั่วไปว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และได้กำหนดหลักสารสำคัญในเรื่องอื่น ๆ อาทิ เรื่องรูปรัฐสภา และเรื่องสัมพันธภาพระหว่างรัฐสภากับคณะรัฐมนตรี กล่าวคือ ให้รัฐสภามีสองสภา สภาหนึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่ราษฎรเลือกตั้ง อีกสภาหนึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง รัฐสภามีอำนาจในทางนิติบัญญัติและควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินได้ด้วยวิธีการตั้งกระทู้ถามรัฐบาล เปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ หรือเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ

เมื่อรัฐสภามีอำนาจในทางนิติบัญญัติและควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินดังกล่าวแล้ว สภาร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาเห็นว่า เพื่อดุลแห่งอำนาจอันจะยังระบอบรัฐธรรมนูญให้ตั้งอยู่ในเสถียรภาพ สมควรที่อำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารจะแยกจากกันให้มากยิ่งขึ้น จึ่งได้ลงมติในหลักสารสำคัญว่า นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีอื่นซึ่งเป็นฝ่ายบริหารจะเป็นสมาชิกแห่งรัฐสภาในขณะเดียวกันไม่ได้

คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้ยกร่างรัฐธรรมนูญตามหลักสารสำคัญซึ่งสภาร่างรัฐธรรมนูญได้ลงมติไว้ และได้เสนอเพื่อให้สภาร่างรัฐธรรมนูญพิจารณา

สภาร่างรัฐธรรมนูญได้พิจารณาเป็นสามวาระ ในวาระที่ ๑ ได้รับร่างรัฐธรรมนูญไว้พิจารณา ในวาระที่ ๒ ได้ตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญนั้นกับคำแปรญัตติ ภายใต้บังคับแห่งหลักสารสำคัญที่สภาร่างรัฐธรรมนูญได้ลงมติไว้ และสภาร่างรัฐธรรมนูญได้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว เริ่มต้นด้วยชื่อรัฐธรรมนูญ คำปรารภ แล้วเรียงตามลำดับมาตราในวาระที่ ๓ ได้ลงมติให้เสนอร่างรัฐธรรมนูญนั้นต่อสภาร่างรัฐธรรมนูญในฐานะรัฐสภา

สภาร่างรัฐธรรมนูญในฐานะรัฐสภา ได้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๑๐ แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรแล้ว ลงมติให้นำร่างรัฐธรรมนูญนั้นขึ้นทูนเกล้าทูนกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยให้ประกาศใช้ต่อไป

ครั้นเมื่อได้นำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูนเกล้าทูลกระหม่อมถวายแล้ว ได้ทรงพระราชวิจารณ์โดยตลอด และทรงพระราชดำริเห็นพ้องต้องตามมติของสภาร่างรัฐธรรมนูญในฐานะรัฐสภาแล้ว

จึ่งมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมให้ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับนี้ขึ้นไว้ ให้ใช้แทนธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร ซึ่งได้ตราไว้ ณ วันที่ ๒๘ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๐๒ นั้น ตั้งแต่วันประกาศนี้เป็นต้นไป

ขอให้ปวงชนชาวไทยร่วมแรงร่วมใจกันสนับสนุน ส่งเสริม และรักษาปฏิบัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้ให้เป็นหลักสถิตสถาพร ขอให้ราษฎรใช้สิทธิของตนให้เป็นผลตามระบอบประชาธิปไตย ขอให้รัฐสภากับรัฐบาลปฏิบัติหน้าที่ตามบทแห่งรัฐธรรมนูญนี้ โดยเจตจำนงตรงกันในอันที่จะจรรโลงประเทศชาติให้มั่นคงเจริญก้าวหน้า จรรโลงประชาชนให้เกษมสุขสวัสดี จรรโลงวิถีรัฐธรรมนูญให้สมบูรณ์ด้วยเสถียรภาพ ตราบเท่านิรันดรกาล สมดังพระบรมราชปณิธานทุกประการ เทอญ



มาตราประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้

มาตราประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

มาตราอำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นแต่โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ



มาตราองค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้

มาตราผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้

มาตราพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะและทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก

มาตราพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติทางรัฐสภา

มาตราพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจบริหารทางคณะรัฐมนตรี

มาตราพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจตุลาการทางศาล

มาตรา๑๐พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย

มาตรา๑๑พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะสถาปนาฐานันดรศักดิ์และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์

มาตรา๑๒พระมหากษัตริย์ทรงเลือกและแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานองคมนตรีคนหนึ่ง และองคมนตรีอื่นอีกไม่มากกว่าแปดคน ประกอบเป็นคณะองคมนตรี

คณะองคมนตรีมีหน้าที่ถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ ในพระราชกรณียกิจทั้งปวงที่พระมหากษัตริย์ทรงปรึกษา และมีหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญนี้

มาตรา๑๓การเลือกและแต่งตั้งองคมนตรีก็ดี การให้องคมนตรีพ้นจากตำแหน่งก็ดี ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย

ให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานองคมนตรีหรือให้ประธานองคมนตรีพ้นจากตำแหน่ง และให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งองคมนตรีอื่นหรือให้องคมนตรีอื่นพ้นจากตำแหน่ง

มาตรา๑๔องคมนตรีต้องไม่เป็นข้าราชการประจำ รัฐมนตรีหรือข้าราชการการเมืองอื่น สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทน หรือสมาชิกหรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมือง และต้องไม่แสดงการฝักใฝ่ในพรรคการเมืองใด ๆ

มาตรา๑๕ก่อนเข้ารับหน้าที่ องคมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้

"ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ"

มาตรา๑๖องคมนตรีพ้นจากตำแหน่งเมื่อตาย ลาออก หรือมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่ง

มาตรา๑๗การแต่งตั้งและถอดถอนข้าราชการในพระองค์และสมุหราชองครักษ์ ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย

มาตรา๑๘ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักรหรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม จะได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งด้วยความเห็นชอบของรัฐสภาเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

มาตรา๑๙ในกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามมาตรา ๑๘ ก็ดี ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่สามารถทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพราะยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะหรือเพราะเหตุอื่นใดก็ดี ให้คณะองคมนตรีเสนอชื่อผู้ใดผู้หนึ่งที่สมควรดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ประธานรัฐสภาประกาศในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์แต่งตั้งผู้นั้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

มาตรา๒๐ในระหว่างที่ไม่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๘ หรือมาตรา ๑๙ ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปพลางก่อน

ในกรณีที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามมาตรา ๑๘ หรือมาตรา ๑๙ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ประธานองคมนตรีทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ชั่วคราว

ในระหว่างที่ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามวรรคหนึ่งก็ดี ในระหว่างที่ประธานองคมนตรีทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามวรรคสองก็ดี ประธานองคมนตรีจะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นประธานองคมนตรีมิได้ ในกรณีเช่นว่านี้ ให้คณะองคมนตรีเลือกองคมนตรีคนหนึ่งขึ้นทำหน้าที่ประธานองคมนตรีชั่วคราว

มาตรา๒๑ก่อนเข้ารับหน้าที่ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามมาตรา ๑๘ หรือมาตรา ๑๙ ต้องปฏิญาณตนในที่ประชุมรัฐสภา ด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้

"ข้าพเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอปฏิญาณว่า ข้าพเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ (พระปรมาภิไธย) และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ"

มาตรา๒๒การสืบราชสมบัติให้เป็นไปโดยนัยแห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ และประกอบด้วยความเห็นชอบของรัฐสภา

การยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ ให้กระทำได้โดยวิธีการอย่างเดียวกันกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

มาตรา๒๓ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลง ให้คณะองคมนตรีเสนอพระนามผู้สืบราชสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ ต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ประธานรัฐสภาอัญเชิญองค์ผู้สืบราชสันตติวงศ์ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไป แล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศเพื่อให้ประชาชนทราบ

ในระหว่างที่ยังไม่มีประกาศองค์ผู้สืบราชสันตติวงศ์ตามวรรคหนึ่ง ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปพลางก่อน แต่ในกรณีที่ราชบัลลังก์ว่างลงในระหว่างที่ได้แต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไว้ตามมาตรา ๑๘ หรือมาตรา ๑๙ หรือระหว่างเวลาที่ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามมาตรา ๒๐ วรรคหนึ่ง ก็ให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นั้น ๆ แล้วแต่กรณี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อไป ทั้งนี้ จนกว่าจะได้ประกาศองค์ผู้สืบราชสันตติวงศ์

ในกรณีที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งได้รับการแต่งตั้งไว้และเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อไปตามวรรคสองไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ประธานองคมนตรีทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ชั่วคราว

ในกรณีที่ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามวรรคสอง หรือทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ชั่วคราวตามวรรคสาม ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๒๐ วรรคสาม มาใช้บังคับ



มาตรา๒๔บุคคลไม่ว่าเหล่ากำเนิดหรือศาสนาใดย่อมอยู่ในความคุ้มครองแห่งรัฐธรรมนูญเสมอกัน

มาตรา๒๕บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย ฐานันดรศักดิ์ โดยกำเนิดก็ดี โดยแต่งตั้งก็ดี โดยประการอื่นใดก็ดี ไม่กระทำให้เกิดเอกสิทธิอย่างใดเลย

