คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๒๔๔/๒๕๔๒


แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)


คำพิพากษา
 


เรื่อง พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ

ตราครุฑ
ตราครุฑ
ที่ ๘๒๔๔/๒๕๔๒
ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
ศาลฎีกา
 
หม่อมเจ้ามงคลเฉลิม ยุคล, ผู้ร้อง
นางสาวอุ่นเรือน หรือภรณ์พัชร ธรรมเสน
และนางสาววาสนา ไฝเครือ
ในฐานะผู้จัดการมรดกของหม่อมเจ้าฐิติพันธุ์ ยุคล
ระหว่าง

หม่อมไฉไล ยุคล ผู้คัดค้าน



ผู้ร้องฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ลงวันที่ ๓๑ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๔๑ ศาลฎีการับวันที่ ๒ เดือนเมษายน พุทธศักราช ๒๕๔๒

ผู้ร้องยื่นคำร้อง (ที่ถูกเป็น คำร้องขอ) ว่า ผู้ร้องทั้งหมดเป็นผู้จัดการมรดกของหม่อมเจ้าฐิติพันธุ์ ยุคล ตามคำสั่งศาล หม่อมเจ้าพันธุ์สวลี กิติยากร, หม่อมเจ้าฐิติพันธุ์ ยุคล และหม่อมเจ้ารังษีนภดล ยุคล เป็นพระโอรสและพระธิดาในพลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล กับหม่อมหลวงสร้อยระย้า ยุคล พระโอรสและพระธิดาทั้งสามพระองค์เป็นผู้จัดการมรดกของหม่อมหลวงสร้อยระย้า ยุคล ตามพินัยกรรม ต่อมา มีกรณีพิพาทเกี่ยวกับมรดกของหม่อมหลวงสร้อยระย้า ยุคล จึงได้มีการตั้งอนุญาโตตุลาการขึ้นพิจารณากรณีพิพาทระหว่างพลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล กับหม่อมเจ้าฐิติพันธุ์ ยุคล ซึ่งหม่อมเจ้าพันธุ์สวลี กิติยากร และหม่อมเจ้ารังษีนภดล ยุคล สามารถทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับพลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล สำเร็จไปแล้ว คณะอนุญาโตตุลาการได้แต่งตั้งคณะกรรมการเจรจาระงับข้อพิพาทโดยเฉพาะเกี่ยวกับกับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอันเป็นที่ตั้งของวังอัศวิน ซึ่งต่อมาได้มีการเจรจาสำเร็จ โดยฝ่ายหม่อมเจ้าฐิติพันธุ์ ยุคล ยอมรับเอาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอันเป็นที่ตั้งของวังอัศวินโดยมีค่าภาระติดพันที่จะต้องไถ่ถอนจำนองที่ติดอยู่กับตัวทรัพย์หลังจากที่ได้รับการยกให้ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวแล้วตามข้อเสนอของพลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล คณะกรรมการเจรจาระงับข้อพิพาทได้ยกร่างสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งฝ่ายหม่อมเจ้าฐิติพันธุ์ ยุคล ได้ลงพระนามในสัญญานั้นแล้ว แต่ฝ่ายพลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล เลื่อนการลงพระนามเพราะประชวร ต่อมาวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘ พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล สิ้นพระชนม์ คณะกรรมการเจรจาระงับข้อพิพาทได้เชิญหม่อมไฉไล ยุคล ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมและผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม มาประชุม แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ จนกระทั่งวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๓๘ หม่อมเจ้าฐิติพันธุ์ ยุคล ถึงชีพิตักษัย คณะกรรมการเจรจาระงับข้อพิพาทถือว่า ฝ่ายพลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ได้บรรลุวัตถุประสงค์ในการเจรจาครบถ้วยแล้ว เนื่องจากฝ่ายหม่อมเจ้าฐิติพันธุ์ ยุคล ได้ยอมรับข้อเสนอเอาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอันเป็นที่ตั้งของวังอัศวินพร้อมภาระติดพันไปด้วย การที่พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ยังไม่ลงพระนาม จึงไม่ทำให้ข้อตกลงนั้นเสียไป เมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๓๘ อนุญาโตตุลาการจึงทำคำชี้ขาดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่คณะกรรมการเสนอ โดยมีคำชี้ขาดว่า ให้พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ชำระเงินแก่ฝ่ายหม่อมเจ้าฐิติพันธุ์ ยุคล จำนวนยี่สิบห้าล้านบาทภายในสองเดือนนับแต่วันมีคำชี้ขาด หากชำระไม่แล้วเสร็จภายในกำหนด ยังขาดอยู่จำนวนเท่าใด ให้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินที่ค้างชำระจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล จดทะเบียนยกให้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของศูนย์การค้านิวเวิลด์บางลำพู และให้นางปิยะรัตน์ ผูกทวนทอง กับพวก เช่าในสัดส่วนหนึ่งในหกส่วน โดยฝ่ายหม่อมเจ้าฐิติพันธุ์ ยุคล เป็นผู้ออกค่าธรรมเนียมการยกให้ ทั้งนี้ ให้ดำเนินการภายในสองเดือนนับแต่วันมีคำชี้ขาด หากไม่จดทะเบียนโอนด้วยเหตุใด ๆ ให้ถือเอาคำชี้ขาดเป็นการแสดงเจตนาโอนกรรมสิทธิ์แทน ให้พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอันเป็นที่ตั้งของวังอัศวิน ซอยสงวนสุข ถนนพระราม ๕ แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร พร้อมภาระติดพัน ให้แก่ฝ่ายหม่อมเจ้าฐิติพันธุ์ ยุคล โดยให้หม่อมเจ้าฐิติพันธุ์ ยุคล เป็นผู้ชำระหนี้ค่าภาระติดพันและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ให้ฝ่ายหม่อมเจ้าฐิติพันธุ์ ยุคล สละสิทธิการเรียกร้องอื่นใดในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์มรดกของหม่อมหลวงสร้อยระย้า ยุคล และยินยอมให้ทรัพย์สินที่อยู่ในพระนามของพลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล หรือที่ครอบครองอยู่ เป็นของพลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล แต่ฝ่ายเดียว รวมทั้งโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ ในระหว่างรอการชำระเงินจำนวนยี่สิบห้าล้านบาท หากฝ่ายพลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ได้ขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินหลังวันชี้ขาด ให้ชำระเงินจากการขายหรือจำหน่ายให้แก่หม่อมเจ้าฐิติพันธุ์ ยุคล อย่างน้อยร้อยละยี่สิบของราคา แล้วนำเงินดังกล่าวไปหักจากยอดเงินจำนวนยี่สิบห้าล้านบาทดังกล่าวทุกครั้งไป คณะอนุญาโตตุลาการได้มีการแจ้งคำชี้ขาดดังกล่าวให้คู่กรณีทราบแล้ว แต่หม่อมไฉไล ยุคล ไม่ปฏิบัติตามคำชี้ขาดดังกล่าว ขอให้ศาลมีคำพิพากษาบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าว

ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการไม่ถูกต้อง เนื่องจากคู่กรณีสิ้นพระชนม์และสิ้นชีพิตักษัยไปแล้วก่อนทำคำชี้ขาด หากจะดำเนินการพิจารณาต่อไป ต้องเรียกทายาทเข้ามาดำเนินคดีต่อไป ทั้งนี้ เทียบเคียงการนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม การทำคำชี้ขาดโดยไม่เรียกทายาทเข้ามาในคดีจึงไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ขณะนี้ ผู้คัดค้านได้ยื่นคำร้องให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมของพลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล แต่ยังคงมีผู้คัดค้านอยู่ในคดีดังกล่าวอยู่ ผู้คัดค้านจึงไม่ส่ามารถปฏิบัติตามคำชี้ขาดได้ ขอให้ยกคำร้อง (ที่ถูกเป็น ขอให้ยกคำร้องขอของผู้ร้อง)

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกคำร้อง (ที่ถูกเป็น ยกคำร้องขอของผู้ร้อง) ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาตรวจสำนวน ประชุมปรึกษาแล้ว ทางไต่สวน ผู้ร้องนำสืบว่า ผู้ร้องทั้งหมดเป็นผู้จัดการมรดกของหม่อมเจ้าฐิติพันธุ์ ยุคล ตามสำเนาคำสั่งศาลแพ่งในคดีหมายเลขแดงที่ ๒๙๐๗/๒๕๓๘ เอกสารหมาย ร. ๑ หม่อมเจ้าพันธุ์สวลี กิติยากร, หม่อมเจ้าฐิติพันธุ์ ยุคล และหม่อมเจ้ารังษีนภดล ยุคล เป็นพระโอรสและพระธิดาในพลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล กับหม่อมหลวงสร้อยระย้า ยุคล พระโอรสและพระธิดาทั้งสามพระองค์เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันของหม่อมหลวงสร้อยระย้า ยุคล ตามสำเนาพินัยกรรม เอกสารหมาย ร. ๒ ต่อมา มีกรณีพิพาทเกี่ยวกับมรดกของหม่อมหลวงสร้อยระย้า ยุคล ซึ่งหม่อมเจ้าพันธุ์สวลี กิติยากร และหม่อมเจ้ารังษีนภดล ยุคล ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับพลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ได้ ตามสำเนาประนีประนอมยอมความ เอกสารหมาย ร. ๓ และ ร. ๔ แต่หม่อมเจ้าฐิติพันธุ์ ยุคล ยังตกลงไม่ได้ จึงได้มีการตั้งอนุญาโตตุลาการขึ้นพิจารณากรณีพิพาทระหว่างพลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล กับหม่อมเจ้าฐิติพันธุ์ ยุคล อนุญาโตตุลาการซึ่งภายหลังต่อมาประกอบด้วย ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์, พลตำรวจตรี อรรถสิทธิ์ สิทธิสุนทร และพลเรือตรี หม่อมหลวงอัสนี ปราโมช ได้แต่งตั้งคณะกรรมการเจรจาระงับข้อพิพาทระหว่างพลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล กับหม่อมเจ้าฐิติพันธุ์ ยุคล ซึ่งได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน และหม่อมเจ้าฐิติพันธุ์ ยุคล ได้ลงพระนามแล้ว ตามสำเนาสัญญาประนีประนอมยอมความ เอกสารหมาย ร. ๕ แต่พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ได้สิ้นพระชนม์เสียก่อนที่จะลงพระนาม คณะกรรมการจึงเรียกผู้คัดค้านซึ่งเป็นทายาทเข้ามาเจรจา แต่ยังตกลงกันไม่ได้ หม่อมเจ้าฐิติพันธุ์ ยุคล ก็สิ้นชีพิตักษัยลง คณะกรรมการจึงส่งเรื่องคืนไปยังอนุญาโตตุลาการและคณะอนุญาโตตุลาการเห็นว่า ไม่มีเหตุผลอื่นใดที่คณะอนุญาโตตุลาการจะมีคำชี้ขาดให้ผิดแผกแตกต่างไปจากสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวที่ได้ยกร่างขึ้นตามเจตนารมณ์ของคู่กรณีทั้งสองฝ่าย จึงทำคำชี้ขาดพร้อมเหตุผล ตามเอกสารหมาย ร. ๖ ซึ่งผู้ร้องและผู้คัดค้านได้รับสำเนาคำชี้ขาดแล้ว แต่ผู้คัดค้านไม่ปฏิบัติตาม

