คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6374/2556
คำพิพากษา |
ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
วันที่ ๘ เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๖
ระหว่าง | พนักงานอัยการจังหวัดชลบุรี | โจทก์ | ||
นายณัชกฤช จึงรุ่งฤทธิ์ | จำเลย | |||
เรื่อง | ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ ต่อพระราชินี ต่อรัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ |
โจทก์ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๒ ลงวันที่ ๒๘ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๒ ศาลฎีการับวันที่ ๑๙ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๓
โจทก์ฟ้องว่า วันที่ ๕ เมษายน ๒๕๔๘ เวลากลางวัน จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของและผู้จัดรายการสถานีวิทยุชมชน ชื่อรายการ "ช่วยกันคิดช่วยกันแก้" โฆษณาโดยการกระจายเสียงในรายการดังกล่าว มีข้อความว่า "ท่านผู้ฟังครับ ในรายการที่ช่วยกันคิดช่วยกันแก้ เบอร์โทรก็ ๐๓๘-๔๔๓๘๘๘ เมื่อสักครู่มีเบอร์โทรเข้ามาหลังไมค์ มาสอบถามเรื่องว่า ทำไมคุณณัชกฤชสอบตก เพราะสาเหตุใด สาเหตุใดเราไม่ต้องพูดถึงหรอกครับ เอาว่า การที่เราสอบตกนั้นเนี๊ยะ ทุกวันผมเดินด้วยความภาคภูมิใจอย่างสง่างามจากในหน้าที่ตอบรับดี ผมได้เจอะเจอ ทุกวันนี้มีแต่ความรู้สึกดี ๆ ฉะนั้น เราก็มีความภาคภูมิใจในตัวเรานะครับว่า เราคงยึดอุดมการณ์ แล้วก็มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ให้กับท่านผู้ฟังได้ทราบด้วยว่า ทำไมละ คุณต้องลงสมัครแข่งกับเขา ท่านผู้ฟังครับ เดี๋ยวคุยกัน รับสายหนึ่งก่อน เอ สวัสดีครับ เอ สวัสดีครับ ถึงจะสอบตก แต่เป็นบุคคลที่สะอาด ก็พอใจแล้วครับ เอ สวัสดีครับ ก็ขอขอบคุณครับ พี่น้องชาวเซิดน้อยนะครับ ที่ให้กำลังใจเรา เรามาพูดถึงว่าคนดีนะ ที่ท่านผู้ฟัง นักจัดรายการแถวเซิดน้อยบอกว่า คนดีอยู่หลังเขา เขาก็จะเอามา คุณสอบตกกี่ครั้งแล้ว ก็เหมือนกับอยู่กลางสระ แต่ผมภูมิใจครับว่า ผมเนี๊ยะ พูดอย่างเปิดอกเลยว่า ผมภูมิใจครับ ถ้าผมอยากเป็นสมาชิกอย่างท่าน ผมเป็นก่อนท่านแล้ว ผมเคยได้รับโอกาสนะครับ ชวนให้ไปเป็นสมาชิกเหมือนกับท่านที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ แต่ผมปฏิเสธครับ ท่านผู้ฟังครับ เพราะศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ในสิ่งใดที่เราคิดว่า เราเสียไปแล้วเนี๊ยะ ถ้าเราทำด้วยความอิสระ ทำด้วยความคิดเสรี เพื่อพี่น้องประชาชน เราไปครับ แต่ถ้าเราต้องไปแล้วต้องเป็นเหมือนกับสมัยรัชกาลที่ ๔ เราไม่เป็นครับท่าน ยุคนั้นหมดไปแล้ว แต่บ้านเมืองนี้อาจจะมีอยู่บ้างบางส่วนนะครับ บางส่วนยังมีอยู่บ้าง ก็คือ ความภาคภูมิใจในตัวผม คิดถึงทีไร เราก็มีความภาคภูมิใจตลอด" ให้แก่ประชาชนโดยทั่วไปภายในเขตอำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี ซึ่งข้อความดังกล่าวมีความหมายเป็นการใส่ความ หมิ่นประมาท ดูหมิ่นรัชกาลที่ ๔ ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ในอดีต เปรียบเทียบว่า ยุคของพระองค์เหมือนต้องไปเป็นทาส ไม่มีความเป็นอิสระ มีการปกครองที่ไม่ดี ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะทำให้รัชกาลที่ ๔ เสื่อมเสียพระเกียรติยศ เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง โดยเจตนาทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะ เหตุเกิดที่ตำบลบ้านบึง อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี จำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๗๑๔/๒๕๕๐ ของศาลชั้นต้น ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ และนับโทษจำคุกจำเลยคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกจำเลยในคดีดังกล่าว
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ จำคุก ๔ ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุกสองปี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ มีกำหนด ๒ ปี โดยกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก ๔ เดือนต่อครั้ง มีกำหนด ๑ ปี กับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควร เป็นเวลา ๑๒ ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ ให้ยกคำขอนับโทษต่อ