มาตรา๒๖บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนา นิกายของศาสนา หรือลัทธินิยมในทางศาสนา และย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือของตน เมื่อไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมืองและไม่เป็นการขัดขวางต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

ในการใช้เสรีภาพดังกล่าวในวรรคหนึ่ง บุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองมิให้รัฐกระทำการใด ๆ อันเป็นการรอนสิทธิหรือเสียประโยชน์อันควรมีควรได้ เพราะเหตุที่ถือศาสนา นิกายของศาสนา หรือลัทธินิยมในทางศาสนา หรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือ แตกต่างจากบุคคลอื่น

มาตรา๒๗บุคคลจะไม่ต้องรับโทษอาญา เว้นแต่จะได้กระทำการอันกฎหมายซึ่งใช้อยู่ในเวลาที่กระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่บุคคลนั้นจะหนักกว่าโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมายซึ่งใช้อยู่ในเวลาที่กระทำความผิดมิได้

มาตรา๒๘ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด

ก่อนที่จะมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่า บุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้

คำขอประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา จะต้องได้รับการพิจารณา และจะเรียกหลักประกันจนเกินควรแก่กรณีมิได้ การไม่ให้ประกันต้องอาศัยเหตุตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะในกฎหมาย และจะต้องแจ้งเหตุที่ไม่ให้ประกันแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยทราบ

บุคคลผู้ถูกคุมขังหรือถูกจำคุกย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการเยี่ยมตามสมควร

มาตรา๒๙บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในร่างกาย

การจับกุมคุมขังหรือตรวจค้นตัวบุคคลไม่ว่าในกรณีใด ๆ จะกระทำได้ก็แต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย แต่ผู้ถูกจับกุมหรือถูกตรวจค้นจะต้องได้รับแจ้งเหตุพร้อมด้วยรายละเอียดตามสมควรในการที่ถูกจับหรือถูกตรวจค้นโดยไม่ชักช้า และผู้ถูกคุมขังย่อมมีสิทธิที่จะพบและปรึกษาทนายความเป็นการเฉพาะตัวได้

ในกรณีที่มีการคุมขังตัวบุคคล ผู้ถูกคุมขังเองก็ดี พนักงานอัยการก็ดี บุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้ถูกคุมขังก็ดี มีสิทธิร้องต่อศาลท้องที่ซึ่งมีอำนาจพิจารณาคดีอาญาว่า การคุมขังเป็นการมิชอบด้วยกฎหมาย เมื่อมีคำร้องเช่นว่านี้ ให้ศาลดำเนินการไต่สวนฝ่ายเดียวโดยด่วน ถ้าเห็นว่า คำร้องนั้นมีมูล ศาลมีอำนาจสั่งผู้คุมขังให้นำตัวผู้ถูกคุมขังมาศาลโดยพลัน และถ้าผู้คุมขังแสดงให้เป็นที่พอใจของศาลไม่ได้ว่า การคุมขังเป็นการชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้ศาลสั่งปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังไปทันที

มาตรา๓๐การเกณฑ์แรงงานจะกระทำได้ก็แต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อประโยชน์ในการป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะอันมีมาเป็นการฉุกเฉิน หรือโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายซึ่งบัญญัติให้กระทำได้ในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะการรบหรือการสงคราม หรือในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือในระหว่างเวลาที่มีประกาศใช้กฎอัยการศึก

มาตรา๓๑บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในเคหสถาน

บุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองในการที่จะอยู่อาศัยและครอบครองเคหสถานโดยปรกติสุข การเข้าไปในเคหสถานโดยปราศจากความยินยอมของผู้ครอบครองก็ดี การตรวจค้นเคหสถานก็ดี จะกระทำได้ก็แต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

มาตรา๓๒สิทธิของบุคคลในทรัพย์สินย่อมได้รับความคุ้มครอง ขอบเขตและการจำกัดสิทธิเช่นว่านี้ย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

การสืบมรดกย่อมได้รับความคุ้มครอง สิทธิของบุคคลในการสืบมรดกย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์จะกระทำได้ก็แต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อการอันเป็นสาธารณูปโภค หรือการอันจำเป็นในการป้องกันประเทศโดยตรง หรือการได้มาซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ หรือเพื่อประโยชน์แก่การผังเมืองหรือประโยชน์ของรัฐอย่างอื่น และต้องชดใช้ค่าทำขวัญอันเป็นธรรมแก่เจ้าของตลอดจนผู้ทรงสิทธิตามที่ระบุไว้ในกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ บรรดาที่ได้รับความเสียหายในการเวนคืนนั้นด้วย

มาตรา๓๓บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการพูด การเขียน การพิมพ์ และการโฆษณา

การจำกัดเสรีภาพเช่นว่านี้จะกระทำได้ก็แต่โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อคุ้มครองเสรีภาพของบุคคลอื่น หรือเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะคับขัน หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันความเสื่อมทรามทางจิตใจของยุวชน

การให้เงินหรือทรัพย์สินอย่างอื่นอุดหนุนหนังสือพิมพ์ของเอกชน รัฐจะกระทำมิได้

มาตรา๓๔บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการศึกษาอบรม เมื่อการศึกษาอบรมนั้นไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมืองตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาอบรม และไม่ขัดต่อกฎหมายเกี่ยวกับการจัดสรรสถานศึกษา

มาตรา๓๕บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ

การจำกัดเสรีภาพเช่นว่านี้จะกระทำได้ก็แต่โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะในกรณีการชุมนุมสาธารณะ และเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะการรบหรือการสงคราม หรือในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือในระหว่างเวลาที่มีประกาศใช้กฎอัยการศึก

มาตรา๓๖บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการรวมกันเป็นสมาคม เมื่อมีวัตถุประสงค์ไม่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย

การจัดตั้งและการดำเนินกิจการของสมาคม ย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

มาตรา๓๗บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการรวมกันเป็นพรรคการเมือง เพื่อดำเนินกิจการในทางการเมืองโดยวิถีทางประชาธิปไตย และไม่ขัดต่อระบอบการปกครองตามรัฐธรรมนูญนี้

การจัดตั้งและการดำเนินกิจการของพรรคการเมือง ย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง

มาตรา๓๘บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการสื่อสารถึงกันโดยทางไปรษณีย์หรือทางอื่นที่ชอบด้วยกฎหมาย

การตรวจ การกัก หรือการเปิดเผยจดหมาย โทรเลข โทรศัพท์ หรือสิ่งสื่อสารอื่นใดที่บุคคลมีติดต่อถึงกัน จะกระทำได้ก็แต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอภาคในการใช้การสื่อสารที่จัดไว้เป็นบริการสาธารณะ

มาตรา๓๙บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการเลือกถิ่นที่อยู่ภายในราชอาณาจักรและในการประกอบอาชีพ

การจำกัดเสรีภาพเช่นว่านี้ จะกระทำได้ก็แต่โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อความปลอดภัยของประเทศ เศรษฐกิจแห่งชาติหรือสวัสดิภาพของประชาชน หรือเพื่อรักษาความสัมพันธ์ในครอบครัว

การเนรเทศบุคคลผู้มีสัญชาติไทยออกนอกราชอาณาจักรจะกระทำมิได้

มาตรา๔๐บุคคลคนเดียวหรือหลายคนร่วมกันย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ ภายในเงื่อนไขและวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา๔๑สิทธิของบุคคลในครอบครัวย่อมได้รับความคุ้มครอง

มาตรา๔๒สิทธิของบุคคลที่จะฟ้องหน่วยราชการซึ่งเป็นนิติบุคคล ให้รับผิดเพื่อการกระทำของเจ้าพนักงานในฐานะเสมือนเป็นตัวการหรือนายจ้าง ย่อมได้รับความคุ้มครอง

มาตรา๔๓บุคคลซึ่งเป็นทหาร ตำรวจ ข้าราชการประจำอื่น และข้าราชการส่วนท้องถิ่น ย่อมมีสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับประชาชนพลเมือง เว้นแต่ที่จำกัดในกฎหมาย หรือกฎหรือข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจกฎหมาย เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการเมือง สมรรถภาพหรือวินัย

มาตรา๔๔บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญนี้ให้เป็นปฏิปักษ์ต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญมิได้



มาตรา๔๕บุคคลมีหน้าที่ป้องกันประเทศ

มาตรา๔๖บุคคลมีหน้าที่รับราชการทหารตามที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา๔๗บุคคลมีหน้าที่รักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้

มาตรา๔๘บุคคลมีหน้าที่เคารพต่อกฎหมาย

มาตรา๔๙ในการใช้สิทธิเลือกตั้งและสิทธิออกเสียงประชามติ บุคคลมีหน้าที่ต้องกระทำโดยสุจริต และมุ่งถึงประโยชน์ส่วนรวม

มาตรา๕๐บุคคลมีหน้าที่เสียภาษีอากรตามที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา๕๑บุคคลมีหน้าที่ช่วยเหลือราชการตามที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา๕๒บุคคลมีหน้าที่รับการศึกษาอบรมชั้นประถมศึกษา ภายในเงื่อนไขและวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ



