คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๔๔๖/๒๕๓๗


แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)


ชั้นต้น
โจทก์ฟ้องว่า
จำเลยทั้งสองให้การ
ศาลชั้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า
ชั้นอุทธรณ์
ชั้นฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวน ประชุมปรึกษาแล้ว ทางพิจารณา โจทก์นำสืบว่า
จำเลยทั้งสองนำสืบว่า
พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่า
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า
๑.   ปัญหาแรกที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่
๒.   ปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อต่อไปมีว่า จำเลยทั้งสองกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่
๓.   ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ ๒ ข้อต่อไปมีว่า ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ ๒ หนักเกินไปหรือไม่
๔.   ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ ๒ ข้อสุดท้ายมีว่า มีเหตุสมควรรอการลงโทษให้จำเลยที่ ๒ หรือไม่
พิพากษา





คำพิพากษา
 


เรื่อง   ความผิดต่อชีวิต ความผิดต่อร่างกาย ก่อให้เกิดอันตรายแก่ประชาชน ความผิดต่อประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๘

ตราครุฑ
ตราครุฑ
ที่ ๓๔๔๖/๒๕๓๗
ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
ศาลฎีกา
 
พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์
ระหว่าง
บริษัทอุตสาหกรรมแก๊สสยาม จำกัด   ที่ ๑ จำเลย
นายวรวิทย์ วีระบวรพงศ์ หรือวีรบวรพงศ์   ที่ ๒



จำเลยทั้งสองฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ลงวันที่ ๓ เดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๓๖

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ทำการซื้อขายถังก๊าซ อุปกรณ์ก๊าซทุกชนิด เคมีภัณฑ์ การค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว และผลิตปิโตรเลียมทุกชนิด จำเลยที่ ๒ เป็นกรรมการผู้จัดการ มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารงานต่าง ๆ ของจำเลยที่ ๑ ควบคุม สั่งการ และมอบนโยบายในการดำเนินการค้าแก่พนักงานของจำเลยที่ ๑ ได้ เมื่อระหว่างวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๓๓ เวลากลางวัน ถึงวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๓๓ เวลากลางคืนหลังเที่ยง วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยทั้งสอง โดยจำเลยที่ ๒ ในฐานะผู้แทนจำเลยที่ ๑ และโดยฐานะส่วนตัว ได้ให้พนักงานของจำเลยบรรจุถ่ายเทก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอล.พี.จี.) ลงในถังก๊าซรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน ๗๑-๐๔๑๕ กรุงเทพมหานคร ประเภทบรรทุกถึงคู่ ซึ่งเป็นรถยนต์บรรทุกก๊าซของจำเลยที่ ๑ เอง โดยที่รถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวมิได้รับอนุญาตหรือผ่านการตรวจรับรองจากกรมโยธาธิการและกระทรวงอุตสาหกรรมว่าด้วยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมตามกฎกระทรวงที่ออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๘ (พ.ศ. ๒๕๑๔) ข้อ ๓ โดยการนำถังก๊าซที่กำหนดให้ใช้กับการเก็บก๊าซบนพื้นดินมาใช้แทนถังก๊าซรถยนต์ ไม่ติดตั้งวาล์วนิรภัยบนถังก๊าซเพื่อป้องกันอุบัติเหตุเมื่อถังก๊าซมีการรั่วไหลในอัตราที่จะเกิดอันตราย จำเลยทั้งสองมีหน้าที่จะต้องตรวจความถูกต้องของข้อกำหนดดังกล่าวก่อนจะบรรจุก๊าซลงไป อันเป็นธุรกิจที่จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้มีอาชีพธุรกิจต้องปฏิบัติอยู่แล้ว แต่ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังของจำเลยทั้งสองมิได้ทำการควบคุมดูแล เป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่มุ่งคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน เป็นการกระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นจำเลยทั้งสองจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ กล่าวคือ จำเลยทั้งสองเป็นผู้มีอาชีพค้าก๊าซอันเป็นวัตถุไวไฟ มีหน้าที่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชน มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบโดยเคร่งครัด เพื่อป้องกันมิให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน จำเลยทั้งสองกลับนำรถยนต์บรรทุกซึ่งไม่ได้ผ่านการตรวจรับรองจากกรมโยธาธิการ และใช้ถังก๊าซที่ใช้บนพื้นดิน อีกทั้งไม่มีวาล์วนิรภัยติดตั้งอยู่บนถังก๊าซมาใช้บรรทุก ต่อมา ในวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๓๓ เวลากลางคืนหลังเที่ยง นายสุทัน ฝักแคเล็ก ลูกจ้างของจำเลยทั้งสอง ได้ขับรถยนต์บรรทุกก๊าซคันดังกล่าวไปตามทางด่วนสายดินแดง-บางนา แล้วแยกตรงถนนเพชรบุรี เพื่อนำก๊าซไปส่งลูกค้า อันเป็นการกระทำในหน้าที่ทางการที่จ้าง ด้วยความประมาท ขับรถลงทางด่วนด้วยความเร็ว และฝ่าสัญญาณไฟแดง และหักเลี้ยวขวาเข้าถนนเพชรบุรีตัดใหม่ เป็นเวลาที่รถอีกด้านหนึ่งได้สัญญาณไฟเขียวเริ่มแล่นออก ทำให้นายสุทันต้องหักรถหลบไปมา เป็นเหตุให้รถเสียหลักพลิกตะแคงครูดไปตามถนน ถังก๊าซทั้งสองใบถูกแรงกระแทกกับพื้นถนน ทำให้สายเหล็กยึดถังก๊าซทั้งสองใบขาดหลุดออก ท่อจ่ายก๊าซหัก ก๊าซรั่วออกมาอย่างรวดเร็วเพราะเหตุที่ถังก๊าซไม่มีวาล์วนิรภัยดังกล่าว และก๊าซได้แผ่กระจายเป็นบริเวณกว้างไปตามถนนและอาคารบ้านเรือนใกล้เคียงไปสัมผัสประกายไฟลุกไหม้ขึ้นอย่างฉับพลัน เพลิงลุกไหม้รถยนต์ชนิดต่าง ๆ รถจักรยานยนต์ที่หยุดรอสัญญาไฟ อาคารร้านค้าที่พักอาศัย เป็นเหตุให้คนตาย ได้รับอันตรายสาหัส ได้รับอันตรายแก่กาย และทรัพย์สินเสียหายเป็นจำนวนมาก เหตุเกิดที่แขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร ต่อเนื่องเกี่ยวพันกัน ขอให้ลงโทษตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๘ ลงวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๑๔ ข้อ ๓, ๖, กฎกระทรวง (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๘ ข้อ ๑๓ (๓), (๕), ๓๕, ๓๘, กฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๒๙) ข้อ ๕๑, กฎกระทรวง ฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๓๑) ข้อ ๑๗, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๒๒๕, ๒๙๑, ๓๐๐

