หน้า:โฉมหน้าศักดินาไทย (9th ed).pdf/139

หน้านี้ยังไม่ได้พิสูจน์อักษร
 ๑๖๖  โฉมหน้าศักดินาไทย

ประสบปัญหาไม่พอกินเขาก็ต้องกู้เงินดอกเบี้ยร้อยละ ๓๗.๕๐ ต่อเดือน (= ๑ เฟื้องต่อ ๑ ตำลึงในเวลา ๑ เดือน) ไม่ก็ขายฝาก (ซึ่งกฏหมายอนุญาต) พอหมดหนทางชำระหนี้เข้า เจ้าหนี้ก็ยึดที่ดินเสียซึ่งกฏหมายให้ยึดได้ ที่ดินก็หลุดมือไป ที่บางคนที่ดินหลุดมือไปแล้วก็ยังไม่รอดหนี้ ก็ต้องตีค่าตัวขายเป็นทาสต่อไป ตอนนี้ก็เลยถูกพวกนายเงินใช้ให้ไถนาสบายใจเฉิบไปเลย

ทีนี้ในฝ่ายพวกทาสของเจ้าขุนมูลนายอันที่จริงแล้วเมื่อพระบรมไตรโลกนาถแบ่งที่ดินให้คนละ ๕ ไร่นั้น มิใช่ว่าจะโลดแล่นออกไปทำนาของตัวได้ก็เปล่า พวกนี้ยังคิดค่าตัวอยู่กับเจ้าขุนมูลนาย ตัวมีนาก็มีไป ส่วนที่เป็นทาสก็เป็นไป (นี่เป็นลักษณะทาสของระบบศักดินาซึ่งทาสมีกรรมสิทธิในทรัพย์สินเอกชนได้) เมื่อมีสตางค์มาไถ่ตัวหลุดเป็นไทเมื่อใดจึงจะไปทำนาของตัวเองได้และพอย่างเท้าเข้าไปสู่ที่นาของตนก็กลับต้องตกเป็นเลกของผู้ครอบครองเหนือผืนดินบริเวณนั้นอีกชั้นหนึ่ง แต่ส่วนมากแล้วพวกทาสที่พยายามดิ้นรนจนหลุดเป็นไทไปนั้น ลงท้ายก็เดินหลีกบ่วงของชนชั้นศักดินาไปไม่พ้นต้องฉิบหายขายตัวกลับเป็นทาส หรือไม่ก็เอาลูกเมียขายเป็นทาสกันแทบทั้งนั้น

นี่คือลักษณะการถือกรรมสิทธิในปัจจัยการผลิตของไพร่ซึ่งเป็นชนส่วนข้างมากในสังคม

๒. การขูดรีดของชนชั้นศักดินา หรือการแสวงหาผลประโยชน์จากปัจจัยแห่งการผลิต

การขูดรีดของชนชั้นศักดินาที่ต่อไพร่ทั้งมวลนั้น มีอยู่ด้วยกันหลายแบบหลายวิธีเป็นต้นว่า ภาษีอากรจากที่ดิน, ค่าเช่า, ดอกเบี้ย, และการผูกขาดภาษีจะขออธิบายโดยย่อพอมองเห็นลักษณะ