มาตรา๕๓บทบัญญัติในหมวดนี้มีไว้เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการตรากฎหมายและการบริหารราชการตามนโยบายดังกำหนดไว้ และไม่ก่อให้เกิดสิทธิในการฟ้องร้องรัฐ

มาตรา๕๔รัฐจะต้องรักษาไว้ซึ่งเอกราช

มาตรา๕๕รัฐพึงส่งเสริมสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศและถือหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกัน

มาตรา๕๖รัฐพึงร่วมมือกับนานาประเทศในการรักษาความยุติธรรมระหว่างประเทศ และผดุงสันติสุขของโลก

มาตรา๕๗กำลังทหารพึงมีโดยเหมาะสมแก่ความจำเป็นสำหรับรักษาเอกราช ความมั่นคงและผลประโยชน์แห่งชาติ

มาตรา๕๘กำลังทหารเป็นของชาติ พึงใช้เพื่อการรบหรือการสงคราม หรือเพื่อปราบปรามการจลาจล

การใช้กำลังทหารเพื่อการอื่น ให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

มาตรา๕๙รัฐพึงส่งเสริมและบำรุงการศึกษาอบรม

การจัดระบบการศึกษาอบรมเป็นหน้าที่ของรัฐโดยเฉพาะสถานศึกษาทั้งปวงย่อมอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของรัฐ

การศึกษาอบรมชั้นอุดมศึกษา รัฐพึงจัดการให้สถานศึกษาดำเนินกิจการของตนเองได้ภายในขอบเขตที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา๖๐การศึกษาอบรมชั้นประถมศึกษาในสถานศึกษาของรัฐ จะต้องจัดให้โดยไม่เก็บค่าเล่าเรียน

รัฐพึงช่วยเหลือให้ได้มีอุปกรณ์การศึกษาอบรมตามควร

มาตรา๖๑รัฐพึงสนับสนุนการวิจัยในศิลปวิทยาและวิทยาศาสตร์

มาตรา๖๒รัฐพึงรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมประจำชาติ แต่ต้องไม่กระทำโดยวิธีการอันเป็นการบังคับฝืนใจบุคคล

มาตรา๖๓รัฐพึงบำรุงรักษาสถานที่และวัตถุอันมีค่าในทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและศิลปกรรม

มาตรา๖๔รัฐพึงสนับสนุนให้เอกชนได้มีการริเริ่มในทางเศรษฐกิจ

การประกอบกิจการอันมีลักษณะเป็นสาธารณูปโภค รัฐพึงจัดให้ประสานกันกับการดำเนินกิจการทางเศรษฐกิจส่วนเอกชน ในทางที่จะในทางที่จะให้ประโยชน์แก่ประชาชนเป็นส่วนรวม

การประกอบกิจการอันมีลักษณะเป็นสาธารณูปโภคโดยเอกชนก็ดี กิจการอันเป็นการผูกขาดตัดตอนก็ดี จะกระทำได้ก็แต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

มาตรา๖๕รัฐพึงส่งเสริมและบำรุงการประกอบเกษตรกรรมเพื่อเพิ่มพูนผลิตผลทั้งในทางปริมาณและคุณภาพ

มาตรา๖๖รัฐพึงสนับสนุนการค้าและการประกอบการผลิตส่วนเอกชน ทั้งในเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม

มาตรา๖๗รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการสังคมสงเคราะห์ เพื่อสวัสดิภาพและความผาสุกของประชาชน

มาตรา๖๘รัฐพึงส่งเสริมให้ประชากรวัยทำงานมีงานทำตามควรแก่อัตภาพ และคุ้มครองแรงงานให้เป็นไปโดยเป็นธรรม

มาตรา๖๙รัฐพึงส่งเสริมการสาธารณสุข

มาตรา๗๐รัฐพึงส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และสนับสนุนให้ท้องถิ่นสามารถดำเนินกิจการตามอำนาจหน้าที่ได้เป็นผลดี





มาตรา๗๑รัฐสภาประกอบด้วยวุฒิสภาและสภาผู้แทน

รัฐสภาจะประชุมร่วมกันหรือแยกกัน ย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้

มาตรา๗๒ประธานวุฒิสภาเป็นประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนเป็นรองประธานรัฐสภา

ประธานรัฐสภามีหน้าที่ดำเนินกิจการของรัฐสภาในกรณีประชุมร่วมกันให้เป็นไปตามระเบียบ และมีหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญนี้

ในกรณีที่ประธานรัฐสภาไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานรัฐสภาทำหน้าที่แทน

มาตรา๗๓ร่างพระราชบัญญัติจะตราขึ้นเป็นกฎหมายได้ก็แต่โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา

มาตรา๗๔ร่างพระราชบัญญัติซึ่งได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้

มาตรา๗๕ร่างพระราชบัญญัติใดพระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยและพระราชทานคืนมายังรัฐสภา หรือมิได้พระราชทานคืนมาภายในเก้าสิบวัน รัฐสภาจะต้องปรึกษาร่างพระราชบัญญัตินั้นใหม่ ถ้ารัฐสภาลงมติยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่ต่ำกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของทั้งสองสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นทูนเกล้าฯ ถวายอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระมหากษัตริย์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานลงมาภายในสามสิบวัน ก็ให้นายกรัฐมนตรีนำพระราชบัญญัตินั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับเป็นกฎหมายได้ เสมือนหนึ่งว่าพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว

มาตรา๗๖บุคคลจะเป็นสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนในขณะเดียวกันมิได้

มาตรา๗๗สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนสภาใดสภาหนึ่งไม่น้อยกว่าห้าคน มีสิทธิเข้าชื่อร้องต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก ว่าสมาชิกภาพของสมาชิกคนใดคนหนึ่งแห่งสภานั้นสิ้นสุดลงตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ และให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับคำร้องส่งคำร้องนั้นไปยังคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย

คำวินิจฉัยของคณะกรรมการตุลาการรัฐธรรมนูญให้ถือเป็นเด็ดขาด และให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญแจ้งคำวินิจฉัยนั้นไปยังประธานแห่งสภาที่ได้รับคำร้องดังกล่าวในวรรคหนึ่ง

คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ว่าสมาชิกภาพของสมาชิกคนใดคนหนึ่งสิ้นสุดลง ย่อมไม่กระทบกระทั่งกิจการที่สมาชิกคนนั้นได้กระทำไปในหน้าที่สมาชิกก่อนที่ประธานแห่งสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกได้รับแจ้งคำวินิจฉัย



มาตรา๗๘วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิในวิชาการหรือกิจการต่าง ๆ อันจะยังประโยชน์ให้เกิดแก่การปกครองแผ่นดิน มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด และมีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบปีบริบูรณ์

สมาชิกวุฒิสภาให้มีจำนวนสามในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทน หากจำนวนที่คำนวณได้มีเศษให้ปัดเศษทิ้ง

มาตรา๗๙สมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภามีวาระคราวละหกปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง

ในวาระเริ่มแรกเมื่อครบกำหนดสามปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งสมาชิกเป็นครั้งแรก ให้มีการจับฉลากเพื่อให้สมาชิกพ้นจากตำแหน่งเป็นจำนวนกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด และให้ถือว่าการสิ้นสุดแห่งสมาชิกภาพโดยการจับสลากเป็นการออกตามวาระด้วย

พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะแต่งตั้งผู้ที่ออกตามวาระ เป็นสมาชิกอีกได้

มาตรา๘๐สมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภาสิ้นสุดลง เมื่อ

(๑)ถึงคราวออกตามวาระ

(๒)ตาย

(๓)ลาออก

(๔)เสียสัญชาติไทย

(๕)มีลักษณะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๘๖ (๑) (๒) (๓) หรือ (๕) หรือมาตรา ๘๙ (๑) (๒) หรือ (๓)

(๖)ถูกจำคุกโดยคำพิพากษาโทษจำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดที่เป็นลหุโทษ หรือความผิดที่มีกำหนดโทษชั้นลหุโทษ

มาตรา๘๑ถ้าตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาว่างลงเพราะเหตุอื่นใด นอกจากถึงคราวออกตามวาระ พระมหากษัตริย์จะได้ทรงแต่งตั้งบุคคลผู้มีลักษณะต้องตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๗๘ เข้ามาเป็นสมาชิกแทน สมาชิกซึ่งเข้ามาแทนนั้นย่อมอยู่ในตำแหน่งได้เพียงครบตามวาระของผู้ซึ่งตนแทน



มาตรา๘๒สภาผู้แทนประกอบด้วยสมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้ง มีจำนวนตามเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๘๓

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ และให้ถือเขตจังหวัดเป็นเกณฑ์

การเลือกตั้งจะใช้วิธีรวมเขตหรือแบ่งเขต ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน