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วเห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ บัญญัติว่า "ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์..." บทบัญญัติดังกล่าวมิได้ระบุว่า พระมหากษัตริย์จะต้องเป็นพระมหากษัตริย์ซึ่งยังครองราชย์อยู่ในขณะกระทำความผิดหรือไม่ และก็มิได้ระบุว่า พระมหากษัตริย์ที่ถูกกระทำจะต้องเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยังคงครองราชย์อยู่ เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่า บทบัญญัติดังกล่าวอยู่ในลักษณะ ๑ ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร แสดงให้เห็นว่า แม้การกระทำความผิดจะกระทบต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท เพียงพระองค์เดียว ย่อมมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ประเทศไทยปกครองโดยพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่สร้าง เริ่มตั้งแต่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช จนกระทั่งระบอบประชาธิปไตยซึ่งอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ปกครองโดยประชาชน เพื่อประชาชนก็ตาม แต่พระมหากษัตริย์ก็ยังคงได้รับความเคารพสักการะ ให้ทรงเป็นพระประมุขของประเทศ เป็นจอมทัพไทย กฎหมายที่ผ่านรัฐสภาโดยฝ่ายนิติบัญญัติ การแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นคณะรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา ประธานศาลฎีกา พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้ง การดำรงตำแหน่งกระทำโดยการสืบสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาล ทำให้พระมหากษัตริย์จะสืบทอดทางสันตติวงศ์ทางสายพระโลหิตต่อกันมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ราชวงศ์จักรีตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชต้นราชวงศ์ตลอดมาจนกระทั่งรัชกาลปัจจุบัน ประชาชนในประเทศจึงผูกพันกับพระมหากษัตริย์ในฐานะที่เป็นที่เคารพสักการะ ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยจึงบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือ บุคคลใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องในทางใด ๆ มิได้ ด้วยเหตุนี้ การที่กฎหมายมิได้บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์จะต้องครองราชย์อยู่เท่านั้น ผู้กระทำจึงจะเป็นความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ แม้จะกระทำต่ออดีตพระมหากษัตริย์ซึ่งสวรรคตไปแล้ว ก็ยังเป็นความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว การหมิ่นประมาทอดีตพระมหากษัตริย์ก็ย่อมกระทบถึงพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันที่ยังคงครองราชย์อยู่ ดังจะเห็นได้ว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระราชบิดาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นพระอัยกาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลปัจจุบัน หากตีความว่า พระมหากษัตริย์ต้องเป็นองค์ปัจจุบันที่ยังทรงครองราชย์อยู่ ก็จะเป็นช่องทางให้เกิดการละเมิด หมิ่นประมาท ให้กระทบต่อพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันได้ ดังได้กล่าวในเบื้องต้นมาแล้วว่า ประชาชนชาวไทยผูกพันกับสถาบันกษัตริย์มาตลอด แม้จะเสด็จสวรรคตไปแล้ว ประชาชนก็ยังเคารพสักการะ ยังมีพิธีรำลึกถึงโดยทางราชการจัดพิธีวางพวงมาลาทุกปี ดังนั้น หากมีการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ที่เสด็จสวรรคตไปแล้ว ก็ยังกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของประชาชน อันจะนำไปสู่ความไม่พอใจ และอาจส่งผลกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรได้ ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น ที่โจทก์ฎีกาขอให้ไม่รอการลงโทษแก่จำเลยนั้น เห็นว่า จำเลยให้การรับสารภาพ แสดงให้เห็นว่า จำเลยรู้สึกในการกระทำ จึงมีเหตุที่รอการลงโทษ เพื่อให้จำเลยกลับตนเป็นพลเมืองดีต่อไป ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.
นายทวีป ตันสวัสดิ์
นายพศวัจน์ กนกนาก
บรรณานุกรม
แก้ไข- ศาลฎีกา. (2556). คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6374/2556 ลงวันที่ 8 พฤษภาคม 2556 ในความอาญา ระหว่าง พนักงานอัยการจังหวัดชลบุรี โจทก์ นายณัชกฤช จึงรุ่งฤทธิ์ จำเลย เรื่อง ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ ต่อพระราชินี ต่อรัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการ. สืบค้นจาก http://www.enlightened-jurists.com/page/287.
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (4) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"