ผู้คัดค้านไม่มีพยานหลักฐานมาสืบ

พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้เป็นยุติว่า สืบเนื่องจากมีข้อพิพาทในการแบ่งทรัพย์มรดกของหม่อมหลวงสร้อยระย้า ยุคล ระหว่างหม่อมเจ้าพันธุ์สวลี กิติยากร, หม่อมเจ้ารังษีนภดล ยุคล และหม่อมเจ้าฐิติพันธุ์ ยุคล ซึ่งเป็นฝ่ายเรียกร้อง กับพลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ฝ่ายโต้แย้ง ในวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๒๘ คู่กรณีทั้งสองฝ่ายจึงตกลงแต่งตั้งคณะอนุญาโตตุลาการขึ้นเพื่อระงับข้อพิพาทดังกล่าว ซึ่งฝ่ายเรียกร้องได้แต่งตั้งนายประกอบ หุตะสิงห์ เป็นอนุญาโตตุลาการ และภายหลังเมื่อนายประกอบ หุตะสิงห์ ถึงแก่อนิจกรรม ฝ่ายเรียกร้องก็ได้แต่งตั้งพลเรือตรี หม่อมหลวงอัศนี ปราโมช เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายเรียกร้องแทน ส่วนฝ่ายโต้แย้งได้แต่งตั้งพลตำรวจตรี อรรถสิทธิ์ สิทธิสุนทร เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายโต้แย้ง และทั้งสองฝ่ายแต่งตั้งนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นอนุญาโตตุลาการผู้ชี้ขาด ต่อมา ระหว่างการดำเนินกระบวนพิจารณา คณะอนุญาโตตุลาการเห็นว่า เพื่อให้ข้อพิพาทของทั้งสองฝ่ายซึ่งเป็นบิดากับบุตรยุติลงด้วยดี เห็นสมควรให้มีการเจรจาเพื่อตกลงประนีประนอม ซึ่งผลที่สุด หม่อมเจ้ารังษีนภดล ยุคล กับฝ่ายโต้แย้งสามารถทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันได้สำเร็จในวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๓๓ และหม่อมเจ้าพันธุ์สวลี กิติยากร กับฝ่ายโต้แย้งได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๓๓ ส่วนข้อพิพาทระหว่างหม่อมเจ้าฐิติพันธุ์ ยุคล กับฝ่ายโต้แย้งนั้น ทั้งสองฝ่ายไม่อาจตกลงกันได้ เนื่องจากมีปัญหาเกี่ยวกับเงื่อนไขการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอันเป็นที่ตั้งของวังอัศวิน ในวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๓๗ คณะอนุญาโตตุลาการจึงได้แต่งตั้งนายชนะ บารมี และนายวิชัย อริยะนันทกะ เป็นกรรมการเจรจาระงับข้อพิพาทเพื่อหาทางประนีประนอมยอมความกัน และในที่สุด ฝ่ายหม่อมเจ้าฐิติพันธุ์ ยุคล ก็ได้ยอมรับข้อเสนอของฝ่ายโต้แย้ง คือ ยอมรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นที่ตั้งของวังอัศวินโดยมีค่าภาระติดพันไปด้วย คณะกรรมการเจรจาระงับข้อพิพาทจึงได้ยกร่างสัญญาประนีประนอมยอมความตามข้อตกลงระหว่างหม่อมเจ้าฐิติพันธุ์ ยุคล และพลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ขึ้น หม่อมเจ้าฐิติพันธุ์ ยุคล ได้ลงพระนามในสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว แต่พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ได้สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘ เสียก่อน โดยที่ยังมิได้ลงพระนามในสัญญาประนีประนอมยอมความ คณะกรรมการเจรจาระงับข้อพิพาทได้ให้ผู้คัดค้านซึ่งเป็นคู่สมรสและเป็นทายาทโดยธรรมของฝ่ายโต้แย้งมาเข้าประชุมเพื่อตกลงในข้อพิพาทกับหม่อมเจ้าฐิติพันธุ์ ยุคล แล้ว แต่ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ และต่อมาวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๓๘ หม่อมเจ้าฐิติพันธุ์ ยุคล ถึงชีพิตักษัย คณะอนุญาโตตุลาการจึงได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างหม่อมเจ้าฐิติพันธุ์ ยุคล กับฝ่ายโต้แย้งเกี่ยวกับทรัพย์สินอันเป็นมรดกของหม่อมหลวงสร้อยระย้า ยุคล ตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ลงวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๓๘ เอกสารหมาย ร. ๖ คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการมีผลบังคับตามกฎหมายหรือไม่ คดีนี้ ทั้งพลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ฝ่ายโต้แย้ง และหม่อมเจ้าฐิติพันธุ์ ยุคล ฝ่ายเรียกร้อง ต่างได้แต่งตั้งให้นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นประธานอนุญาโตตุลาการ โดยมีพลตำรวจตรี อรรถสิทธิ์ สิทธิสุนทร เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายโต้แย้ง และพลเรือตรี หม่อมหลวงอัศนี ปราโมช เป็นอนุญาตโตตุลาการฝ่ายเรียกร้อง โดยชอบ ทั้งนี้ เพื่อให้คณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าวชี้ขาดข้อพิพาทเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของหม่อมหลวงสร้อยระย้า ยุคล โดยคณะอนุญาโตตุลาการได้เริ่มดำเนินกระบวนพิจารณาตามหน้าที่ตั้งแต่วันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๒๘ จนถึงวันที ๒๗ ตุลาคม ๒๕๓๘ อันเป็นวันที่อนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาด ศาลฎีกาเห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้แต่งตั้งอนุญาโตตุลาการทั้งสองฝ่ายจะได้สิ้นพระชนม์และสิ้นชีพิตักษัยไปก่อนที่คณะอนุญาโตตุลาการจะมีคำชี้ขาดก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๓๐ มาตรา ๗ ที่บัญญัติว่า “ความสมบูรณ์แห่งสัญญาอนุญาโตตุลาการและการตั้งอนุญาโตตุลาการย่อมไม่เสียไป แม้ในภายหลัง คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตาย ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ” แล้ว จะเห็นได้ว่า หากได้มีการตั้งอนุญาโตตุลาการโดยชอบแล้ว แม้ต่อมาภายหลัง ผู้ตั้งอนุญาโตตุลาการฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายตายลง ก็ไม่ทำให้ความสมบูรณ์และการตั้งอนุญาโตตุลาการนั้นต้องเสียไป ดังนั้น เมื่อคณะอนุญาโตตุลาการคดีนี้ได้รับการแต่งตั้งโดยชอบ และมีการดำเนินกระบวนวิธีพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการโดยฟังคู่กรณีทั้งสองฝ่ายและทำการไต่สวนตามที่เห็นสมควรแล้ว คณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าวย่อมมีอำนาจที่จะดำเนินวิธีพิจารณาและทำคำชี้ขาดโดยยึดหลักแห่งความยุติธรรมเป็นสำคัญเพื่อบังคับแก่คู่กรณีได้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๓๐ ส่วนที่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเจรจาระงับข้อพิพาทก็เพื่อให้ฝ่ายเรียกร้องและฝ่ายโต้แย้งสามารถจะตกลงกันได้ในรูปสัญญาประนีประนอมยอมความเช่นที่ฝ่ายโต้แย้งได้ทำกับหม่อมเจ้าพันธุ์สวลี กิติยากร และหม่อมเจ้ารังษีนภดล ยุคล จนสำเร็จลุล่วงไปแล้ว เมื่อการเจรจาระหว่างฝ่ายเรียกร้องกับฝ่ายโต้แย้งลุล่วงไปจนถึงขั้นทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน และหม่อมเจ้าฐิติพันธุ์ ยุคล ฝ่ายเรียกร้อง ได้ลงพระนามแล้ว แต่พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ฝ่ายโต้แย้ง สิ้นพระชนม์ไปก่อนที่จะลงพระนามในสัญญาประนีประนอมยอมความก็ตาม แต่สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวก็มีผลผูกพันคู่กรณีทั้งสองฝ่ายที่ได้ตกลงกันระงับข้อพิพาทซึ่งมีอยู่แล้วนั้น ผู้ร้องยื่นคำร้องขอในคดีนี้ก็เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตามเอกสารหมาย ร. ๖ หาได้ขอให้บังคับผู้คัดค้านให้ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวไม่ แม้สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวฝ่ายโต้แย้งจะยังมิได้ลงพระนามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๕๑ ผู้ร้องก็ไม่ต้องห้ามตามบทบัญญัติมาตรา ๘๕๑ ดังกล่าวที่จะยื่นคำร้องขอเป็นคดีนี้ ทั้งข้อความในสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวก็ได้ล้อข้อความเดิมจากสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งฝ่ายโต้แย้งทำกับหม่อมเจ้าพันธุ์สวลี กิติยากร และหม่อมเจ้ารังษีนภดล ยุคล ทุกประการ ส่วนที่เพิ่มเติมจากสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวก็เป็นการเพิ่มเติมตามเจตนารมณ์ของฝ่ายโต้แย้ง และฝ่ายเรียกร้องได้ยอมตามข้อเสนอเพิ่มเติมของฝ่ายโต้แย้งนั้น การที่คณะอนุญาโตตุลาการได้ทำคำชี้ขาดโดยถือตามสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างคู่กรณีทั้งสองฝ่าย จึงถือว่า ได้กระทำไปโดยอาศัยหลักแห่งความยุติธรรมและชอบด้วยพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๓๐ มาตรา ๑๗ แล้ว คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการตามเอกสารหมาย ร. ๖ จึงชอบด้วยกฎหมายและย่อมมีผลบังคับต่อผู้ร้องและผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกและทายาทโดยธรรมของคู่กรณีผู้ตั้งคณะอนุญาโตตุลาการนี้ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกคำร้องขอของผู้ร้องโดยเห็นว่า คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ฝ่ายโต้แย้งยังมิได้ลงพระนามไม่อาจบังคับแก่คู่กรณีได้นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น

พิพากษากลับ ให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาตโตตุลาการ ให้ผู้คัดค้านใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนผู้ร้อง ค่าทนายความเห็นควรให้พับ



ศิริชัย สวัสดิ์มงคล


วิเทพ ศิริพากย์


สุทิน ปัทมราชวิเชียร




ขึ้น

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"