คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๖๘/๒๕๓๖


แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)


คำพิพากษา
 


เรื่อง   ความผิดต่อชีวิต

ตราครุฑ
ตราครุฑ
ที่ ๗๖๘/๒๕๓๖
ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
ศาลฎีกา
 
พนักงานอัยการจังหวัดสมุทรปราการ โจทก์
นางกลอยใจ ดันแคน โจทก์ร่วม
ระหว่าง
นายรุ่งเฉลิม หรือเฮาดี้ กนกชวาลชัย   ที่ ๑ จำเลย
นายพิทักษ์ ค้าขาย   ที่ ๒
นายกระแสร์ พลอยกลุ่ม   ที่ ๓
นายธวัช กิจประยูร   ที่ ๔



โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ลงวันที่ ๒๑ เดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๕๓๕

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๒๙ เวลากลางคืนหลังเที่ยง ถึงวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๒๙ เวลากลางคืนก่อนเที่ยงต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายโดยใช้วัตถุอ่อนนุ่มปิดปากกับจมูกนางสาวเชอรี่ แอน ดันแคน ผู้ตาย และใช้กำลังกายรัดลำคอผู้ตายจนผู้ตายไม่สามารถหายใจและโลหิตหมุนเวียนไปเลี้ยงสมองไม่ได้จึงสลบหมดสติ แล้วจำเลยทั้งสี่นำผู้ตายไปทิ้งไว้บริเวณที่มีน้ำขัง โดยเจตนาฆ่าและไตร่ตรองไว้ก่อน เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย เหตุเกิดที่แขวงบางจาก เขตพระโขนง แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร และตำบลบางปูใหม่ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ต่อเนื่องและเกี่ยวพันกัน จำเลยที่ ๔ เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกในฐานความผิดต่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๒๖๖๘/๒๕๒๓ ของศาลอาญา พ้นโทษแล้วภายในเวลาห้าปีกลับมากระทำผิดคดีนี้อีก ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๒๘๙ (๔), ๘๓, ๙๒ และเพิ่มโทษจำเลยที่ ๔ ตามกฎหมาย

จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ ๔ รับว่า เคยต้องโทษและพ้นโทษตามฟ้อง

ระหว่างพิจารณา นางกลอยใจ ดันแคน มารดาผู้ตายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙ (๔), ๘๓ ให้ลงโทษประหารชีวิตจำเลยทั้งสี่ ที่ขอให้เพิ่มจำเลยที่ ๔ นั้น เนื่องจากศาลพิพากษาลงโทษประหารชีวิตจำเลยที่ ๔ แล้ว จึงมิอาจเพิ่มโทษได้ คำขอส่วนนี้ให้ยก

จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์

ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยที่ ๑ ถึงแก่ความตาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยที่ ๑ ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๙ (๑) ศาลอุทธรณ์จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ ๑