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๘ ลงวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๑๔ ข้อ ๓ (๒), ๖, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๒๕, ๒๙๑, ๓๐๐ เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๑ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมาอาญา มาตรา ๙๐ ให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ ปรับสองหมื่นบาท จำเลยที่ ๒ จำคุกห้าปี ถ้าจำเลยที่ ๑ ไม่ชำระค่าปรับ ให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาผู้พิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาตรวจสำนวน ประชุมปรึกษาแล้ว ทางพิจารณา โจทก์นำสืบว่า ผู้ประกอบกิจการบรรจุก๊าซที่ใช้รถยนต์บรรทุกเป็นยานพาหนะต้องได้รับอนุญาตจากกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ ให้เป็นผู้ประกอบการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการขนส่งจากกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม และจะต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการบรรจุก๊าซต่อกรมโยธาธิการ กระทรวงมหาดไทย โดยยื่นคำขอพร้อมแบบแปลนรถยนต์บรรจุก๊าซที่แสดงการติดตั้งถังบรรจุก๊าซกับตัวรถและอุปกรณ์ความปลอดภัยตามที่กำหนดในกฎกระทรวงและประกาศกรมโยธิการที่ออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๘ (พ.ศ. ๒๕๑๔) เรื่อง การบรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลว เมื่อกรมโยธาธิการตรวจสอบคำขอและแบบแปลนเห็นว่า ถูกต้องตามมาตรฐานความปลอดภัยมีอุปกรณ์ถูกต้องตามที่กำหนดในกฎกระทรวงแล้ว จะอนุญาตให้ผู้ขอดำเนินการติดตั้งถังบรรจุก๊าซให้เป็นไปตามแบบแปลนที่ยื่น ผู้ขอจะต้องส่งรถยนต์บรรทุกก๊าซนั้นให้กรมโยธาธิการตรวจสอบถังบรรจุก๊าซและอุปกรณ์ด้วย ถ้าถูกต้องจึงจะออกใบอนุญาตให้ประกอบกิจการบรรจุก๊าซได้ ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตจากกรมโยธาธิการแล้วจะต้องนำรถยนต์บรรทุกก๊าซนั้นมาให้ตรวจสอบทุกปีเพื่อขอต่ออายุใบอนุญาต กรมโยธาธิการจะต้องตรวจสอบถังบรรจุก๊าซ ระบบการติดตั้งถังบรรจุก๊าซซึ่งได้ติดตั้งและใช้งานไปแล้ว ว่ายังมีความมั่นคงแข็งแรงได้มาตรฐานเหมือนเดิมหรือไม่ มีส่วนที่สึกหรอไปจากเดิมหรือไม่ ถ้าไม่มีความปลอดภัย จะให้ผู้ขอต่อใบอนุญาตปรับปรุงแก้ไขเสียใหม่ ก่อนที่จะต่ออายุใบอนุญาตให้ ทั้งนี้ การตรวจสอบแบบแปลนที่ยื่นพร้อมคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการบรรจุก๊าซ การตรวจสอบรถยนต์บรรทุกก๊าซที่ประกอบแล้ว และการทดสอบถังบรรจุก๊าซ กรมโยธาธิการจะตรวจสอบให้เป็นไปตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๒๙), กฎกระทรวง ฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๓๑) ออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๘ ลงวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๑๔ และประกาศกรมโยธาธิการ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการติดตั้งถังขนส่งก๊าซและลักษณะและส่วนประกอบภายในถังขนส่งก๊าซ ซึ่งให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๒๙ เป็นต้นไป สำหรับยานพาหนะขนส่งก๊าซทางบกที่ได้ติดตั้งถังขนส่งก๊าซไว้แล้วก่อนกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๒๙) ออกตามความประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๘ ลงวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๑๔ ใช้บังคับ และมีการติดตั้งถังขนส่งก๊าซและลักษณะและส่วนประกอบภายในถังขนส่งก๊าซไม่เป็นไปตามประกาศนี้ ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองปรับปรุงแก้ไขให้เป็นไปตามประกาศนี้ภายในสามร้อยหกสิบห้าวันนับแต่วันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๒๙ ซึ่งเป็นวันที่กฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๒๙) ใช้บังคับ จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการขนส่งทางบก ทำการค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมทุกชนิด ประกอบกิจการโรงงานอัดบรรจุก๊าซหุงต้ม การบริการรับอัดบรรจุก๊าซหุงต้ม ขณะเกิดเหตุคดีนี้ มีจำเลยที่ ๒, นางพัชรา