หน้า:2482-278 (Ministry of Finance v. Prajadhipok & Rambai Barni).pdf/5

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
ข่าวโฆษณาการ
 

ศาลแพ่งเห็นว่า ไม่มีเหตุผลจะฟังได้ว่า จำเลยตั้งใจจะโอนขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินของจำเลยไปให้พ้นอำนาจศาลซึ่งอาจจะออกบังคับเอาแก่จำเลยและเพื่อฉ้อโกงโจทก์ เพราะโจทก์ไม่ได้สืบว่า จำเลยรู้ถึงการเรียกทรัพย์สินเหล่านั้นคืน การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำธรรมดาของบุคคลในการดำเนินอาชีพ และฐานะหม่อมเจ้ารัตยากร วิสุทธิ ก็ดี การที่หม่อมเจ้ารัตยากร วิสุทธิ ได้โอนที่ดินที่ได้รับซื้อไว้ต่อไปก็ดี เป็นเรื่องส่วนตัวของหม่อมเจ้ารัตยากร วิสุทธิ ไม่ปรากฏว่า จำเลยได้รู้เห็นด้วยอย่างไร ทั้งเป็นจำนวนเงินที่น้อยเมื่อเทียบกับทุนทรัพย์ที่โจทก์ฟ้องและทรัพย์สินที่จำเลยมีอยู่

ความเห็นของศาลแพ่งในข้อนี้ ศาลอุทธรณ์ก็ไม่เห็นพ้องด้วยอีก เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงต่าง ๆ ตามที่โจทก์ได้นำพะยานมาสืบประกอบกันเข้าแล้ว จะเห็นได้ว่า การกระทำของจำเลยที่ไม่เป็นไปโดยสุจริตและเป็นที่เสียหายแก่โจทก์ อันเป็นเนื้อแท้ของบทบัญญัติในมาตรา ๒๕๕ (๒) (ก) ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น การที่หม่อมเจ้ารัตยากร วิสุทธิ อาศัยอยู่ในวังสุโขทัยก็ดี ได้เคยรับความอุปการะจากจำเลยก็ดี ตลอดจนไม่มีฐานะพอที่จะซื้อที่ดินราคาตั้ง ๕,๐๐๐ ได้นั้น ส่อให้เห็นว่า จำเลยไม่ได้กระทำไปอย่างธรรมดาของบุคคลในการดำเนินอาชีพ ยิ่งกว่านี้ ต่อมาอีกเพียง ๔ วัน หม่อมเจ้ารัตยากร วิสุทธิ ได้โอนขายที่รายนั้นให้แก่หม่อมเจ้าหญิงอุไรวรรณ ทองใหญ่ ไปเพียงราคา ๔,๐๐๐ บาท ยอดขาดทุนถึง ๑,๐๐๐ บาทชั่วเวลา ๔ วัน ในแง่กฎหมาย การที่หม่อมเจ้ารัตยากร วิสุทธิ โอนขายที่รายนั้นไปอีกต่อหนึ่งเช่นนี้ อาจเป็นผลให้โจทก์ ในฐานะที่เป็นเจ้าหนี้จำเลย เสื่อมเสียสิทธิยิ่งขึ้นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๘ การที่จะหาพะยานหลักฐานโดยตรงมาแสดงให้ศาลเห็นว่า จำเลยได้รู้เห็นด้วยกับหม่อมเจ้ารัตยากร วิสุทธิ ถ้าไม่พ้นวิสัย ก็เห็นจะไม่ง่ายนัก แต่ศาลย่อมสันนิษฐานเอาได้ตามพฤติการณ์นั้น

นอกจากนี้ โจทก์ยังได้นำสืบอีกว่า เมื่อได้โอนขายที่ดินให้หม่อมเจ้ารัตยากร วิสุทธิ แล้ว ต่อมาอีก ๒ วัน ผู้แทนของจำเลยที่ ๑ ยังได้มาขอทำนีติกรรมณหอทะเบียนที่ดินเพื่อโอนขายที่ดินอีก ๘ แปลง ราคา ๑๒๘,๓๒๐ บาท ให้แก่หม่อมเจ้ากมลีสาณ ชุมพล ซึ่งเป็นคนอยู่ในวังสุโขทัยนั้นเอง และเป็นน้องชายหม่อมเจ้าอุปลีสาณ ชุมพล ซึ่งเป็นตัวแทนจัดการทรัพย์สมบัติของจำเลยที่ ๑

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์ได้สืบเป็นที่พอใจของศาลในข้อนี้แล้ว อันที่จริง เพียงแต่สืบว่า จำเลยตั้งใจจะโอนขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินของจำเลย ก็พอกับที่กฎหมายบัญญัติไว้ในมาตรา ๒๕๕ (๒) (ก) ที่กล่าวมาแล้ว แต่ในคดีนี้ โจทก์ได้สืบไปถึงว่า จำเลยได้โอนขายไปเสียซ้ำไป และเมื่อตั้งใจจะโอนขายหรือจำหน่ายเพื่อประวิงหรือขัดขวางต่อการบังคับตามคำบังคับอย่างใดซึ่งอาจจะออกบังคับเอาแก่จำเลย หรือเพื่อจะฉ้อโกงโจทก์ แม้เพียงเล็กน้อยเท่าใด ก็ต้องด้วยบทบัญญัติของกฎหมายที่กล่าวแล้ว

อย่างไรก็ดี บทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๖๓ ได้ระวังความเสียหายของจำเลยอยู่แล้ว ฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น จึ่งพิพากษากลับคำสั่งศาลแพ่ง ในคดีนี้ โจทก์ฟ้องเรียกเงินจากจำเลยถึง ๖,๒๗๒,๗๑๒ บาท ๙๓ สตางค์ แต่ทรัพย์สินของจำเลยที่ ๑ เท่าที่โจทก์ได้สอบสวน