การปกครองแคว้นลาวและเขมรของฝรั่งเศส/ภาคหนึ่ง/บทที่ 3

บทที่ ๓
เจ้าและข้ารัฐการพื้นเมืองในแคว้นลาว
กษัตริย์แห่งนครหลวงพระบาง

เพราะเหตุที่เมืองหลวงพระบางมีเจ้าผู้ครองนครมาแต่เดิม รัฐบาลฝรั่งเศสจึงได้ยกย่องเจ้าผู้ครองนครหลวงพระบางเป็นกษัตริย์ และถวายเงินปี ถวายเครื่องราชอิสสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดของฝรั่งเศสให้เป็นเกียรติยศ และจัดให้มีหอสนามคล้ายกับเค้าสนามหลวงของไทยที่เชียงใหม่ และมีเสนาบดีหรือคณะมนตรีเป็นผู้ช่วยและตุลาการชำระอรรถคดีต่าง ๆ ซึ่งเกิดขึ้นในเมืองหลวงพระบาง ให้มีรัชชทายาทเพื่อสืบสันตติวงศ์ กษัตริย์เป็นอัครศาสนูปถัมภกแห่งพระบวรพุทธสาสนาในแคว้นลาว มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนข้ารัฐการฝ่ายลาวในเขตต์เมืองหลวงพระบางได้ โดยเรสิดังต์สุเปริเออร์เป็นผู้รับสนองราชโองการ มีอำนาจที่จะประทานตราแก่ข้ารัฐการทุกตำแหน่ง ตรานั้นมีชะนิดเดียว เรียกว่า ตราล้านช้าง (Million d'Elephants) มีถึงชั้นที่ ๓ เป็นสูงสุด แต่สัญญาบัตรนั้น คอมมิแซร์ประจำจังหวัดหลวงพระบางเป็นผู้ลงนามสนองราชโองการด้วย มีทหารกองเกียรติยศรักษาพระองค์ กษัตริย์นครหลวงพระบางปัจจุบันมีพระนามว่า พระเจ้าศรีสว่างวงศ์ และรัชชทายาทมีพระนามว่า เจ้าสว่างวัฒนา.

เจ้าราชภาคินัย

เจ้าราชภาคินัยนี้เป็นตำแหน่งประจำอยู่ที่เมืองเวียงจันทน์ ซึ่งปัจจุบันได้แก่ เจ้าเพชราช มีเกียรติยศคล้ายกับเจ้าผู้ครองนครเวียงจันทน์ นอกจากตำแหน่งกิติมศักดิ์ซึ่งเจ้าเพชราชได้รับอยู่แล้วนี้ เจ้าเพชราชยังได้รับตำแหน่งประจำในวงการของรัฐบาลฝรั่งเศสอีกตำแหน่งหนึ่ง เรียกว่า จเรการเมืองและการปกครองสำหรับชาวพื้นเมืองในแคว้นลาว ตำแหน่งนี้มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจตราดูแลทุกข์สุขของประชากรในแคว้นลาว และตรวจกิจการงานซึ่งเจ้าเมืองและศาลลาวได้ดำเนินการไป และมีอำนาจแต่งตั้งย้ายถอนข้ารัฐการลาวได้ทั่วแคว้นลาวโดยอนุมัติของเรสิดังต์สุเปริเออร์.

เจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์

คนหลังสุดที่ได้รับตำแหน่งนี้ คือ เจ้าราชดนัย (เจ้าหยุย) ซึ่งบัดนี้ได้ออกจากตำแหน่งและรับเบี้ยบำนาญ มีภูมิลำเนาอยู่ที่เมืองนครจำปาศักดิ์ ยังมีน้องชายอยู่อีก ๑ คนชื่อ เจ้าศักดิ์ประเสริฐ เคยเป็นข้าราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทย ในปัจจุบันนี้ ตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์ได้ถูกยุบเลิกเสียแล้ว ณะบัดนี้ คงมีแต่เจ้าเมืองตามธรรมดา.

ข้ารัฐการพื้นเมือง

ณะที่นี้ จะได้กล่าวถึงตำแหน่งเจ้าพนักงานปกครองท้องที่ชาวพื้นเมืองประจำเมือง ตาแสง และบ้าน.