วีรบวรพงศ์, นายสายัณห์ คู่เพชรเจริญ และนายสมยศ สุวรรณมานนท์ เป็นกรรมการ จำเลยที่ ๒ ลงลายมือชื่อร่วมกับกรรมการอื่นอีกหนึ่งคนกระทำการแทนจำเลยที่ ๑ ได้ เมื่อปี ๒๕๒๖ จำเลยที่ ๑ ได้จดทะเบียนรับโอนรถยนต์บรรทุกก๊าซคันเกิดเหตุ หมายเลขทะเบียน ๗๑-๐๔๑๕ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นรถยนต์บรรทุกหกล้อ ติดตั้งถังบรรจุก๊าซสองถัง จากห้างหุ้นส่วนจำกัดวัฒนาแก๊ส และขออนุญาตประกอบการขนส่งด้วยรถยนต์คันนี้แล้ว เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๓๓ เวลาประมาณ ๒๒ นาฬิกา นายสุทัน ฝักแคเล็ก ลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ ขับรถยนต์บรรทุกก๊าซคันเกิดเหตุลงจากทางด่วนมาที่ถนนเพชรบุรีด้วยความเร็วเพื่อเร่งให้พ้นสัญญาไฟจราจรที่กำลังจะเปลี่ยนเป็นสัญญาไฟแดง นายสุทันเลี้ยวรถไปทางด้านขวามุ่งหน้าจะไปสี่แยกมักกะสัน แต่รถยนต์บรรทุกก๊าซคันเกิดเหตุพลิกตะแคงครูดไปกับพื้นถนนจนถึงหน้าอาคารหอพักริมถนนเพชรบุรี ถังบรรจุก๊าซสองถังหลุดออกจากตัวรถ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอล.พี.จี.) ที่บรรทุกมารั่วแผ่กระจายเป็นบริเวณกว้าง แล้วระเบิดเกิดเพลิงลุกไหม้ นายสุทันถึงแก่ความตายในรถ เพลิงลุกลามไหม้บ้านเรือนในชุมชนแออัดซึ่งอยู่ด้านซ้ายของถนนเพชรบุรีเสียหาย ไหม้ตึกแถวด้านซ้ายและขวาของถนนเพชรบุรีจำนวนห้าสิบเอ็ดห้อง รถยนต์และรถจักรยานยนต์ซึ่งจอดอยู่ในถนนเพชรบุรีตั้งแต่แยกทางด่วนถึงแยกถนนวิทยุเสียหายประมาณหกสิบเจ็ดคัน และจากเพลิงไหม้ดังกล่าวเป็นเหตุให้มีบุคคลถึงแก่ความตายแปดสิบแปดคน ได้รับอันตรายสาหัสยี่สิบสี่คน ได้รับอันตรายแก่กายสิบสองคน ค่าเสียหายรวมเป็นเงินสองร้อยสิบสี่ล้านเก้าแสนสองหมื่นหกพันสองร้อยแปดสิบสองบาท นายชูชาติ สุทธิพันธ์ ผู้อำนวยการกองควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ (ตำแหน่งขณะเกิดเหตุ) กรมโยธาธิการ ได้ตรวจรถยนต์บรรทุกก๊าซในที่เกิดเหตุ ปรากฏว่า ถังบรรจุก๊าซขนาดความจุสามพันเจ็ดร้อยเจ็ดสิบลิตรทั้งสองถังหลุดออกมาอยู่ห่างจากตัวรถสองเมตรเศษ ถังบรรจุก๊าซทั้งสองถังมีข้อความภาษาอังกฤษระบุว่า เป็นถังที่ใช้สำหรับติดตั้งบนพื้นดิน ซึ่งจะนำมาติดตั้งบนรถยนต์ไม่ได้ ตามกฎกระทรวงที่ออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๘ (พ.ศ. ๒๕๑๔) และประกาศกรมโยธาธิการ เพราะถังบรรจุก๊าซที่ติดตั้งบนพื้นดินไม่ต้องรับแรกกระแทกของยานพาหนะที่แล่นไปมา ส่วนถังบรรจุก๊าซที่จะใช้ติดตั้งบนรถยนต์จะต้องผ่านกรรมวิธีทางความร้อนซึ่งจะทำให้ตะเข็บเชื่อมของถังบรรจุก๊าซไม่มีรอยร้าว รูพรุน หรือรอยแตก รถยนต์บรรจุก๊าซคันเกิดเหตุตั้งถังบรรจุก๊าซโดยใช้แผ่นเหล็กสามเส้นรัดถังบรรจุก๊าซเข้ากับตัวรถ แผ่นเหล็กสามเส้นนั้นขาดหลุดจากตัวรถ ถังบรรจุก๊าซจึงหลุดจากโครงของรถ และถังบรรจุก๊าซทั้งสองไม่ได้ติดตั้งลิ้นควบคุมการไหลที่บริเวณถังบรรจุก๊าซต่อกับท่อจ่ายก๊าซเพื่อทำหน้าที่ปิดไม่ให้ก๊าซออกจากถังในกรณีที่ก๊าซไหลออกจากถังในอัตรามากกว่าปกติ เช่น กรณีเกิดอุบัติเหตุท่อจ่ายก๊าซหัก เป็นการไม่ถูกต้องตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๒๙) ข้อ ๕๑ และฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๓๑) ข้อ ๑๗ หลังเกิดเหตุ พันตำรวจโท อนุชัย เล็กบำรุง พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลพญาไท เรียกจำเลยที่ ๒ มาสอบคำให้การในฐานะพยาน จำเลยที่ ๒ รับว่า เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยที่ ๑ แต่อ้างว่า จำเลยที่ ๑ ขายรถยนต์บรรทุกก๊าซคันเกิดเหตุให้นายอนุรัตน์ แซ่ฮ้อ ไปแล้ว และนายสุทัน คนขับรถยนต์บรรทุกก๊าซคันเกิดเหตุ เคยเป็นพนักงานของจำเลยที่ ๑ แต่ลาออกไปก่อนเกิดเหตุ พันตำรวจโท อนุชัยตรวจสอบหลักฐานแล้วปรากฏว่า จำเลยที่ ๑ เคยมอบอำนาจให้นายอนุรัตน์ ในฐานะพนักงานของจำเลยที่ ๑ รับเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กระทรวงพาณิชย์, ก่อนเกิดเหตุสามวัน นายสุทันยังขับรถยนต์บรรทุกก๊าซคันเกิดเหตุให้จำเลยที่ ๑, ก่อนเกิดเหตุหนึ่งวัน รถยนต์บรรทุกก๊าซคันเกิดเหตุยังใช้บรรทุกก๊าซไปส่งในนามของจำเลยที่ ๑ และวันเกิดเหตุ ได้บรรทุกก๊าซจะไปส่งที่เขตห้วยขวาง