มาตรา๘๓การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนให้ถือเกณฑ์จำนวนราษฎรแต่ละจังหวัด ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้ง หนึ่งแสนห้าหมื่นคนต่อสมาชิกสภาผู้แทนหนึ่งคน จังหวัดใดมีราษฎรไม่ถึงหนึ่งแสนห้าหมื่นคนให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนในจังหวัดนั้นได้หนึ่งคน ถ้าจังหวัดใดมีราษฎรเกินหนึ่งแสนห้าหมื่นคนก็ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนในจังหวัดนั้นเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคนต่อจำนวนราษฎรทุกหนึ่งแสนห้าหมื่นคน เศษของหนึ่งแสนห้าหมื่นถ้าถึงเจ็ดหมื่นห้าพันหรือกว่านั้นให้นับเป็นหนึ่งแสนห้าหมื่น

มาตรา๘๔บุคคลผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา ๘๕ และไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามมาตรา ๘๖ ย่อมมีสิทธิเลือกตั้ง

มาตรา๘๕ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

(๑)สัญชาติไทยตามกฎหมาย แต่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยซึ่งบิดาเป็นคนต่างด้าวก็ดี บุคคลผู้ได้สัญชาติไทยโดยการแปลงชาติก็ดี ต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนอีกด้วย

(๒)อายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์ในวันที่ ๑ มกราคม ของปีที่มีการเลือกตั้ง

(๓)คุณสมบัติอื่น หากมีกำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน

มาตรา๘๖บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ในวันเลือกตั้ง เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง คือ

(๑)วิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

(๒)หูหนวกและเป็นใบ้ ซึ่งไม่สามารถอ่านและเขียนหนังสือได้

(๓)ภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช

(๔)ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาล

(๕)อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งโดยคำพิพากษา

มาตรา๘๗บุคคลผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามมาตรา ๘๔ และมีคุณสมบัติตามมาตรา ๘๘ ทั้งไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามมาตรา ๘๙ ย่อมมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทน แต่บทบัญญัติมาตรา ๘๖ (๔}}มิให้นำมาใช้บังคับในกรณีที่ยังมิได้มีคำพิพากษาของศาลใดศาลหนึ่งให้จำคุกผู้ต้องคุมขัง

มาตรา๘๘ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

(๑)สัญชาติไทยตามกฎหมาย แต่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยซึ่งบิดาเป็นคนต่างด้าวก็ดี บุคคลผู้ได้สัญชาติไทยโดยการแปลงชาติก็ดี ต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนอีกด้วย

(๒)อายุไม่ต่ำกว่าสามสิบปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง

(๓)มาตรฐานการศึกษาตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน

(๔)คุณสมบัติอื่น หากมีกำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน

มาตรา๘๙บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง คือ

(๑)ติดยาเสพติดให้โทษ

(๒)ตาบอดทั้งสองข้าง

(๓)เป็นบุคคลล้มละลายซึ่งศาลยังไม่สั่งให้พ้นจากคดี

(๔)เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกตั้งแต่สองปีขึ้นไป โดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีในวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท

(๕)เป็นข้าราชการหรือข้าราชการส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีเงินเดือนและตำแหน่งประจำ นอกจากข้าราชการการเมือง

(๖)ลักษณะอื่น หากมีกำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน

มาตรา๙๐ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน

มาตรา๙๑อายุของสภาผู้แทนมีกำหนดคราวละสี่ปีนับแต่วันเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรก

มาตรา๙๒การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน จะกระทำได้เมื่อได้มีพระราชกฤษฎีกาให้เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนแล้ว พระราชกฤษฎีกานั้นให้ระบุระยะเวลารับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้งและวันเลือกตั้งด้วย ในกรณีเลือกตั้งทั่วไป ให้กำหนดวันเลือกตั้งวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร

มาตรา๙๓พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนเพื่อให้ราษฎรเลือกตั้งสมาชิกใหม่

การยุบสภาผู้แทนให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา ซึ่งต้องกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายในเก้าสิบวัน

มาตรา๙๔สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนเริ่มแต่วันเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรก

มาตรา๙๕สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนสิ้นสุดลง เมื่อ

(๑)ถึงคราวออกตามอายุของสภาผู้แทน หรือมีการยุบสภาผู้แทน

(๒)ตาย

(๓)ลาออก

(๔)ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๘๕ หรือมาตรา ๘๘

(๕)มีลักษณะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๘๖ (๑) (๒) (๓) หรือ (๕) หรือมาตรา ๘๙ (๑) (๒) (๓) (๕) หรือ (๖)

(๖)ถูกจำคุกโดยคำพิพากษาโทษจำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดที่เป็นลหุโทษ หรือความผิดที่มีกำหนดโทษชั้นลหุโทษ

มาตรา๙๖ถ้าตำแหน่งสมาชิกว่างลงเพราะเหตุอื่นใดนอกจากถึงคราวออกตามอายุของสภาผู้แทน หรือเมื่อมีการยุบสภาผู้แทน ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกขึ้นแทนภายในเก้าสิบวัน เว้นแต่อายุของสภาผู้แทนจะเหลือไม่ถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวัน

สมาชิกภาพของสมาชิกผู้เข้ามาแทนนั้นเริ่มแต่วันเข้ารับหน้าที่ และอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าอายุของสภาที่เหลืออยู่



มาตรา๙๗สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมายใด ๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ตามความเห็นของตนโดยบริสุทธิ์ใจ เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย

มาตรา๙๘ก่อนเข้ารับหน้าที่ สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนต้องปฏิญาณตนในที่ประชุมแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้

"ข้าพเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ของปฏิญาณว่า ข้าพเจ้าจะปฏิบัติหน้าที่ตามความเห็นของข้าพเจ้าโดยบริสุทธิ์ใจ เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ"

มาตรา๙๙วุฒิสภาและสภาผู้แทนแต่ละสภามีประธานสภาคนหนึ่งและรองประธานสภาคนหนึ่งหรือสองคนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากสมาชิกแห่งสภานั้น ๆ ตามมติของสภา

มาตรา๑๐๐ประธานและรองประธานวุฒิสภาดำรงตำแหน่งจนถึงวันก่อนวันเลือกประธานและรองประธานวุฒิสภาใหม่ ซึ่งจะต้องกระทำเมื่อถึงคราวที่มีการเปลี่ยนสมาชิกกึ่งหนึ่ง

ประธานและรองประธานสภาผู้แทนดำรงตำแหน่งจนสิ้นอายุของสภา หรือมีการยุบสภา

ประธานและรองประธานวุฒิสภา และประธานและรองประธานสภาผู้แทน ย่อมพ้นจากตำแหน่งก่อนถึงวาระพ้นจากตำแหน่งตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง เมื่อ

(๑)ขาดจากสมาชิกภาพแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก

(๒)ลาออกจากตำแหน่ง

มาตรา๑๐๑ประธานวุฒิสภาและประธานสภาผู้แทนมีหน้าที่ดำเนินกิจการของสภานั้น ๆ ให้เป็นไปตามระเบียบ รองประธานมีหน้าที่ทำกิจการแทนประธานเมื่อประธานไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้

มาตรา๑๐๒ในเมื่อประธานและรองประธานวุฒิสภาหรือประธานและรองประธานสภาผู้แทนไม่อยู่ในที่ประชุม ให้สมาชิกแห่งสภานั้น ๆ เลือกตั้งกันขึ้นเองเป็นประธานในคราวประชุมนั้น

มาตรา๑๐๓การประชุมวุฒิสภาก็ดี การประชุมสภาผู้แทนก็ดี ต้องมีสมาชิกประชุมไม่ต่ำกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม

มาตรา๑๐๔ภายใต้บังคับมาตรา ๗๕ มาตรา ๑๒๑ มาตรา ๑๔๙ และมาตรา ๑๖๙ การลงมติวินิจฉัยข้อปรึกษาให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ

สมาชิกคนหนึ่งย่อมมีเสียงหนึ่งในการออกเสียงลงคะแนน ถ้ามีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นได้อีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

มาตรา๑๐๕ในที่ประชุมวุฒิสภาก็ดี ที่ประชุมสภาผู้แทนก็ดี ที่ประชุมรัฐสภาก็ดี สมาชิกผู้ใดจะกล่าวถ้อยคำใด ๆ ในทางแถลงข้อเท็จจริง หรือแสดงความคิดเห็น หรือออกเสียงลงคะแนน ย่อมเป็นเอกสิทธิ์โดยเด็ดขาด ผู้ใดจะนำไปเป็นเหตุฟ้องร้องว่ากล่าวสมาชิกผู้นั้นในทางใดมิได้

เอกสิทธิ์นี้ย่อมคุ้มครองไปถึงผู้พิมพ์และผู้โฆษณารายงานการประชุมโดยคำสั่งของสภา และคุ้มครองไปถึงบุคคลซึ่งประธานในที่ประชุมอนุญาตให้แถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมด้วย

มาตรา๑๐๖สมัยประชุมของวุฒิสภาและสภาผู้แทนย่อมเริ่มต้นและสิ้นสุดลงพร้อมกัน ตามสมัยประชุมของรัฐสภา

มาตรา๑๐๗ในระหว่างที่สภาผู้แทนถูกยุบ จะมีการประชุมวุฒิสภามิได้

มาตรา๑๐๘ในปีหนึ่งให้มีสมัยประชุมสามัญของรัฐสภาสมัยหนึ่งหรือหลายสมัย แล้วแต่สภาผู้แทนจะกำหนด การประชุมครั้งแรกต้องให้สมาชิกได้มาประชุมภายในสามสิบวันนับแต่วันเลือกตั้ง

วันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปี ให้สภาผู้แทนเป็นผู้กำหนด

มาตรา๑๐๙สมัยประชุมสามัญสมัยหนึ่ง ๆ ให้มีกำหนดเวลาเก้าสิบวัน แต่พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าฯ ให้ขยายเวลาออกไปก็ได้

ในระหว่างเวลาดังกล่าวในวรรคหนึ่ง จะโปรดเกล้าฯ ให้ปิดประชุมก็ได้

มาตรา๑๑๐พระมหากษัตริย์ทรงเรียกประชุมรัฐสภา ทรงเปิดและปิดประชุม

พระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงทำพิธีเปิดประชุมด้วยพระองค์เองหรือจะโปรดเกล้าฯ ให้รัชทายาทซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วหรือผู้ใดผู้หนึ่ง เป็นผู้แทนพระองค์มาทำพิธีก็ได้

มาตรา๑๑๑เมื่อมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ พระมหากษัตริย์จะทรงเรียกประชุมรัฐสภาเป็นการประชุมสมัยวิสามัญก็ได้

มาตรา๑๑๒สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนทั้งสองสภารวมกัน หรือสมาชิกของแต่ละสภา ไม่ต่ำกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของทั้งสองสภา มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอให้นำความกราบบังคมทูล เพื่อมีพระบรมราชโองการประกาศเรียกประชุมรัฐสภาเป็นการประชุมสมัยวิสามัญก็ได้

คำร้องขอดังกล่าวในวรรคหนึ่ง ถ้าเป็นของสมาชิกทั้งสองสภาให้ยื่นต่อประธานรัฐสภา ถ้าเป็นของสมาชิกสภาใดให้ยื่นต่อประธานสภานั้น

ให้ประธานสภาผู้ได้รับคำร้องขอนำความกราบบังคมทูลและรับสนองพระบรมราชโองการ

มาตรา๑๑๓ภายใต้บังคับมาตรา ๑๑๒ การเรียกประชุม การขยายเวลาประชุม และการปิดประชุมรัฐสภา ให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา

มาตรา๑๑๔ในระหว่างสมัยประชุม ห้ามมิให้จับหรือคุมขังหรือหมายเรียกตัวสมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกสภาผู้แทนไปทำการสอบสวน ในฐานะที่สมาชิกผู้นั้นเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา เว้นแต่ในกรณีที่ได้รับอนุญาตจากสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก หรือในกรณีที่จับในขณะกระทำความผิด

ในกรณีที่มีการจับสมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกสภาผู้แทนในขณะกระทำความผิด ให้รายงานไปยังประธานแห่งสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกโดยด่วน และประธานแห่งสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกอาจสั่งปล่อยผู้ถูกจับให้พ้นจากการคุมขังได้

มาตรา๑๑๕ในกรณีที่มีการฟ้องสมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกสภาผู้แทนในคดีอาญา ไม่ว่าจะได้ฟ้องนอกหรือในสมัยประชุม ศาลจะพิจารณาคดีนั้นในระหว่างสมัยประชุมมิได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก แต่กระนั้นการพิจารณาคดีก็ต้องไม่เป็นการขัดขวางต่อการที่สมาชิกผู้นั้นจะมาเข้าประชุมสภา

การพิจารณาที่ศาลได้กระทำไปก่อนมีคำอ้างว่าจำเลยเป็นสมาชิกของสภาใดสภาหนึ่ง ย่อมเป็นอันใช้ได้

มาตรา๑๑๖ถ้าสมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกสภาผู้แทนถูกคุมขังในระหว่างสอบสวนหรือพิจารณาอยู่ก่อนสมัยประชุม เมื่อถึงสมัยประชุม พนักงานสอบสวนหรือศาล แล้วแต่กรณี ต้องสั่งปล่อยทันที ถ้าหากสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกได้ร้องขอ

คำสั่งปล่อยตามวรรคหนึ่งให้มีผลบังคับตั้งแต่วันสั่งปล่อยจนถึงวันสุดท้ายแห่งสมัยประชุม

มาตรา๑๑๗ร่างพระราชบัญญัติจะเสนอได้ก็แต่โดยคณะรัฐมนตรี สมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกสภาผู้แทน แต่ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน สมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกสภาผู้แทนจะเสนอได้ก็ต่อเมื่อมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรี

ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน หมายความถึง ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อความต่อไปนี้ทั้งหมด หรือแต่ข้อใดข้อหนึ่ง กล่าวคือ การตั้งขึ้นหรือยกเลิกหรือลดหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือผ่อนหรือวางระเบียบการบังคับอันเกี่ยวกับภาษีหรืออากร การจัดสรรหรือรับหรือรักษาหรือจ่ายเงินแผ่นดิน หรือการกู้เงิน หรือการค้ำประกันหรือการใช้เงินกู้ หรือร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยเงินตรา

ในกรณีเป็นที่สงสัยว่า ร่างพระราชบัญญัติใดเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินหรือไม่ ให้เป็นอำนาจของประธานแห่งสภาที่ได้รับร่างพระราชบัญญัตินั้นจากคณะรัฐมนตรี สมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกสภาผู้แทน แล้วแต่กรณี เป็นผู้วินิจฉัย

มาตรา๑๑๘ร่างพระราชบัญญัติของคณะรัฐมนตรี และร่างพระราชบัญญัติของสมาชิกสภาผู้แทน ให้เสนอต่อสภาผู้แทน ร่างพระราชบัญญัติของสมาชิกวุฒิสภา ให้เสนอต่อวุฒิสภา

มาตรา๑๑๙เมื่อสภาผู้แทนหรือวุฒิสภาได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่เสนอตามมาตรา ๑๑๘ และลงมติให้ใช้ได้แล้ว ให้สภาผู้แทน หรือวุฒิสภาเสนอร่างพระราชบัญญัตินั้นต่อวุฒิสภาหรือสภาผู้แทน แล้วแต่กรณี วุฒิสภาหรือสภาผู้แทนต้องพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่อีกสภาหนึ่งเสนอมานั้นให้เสร็จภายในหกสิบวัน แต่ถ้าร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน ต้องพิจารณาให้เสร็จภายในสามสิบวัน ทั้งนี้เว้นแต่สภาผู้แทนหรือวุฒิสภาที่เสนอร่างพระราชบัญญัติมานั้นจะได้ลงมติให้ขยายเวลาออกไปเป็นพิเศษ กำหนดวันดังกล่าวให้หมายถึงวันในสมัยประชุม และให้เริ่มนับแต่วันที่ร่างพระราชบัญญัตินั้นมาถึงวุฒิสภาหรือสภาผู้แทน แล้วแต่กรณี

ถ้าวุฒิสภาหรือสภาผู้แทนไม่ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติให้เสร็จภายในกำหนดเวลาที่กล่าวในวรรคหนึ่ง ก็ให้ถือว่า วุฒิสภาหรือสภาผู้แทนได้ให้ความเห็นชอบในร่างพระราชบัญญัตินั้น

ในการที่สภาผู้แทนเสนอร่างพระราชบัญญัติไปยังวุฒิสภา หรือวุฒิสภาเสนอร่างพระราชบัญญัติไปยังสภาผู้แทน ตามวรรคหนึ่ง ให้ประธานแห่งสภาที่เสนอร่างพระราชบัญญัติไปยังอีกสภาหนึ่งนั้น แจ้งไปตามความเห็นของประธานแห่งสภานั้นด้วยว่า ร่างพระราชบัญญัติที่เสนอไปนั้นเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินหรือไม่ คำแจ้งของประธานแห่งสภาให้ถือเป็นเด็ดขาด

ในกรณีที่ประธานแห่งสภามิได้แจ้งไปว่า ร่างพระราชบัญญัติใดเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินหรือไม่ ให้ถือว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นมิใช่ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน

มาตรา๑๒๐เมื่อวุฒิสภาหรือสภาผู้แทนได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติเสร็จแล้ว

(๑)ถ้าเห็นชอบด้วยกับสภาผู้แทนหรือวุฒิสภาที่เสนอร่างพระราชบัญญัตินั้นมา ก็ให้ดำเนินการต่อไปตามมาตรา ๗๔

(๒)ถ้าไม่เห็นชอบด้วยกับสภาผู้แทนหรือวุฒิสภาที่เสนอร่างพระราชบัญญัตินั้นมา ในกรณีที่ร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นร่างพระราชบัญญัติที่สภาผู้แทนเสนอมา ก็ให้ยับยั้งร่างพระราชบัญญัตินั้นไว้ก่อน และส่งร่างพระราชบัญญัตินั้นคืนไปยังสภาผู้แทน ในกรณีที่ร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นร่างพระราชบัญญัติที่วุฒิสภาเสนอมา ก็ให้ร่างพระราชบัญญัตินั้นตกไป

(๓)ถ้าแก้ไขเพิ่มเติม ก็ให้ส่งร่างพระราชบัญญัติตามที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้นไปยังสภาผู้แทนหรือวุฒิสภาที่เสนอร่างพระราชบัญญัตินั้นมา แล้วแต่กรณี ในกรณีเช่นว่านี้ ให้สภาทั้งสองต่างตั้งบุคคลที่เป็นหรือมิได้เป็นสมาชิกแห่งสภานั้น ๆ มีจำนวนเท่ากันตามที่วุฒิสภาหรือสภาผู้แทนที่เสนอร่างพระราชบัญญัตินั้นกำหนด ประกอบเป็นคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้น แล้วให้คณะกรรมาธิการร่วมกันนั้นรายงานและเสนอร่างพระราชบัญญัติที่คณะกรรมาธิการร่วมกันได้พิจารณาแล้วต่อสภาทั้งสอง ถ้าสภาทั้งสองต่างเห็นชอบด้วยร่างพระราชบัญญัติที่คณะกรรมาธิการร่วมกันได้พิจารณาแล้วนั้น ก็ให้ดำเนินการต่อไปตามมาตรา ๗๔ ถ้าสภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบด้วย ในกรณีที่ร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นร่างพระราชบัญญัติของสภาผู้แทน ก็ให้ยับยั้งร่างพระราชบัญญัตินั้นไว้ก่อน ในกรณีที่ร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นร่างพระราชบัญญัติของวุฒิสภา ก็ให้ร่างพระราชบัญญัตินั้นตกไป

คณะกรรมาธิการร่วมกันย่อมมีอำนาจเรียกบุคคลใด ๆ มาแถลงข้อเท็จจริง หรือแสดงความคิดเห็นในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติได้ และเอกสิทธิ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๐๕ นั้น ให้คุ้มครองถึงบุคคลผู้กระทำหน้าที่ตามมาตรา นี้ด้วย

การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมกัน ต้องมีกรรมาธิการประชุมไม่ต่ำกว่ากึ่งจำนวนกรรมาธิการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม และให้นำข้อบังคับการประชุมปรึกษาของวุฒิสภาในส่วนที่เกี่ยวกับกรรมาธิการมาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา๑๒๑ร่างพระราชบัญญัติที่ต้องยับยั้งไว้โดยบทบัญญัติมาตรา ๑๒๐ นั้น เมื่อเวลาหนึ่งปีได้ล่วงพ้นไปนับแต่วันที่วุฒิสภาส่งร่างพระราชบัญญัติกลับคืนมายังสภาผู้แทน สภาผู้แทนอาจยกร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นพิจารณาใหม่ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ ถ้าสภาผู้แทนลงมติยืนยันร่างเดิมหรือร่างที่คณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาแล้ว ก็ให้ถือว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นอันได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา และให้ดำเนินการต่อไปตามมาตรา ๗๔

ถ้าร่างพระราชบัญญัติที่ต้องยับยั้งไว้เป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน สภาผู้แทนอาจยกร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นพิจารณาใหม่ได้ทันที ในกรณีเช่นว่านี้ ถ้าสภาผู้แทนลงมติยืนยันร่างเดิมหรือร่างที่คณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาแล้ว ก็ให้ถือว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นอันได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา และให้ดำเนินการต่อไปตามมาตรา ๗๔

มาตรา๑๒๒ในกรณีที่สภาผู้แทนสิ้นอายุหรือมีการยุบสภาผู้แทน บรรดาร่างพระราชบัญญัติที่รัฐสภายังมิได้ให้ความเห็นชอบ หรือที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วย หรือมิได้พระราชทานคืนมาภายในเก้าสิบวัน ให้เป็นอันตกไป

มาตรา๑๒๓งบประมาณแผ่นดินประจำปีให้ทำเป็นพระราชบัญญัติ ถ้าพระราชบัญญัติออกไม่ทันปีใหม่ ให้ใช้พระราชบัญญัติงบประมาณปีก่อนนั้นไปพลาง

มาตรา๑๒๔การจ่ายเงินแผ่นดิน จะกระทำได้ก็เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณ เว้นแต่ในกรณีจำเป็นรีบด่วนจะจ่ายไปก่อนก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ ในกรณีเช่นว่านี้ ต้องขออนุมัติจากรัฐสภาในโอกาสแรกที่พึงกระทำได้

คำอนุมัติของรัฐสภาให้ทำเป็นพระราชบัญญัติเฉพาะเรื่องหรือรวมลงไว้ในพระราชบัญญัติโอนเงินในงบประมาณ หรือพระราชบัญญัติงบประมาณเพิ่มเติม หรือพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปีถัดไป

มาตรา๑๒๕วุฒิสภาและสภาผู้แทนมีอำนาจควบคุมราชการแผ่นดินโดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้

มาตรา๑๒๖ในที่ประชุมวุฒิสภาหรือสภาผู้แทน สมาชิกทุกคนมีสิทธิตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีในเรื่องใดอันเกี่ยวกับงานในหน้าที่ได้ แต่รัฐมนตรีย่อมมีสิทธิที่จะไม่ตอบเมื่อเห็นว่า เรื่องนั้นยังไม่ควรเปิดเผย เพราะเกี่ยวกับความปลอดภัยหรือประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน

มาตรา๑๒๗สมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกสภาผู้แทนไม่ต่ำกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของแต่ละสภา มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอให้เปิดอภิปรายทั่วไป ในที่ประชุมวุฒิสภาหรือสภาผู้แทน แล้วแต่กรณี เพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริง หรือแสดงความคิดเห็นในปัญหาอันเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน

ญัตติดังกล่าวในวรรคหนึ่งเป็นของสมาชิกสภาใดให้ยื่นต่อประธานสภานั้น และให้ประธานสภาผู้ได้รับญัตติแจ้งไปยังนายกรัฐมนตรี เพื่อกำหนดเวลาสำหรับการเปิดอภิปรายทั่วไป ซึ่งต้องไม่ช้ากว่าสามสิบวันนับแต่วันที่นายกรัฐมนตรีได้รับแจ้ง แต่คณะรัฐมนตรีย่อมมีสิทธิที่จะขอให้ระงับการเปิดอภิปรายทั่วไปนั้นเสียได้ เมื่อเห็นว่าเป็นเรื่องที่ยังไม่ควรเปิดเผย เพราะเกี่ยวกับความปลอดภัยหรือประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน

ในการเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรานี้ สภาจะลงมติในปัญหาที่อภิปรายมิได้

มาตรา๑๒๘สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนทั้งสองสภารวมกันหรือสมาชิกของแต่ละสภา ไม่ต่ำกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของทั้งสองสภา มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายตัวหรือทั้งคณะ

ญัตติดังกล่าวในวรรคหนึ่ง ถ้าเป็นของสมาชิกสภาของทั้งสองสภาให้ยื่นต่อประธานรัฐสภา ถ้าเป็นของสมาชิกสภาใดให้ยื่นต่อประธานสภานั้น

การเปิดอภิปรายทั่วไปตามญัตติดังกล่าวในวรรคหนึ่ง ให้กระทำในที่ประชุมรัฐสภา

เมื่อการเปิดอภิปรายทั่วไปสิ้นสุดลง โดยมิใช่ด้วยมติให้ผ่านระเบียบวาระเปิดอภิปรายนั้นไป ให้ที่ประชุมรัฐสภาลงมติไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจ แต่การลงมติในกรณีเช่นว่านี้ มิให้กระทำในวันเดียวกับวันที่การอภิปรายสิ้นสุด

มาตรา๑๒๙ถ้ามีปัญหาเกี่ยวกับราชการแผ่นดินที่คณะรัฐมนตรีเห็นสมควรจะฟังความคิดเห็นของสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทน นายกรัฐมนตรีจะแจ้งไปยังประธานรัฐสภาขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมรัฐสภาก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ รัฐสภาจะลงมติในปัญหาที่อภิปรายมิได้

มาตรา๑๓๐การประชุมวุฒิสภาและสภาผู้แทนย่อมเป็นการเปิดเผยตามลักษณะที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของแต่ละสภา แต่ถ้าหากคณะรัฐมนตรีหรือสมาชิกของแต่ละสภาไม่น้อยกว่ายี่สิบห้าคนร้องขอให้ประชุมลับ ก็ให้ประชุมลับ

มาตรา๑๓๑วุฒิสภาและสภาผู้แทนมีอำนาจเลือกสมาชิกของแต่ละสภา ตั้งเป็นคณะกรรมาธิการสามัญ และมีอำนาจเลือกบุคคลผู้เป็นสมาชิกหรือมิได้เป็นสมาชิกตั้งเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อกระทำกิจการหรือพิจารณาสอบสวนเรื่องใด ๆ อันอยู่ในวงงานของสภาแล้วรายงานต่อสภา คณะกรรมาธิการที่กล่าวนี้ย่อมมีอำนาจเรียกบุคคลใด ๆ มาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นในการที่กระทำหรือเรื่องที่พิจารณาอยู่นั้นได้

เอกสิทธิ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๐๕ นั้น ให้คุ้มครองถึงบุคคลผู้กระทำหน้าที่ตามมาตรานี้ด้วย

มาตรา๑๓๒การประชุมคณะกรรมาธิการ ต้องมีกรรมาธิการประชุมไม่ต่ำกว่ากึ่งจำนวนกรรมาธิการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม

มาตรา๑๓๓วุฒิสภาและสภาผู้แทนมีอำนาจตั้งข้อบังคับการประชุมปรึกษาของแต่ละสภา เกี่ยวกับการเสนอร่างพระราชบัญญัติ การเสนอญัตติ การประชุม การปรึกษาและกิจการอื่นเพื่อดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้



มาตรา๑๓๔ในกรณีต่อไปนี้ ให้รัฐสภาประชุมร่วมกัน

(๑)การให้ความเห็นชอบในการตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามมาตรา ๑๘ และมาตรา ๑๙

(๒)การปฏิญาณตนของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อรัฐสภาตามมาตรา ๒๑

(๓)การให้ความเห็นชอบในการสืบราชสมบัติตามมาตรา ๒๓

(๔)การปรึกษาร่างพระราชบัญญัติใหม่ตามมาตรา ๗๕

(๕)การเปิดประชุมรัฐสภาตามมาตรา ๑๑๐

(๖)การเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรา ๑๒๘ และมาตรา ๑๒๙

(๗)การแถลงนโยบายตามมาตรา ๑๔๑

(๘)การให้ความยินยอมในการประกาศสงครามตามมาตรา ๑๔๙

(๙)การให้ความเห็นชอบแก่หนังสือสัญญาตามมาตรา ๑๕๐

(๑๐)การแต่งตั้งตุลาการรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๑๖๔

(๑๑)การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๑๖๙

(๑๒)การตีความรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๑๗๓

(๑๓)การให้พระมหากษัตริย์ทรงใช้และเลิกใช้อำนาจนิติบัญญัติทางคณะรัฐมนตรีตามมาตรา ๑๗๖ วรรคหนึ่ง

มาตรา๑๓๕ในการประชุมรัฐสภา ให้ใช้ข้อบังคับการประชุมปรึกษาของวุฒิสภาโดยอนุโลม

มาตรา๑๓๖ภายใต้บังคับมาตรา ๑๗๓ วรรคสอง ในการประชุมรัฐสภา ให้นำบทที่ใช้แก่สภาทั้งสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม



มาตรา๑๓๗พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง และรัฐมนตรีอีกไม่น้อยกว่าสิบห้าคนและไม่มากกว่าสามสิบคน ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน

ให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี

มาตรา๑๓๘ก่อนเข้ารับหน้าที่ รัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้

"ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่าข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ"

มาตรา๑๓๙รัฐมนตรีจะเป็นสมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกสภาผู้แทนในขณะเดียวกันมิได้

มาตรา๑๔๐รัฐมนตรีย่อมมีสิทธิเข้าประชุมและแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมวุฒิสภา ที่ประชุมสภาผู้แทน หรือที่ประชุมรัฐสภา แต่ไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน

เอกสิทธิ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๐๕ ให้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา๑๔๑คณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยไม่มีการลงมติความไว้วางใจ

มาตรา๑๔๒ในการบริหารราชการแผ่นดิน นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีผู้ได้รับแต่งตั้งให้ว่าการกระทรวง ต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภาในหน้าที่ของตน และรัฐมนตรีทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อรัฐสภาในนโยบายทั่วไปของคณะรัฐมนตรี

มาตรา๑๔๓รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

(๑)รัฐสภาลงมติไม่ไว้วางใจ ตามมาตรา ๑๒๘

(๒)สภาผู้แทนสิ้นอายุหรือมีการยุบสภาผู้แทน

(๓)คณะรัฐมนตรีลาออก

(๔)ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา ๑๔๔

คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งต้องอยู่ในตำแหน่ง เพื่อดำเนินงานไปจนกว่าจะตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นใหม่

มาตรา๑๔๔ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว เมื่อ

(๑)ตาย

(๒)ลาออก

(๓)ขาดคุณสมบัติสำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนตามมาตรา ๘๘ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๘๖ (๑) (๒) (๓) หรือ (๕) หรือมาตรา ๘๙ (๑) (๒) หรือ (๓)

(๔)รัฐสภาลงมติไม่ไว้วางใจตามมาตรา ๑๒๘

(๕)มีพระบรมราชโองการตามมาตรา ๑๔๕

มาตรา๑๔๕พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีตามที่นายกรัฐมนตรีถวายคำแนะนำได้

มาตรา๑๔๖ในเหตุฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนในอันจะรักษาความปลอดภัยสาธารณะหรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ และไม่สามารถจะเรียกประชุมรัฐสภาได้ทันท่วงทีก็ดี เมื่อกรณีเช่นว่านั้นเกิดขึ้นในระหว่างสภาผู้แทนถูกยุบก็ดี พระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติก็ได้

ในการประชุมรัฐสภาคราวต่อไป ให้เสนอพระราชกำหนดนั้นต่อรัฐสภาโดยไม่ชักช้า ถ้ารัฐสภาอนุมัติแล้ว ให้พระราชกำหนดนั้นมีผลเป็นพระราชบัญญัติต่อไป ถ้ารัฐสภาไม่อนุมัติ ให้พระราชกำหนดนั้นตกไป แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระทั่งกิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้พระราชกำหนดนั้น

คำอนุมัติหรือไม่อนุมัติ ให้ทำเป็นพระราชบัญญัติ

มาตรา๑๔๗ในระหว่างสมัยประชุม ถ้ามีความจำเป็นต้องมีกฎหมายเกี่ยวด้วยการภาษีอากรหรือเงินตรา ซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาโดยด่วนและลับเพื่อรักษาประโยชน์ของแผ่นดิน พระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติก็ได้

พระราชกำหนดที่ได้ตราขึ้นตามวรรคหนึ่ง จะต้องนำเสนอต่อรัฐสภาภายในสองวันนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๔๖ วรรคสอง และวรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา๑๔๘พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการประกาศใช้กฎอัยการศึกตามลักษณะและวิธีการ ตามกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึก

ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องประกาศใช้กฎอัยการศึกเฉพาะแห่งเป็นการรีบด่วน เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารย่อมกระทำได้ตามกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึก

มาตรา๑๔๙พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการประกาศสงคราม เมื่อได้รับความยินยอมของรัฐสภาแล้ว

มติให้ความยินยอมของรัฐสภา ต้องมีเสียงไม่ต่ำกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของทั้งสองสภา

มาตรา๑๕๐พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพสงบศึก และทำหนังสือสัญญาอื่นกับนานาประเทศ

หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามสัญญา ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา

มาตรา๑๕๑พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ

มาตรา๑๕๒พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการถอดถอนฐานันดรศักดิ์และเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์

มาตรา๑๕๓พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการตราพระราชกฤษฎีกาโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย

มาตรา๑๕๔พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งและถอดถอนข้าราชการฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือนตำแหน่งปลัดกระทรวง อธิบดี และเทียบเท่า

มาตรา๑๕๕การกำหนดคุณสมบัติ การบรรจุ การแต่งตั้ง การถอดถอน และการลงโทษข้าราชการ ให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

มาตรา๑๕๖ภายใต้บังคับมาตรา ๑๓ มาตรา ๑๘ มาตรา ๑๑๒ มาตรา ๑๓๗ และมาตรา ๑๗๐ วรรคสอง บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการใด ๆ อันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ



มาตรา๑๕๗การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาลโดยเฉพาะ ซึ่งจะต้องดำเนินตามกฎหมายและในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์

มาตรา๑๕๘บรรดาศาลทั้งหลายจะตั้งขึ้นได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติ

มาตรา๑๕๙การตั้งศาลขึ้นใหม่เพื่อพิจารณาพิพากษาคดีใดคดีหนึ่ง หรือที่มีข้อหาฐานใดฐานหนึ่งโดยเฉพาะ แทนศาลธรรมดาที่มีอยู่ตามกฎหมายสำหรับพิจารณาพิพากษาคดีนั้น จะกระทำมิได้

มาตรา๑๖๐การบัญญัติกฎหมายให้มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลหรือวิธีพิจารณาเพื่อใช้แก่คดีใดคดีหนึ่งโดยเฉพาะ จะกระทำมิได้

มาตรา๑๖๑ผู้พิพากษามีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปตามกฎหมาย

มาตรา๑๖๒พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ย้าย และถอดถอนผู้พิพากษา

มาตรา๑๖๓การแต่งตั้ง การย้ายและการถอดถอนผู้พิพากษา จะต้องได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการก่อน แล้วจึงนำความกราบบังคมทูล

การเลื่อนตำแหน่งและการเลื่อนเงินเดือนผู้พิพากษา จะต้องได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ



มาตรา๑๖๔คณะตุลาการรัฐธรรมนูญประกอบด้วยประธานวุฒิสภา ประธานสภาผู้แทน ประธานศาลฎีกา อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ อธิบดีกรมอัยการ และบุคคลอื่นอีกสี่คนซึ่งรัฐสภาแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิในทางกฎหมาย

ประธานวุฒิสภาเป็นประธานตุลาการรัฐธรรมนูญ

มาตรา๑๖๕คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีหน้าที่ตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญนี้

วิธีการพิจารณาของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

มาตรา๑๖๖ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งทั่วไป ให้รัฐสภาแต่งตั้งตุลาการรัฐธรรมนูญจากผู้ทรงคุณวุฒิใหม่ ภายในสามสิบวันนับแต่วันเปิดสมัยประชุมรัฐสภาครั้งแรก

กำหนดวันดังกล่าวในวรรคหนึ่งให้หมายถึงวันในสมัยประชุม

ในการแต่งตั้งตุลาการรัฐธรรมนูญตามวรรคหนึ่ง รัฐสภาจะแต่งตั้งผู้ที่พ้นจากตำแหน่งให้เป็นตุลาการรัฐธรรมนูญใหม่อีกได้

มาตรา๑๖๗ตุลาการรัฐธรรมนูญซึ่งรัฐสภาแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

(๑)เปิดสมัยประชุมรัฐสภาครั้งแรกหลังจากการเลือกตั้งทั่วไป

(๒)ตาย

(๓)ลาออก

(๔)ขาดคุณสมบัติสำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนตามมาตรา ๘๘ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๘๖ (๑) (๒) (๓) หรือ (๕) หรือมาตรา ๘๙ (๑) (๒) หรือ (๓)

มาตรา๑๖๘ถ้าตำแหน่งตุลาการรัฐธรรมนูญซึ่งรัฐสภาแต่งตั้งว่างลงเพราะเหตุอื่นใด นอกจากถึงคราวออกตามมาตรา ๑๖๗ (๑) ให้รัฐสภาแต่งตั้งตุลาการรัฐธรรมนูญเข้ามาแทนภายในสามสิบวัน

กำหนดวันดังกล่าวในวรรคหนึ่งให้หมายถึงวันในสมัยประชุม



มาตรา๑๖๙การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะกระทำได้ก็แต่โดยหลักเกณฑ์และวิธีการดังต่อไปนี้

(๑)ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจากคณะรัฐมนตรี หรือจากสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนทั้งสองสภารวมกันหรือจากสมาชิกของแต่ละสภา ไม่ต่ำกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของทั้งสองสภา

(๒)ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม และให้รัฐสภาพิจารณาเป็นสามวาระ

(๓)การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการให้ใช้วิธีเรียกชื่อ และต้องมีเสียงเห็นชอบด้วยในการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นไม่ต่ำกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของทั้งสองสภา

(๔)การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สองขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตราให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ

(๕)เมื่อการพิจารณาวาระที่สองเสร็จสิ้นแล้วให้รอไว้สิบห้าวัน เมื่อพ้นกำหนดนี้แล้ว ให้รัฐสภาพิจารณาในวาระที่สามต่อไป

(๖)การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สามขั้นสุดท้าย ให้ใช้วิธีเรียกชื่อ และต้องมีเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญไม่ต่ำกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของทั้งสองสภา

(๗)เมื่อการลงมติได้เป็นไปตามที่กล่าวข้างบนนี้แล้ว ให้นำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๗๔ และมาตรา ๗๕ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา๑๗๐ถ้าพระมหากษัตริย์ทรงพระราชดำริเห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายตามมาตรา ๑๖๙ กระทบถึงประโยชน์ได้เสียสำคัญของประเทศหรือประชาชน และทรงพระราชดำริเห็นสมควรให้ประชาชนได้วินิจฉัย พระมหากษัตริย์ย่อมทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะให้ประชาชนทั่วประเทศออกเสียงเป็นประชามติว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบด้วยร่างรัฐธรรมนูญนั้น

ในการให้ประชาชนออกเสียงเป็นประชามติ จะได้มีประกาศพระบรมราชโองการภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่นำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

เมื่อมีประกาศพระบรมราชโองการตามวรรคสอง ให้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดวันให้ประชาชนออกเสียงเป็นประชามติภายในเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศพระบรมราชโองการ และวันออกเสียงประชามติต้องเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร

ในเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจตามมาตรานี้ มิให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๖๙ (๗) มาใช้บังคับ

มาตรา๑๗๑บุคคลผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนย่อมมีสิทธิออกเสียงประชามติ

หลักเกณฑ์และวิธีการออกเสียงประชามติ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

มาตรา๑๗๒ในการให้ประชาชนออกเสียงตามมาตรา ๑๗๐ ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ ถ้ามีประชามติเห็นชอบด้วยร่างรัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์จะได้ทรงลงพระปรมาภิไธยภายในสามสิบวันนับแต่วันประกาศผลประชามติ และเมื่อได้ประกาศรัฐธรรมนูญนั้นในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้ ถ้ามีประชามติไม่เห็นชอบด้วยร่างรัฐธรรมนูญ ให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นตกไป



มาตรา๑๗๓ภายใต้บังคับมาตรา ๑๗๕ ถ้ามีปัญหาการตีความรัฐธรรมนูญอันอยู่ในวงงานของวุฒิสภา สภาผู้แทนหรือที่ประชุมรัฐสภา ให้เป็นอำนาจของรัฐสภาที่จะตีความ และให้ถือว่าการตีความของรัฐสภาเป็นเด็ดขาด

ในการตีความรัฐธรรมนูญตามวรรคหนึ่ง ต้องมีสมาชิกประชุมไม่ต่ำกว่ากึ่งจำนวนสมาชิกทั้งหมดของทั้งสองสภา จึงจะเป็นองค์ประชุม

มาตรา๑๗๔บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีข้อความแย้งหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้

มาตรา๑๗๕ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา ๑๗๔ ก็ให้ศาลรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว แล้วส่งความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการ เพื่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัย

คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ให้ถือเป็นเด็ดขาด และให้ใช้ได้ในคดีทั้งปวง แต่ไม่กระทบกระทั่งคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดแล้ว

คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา๑๗๖ในยามที่มีสถานะสงครามหรือในภาวะคับขันถึงขนาดอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และการใช้อำนาจนิติบัญญัติทางรัฐสภาตามปรกติอาจขัดข้องหรือไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ เมื่อคณะรัฐมนตรีเสนอ รัฐสภาจะมีมติให้พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติทางคณะรัฐมนตรีโดยประกาศพระบรมราชโองการให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติก็ได้ มติดังกล่าวรัฐสภาจะมีมติเลิกเสียเมื่อใดก็ได้

หากสถานะสงครามหรือภาวะคับขันดังกล่าวในวรรคหนึ่งเกิดขึ้นหรือมีอยู่ในระหว่างสภาผู้แทนถูกยุบก็ดี หรือไม่สามารถจะเรียกประชุมรัฐสภาได้ทันท่วงทีก็ดี พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติทางคณะรัฐมนตรีได้โดยประกาศพระบรมราชโองการให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติ


มาตรา๑๗๗ภายในสิบห้าวันนับแต่วันใช้รัฐธรรมนูญนี้ พระมหากษัตริย์จะได้ทรงแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภามีจำนวนหนึ่งร้อยยี่สิบคน เมื่อได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนแล้ว ให้เพิ่มหรือลดจำนวนสมาชิกวุฒิสภาให้มีจำนวนเท่าที่กำหนดในมาตรา ๗๘

การเพิ่มหรือลดจำนวนสมาชิกวุฒิสภาตามวรรคหนึ่ง ให้กระทำให้เสร็จก่อนวันเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรก ในกรณีเพิ่ม พระมหากษัตริย์จะได้ทรงแต่งตั้งเพิ่ม ในกรณีลด ให้สมาชิกวุฒิสภาพ้นจากสมาชิกภาพเท่าจำนวนที่ลด โดยวิธีจับฉลาก

มาตรา๑๗๘ในวาระเริ่มแรกก่อนเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรกภายหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนตามมาตรา ๑๘๐ ให้วุฒิสภามีอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา

มาตรา๑๗๙การเรียกประชุมวุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภาตามมาตรา ๑๗๘ ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาภายในสิบห้าวันนับแต่วันแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา

มาตรา๑๘๐ให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนตามเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๘๓ ให้เสร็จสิ้นภายในสองร้อยสี่สิบวันนับแต่วันใช้รัฐธรรมนูญนี้

มาตรา๑๘๑ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ หรือคณะรัฐมนตรีใหม่หากจะมีขึ้นภายหลัง เป็นคณะรัฐมนตรีบริหารราชการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญนี้

เมื่อสมาชิกสภาผู้แทนเข้ารับหน้าที่แล้ว ให้คณะรัฐมนตรีตามวรรคหนึ่งพ้นจากตำแหน่ง และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๔๓ วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา๑๘๒ในระหว่างวุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภาตามมาตรา ๑๗๘ ให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญประกอบด้วยประธานวุฒิสภา ประธานศาลฎีกา อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ อธิบดีกรมอัยการ และบุคคลอื่นอีกสามคนซึ่งวุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภาตามมาตรา ๑๗๘ แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิในทางกฎหมาย ภายในสามสิบวันนับแต่วันเปิดประชุมรัฐสภาตามมาตรา ๑๗๙

มาตรา๑๘๓บรรดาคำสั่งซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการโดยอ้างมาตรา ๑๗ แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร ให้คงมีผลใช้บังคับต่อไป

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
นายทวี บุณยเกตุ
ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ

บรรณานุกรม แก้ไข

 

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"