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา

ศาลฎีกาตรวจสำนวน ประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า ขณะเกิดเหตุ นางสาวเชอรี่ แอน ดันแคน ผู้ตาย เป็นนักเรียนของโรงเรียนพระกุมารเยซูวิทยา (โฮลี่) ซึ่งตั้งอยู่ที่ซอย ๑๐๑ ถนนสุขุมวิท แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร วันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๒๙ ผู้ตายไปเรียนหนังสือตามปกติ ครั้นเลิกเรียนเวลาประมาณ ๑๔:๔๕ นาฬิกา ได้ขึ้นรถแท็กซี่ที่รอรับอยู่หน้าโรงเรียนออกจากโรงเรียนแล้วไม่ได้กลับบ้าน ต่อมา วันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๒๙ มีผู้พบศพผู้ตายลอยน้ำอยู่ในร่องน้ำในป่าแสมบางสำราญ ตำบลบางปูใหม่ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ผลจากการตรวจศพของสถาบันนิติเวชวิทยา สำนักงานแพทย์ใหญ่ กรมตำรวจ ลงความเห็นว่า เชื่อว่าผู้ตายถึงแก่ความตายเพราะขาดอากาศหายใจ ขาดโลหิตเลี้ยงสมอง ปัญหาต้องวินิจฉัยมีว่า จำเลยที่ ๒, ที่ ๓ และที่ ๔ ร่วมกันฆ่าผู้ตายหรือไม่ ทางพิจารณา โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบว่า เดิมผู้ตายอาศัยอยู่กับโจทก์ร่วมซึ่งเปิดร้านอาหารอยู่ที่ซอย ๑๙ ถนนสุขุมวิท แขวงคลองเตย เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร ต่อมา ย้ายไปพักอาศัยอยู่ที่บ้านยาย แขวงวัดกัลยาณมิตร เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร ผู้ตายรักใคร่ได้เสียกับนายวินัย ชัยพานิช ลูกค้าที่มารับประทานอาหารที่ร้านอาหารโจทก์ร่วม นายวินัยพาผู้ตายไปพักอาศัยอยู่ที่คอนโดมิเนียมริเวอร์วิวของนายวินัยที่ตลาดน้อย แขวงจักรวรรดิ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร และเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ผู้ตายศึกษาเล่าเรียน ผู้ตายเคยโต้เถียงกับนายวินัยเรื่องผู้ตายรักใคร่ได้เสียกับนายสมัชชา หรืออ๊อบ โกมลทิส กับเคยมีเรื่องขัดแย้งกับนางสาวสุวิบูล หรือกุ้ง พัฒน์พงษ์พานิช หญิงคนรักของนายวินัย ซึ่งเป็นหุ้นส่วนร่วมประกอบกิจการค้ากับนายวินัย นางสาวสุวิบูลเคยเข้าไปทำลายสิ่งของในห้องพักของผู้ตายจนนายวินัยต้องพาผู้ตายย้ายไปเช่าห้องพักอยู่ที่แกรนด์ทาวเวอร์เกสต์เฮาส์ แขวงคลองตัน เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร วันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๒๙ เวลาประมาณ ๒๓ นาฬิกา นายประเมิน โภชพลัด อาชีพขับรถยนต์รับจ้างสามล้อ ขับรถออกไปทางปากซอยสวนพลู เห็นจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ กำลังประคองผู้ตายซึ่งหน้าคล้ายฝรั่งและมีอาการคล้ายคนเป็นลมออกมาจากบริเวณสถานที่ก่อสร้างอาคารสำนักงานห้างหุ้นส่วนจำกัดควอลิตี้อาคิเท็คแอนด์เมนเทนแนนซ์ของนายวินัย โดยมีจำเลยที่ ๑ และที่ ๔ ยืนขนาบอยู่ด้านหลัง นายประเมินจำหน้าผู้ตายและจำเลยทั้งสี่ได้เพราะนายประเมินได้จอดรถสอบถามจำเลยทั้งสี่ว่า ต้องการรถไปโรงพยาบาลหรือไม่ จำเลยที่ ๓ แจ้งว่า มีรถมาเอง นายประเมินจึงขับรถจากไป วันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๒๙ โจทก์ร่วมแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลพระโขนงว่า ผู้ตายหายไปจากบ้าน และในวันเดียวกันนั้นเอง นางบัวขาว กิ่งแก้ว พบกระเป๋าหนังสือของผู้ตายลอยอยู่ในคลองตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ห่างจากจุดที่พบศพผู้ตายประมาณแปดถึงเก้ากิโลเมตร พันตำรวจโท สันติ เพ็ญสูตร พนักงานสอบสวน ร่วมชันสูตรพลิกศพและส่งศพผู้ตายไปชันสูตรยังสถาบันนิติเวชวิทยา กับสืบสวนหาตัวคนร้าย วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๒๙ นายวินัยประกาศทางหนังสือให้รางวัลแก่ผู้ชี้เบาะแสเกี่ยวกับคนร้ายและการหายไปของผู้ตาย ในวันเดียวกันนี้ นายประดิษฐ์ กิ่งแก้ว สามีนางบัวขาว แจ้งให้นายวิชัยทราบถึงการพบกระเป๋าหนังสือของผู้ตาย นายวินัยดูกระเป๋าหนังสือแล้วจำได้ว่าเป็นของผู้ตาย จึงพาโจทก์ร่วมไปติดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจจนเป็นมูลเหตุที่ได้พากันไปตรวจดูศพผู้ตายที่สถาบันนิติเวชวิทยาและยืนยันว่าเป็นศพผู้ตาย วันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๒๙ นายประเมินสนทนากับพวกเกี่ยวกับหญิงสาวลูกครึ่งที่ถูกฆ่า โดยสงสัยว่า จะเป็นบุคคลเดียวกับหญิงที่นายประเมินพบตรงปากซอยสวนพลูหรือไม่ นายประเมินจึงไปสอบถามโจทก์ร่วม ขอดูภาพผู้ตาย และเล่าเหตุการณ์ที่พบเห็นให้ฟัง โจทก์ร่วมจึงแจ้งเรื่องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทราบ เจ้าหน้าที่ตำรวจพานายประเมินไปสอบถามและให้ตรวจดูภาพถ่ายของผู้ต้องสงสัยว่าเป็นคนร้ายฆ่าผู้ตาย นายประเมินยืนยันภาพถ่ายของจำเลยทั้งสี่ตามภาพถ่ายหมาย จ. ๒ ว่า เป็นบุคคลที่นายประเมินเห็นอยู่กับผู้ตายในวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๒๙ เวลาประมาณ ๒๓ นาฬิกา วันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๒๙ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงจับกุมจำเลยทั้งสี่มาสอบสวนดำเนินคดี เจ้าหน้าที่ตำรวจจัดให้นายประเมินชี้ตัวคนร้าย นายประเมินชี้จำเลยทั้งสี่ได้ถูกต้อง ปรากฏตามบันทึกการชี้ตัวผู้ต้องหา เอกสารหมาย จ. ๔ ถึง จ. ๗

