หน้า:โฉมหน้าศักดินาไทย (9th ed).pdf/59

หน้านี้ยังไม่ได้พิสูจน์อักษร
 ๘๖  โฉมหน้าศักดินาไทย

นั่นคือสภาพในยุโรป

ทางเอเซียเล่า สภาพของพวกทาสกสิกรก็เช่นเดียวกันไม่ผิดเพี้ยน ทั้งนี้ เพราะมันเป็นสภาพสากลของระบบศักดินา

ขอยกตัวอย่างในประเทศญี่ปุ่นในราว ค.ศ. ๑๖๐๐ ซึ่งเป็นยุคเริ่มต้นของศักดินา ยุคนั้นโชกุนขุนนางผู้ทรงอิทธิพลเป็นผู้แจกจ่ายที่ดินให้แต่เจ้าขุนมูลนายและบริวารของตนไปทํามาหากิน

"ราษฎรพลเมืองในครั้งนี้ ถูกกดขี่ให้อยู่ในฐานะอันเลวทรามยิ่ง ที่ดินทุกหัวเมืองตลอดทั้งพระราชอาณาจักรล้วนเป็นทรัพย์สมบัติของโชกุนและของพวกดาอิมิโอทั้งนั้น๑๘ ชาวนาหรือชาวนอกเมืองต้องขอเช่าจากเขา และต้องส่งส่วยอย่างแรงจากผลที่ได้จากท้องที่ที่ตนเช่าเขามาด้วย ราษฎรชาวเมือง พวกนายช่าง, พ่อค้า, ยิ่งเลวทรามลงไปอีก แต่ทั้งชาวนาในเมืองหรือนอกเมืองก็หาใช่ทาสของใครไม่ เป็นแต่มีผลประโยชน์และความชอบธรรมน้อย และเกือบจะไม่มีความอิสรภาพเลยทีเดียว"๑๙

ตามที่ได้กล่าวมาแล้วค่อนข้างจะยืดยาวทั้งหมดนี้คงจะพอเป็นพื้นฐานของความเข้าใจได้แล้วว่า ระบบศักดินามีกําเนิดขึ้นได้อย่างไร มีสภาพคร่าวๆ เช่นไร มีความก้าวหน้าและคุณประโยชน์แก่การผลิตและชีวิตของมนุษยชาติอย่างไร ตลอดจนมีความชะงักงันถอยหลังเป็นผลร้ายต่อสวัสดิภาพและการผลิตของสังคมมนุษย์อย่างไร

สิ่งที่จําต้องตระหนักและยึดมั่นเสมอไปในการศึกษาระบบศักดินาก็คือ

๑. ในยุคต้น มันได้ปลดปล่อยทาสให้หลุดพ้นออกมาเป็นเสรีชน แม้ชั้นต่ำที่สุดจะเป็นเสรีชนแบบเลกและไพร่ มันก็ยังมีส่วนก้าวหน้ากว่าระบบทาส