ลงทุนซื้อหาและเสียค่าใช้จ่ายอย่างพ่อค้า ถ้าจะผิดกับที่พ่อค้าเขาทำก็เพียงของหลวงไม่ได้ผลประโยชน์เท่าพ่อค้า เพราะทำการกันหลายต่อ การรั่วไหลมีมาก ความจริงอันนี้มีหลักฐานประกอบปรากฏอยู่ในหนังสือที่ครอเฟิดแต่งเรื่องที่เข้ามาเป็นทูตอยู่ในเมืองไทยว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ยังเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ได้มีรับสั่งบอกว่า เรือหลวงออกไปค้าขายที่อินเดียขาดทุนถึง ๒๕๐ ชั่ง ครอเฟิดลงความเห็นของตนเองลงไว้ว่า การที่ขาดทุนนั้นไม่น่าอัศจรรย์ ด้วยไทยไม่มีเอเยนร์ที่ดี มีแต่พวกแขกนายห้างที่หาประโยชน์ไม่สุจริต ไทยจึงถูกฉ้อฉนจนขาดทุน
การค้าขายกับต่างประเทศ เวลาเมื่อรัฐบาลอังกฤษที่อินเดียแต่งครอเฟิดเป็นทูตเข้ามา ได้ความจากหนังสือที่ครอเฟิดแต่งดังพรรณนามานี้
เมื่อเดือน ๕ ขึ้น ๒ ค่ำ ปีมะเมีย ยังเป็นตรีศก (พ.ศ. ๒๓๖๕) ครอเฟิดทูตอังกฤษเข้ามาถึงปากน้ำเจ้าพระยา ได้รับอนุญาตให้เรือกำปั่นขึ้นมาถึงกรุงเทพฯ มาจอดที่หน้าบ้านพระยาสุริยวงศ์มนตรีซึ่งอยู่ฝั่งตะวันตกใต้วัดประยุรวงศ์ฯ และพระยาสุริยวงศ์มนตรีจัดตึกซึ่งสร้างไว้หน้าบ้านเป็นที่ไว้สินค้าให้เป็นที่พักของครอเฟิดและพวกที่มา เมื่อครอเฟิดไปหาพระยาสุริยวงศ์มนตรีตามธรรมเนียมแล้ว ได้ไปเฝ้าพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่น เจษฎาบดินทร์ ซึ่งทรงกำกับราชการกรมท่า ส่วนอักษรศาสน์และเครื่องราชบรรณาการซึ่งมาร์ควิสเหสติงส์ให้ครอเฟิดคุมมาถวายนั้น พระยา