จำเลยทั้งสองนำสืบว่า ขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ ๒ เป็นกรรมการผู้จัดการ นายสายัณห์ คู่เพชรเจริญ เป็นรองกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ ๑ ประกอบกิจการค้าก๊าซแอล.พี.จี. และน้ำมันดีเซล มีคลังเก็บก๊าซและน้ำมันดีเซลที่ถนนสาธุประดิษฐ์ เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ ๒ เป็นหัวหน้าผู้บริหารงานของจำเลยที่ ๑ ซึ่งแบ่งเป็นห้าฝ่าย จำเลยที่ ๒ ทำหน้าที่ดูแลด้านการเงินให้มีเงินพอใช้หมุนเวียน ติดต่อกับสถาบันการเงิน และแก้ปัญหาของจำเลยที่ ๑ ที่เป็นปัญหาใหญ่ ส่วนปัญหาเล็กน้อย หัวหน้าฝ่ายแต่ละฝ่ายจะเป็นผู้แก้ปัญหา ขณะเกิดเหตุ ฝ่ายเทคนิคปฏิบัติการมีนายเชาว์ เอมะสิทธิ์ เป็นผู้จัดการทำหน้าที่ดูแลและซ่อมแซมรถยนต์บรรทุกก๊าซ ดูแลคลังเก็บก๊าซและน้ำมันดีเซล รถยนต์บรรทุกก๊าซจะจอดอยู่ที่คลังเก็บก๊าซ ผู้จัดการคลังจะเป็นผู้สั่งการให้รถยนต์บรรทุกก๊าซไปส่งลูกค้า ขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ ๑ มีรถยนต์บรรทุกก๊าซห้าสิบคัน ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบกและกรมโยธาธิการแล้วประมาณสี่สิบคัน อีกสิบคันเป็นรถยนต์บรรทุกก๊าซที่ซื้อมาใหม่ จำเลยที่ ๒ ไม่มีหน้าที่สั่งใช้รถยนต์บรรทุกก๊าซ ไม่มีหน้าที่ติดตั้งหรือตรวจสอบอุปกรณ์รถยนต์บรรทุกก๊าซ รถยนต์บรรทุกก๊าซชนิดสองถังของจำเลยที่ ๑ จะยึดถังบรรจุก๊าซกับตัวรถสองแบบ คือ ยึดฐานของถังกับตัวรถด้วยสลักเกลียว หรือใช้สลักเกลียวยึดขาที่ฐานของถังบรรจุก๊าซ และมีสายรัดรอดถังติดกับตัวรถ โดยมีเกลียวเร่งเพื่อให้สายรัดตึง มีการติดตั้งอุปกรณ์ที่สำคัญ คือ ลิ้นควบคุมการไหลถังละหนึ่งอันที่ด้านล่างของถังบรรจุก๊าซ ฝ่ายธุรการและบุคคลมีหน้าที่ขออนุญาตใช้รถยนต์บรรทุกก๊าซ ระหว่างเกิดเหตุ มีนายชูชาติ วีระเสริฐนิยม เป็นผู้จัดการฝ่าย เมื่อเดือนมกราคม ๒๕๓๐ นายชูชาติยื่นคำขอต่อกรมโยธาธิการสองครั้ง ครั้งแรกขออนุญาตใช้รถยนต์บรรทุกก๊าซยี่สิบหกคัน ครั้งที่สองอีกหกคัน เจ้าหน้าที่กรมโยธาธิการมาตรวจสภาพรถหลายครั้งจนถึงเดือนสิงหาคม ๒๕๓๐ ตรวจสภาพรถได้เพียงยี่สิบสองคัน เป็นรถยนต์บรรทุกก๊าซตามคำขอแรกยี่สิบคัน กรมโยธาธิการจะพิจารณาออกใบอนุญาตให้รถยนต์บรรทุกก๊าซที่ขอใบอนุญาตในครั้งเดียวกันพร้อมกัน เจ้าหน้าที่กรมโยธาธิการจึงแนะนำให้ถอนคำขอเฉพาะรถยนต์บรรทุกก๊าซที่ยังไม่ได้ตรวจสภาพเพื่อออกใบอนุญาตให้รถยนต์บรรทุกก๊าซที่ตรวจสภาพแล้ว นายชูชาติจึงถอนคำขอเฉพาะรถยนต์บรรทุกก๊าซที่ยังไม่ได้ตรวจสภาพทั้งสิบคันแล้วเตรียมเอกสารเพื่อยื่นขออนุญาตให้เป็นรายโดยให้พนักงานในฝ่ายนำไปยื่นต่อกรมโยธาธิการ แต่ปรากฏว่า พนักงานยื่นคำขอต่อกรมโยธาธิการเพียงสี่คัน อีกหกคันซึ่งรวมรถยนต์บรรทุกก๊าซคันเกิดเหตุด้วยพนักงานหลงลืม นายชูชาติเพิ่งตรวจพบหลังเกิดเหตุแล้ว จำเลยที่ ๑ ซื้อรถยนต์บรรทุกก๊าซคันเกิดเหตุมาใช้โดยไม่ปรากฏว่า เคยเกิดเหตุการณ์ก๊าซรั่วหรือเกิดอุบัติเหตุ นายอนุรัตน์ แซ่ฮ้อ เป็นเพื่อนของจำเลยที่ ๒ และเคยเป็นพนักงานของจำเลยที่ ๑ เมื่อประมาณสิบปีมาแล้ว นายอนุรัตน์ทำงานได้หนึ่งถึงสองปีก็ลาออก ก่อนเกิดเหตุ นายอนุรัตน์ประกอบอาชีพค้าที่ดิน เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๓๓ นายอนุรัตน์ซื้อรถยนต์บรรทุกก๊าซของจำเลยที่ ๑ รวมสองคัน ทั้งรถยนต์บรรทุกก๊าซคันเกิดเหตุในราคาสามแสนบาท แต่ชำระราคาเพียงหนึ่งแสนบาท จึงยังไม่ได้โอนทะเบียนรถให้ จำเลยที่ ๒ ตกลงให้นายอนุรัตน์รับจ้างจำเลยที่ ๑ บรรทุกก๊าซแล้วหักเงินค่าจ้างผ่อนชำระราคารถ นายทัน ฝักแคเล็ก เป็นญาติของนายอนุรัตน์และเป็นพนักงานขับรถของจำเลยที่ ๑ ในวันเกิดเหตุ เมื่อเลิกงานแล้ว นายสุทันรับจ้างนายอนุรัตน์ขับรถยนต์บรรทุกก๊าซคันเกิดเหตุ จำเลยที่ ๒ แจ้งต่อพนักงานสอบสวนว่า จำเลยที่ ๑ จะรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้น เพราะเจ้าพนักงานตำรวจบอกว่า มีกฎหมายระบุว่า ผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบการขนส่งจะต้องรับผิดชอบในความเสียหาย และจำเลยที่ ๒ เห็นว่า นายอนุรัตน์จะไม่มีความสามารถชดใช้ค่าเสียหายจำนวนมากเช่นนี้ ตั้งแต่เกิดเหตุจนถึงวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๓๔ จำเลยที่ ๑ ได้จ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยไปแล้วห้าสิบเจ็ดล้านบาทเศษ

พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่ศาลล่างทั้งสองฟังมาและจำเลยทั้งสองมิได้ฎีกาโต้เถียงรับฟังเป็นยุติได้ว่า รถยนต์บรรทุกก๊าซคันหมายเลขทะเบียน ๗๑-๐๔๑๕ กรุงเทพมหานคร เป็นของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ ๒ เป็นกรรมการผู้จัดการ ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง นายสุทัน ฝักแคเล็ก ลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ ได้ขับรถยนต์บรรทุกก๊าซคันดังกล่าวเพื่อนำก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอล.พี.จี.) ไปส่งให้แก่ลูกค้า และได้เกิดเหตุพลิกคว่ำ ทำให้เกิดเพลิงไหม้ทรัพย์สินของผู้อื่นและบุคคลอื่นถึงแก่ความตาย ได้รับอันตรายสาหัส และได้รับอันตรายแก่กายเป็นจำนวนมาก นายสุทันถึงแก่ความตายในที่เกิดเหตุ ปัญหาแรกที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่า ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับข้อหาความผิดตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๘ ข้อ ๓ เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่า จำเลยทั้งสองได้กระทำผิด มีข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำผิด อีกทั้งบุคคลและสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรแล้ว ทั้งจำเลยทั้งสองก็เข้าใจข้อหาได้ดีโดยมิได้หลงข้อต่อสู้แต่ประการใด แม้โจทก์จะไม่คัดสำเนาประกาศกรมโยธาธิการ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการติดตั้งถังขนส่งก๊าซและลักษณะและส่วนประกอบภายในถังขนส่งก๊าซ แนบมาท้ายฟ้อง ก็เป็นคำฟ้องที่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ มาตรา ๑๕๘ ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อต่อไปมีว่า จำเลยทั้งสองกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีนายชูชาติ สุทธิพันธ์ นายช่างใหญ่ กรมโยธาธิการ เบิกความว่า ผู้ประกอบกิจการบรรทุกก๊าซที่ใช้รถยนต์บรรทุกเป็นยานพาหนะต้องขออนุญาตต่อกรมโยธาธิการพร้อมแบบแปลนรถยนต์บรรทุกก๊าซซึ่งต้องแสดงการติดตั้งถังบรรจุก๊าซกับตัวรถพร้อมอุปกรณ์ความปลอดภัยต่าง ๆ ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๒๙) และฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๓๑) ซึ่งออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๘ (พ.ศ. ๒๕๑๔) และประกาศกรมโยธาธิการ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการติดตั้งถังขนส่งก๊าซและลักษณะและส่วนประกอบภายในถังขนส่งก๊าซ ตามเอกสารหมาย จ. ๒๑ ถึง จ. ๒๓ เมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๓๓ เวลาประมาณ ๑๐ นาฬิกา พยานได้ร่วมกับอธิบดีและรองอธิบดีกรมโยธาธิการไปตรวจสอบบริเวณที่เกิดเหตุ พบรถยนต์บรรทุกก๊าซคันเกิดเหตุพลิกตะแคงอยู่ ถังบรรจุก๊าซขนาดความจุสามพันเจ็ดร้อยเจ็ดสิบลิตรจำนวนสองใบหลุดออกจากตัวรถ ขณะนั้น ก๊าซรั่วออกจากถังบรรจุหมดแล้ว พยานตรวจพบแผ่นป้ายภาษาอังกฤษติดอยู่ที่ถังบรรจุก๊าซทั้งสองใบระบุว่า เป็นถังที่ใช้สำหรับติดตั้งบนพื้นดิน ถังบรรจุก๊าซชนิดนี้ ตามกฎกระทรวงซึ่งออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๘ (พ.ศ. ๒๕๑๔) และประกาศกรมโยธาธิการ จะนำมาติดตั้งบนรถยนต์ไม่ได้ เนื่องจากถังบรรจุก๊าซที่จะใช้ติดตั้งบนรถยนต์นั้นจะต้องผ่านกรรมวิธีทางความร้อนเพื่อลดแรงที่จะเกิดขึ้นบริเวณแนวเชื่อถังบรรจุก๊าซให้เท่ากันตลอดทั้งถัง ซึ่งจะทำให้ถังบรรจุก๊าซนั้นมีความปลอดภัยในการใช้งาน การผ่านกรรมวิธีทางความร้อนจะทำให้ตะเข็บเชื่อมของถังบรรจุก๊าซนั้นไม่มีรอยร้าวหรือมีรูพรุนหรือรอยแตก ถังบรรจุก๊าซซึ่งตั้งบนพื้นดินไม่จำเป็นต้องรับแรงกระแทกของยานพาหนะซึ่งแล่นไปมา การติดตั้งถังบรรจุก๊าซกับยานพาหนะ ตามกฎหมายได้กำหนดให้ติดตั้งมีความมั่นคงแข็งแรงมากกว่าการติดตั้งถังบรรจุก๊าซที่ตั้งบนพื้นดินเพื่อป้องกันเวลารถยนต์บรรทุกก๊าซเกิดอุบัติเหตุ ถังบรรจุก๊าซจะไม่หลุดออกจากรถยนต์ การนำถังบรรจุก๊าซที่ติดตั้งบนพื้นมาใช้ติดตั้งกับยานพาหนะนั้นเป็นการปฏิบัติที่ผิดต่อกฎหมาย พยานได้ตรวจสอบการติดตั้งถังบรรจุก๊าซเข้ากับตัวรถ ปรากฏว่า ใช้เหล็กแผ่นรัดถังบรรจุก๊าซเข้ากับตัวรถ ซึ่งไม่ถูกต้องตามประกาศกรมโยธาธิการ เพราะแผ่นเหล็กสามแผ่นซึ่งใช้รัดถังบรรจุก๊าซเข้ากับตัวรถนั้นขาด ถังบรรจุก๊าซจึงหลุดออกจากตัวรถ การยึดถังบรรจุก๊าซเข้ากับตัวรถนั้นจะต้องยึดถังบรรจุก๊าซเข้ากับคัสซีหรือโครงของรถโดยใช้แผ่นเหล็กเชื่อมกับถังบรรจุก๊าซและใช้สลักเกลียวยึดเชื่อมแผ่นเหล็กนั้นกับโครงของรถ รายละเอียดการยึดถังบรรจุก๊าซกับโครงของรถตามประกาศกรมโยธาธิการ ข้อ ๓ (๒) การยึดถังบรรจุก๊าซเข้ากับโครงของรถตามประกาศกรมโยธาธิการจะทำให้เกิดความมั่นคงแข็งแรง เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ถังบรรจุก๊าซจะไม่หลุดออกจากโครงของรถ ถ้าถังบรรจุก๊าซหลุดออกจากโครงของรถอาจจะทำให้ข้อต่อที่จ่ายก๊าซออกจากถังบรรจุก๊าซหักออกจากถังบรรจุก๊าซ ซึ่งจะทำให้ก๊าซรั่วและเกิดอันตรายได้ และจากการตรวจสอบถังบรรจุก๊าซในที่เกิดเหตุ ปรากฏว่า ที่ท่อจ่ายก๊าซออกจากถังบรรจุก๊าซไม่ได้ติดตั้งลิ้นควบคุมการไหล (excess flow valve) จึงไม่ถูกต้องตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๒๙) ข้อ ๕๑ และฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๓๑) ข้อ ๑๗ ลิ้นควบคุมการไหลจะต้องติดตั้งอยู่ที่บริเวณข้อต่อของท่อจ่ายก๊าซและจะยึดติดกับท่อจ่ายก๊าซโดยการขันเกลียวหรือโดยวิธีหน้าแปลน ปกติจะติดตั้งอยู่ส่วนล่างของถังบรรจุก๊าซ ถ้าก๊าซไหลออกจากถังบรรจุก๊าซในอัตราปกติ ลิ้นควบคุมการไหลจะไม่ทำงาน แต่ถ้าก๊าซไหลออกจากถังบรรจุก๊าซในอัตรามากกว่าปกติ ลิ้นควบคุมการไหลจะทำงานโดยทำหน้าปิดไม่ให้ก๊าซออกจากถังบรรจุ ความเสียหายร้ายแรงคดีนี้เกิดขึ้นเนื่องจากการติดตั้งถังบรรจุก๊าซไม่มั่นคงแข็งแรง ไม่มีการติดตั้งลิ้นควบคุมการไหลที่ถังบรรจุก๊าซตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง เมื่อเกิดอุบัติเหตุกับรถยนต์บรรทุกก๊าซ ถังบรรจุก๊าซจึงหลุดออกจากโครงของรถ ท่อจ่ายก๊าซหัก ก๊าซรั่วไหลออกจากถังบรรจุก๊าซเป็นจำนวนมาก เมื่อก๊าซที่รั่วไหลออกมาผสมกับออกซิเจนในอากาศและกระทบกับเปลวไฟ ทำให้เกิดติดไฟและระเบิดอย่างรุนแรง ทั้งเป็นความบกพร่องของจำเลยที่ ๑ เจ้าของรถยนต์บรรทุกก๊าซ ถ้าจำเลยที่ ๑ ได้ติดตั้งถังบรรจุก๊าซตามที่กฎหมายกำหนด ได้ยื่นขออนุญาตให้กรมโยธาธิการตรวจสอบและทดสอบ เมื่อเกิดอุบัติเหตุกับรถยนต์บรรทุกก๊าซแล้ว ถังบรรจุก๊าซจะไม่หลุดออกจากโครงของรถ ก๊าซจะไม่รั่วไหลออกมาจำนวนมากเช่นนี้ ต่อมา ประมาณเดือนเมษายน ๒๕๓๔ หลังจากเกิดเหตุคดีนี้ รถยนต์บรรทุกก๊าซของจำเลยที่ ๑ เกิดอุบัติเหตุชนกัน รถยนต์บรรทุกก๊าซของจำเลยที่ ๑ พลิกคว่ำตกข้างทาง ปรากฏว่า รถยนต์บรรทุกก๊าซของจำเลยที่ ๑ ไม่มีก๊าซรั่วไหลออกมา ถังบรรจุก๊าซไม่หลุดออกจากโครงของรถ เพราะรถยนต์บรรทุกก๊าซของจำเลยที่ ๑ คันดังกล่าวได้ผ้านการตรวจสอบและทดสอบจากกรมโยธาธิการแล้ว ประกอบกับมีการติดตั้งอุปกรณ์นิรภัย ติดตั้งลิ้นควบคุมการไหลถูกต้อง เห็นว่า พยานโจทก์ปากนี้สำเร็จการศึกษาวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต ผ่านการอบรมและศึกษาดูงานเกี่ยวกับก๊าซปิโตรเลียมเหลวจากต่างประเทศหลายแห่ง และเข้ารับราชการที่กองควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ กรมโยธาธิการ มาตั้งแต่ปี ๒๕๒๒ นับว่า เป็นผู้มีความรู้และความชำนาญในงานด้านปิโตรเลียมเหลวเป็นอย่างดี ประกอบกับพยานโจทก์ปากนี้มิได้มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใด รับฟังเป็นพยานคนกลางได้ อีกทั้งไม่ปรากฏว่า เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสองมาก่อน จึงไม่มีเหตุที่จะทำให้ระแวงสงสัยว่า จะแกล้งเบิกความปรักปรำจำเลยทั้งสอง เชื่อว่า พยานโจทก์ปากนี้เบิกความไปตามความสัตย์จริงที่พบเห็นมาขณะไปตรวจสอบรถยนต์บรรทุกก๊าซคันเกิดเหตุ ที่จำเลยทั้งสองอ้างว่า รถยนต์บรรทุกก๊าซคันเกิดเหตุได้ติดตั้งลิ้นควบคุมการไหลชนิดเดียวกับวัตถุพยานหมาย วล. ๑ ที่ถังบรรจุก๊าซทั้งสองใบนั้น จำเลยที่ ๒ เบิกความเพียงลอย ๆ ว่า ปกติรถยนต์บรรทุกก๊าซทุกคันจะติดตั้งลิ้นควบคุมการไหล และคาดว่า รถยนต์บรรทุกก๊าซคันเกิดเหตุได้ติดตั้งไว้แล้ว พยานจำเลยปากอื่นไม่มีผู้ใดเบิกความยืนยันว่า รถยนต์บรรทุกก๊าซคันเกิดเหตุมีการติดตั้งลิ้นควบคุมการไหล ส่วนที่จำเลยทั้งสองอ้างว่า