การปกครองแคว้นลาวและเขมรของฝรั่งเศส/ภาคหนึ่ง/บทที่ 2

บทที่ ๒
การปกครองส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นของแคว้นลาว

แคว้นลาวจัดระเบียบการปกครองส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นเป็นดังนี้―

๑. Province (จังหวัด)

๒. Muong (เมือง)

๓. Kong (กอง)

๔. Tasseng (ตาแสง)

๕. Ban (บ้าน)

การแบ่งการปกครองส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นของแคว้นลาวจะเปรียบเทียบกับไทยได้ดังนี้―

ลาว ไทย
Province จังหวัด
เมือง อำเภอ
กอง กิ่งอำเภอ
ตาแสง ตำบล
บ้าน หมู่บ้าน

ท้องที่ของแคว้นลาวมีผู้ปกครองคล้ายคลึงกับของไทย ตำแหน่งผู้ปกครองเปรียบเทียบกันได้ดังนี้―

ลาว ไทย
Résident de France ข้าหลวงประจำจังหวัด
(ฉะเพาะหลวงพระบางเรียก
Commissaire du Gouvernement)
Délégué นายอำเภอชั้นเอก
เจ้าเมือง (ในหลวงพระบางเรียก นายอำเภอ
เจ้าแขวง
อุปฮาด ปลัดอำเภอ
ผู้ช่วยเจ้าเมือง สมุห์บัญชี
นายกอง ปลัดกิ่ง
ตาแสง กำนัน
พ่อบ้าน ผู้ใหญ่บ้าน

แคว้นลาวแบ่งการปกครองเป็น ๑๐ จังหวัดดังนี้―

๑. จำปาศักดิ์ (ศาลากลางตั้งที่ปากเซ)

๒. คำม่วน (ศาลากลางตั้งที่ท่าแขก)

๓. หัวพัน (ศาลากลางตั้งที่ซำเหนือ)

๔. สาระวัน

๕. สวรรณเขตต์

๖. ตรันนิน (ศาลากลางตั้งที่เชียงขวาง)

๗. เวียงจันทน์

๘. หลวงพระบาง

๙. แม่โขงเหนือ (ศาลากลางตั้งที่ห้วยทราย)

๑๐. พงสาลี (จังหวัดทหารบกที่ ๕)

อัตตปือเคยเป็นจังหวัด ๆ หนึ่ง แต่ณะบัดนี้ ได้ยุบลงเป็นอำเภอชั้นพิเศษ มีเดเลเกชาวฝรั่งเศสเป็นผู้ปกครอง

พงสาลีเป็นจังหวัดทหาร เรียกว่า Vème Territoire Militaire ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกที่ ๕ ทำหน้าที่ข้าหลวงประจำจังหวัดด้วย.

หลวงพระบางเป็นจังหวัดซึ่งมีเจ้าผู้ครองนคร และฝรั่งเศสได้ยกย่องให้เป็นกษัตริย์ (Roi) เพราะฉะนั้น เพื่อยกย่องพระเกียรติของเจ้าพื้นเมือง ข้าหลวงประจำจังหวัดหลวงพระบางจึงเรียกว่า คอมมิแซร์ดูกูแวรเนอมังต์ (Commissaire du Gouvernement) คล้ายกับปลัดมณฑลประจำจังหวัดทางภาคพายัพของไทยเมื่อครั้งกระโน้น คำสั่งต่าง ๆ ต้องเสนอเจ้าผู้ครองนครลงพระนาม แล้วคอมมิแซร์ หรือเรสิดังต์สุเปริเออร์ ลงนามรับสนองราชโองการ แล้วแต่กรณี.

ที่เวียงจันทน์ มีเจ้าราชภาคินัย (เจ้าเพชราช) มีส่วนเข้าร่วมในการบริหารด้วย.

