การปกครองแคว้นลาวและเขมรของฝรั่งเศส/ภาคนำ/บทที่ 2

บทที่ ๒
การปกครองแคว้นต่าง ๆ ของอินโดจีนฝรั่งเศส

เนื่องจากฝรั่งเศสได้บรรดาแคว้นซึ่งประกอบสหภาพอินโดจีนไปเป็นอาณานิคมด้วยประการต่าง ๆ กัน ดังนั้น แคว้นเหล่านั้นจึงมีฐานะแตกต่างกัน และมิได้มีการปกครองเหมือนกันทีเดียว

ฝรั่งเศสได้ญวนใต้ไปเป็นอาณานิคมโดยใช้กำลังบังคับให้พระเจ้าแผ่นดินญวนทำสนธิสัญญายกดินแดนญวนใต้ให้เป็นของฝรั่งเศส จึงได้จัดตั้งญวนใต้ (โคแชงชีน) เป็นอาณานิคมแท้ ๆ (Colonie proprement dite) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๕

ฝรั่งเศสได้ใช้กำลังขู่ให้พระเจ้าแผ่นดินเขมรทำสนธิสัญญายอมให้ประเทศเขมรอยู่ในความคุ้มครองของฝรั่งเศส จึงได้จัดตั้งเขมรเป็นรัฐอารักขา (Etat protégé) ใน พ.ศ. ๒๔๐๖ กษัตริย์เขมรปกครองราชอาณาจักรใต้ความคุ้มครองของฝรั่งเศส

ฝรั่งเศสได้ใช้กำลังบังคับให้พระเจ้าแผ่นดินจีน และขุให้พระเจ้าแผ่นดินญวนทำสนธิสัญญายอมให้ประเทศญวนซึ่งถูกเฉือนภาคใต้ไปแล้วนั้นอยู่ในความคุ้มครองของฝรั่งเศส จึงได้จัดตั้งญวนกลาง (อานัม) เป็นรัฐอารักขาขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๒๗ กษัตริย์ญวนซึ่งฝรั่งเศสยกย่องให้เป็นจักรพรรดิ์ปกครองจักรวรรดิ์ใต้ความคุ้มครองของฝรั่งเศส

ฝรั่งเศสได้ใช้กำลังบังคับให้พระเจ้าแผ่นดินจีนและขู่ให้พระเจ้าแผ่นดินญวนซึ่งต้องอยู่ใต้ความคุ้มครองฝรั่งเศสแล้วนั้นทำสนธิสัญญายอมให้แคว้นญวนเหนือ (ตังเกี๋ย) ซึ่งเป็นรัฐอารักขาของจีนและญวน อยู่ใต้ความคุ้มครองของฝรั่งเศส จึงได้จัดตั้งญวนเหนือ (ตังเกี๋ย) เป็นรัฐอารักขาใน พ.ศ. ๒๔๒๗

ฝรั่งเศสได้ใช้กำลังขู่เข็ญให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กษัตริย์ประเทศไทย ทำสนธิสัญญายกดินแดนไทยทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้เป็นของฝรั่งเศส จึงได้จัดตั้งดินแดนนี้ ซึ่งฝรั่งเศสเรียกว่า ลาว เป็นรัฐอารักขาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ และดินแดนซึ่งฝรั่งเศสขู่เข็ญให้ไทยทำสนธิสัญญายกให้ฝรั่งเศสใน พ.ศ. ๒๔๔๗ คือ แคว้นหลวงพระบางฝั่งขวาของแม่น้ำโขง และแคว้นจำปาศักดิ์ ฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ฝรั่งเศสให้จัดให้อยู่ในความปกครองเดียวกับแคว้นลาว ส่วนมณฑลบูรพาซึ่งฝรั่งเศสขู่เข็ญให้ไทยยกให้ใน พ.ศ. ๒๔๕๐ นั้น ฝรั่งเศสได้จัดให้อยู่ในความปกครองเดียวกับแคว้นเขมร

ฝรั่งเศสได้ใช้กำลังขู่ให้พระจักรพรรดิ์จีนทำสนธิสัญญาให้ฝรั่งเศสเช่ากวงเชาวันเป็นเวลา ๙๙ ปี จึงได้จัดกวงเชาวันเป็นเขตต์เช่าใน พ.ศ. ๒๔๔๒

เพราะเหตุที่ฝรั่งเศสได้ส่วนต่าง ๆ ของอินโดจีนมาด้วยประการต่าง ๆ กัน ดังนั้น ส่วนเหล่านี้จึงมีฐานะผิดกัน และมีการปกครองผิดเพี้ยนกัน แม้จะรวมอยู่ในสหภาพเดียวกัน