บริเวณปลายท่อจ่ายก๊าซตามภาพถ่ายหมาย จ. ๓๕ ภาพที่ ๑๗ มีโลหะทรงกลมฐานหกเหลี่ยมขันติดอยู่ที่ปลายท่อเป็นส่วนของลิ้นควบคุมการไหลที่หักติดอยู่ ลิ้นควบคุมการไหลส่วนที่เหลืออาจตกอยู่ในถังบรรจุก๊าซหรือตกไปนอกถังแล้วหายไปนั้น เห็นว่า ลิ้นควบคุมการไหลตามวัตถุพยานหมาย วล. ๑ เป็นโลหะทรงกระบอกทำด้วยทองเหลือง มีร่องเกลียวด้านนอกสำหรับขันติดกับร่องเกลียวที่รูถังบรรจุก๊าซ และมีร่องเกลียวด้านในสำหรับขันติดกับปลายท่อจ่ายก๊าซ ถ้าลิ้นควบคุมการไหลหักออกจากกันโดยส่วนที่เป็นฐานติดอยู่ที่ปลายท่อจ่ายก๊าซแล้ว ส่วนของลิ้นควบคุมการไหลที่เหลืออยู่จะต้องติดอยู่ที่รูถังบรรจุก๊าซให้ตรวจสอบได้ และไม่น่าเป็นไปได้ที่ลิ้นควบคุมการไหลส่วนที่เหลือจะตกอยู่ในถังบรรจุก๊าซหรือหายไปดังที่จำเลยทั้งสองอ้าง พยานจำเลยทั้งสองไม่สามารถรับฟังหักล้างพยานโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า รถยนต์บรรทุกก๊าซคันเกิดเหตุของจำเลยที่ ๑ มิได้รับใบอนุญาตและผ่านการตรวจสอบและทดสอบจากกรมโยธาธิการ ถังบรรจุก๊าซสองใบที่ติดตั้งบนรถยนต์บรรทุกก๊าซคันเกิดเหตุเป็นถังที่ใช้สำหรับติดตั้งบนพื้นดิน ไม่อาจนำมาติดตั้งบนรถยนต์ได้ และมิได้ติดตั้งตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศกรมโยธาธิการ อีกทั้งมิได้ติดตั้งลิ้นควบคุมการไหลไว้ที่ถังบรรจุก๊าซทั้งสองใบ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๒๙) ข้อ ๕๑ และฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๓๑) ข้อ ๑๗ ซึ่งออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๘ (พ.ศ. ๒๕๑๔) เรื่อง การบรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลว ซึ่งเป็นกฎหมายที่ควบคุมการบรรจุก๊าซปิโตรเลียมมิให้เกิดภยันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ดังนั้น แม้อุบัติเหตุคดีนี้ สาเหตุส่วนหนึ่งจะเกิดจากความประมาทของนายสุทัน ลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ ขับรถยนต์บรรทุกก๊าซคันเกิดเหตุพลิกคว่ำ ทำให้ถังบรรจุก๊าซหลุดออกจากตัวรถ ก๊าซที่บรรจุอยู่ในถังรั่วไหล เกิดเพลิงไหม้และระเบิดอย่างรุนแรง เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายสาหัสจำนวนมาก รวมทั้งทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหายก็ตาม แต่ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่า ผลของอุบัติเหตุครั้งนี้มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการกระทำของจำเลยที่ ๑ ดังกล่าวด้วย หาใช่เป็นผลมาจากการกระทำโดยประมาทของนายสุทัน คนขับรถยนต์บรรทุกก๊าซคันเกิดเหตุ แต่ผู้เดียวดังที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้างในฎีกาไม่ เพราะถ้าจำเลยที่ ๑ ได้ปฏิบัติตามกฎกระทรวง และประกาศกรมโยธาธิการ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการติดตั้งถังขนส่งก๊าซและลักษณะและส่วนประกอบภายในถังขนส่งก๊าซแล้ว ก็จะไม่เกิดโศกนาฏกรรมเช่นนี้ขึ้น และแม้ว่ารถยนต์บรรทุกก๊าซคันเกิดเหตุจะติดตั้งถังบรรจุก๊าซไว้ก่อนที่กฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๒๙) จะใช้บังคับก็ตาม แต่บทบัญญัติของกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวบังคับให้ผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองปรับปรุงแก้ไขให้เป็นไปตามประกาศภายในสามร้อยหกสิบห้าวันนับแต่วันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๒๙ ซึ่งเป็นวันที่กฎกระทรวงฉบับดังกล่าวใช้บังคับ ปรากฏว่า จำเลยที่ ๑ มิได้นำพาที่จะปฏิบัติตามกฎกระทรวงดังกล่าว ยังคงใช้รถยนต์บรรทุกก๊าซคันเกิดเหตุขนส่งก๊าซให้แก่ลูกค้าตลอดมาจนถึงวันเกิดเหตุเป็นเวลาสามปีเศษ การกระทำของจำเลยที่ ๑ จึงเป็นการกระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังซึ่งจำเลยที่ ๑ ผู้มีอาชีพประกอบกิจการค้าขายและขนส่งก๊าซซึ่งเป็นวัตถุไวไฟและอันตราย ตามวิสัยและพฤติการณ์ของผู้ประกอบกิจการค้าเช่นจำเลยที่ ๑ จักต้องใช้ความระมัดระวังมากเป็นพิเศษกว่าผู้ที่ประกอบอาชีพชนิดอื่น เพราะถ้าหากมิได้ใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษแล้ว ก็จะเกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่นที่มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเช่นคดีนี้ การกระทำของจำเลยที่ ๑ จึงเป็นความผิดตามฟ้อง สำหรับจำเลยที่ ๒ นอกจากจะเป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ ๑ แล้ว ยังเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทจำเลยที่ ๑ และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของจำเลยที่ ๑ การบริหารงานและอำนาจสั่งการทั้งหมดคงอยู่กับจำเลยที่ ๒ แต่เพียงผู้เดียว นอกจากนี้ ยังได้ความว่า จำเลยที่ ๒ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดวัฒนาแก๊สซึ่งขายรถยนต์บรรทุกก๊าซคันเกิดเหตุให้แก่จำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ จึงเป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกก๊าซคันเกิดเหตุตลอดมา ย่อมรู้ว่า รถยนต์บรรทุกก๊าซคันเกิดเหตุไม่สามารถที่จะนำมาใช้บรรทุกก๊าซส่งให้แก่ลูกค้าได้ เพราะมิได้รับใบอนุญาตและผ่านการตรวจสอบและทดสอบจากกรมโยธาธิการ จำเลยที่ ๒ ในฐานะกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ ๑ มีอำนาจสั่งการภายในบริษัทแทนจำเลยที่ ๑ ได้ แต่เพิกเฉยไม่จัดการแก้ไขรถยนต์บรรทุกก๊าซคันเกิดเหตุเสียให้ถูกต้องตามกฎกระทรวงและประกาศกรมโยธาธิการ กลับนำรถยนต์บรรทุกก๊าซคันเกิดเหตุมาใช้จนกระทั่งเกิดเหตุคดีนี้ การกระทำของจำเลยที่ ๒ จึงเป็นความผิดตามฟ้องเช่นกัน คำพิพากษาของศาลฎีกาที่จำเลยทั้งสองอ้างมาในฎีกานั้น ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้องมานั้น ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ ๒ ข้อต่อไปมีว่า ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ ๒ หนักเกินไปหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ ๒ เป็นเพียงกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นนิติบุคคล มีหน้าที่ควบคุมและบริหารงานในฐานะเป็นผู้แทนจำเลยที่ ๑ เพื่อดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ ๑ เท่านั้น ประกอบกับอุบัติเหตุคดีนี้มีสาเหตุจากการขับรถประมาทของนายสุทันเป็นสำคัญ จำเลยที่ ๒ เพียงมิได้ดูแลและปฏิบัติตามกฎกระทรวงซึ่งออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๘ (พ.ศ. ๒๕๑๔) และประกาศกรมโยธาธิการเท่านั้น การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ ๒ จำคุกห้าปีจึงหนักเกินไป สมควรกำหนดโทษเสียใหม่เพื่อให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ ๒ ฟังขึ้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ ๒ ข้อสุดท้ายมีว่า มีเหตุสมควรรอการลงโทษให้จำเลยที่ ๒ หรือไม่ เห็นว่า หลังจากเกิดเหตุคดีนี้แล้ว จำเลยที่ ๒ ได้ติดตามเอาใจใส่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้วยดีตลอดมา และได้พยายามชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายไปแล้วเป็นเงินหนึ่งร้อยสามสิบเจ็ดล้านสี่แสนสองหมื่นสี่พันเจ็ดร้อยเก้าสิบเจ็ดบาทสามสิบสี่สตางค์ เพื่อให้จำเลยที่ ๒ ได้มีโอกาสชดใช้ค่าเสียหายส่วนที่เหลือให้แก่ผู้เสียหายต่อไป และพนักงานที่ปฏิบัติงานอยู่กับจำเลยที่ ๑ ซึ่งมีเป็นจำนวนมากก็จะมีงานทำต่อไปไม่เดือดร้อน อีกทั้งไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ ๒ เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน หากรอการลงโทษจำคุกไว้เพื่อให้โอกาสจำเลยที่ ๒ ได้กลับประพฤติตนเป็นพลเมืองดีต่อไป ย่อมจะเป็นผลดียิ่งกว่าลงโทษจำคุกไปเสียทีเดียว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ ๒ โดยไม่รอการลงโทษจำคุกให้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ ๒ ฟังขึ้น ให้ลงโทษปรับจำเลยที่ ๒ ในอัตราขั้นสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนดไว้อีกสถานหนึ่งด้วย

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ ๒ มีกำหนดสองปี และปรับสองหมื่นบาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดสามปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ ไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์



สนัด หมายสวัสดิ์


สุชาติ ถาวรวงษ์


อากร อัชกุล




ขึ้น

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"