ในจังหวัด ๆ หนึ่ง มี―

๑. ข้าหลวงประจำจังหวัดชาวฝรั่งเศส ซึ่งเรียกว่า เรสิดังต์เดอฟรังส์ เป็นผู้ดำเนินการรับผิดชอบในทางปกครองโดยทั่ว ๆ ไปในเขตต์ของจังหวัดนั้น

๒. ปลัดจังหวัด ๑ หรือ ๒ คน แล้วแต่จังหวัดใหญ่เล็ก เป็นผู้ช่วยเหลือรักษาการแทนเรสิดังต์เดอฟรังส์ ในเมื่อเรสิดังต์ปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ ปลัดจังหวัดเป็นข้ารัฐการชาวฝรั่งเศส เทียบเท่าหัวหน้าแผนก

๓. จ่าจังหวัด ๑ นาย เป็นข้ารัฐการชาวฝรั่งเศส เทียบเท่าตำแหน่งหัวหน้าแผนก

๔. ล่ามและเสมียนพนักงานตามสมควร

นอกจากที่กล่าวแล้วนี้ ยังมีข้ารัฐการชาวฝรั่งเศสเทียบชั้นหัวหน้าแผนกอยู่หลายตำแหน่ง แต่ไม่ได้เรียกว่า คณะกรมการจังหวัด เพราะการบังคับบัญชาปกครองจังหวัดนั้น เรสิดังต์เดอฟรังส์มีอำนาจสิทธิ์ขาดและรับผิดชอบตรงต่อเรสิดังต์สุเปริเออร์แห่งแคว้นลาว เจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสที่ประจำอยู่ณะจังหวัดนั้นได้แก่ตำแหน่งเหล่านี้ คือ

๑. ผู้คับกองตำรวจ ซึ่งทำหน้าที่พัสดีเรือนจำด้วย

๒. โยธาเทศบาลจังหวัด

๓. ธรรมการจังหวัด

๔. คลังจังหวัด

๕. สัตวแพทย์จังหวัด

๖. ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ทำหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดด้วย

๗. นายไปรษณีย์โทรเลขจังหวัด

๘. ศุลกากรจังหวัด และทำหน้าที่สรรพากรจังหวัดด้วย

ข้ารัฐการเหล่านี้สังกัดเรสิดังต์เดอฟรังส์ และรับผิดชอบในส่วนวิชาการตรงต่อหัวหน้ากองของตนซึ่งอยู่ณะเมืองเวียงจันทน์ นอกจากข้ารัฐการฝรั่งเศสที่ประจำอยู่ที่จังหวัดแล้ว ยังมีข้ารัฐการชั้นรองลงมาซึ่งเป็นคนพื้นเมือง เช่น ญวนและลาว ตามความจำเป็น

อำเภอในแคว้นลาวมีสองประเภทดังเช่นในประเทศไทย คือ อำเภอชั้นพิเศษและอำเภอธรรมดา อำเภอชั้นพิเศษเรียกว่า Délégation มีเดเลเกชาวฝรั่งเศสเป็นผู้ปกครองดำเนินงานรับผิดชอบ เดเลเกมีอำนาจเกือบเท่าเรสิดังต์ในท้องที่ของเดเลเก.

อำเภอธรรมดา (ที่เรียกว่า เมือง) ตำบล และหมู่บ้าน มีผู้ปกครองเป็นชาวพื้นเมือง เพราะฉะนั้น จะได้กล่าวถึงอำนาจหน้าที่ของเจ้าเมือง ตาแสง และพ่อบ้าน ในบทที่เกี่ยวกับเจ้าและข้ารัฐการพื้นเมืองต่อไป ส่วนปลัดอำเภอมีอยู่หนึ่งตำแหน่ง คือ อุปฮาด และมีผู้ช่วยเจ้าเมืองอีกตำแหน่งหนึ่ง เทียบเท่ากับสมุห์บัญชีอำเภอของไทย

ท้องถิ่นที่เป็นที่ตั้งจังหวัดได้ยกฐานะเป็นเทศบาล เรสิดังต์เดอฟรังส์ทำหน้าที่เป็นนายกเทศมนตรี เรียกว่า เรสิดังต์แมร์ Résident Maire ปลัดจังหวัดเป็นผู้ช่วยนายกเทศมนตรี และเป็นผู้แทนนายกเทศมนตรีในเมื่อนายกเทศมนตรีปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ เทศมนตรีอื่น ๆ ประกอบด้วย เจ้าเมือง คหบดีชาติญวน ลาว และเขมร คณะเทศมนตรีเป็นผู้ดำเนินงานของเทศบาล.