จำเลยที่ ๒, ที่ ๓ และที่ ๔ นำสืบปฏิเสธโดยอ้างฐานที่อยู่

พิเคราะห์แล้ว โจทก์และโจทก์ร่วมไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นว่า จำเลยที่ ๒, ที่ ๓ และที่ ๔ ร่วมกันฆ่าผู้ตาย คงมีนายประเมินเป็นพยานแวดล้อมเพียงปากเดียวที่อ้างว่า เห็นจำเลยที่ ๒, ที่ ๓ และที่ ๔ อยู่กับผู้ตายก่อนผู้ตายถึงแก่ความตาย ซึ่งตามทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมก็ไม่สามารถทราบได้โดยแน่ชัดว่า ผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อใด จึงไม่อาจทราบได้ชัดว่า ตามข้ออ้างของนายประเมินนั้น จำเลยที่ ๒, ที่ ๓ และที่ ๔ อยู่กับผู้ตายในเวลาใกล้เคียงกับเวลาที่ผู้ตายถึงแก่ความตายหรือไม่ เมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่นายประเมินเบิกความว่า มีอาชีพขับรถยนต์รับจ้างสามล้อมาสามสิบปี แต่โจทก์และโจทก์ร่วมไม่นำใบอนุญาตขับขี่รถยนต์รับจ้างสามล้อของนายประเมินมาแสดง ทั้งนายประเมินระบุหมายเลขทะเบียนรถยนต์รับจ้างสามล้อคันที่ใช้ขับรับจ้างในวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๒๙ ไว้ในชั้นสอบสวนแตกต่างไปจากที่เบิกความไว้ต่อศาล นอกจากนี้ การที่นายประเมินอ้างว่า อยากรู้ว่าหญิงลูกครึ่งที่ตายเป็นคนเดียวกับหญิงลูกครึ่งที่นายประเมินเคยเห็นที่ปากซอยสวนพลูหรือไม่ หลังจากที่การตายของผู้ตายออกเป็นข่าวไปแล้วเกือบหนึ่งเดือน นับว่า เป็นการอยากรู้ที่ผิดปกติ เพราะเป็นการล่วงเลยเวลาอันสมควรมานานแล้ว ทั้งการที่นายประเมินให้ข้อมูลต่อโจทก์ร่วมและเจ้าหน้าที่ตำรวจก็เป็นเวลาหลังเกิดเหตุแล้วเป็นเวลานาน ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงไม่ยังไม่ฟังเป็นมั่นคงว่า นายประเมินเห็นจำเลยที่ ๒, ที่ ๓ และที่ ๔ ในวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๒๙ เวลาประมาณ ๒๓ นาฬิกา ส่วนพยานแวดล้อมอื่น ๆ ที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบ เช่น จำเลยที่ ๒, ที่ ๓ และที่ ๔ เป็นลูกจ้างของนายวินัย และนายวินัยมีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ตายเรื่องผู้ตายมีคนรักใหม่ระหว่างอยู่กินกับนายวินัย หรือการที่ผู้ตายมีเรื่องขัดแย้งกับนางสาวสุวิบูล คนรักของนายวินัยก็ดี มิได้บ่งหรือมีเหตุให้เชื่อว่า จำเลยที่ ๒, ที่ ๓ และที่ ๔ เป็นคนร้ายฆ่าผู้ตาย ที่โจทก์ร่วมฎีกาอ้างว่า การที่ผู้ตายมีสาเหตุโกรธเคืองกับนายวินัยและนางสาวสุวิบูลมีความรุนแรงถึงขนาดจ้าง วาน ใช้ให้จำเลยที่ ๒, ที่ ๓ และที่ ๔ ฆ่าผู้ตายนั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องมิได้กล่าวถึงสาเหตุที่จำเลยที่ ๒, ที่ ๓ และที่ ๔ ฆ่าผู้ตาย มิได้กล่าวถึงผู้ที่ใช้ จ้าง วานให้จำเลยดังกล่าวฆ่าผู้ตาย และมิได้ฟ้องผู้ใช้ จ้าง วานมาด้วย ทั้งทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการใช้ จ้าง วานให้จำเลยที่ ๒, ที่ ๓ และที่ ๔ ฆ่าผู้ตาย ข้อฎีกาของโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วมเกี่ยวกับจำเลยที่ ๒, ที่ ๓ และที่ ๔ ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน



ดำรุพงศ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา


อากาศ บำรุงชีพ


ชลิต ประไพศาล




ขึ้น

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"