เจ้าเมืองและเจ้าพนักงานประจำเมือง

เขตต์จังหวัดเรสิดังต์จังหวัดหนึ่ง ๆ แบ่งการปกครองออกเป็นเมือง ตำบล และหมู่บ้าน ในเมืองหนึ่งมีเจ้าเมืองเป็นประธานรับผิดชอบในการปกครองบังคับบัญชาทั่วไปในเขตต์เมืองนั้น แต๋โดยฉะเพาะในเขตต์จังหวัดหลวงพระบาง ตำแหน่งเจ้าเมืองนี้เรียกว่า เจ้าแขวง ซึ่งถือว่า ฐานะสูงกว่าเจ้าเมืองเล็กน้อย เพราะเจ้าแขวงเป็นตำแหน่งที่กษัตริย์ทรงแต่งตั้งด้วยความเห็นชอบของเรสิดังต์สุเปริเออร์ ส่วนตำแหน่งเจ้าเมือง เรสิดังต์สุเปริเออร์เป็นผู้แต่งตั้งโดยคำเสนอของเจ้าราชภาคินัยและเรสิดังต์เดอฟรังส์เห็นชอบด้วย ตำแหน่งถัดลงมาจากเจ้าเมืองก็มีอุปฮาด ๑ ตำแหน่งผู้ช่วยอีก ๑ หรือ ๒ ตำแหน่ง และมีเสมียนพนักงานประจำอยู่ตามควรแก่กำลังงาน ซึ่งการแต่งตั้งก็เป็นทำนองเดียวกัน คือ ต้องเสนอถึงเรสิดังต์สุเปริเออร์ทั้งสิ้น เจ้าเมืองและอุปฮาดหรือผู้ช่วยมีหน้าที่บังคับบัญชาราษฎรทั่วไปในเขตต์เมืองนั้น และมีหน้าที่ตรวจท้องที่ ประชุมชี้แจงข้อรัฐการ และแนะนำการอาชีพแก่ราษฎร เช่นเดียวกับกรมการอำเภอของไทย ส่วนท้องที่บางแห่งมีฐานะเป็นเมืองเล็ก จะบรรจุตำแหน่งเจ้าเมืองจะหมดเปลืองเงินค่าใช้จ่ายมากไป ก็ได้จัดให้มีนายกองเป็นผู้ดำเนินการปกครองเช่นเดียวกับเจ้าเมือง แต่อยู่ในความบังคับบัญชาของเจ้าเมืองอีกชั้นหนึ่ง ตำแหน่งนายกองนี้เทียบเท่ากับปลัดกิ่งอำเภอของไทย ผลประโยชน์ที่เจ้าเมืองได้รับ นอกจากเงินเดือนแล้ว มีดังนี้—

๑. เหรียญตรา และประทวน บรรดาศักดิ์ ซึ่งเรสิดังต์สุเปริเออร์เป็นผู้ให้ บรรดาศักดิ์นั้นได้แก่พญา

๒. เมื่อออกจากตำแหน่งโดยไม่มีความผิดแล้ว มักจะได้รับเกียรติยศแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองกิติมศักดิ์

๓. ได้รับบำเหน็จบำนาญตามกฎหมาย

๔. ได้รับยกเว้นจากภาษีอากรทุกชะนิด

๕. ได้รับยกเว้นจากการเสียค่าธรรมเนียมอาวุธปืน

๖. ได้รับยกเว้นจากการเกณฑ์แรงทำการสาธารณประโยชน์

ตาแสง

ตำแหน่งตาแสงนี้เทียบเท่ากับกำนันของไทย พ่อบ้านในตำบลนั้นเป็นผู้เลือกตั้งเช่นเดียวกับผู้ใหญ่บ้านของไทยเลือกตั้งกำนัน ตาแสงมีอำนาจปกครองบังคับบัญชารับผิดชอบฉะเพาะในเขตต์ตาบลของตนเพื่อให้ราษฎรได้ปฏิบัติเป็นไปตามกฎหมายของบ้านเมือง และช่วยเร่งรัดเงินภาษีอากร การเกณฑ์แรงราษฎรทำการสาธารณประโยชน์ ตรวจและรักษาความปลอดภัยในท้องที่.

พ่อบ้าน

ตำแหน่งพ่อบ้านนี้เทียบได้กับตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านของไทย ราษฎรในหมู่บ้านเป็นผู้เลือกพ่อบ้าน อยู่ใต้อำนาจของตาแสง มีอำนาจปกครองบังคับบัญชารับผิดชอบเช่นเดียวกับตาแสง ตำแหน่งพ่อบ้านนี้ญวนเรียกว่า กวนบ้าน

ผลประโยชน์ที่ตาแสงและพ่อบ้านได้รับมีดังนี้―

๑. รับส่วนลดจากเงินภาษีอากรต่าง ๆ ในเขตต์ตำบลหมู่บ้านของตน

๒. ได้รับการยกเว้นจากการเสียภาษีอากรทุกอย่าง

๓. ได้รับการยกเว้นจากการเสียค่าธรรมเนียมอาวุธปืน

๔. ได้รับการยกเว้นจากการเกณฑ์แรงทำงานสาธารณประโยชน์

๕. ได้รับเหรียญตรา และประทวน บรรดาศักดิ์ ซึ่งเรสิดังต์สุเปริเออร์เป็นผู้ให้.

ประทวน บรรดาศักดิ์ นั้น ได้แก่ หมื่น, แสน, เพี้ย, พญา, ผู้ใดสมควรได้บรรดาศักดิ์ชั้นไหน มีกฎของเรสิดังต์สุเปริเออร์วางไว้เป็นบรรทัดฐาน.