แคว้นทุกแคว้นในอินโดจีนมีประมุขชาวฝรั่งเศสเป็นผู้ดำเนินการปกครอง ประมุขของญวนใต้เรียกว่า Gouverneur เพราะเป็นอาณานิคมแท้ ๆ ประมุขของแค้วนอื่น ๆ ที่เป็นรัฐอารักขา คือ เขมร ญวนเหนือ (ตังเกี๋ย) ญวนกลาง (อานัม) และลาว เรียกว่า Résident Supérieur เพื่อไม่ให้เสื่อมพระเกียรติยศของเจ้าพื้นเมือง ประมุขของกวงเชาวันเรียกว่า Administrateur en Chef เพราะกวงเชาวันเป็นท้องที่เล็ก ๆ และเป็นเพียงเขตต์เช่าเท่านั้น ประมุขชาวฝรั่งเศสของแคว้นต่าง ๆ นี้ แม้ชื่อตำแหน่งผิดกัน และแม้บางแคว้นจะมีกษัตริย์พื้นเมืองก็จริง แต่ประมุขชาวฝรั่งเศสก็มีอำนาจปกครองในแคว้นนั้น ๆ อย่างกว้างขวางภายใต้การควบคุมของผู้สำเร็จราชการอินโดจีน

อำนาจของประมุขแห่งแคว้นนั้น จะเปรียบเทียบกับอำนาจของผู้สำเร็จราชการอินโดจีนไม่ได้ ก็เพราะเป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาและรับผิดชอบต่อผู้สำเร็จราชการอินโดจีน

ประมุขแห่งแคว้นต่าง ๆ ไม่มีอำนาจในทางนิติบัญญัติ อำนาจนี้เป็นอำนาจของผู้สำเร็จราชการอินโดจีน

ประมุขแห่งแคว้นมีอำนาจบริหารอย่างกว้างขวางภายใต้การควบคุมของผู้สำเร็จราชการอินโดจีนอีกชั้นหนึ่ง แต่อำนาจทางการทูตนั้นมีจำกัด จะติดต่อกับกงสุลต่างประเทศประจำแคว้นของตนได้ แต่จะติดต่อกับรัฐบาลต่างประเทศไม่ได้

ประมุขแห่งแคว้นมีอำนาจตุลาการอย่างกว้างขวาง และโดยฉะเพาะอย่างยิ่ง เป็นผู้พิจารณาคดีอุทธรณ์จากศาลพื้นเมือง

ในทางทหาร ประมุขแห่งแคว้นไม่มีอำนาจบังคับบัญชากองทหารในแคว้นของตน แต่ทำการร่วมมือและประสานงานกับกองทหารนั้น ๆ

ประมุขแห่งแคว้นแต่ละแคว้นมีสภาที่ปรึกษาดังเช่นผู้สำเร็จราชการอินโดจีน และแคว้นแต่ละแคว้นก็มีรัฐการบริการส่วนกลางของตนแบ่งเป็นกรมกองแผนกต่าง ๆ ในเรื่องสภาที่ปรึกษาและการบริหารรัฐการส่วนกลางของแคว้นนั้น จะได้กล่าวถึงฉะเพาะของแคว้นลาวและเขมรในภาคที่เกี่ยวกับแคว้นนั้น ๆ

มีกิจการบางอย่างที่แคว้นทุกแคว้นดำเนินโดยอาศัยเงินงบประมาณของแคว้นนั้น ๆ กิจการเหล่านี้ คือ

๑. การบำบัดโรคสัตว์

๒. การเกษตรกรรม

๓. การป่าไม้

๔. การตำรวจรักษาเมืองอินโดจีน

๕. การตรวจงานโยธา

๖. การค้นคว้าและการตรวจจับผู้ปลอมแปลงสินค้าที่จดทะเบียนแล้ว

มีกิจการบางอย่างซึ่งแคว้นใหญ่ ๆ เท่านั้นดำเนินโดยอาศัยเงินงบประมาณของแคว้นนั้น ๆ กิจการเหล่านั้นได้แก่

๑. การสำรวจและรังวัดที่ดิน

๒. การราชทัณฑ์

๓. การตรวจคนเข้าเมือง

๔. การควบคุมภาษีทางตรง

๕. การตรวจสอบเครื่องชั่งตวงวัด

. การนำร่อง

๗. กิจการของกองทัพเรือน้อย

๘. กิจการเบ็ดเตล็ด เช่น การพิมพ์หนังสือ การศิลปากร

แคว้นต่าง ๆ มีงบประมาณรายได้รายจ่ายของตนเอง และมีเงินอุดหนุนจากรัฐบาลกลางตามควรแก่กรณี แต่ในเรื่องรายละเอียดแห่งการภาษีอากร จะได้กล่าวถึงฉะเพาะของแคว้นลาวและเขมรในภาคที่เกี่ยวกับแคว้นนั้น ๆ