คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๑๒-๑๓/๒๕๕๑/จรัญ ภักดีธนากุล

แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)


ความเห็นในการวินิจฉัยคดีส่วนตน


ของนายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ[1]


ความเป็นรัฐมนตรีของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้อง สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๑๘๒ วรรคหนึ่ง (๗) ประกอบมาตรา ๒๖๗ เพราะเหตุผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งใดในบริษัทเฟซ มีเดีย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบริษัทดังกล่าวหรือไม่

ตราครุฑ
ตราครุฑ
คำวินิจฉัยที่ ๑๒-๑๓/๒๕๕๑ เรื่องพิจารณาที่ ๑๙/๒๕๕๑
เรื่องพิจารณาที่ ๒๙/๒๕๕๑



ประเด็นวินิจฉัยมีว่า


ความเห็น

๑.   บทบัญญัติมาตรา ๒๖๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ เป็นมาตรการหนึ่งของหมวด ๑๒ ว่าด้วยการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และเป็นบทบัญญัติหนึ่งในส่วนที่ ๒ ว่าด้วยการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ที่มีเจตนารมณ์จะป้องปรามมิให้ฝ่ายการเมืองเข้าไปแทรกแซงก้าวก่ายกับฝ่ายราชการประจำ หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนพัวพันกับภาคธุรกิจเอกชน อันจะเป็นหนทางให้เกิดการทุจริตประพฤติมิชอบในการใช้ฐานะตำแหน่งและอำนาจหน้าที่ของฝ่ายการเมืองขึ้นได้โดยง่าย โดยการเอื้อประโยชน์ในทางที่ไม่ชอบให้แก่กันและกัน อันยากแก่การติดตามตรวจสอบในภายหลัง ดังนั้น การใช้และการตีความบทบัญญัติในส่วนที่ ๒ ว่าด้วยการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์นี้ จึงจำเป็นต้องให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ดังกล่าวให้มากที่สุด จะถือเคร่งครัดตามถ้อยคำสำนวนหรือลายลักษณ์อักษรที่ใช้กันในบริบทของกฎหมายเอกชนหาได้ไม่

๒.   สำหรับการกระทำของผู้ถูกร้องในฐานะพิธีกรกิตติมศักดิ์รายการโทรทัศน์ “ชิมไป บ่นไป” ซึ่งผลิตรายการโดยบริษัทเฟซ มีเดีย จำกัด นั้น ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้เป็นยุติตามคำรับของผู้ถูกร้องที่ยืนยันต่อศาลว่า ผู้ถูกร้องได้กระทำการเป็นพิธีกรในรายการ “ชิมไป บ่นไป” ให้แก่บริษัทเฟซ มีเดีย จำกัด มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๓ และเมื่อผู้ถูกร้องเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว ก็ยังคงกระทำการเป็นพิธีกรในรายการดังกล่าว และในรายการ “ยกโขยง ๖ โมงเช้า” อีกรายการหนึ่งด้วย จนกระทั่งมีผู้ทักท้วงว่า เป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ จึงได้เลิก เพราะไม่ต้องการให้เป็นปัญหาโต้แย้งต่อไป ทั้ง ๆ ที่ผู้ถูกร้องเห็นว่า การกระทำดังกล่าวของผู้ถูกร้องเป็นเพียงการรับจ้าง บริษัทเฟซ มีเดีย จำกัด เท่านั้น มิใช่การเป็นลูกจ้างของบริษัทเฟซ มีเดีย จำกัด อันจะเป็นการต้องห้าม ตามมาตรา ๒๖๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐

มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่า ผู้ถูกร้องได้รับค่าตอบแทนจากการเป็นพิธีกรในรายการ วิทยุโทรทัศน์ของบริษัทเฟซ มีเดีย จำกัด ทั้งสองรายการนั้นหรือไม่ เพียงใด ปรากฏจากแบบแสดงรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ภ.ง.ด.๓) ที่บริษัทเฟซ มีเดีย จำกัด ยื่นต่อกรมสรรพากรในปี ๒๕๔๗ เดือนมิถุนายนหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับค่าตัวพิธีกรที่บริษัทเฟซ มีเดีย จำกัด จ่ายให้แก่ผู้ถูกร้องสามรายการ เดือนกรกฎาคมหักภาษี ณ ที่จ่ายสำหรับค่าตัวพิธีกรที่บริษัทเฟซ มีเดีย จำกัด จ่ายให้แก่ผู้ถูกร้องหนึ่งรายการ เดือนสิงหาคมสองรายการ เดือนกันยายนสามรายการ เดือนตุลาคมหนึ่งรายการ เดือนพฤศจิกายนหนึ่งรายการ และเดือนธันวาคมอีกหนึ่งรายการ ในปี ๒๕๔๘ ปรากฏรายการ หักภาษี ณ ที่จ่ายสำหรับค่าตัวพิธีกรที่บริษัทเฟซ มีเดีย จำกัด จ่ายให้แก่ผู้ถูกร้องเดือนมกราคมหนึ่งรายการ เดือนมีนาคมสามรายการ ปี ๒๕๕๐ ปรากฏรายการหักภาษี ณ ที่จ่ายสำหรับค่าจ้างแสดงที่ บริษัทเฟซ มีเดีย จำกัด จ่ายให้แก่ผู้ถูกร้องในเดือนเมษายนและพฤษภาคมเดือนละสองรายการ เดือนตุลาคมสามรายการ ซึ่งเงินค่าตัวพิธีกรที่บริษัทเฟซ มีเดีย จำกัด จ่ายให้แก่ผู้ถูกร้องตามที่ปรากฏ ในแบบแสดงรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ภ.ง.ด. ๓) ดังกล่าวนั้นแต่ละเดือนมีจำนวนเกินกว่าสองแสนบาท หาใช่เป็นเงินค่าพาหนะในการถ่ายทำรายการครั้งละไม่เกินห้าพันบาทดังที่ผู้ถูกร้องชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาและนำสืบพยานหลักฐานมาไม่

นอกจากนี้ยังปรากฏจากแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาซึ่งผู้ถูกร้องยื่นต่อกรมสรรพากรตามแบบ ภ.ง.ด. ๙๐ และนายพิชาติ เกษเรือง รองอธิบดีกรมสรรพากร ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากร ส่งเป็นหลักฐานให้แก่ศาล และคู่กรณีได้รับรองความถูกต้องแท้จริงไว้แล้วว่า ผู้ถูกร้องมีเงินได้จากการเป็นพิธีกรให้บริษัทเฟซ มีเดีย จำกัด มาโดยตลอดตั้งแต่ปีภาษี ๒๕๔๓ ถึง พ.ศ. ๒๕๕๐ ยกเว้นปีภาษี ๒๕๔๔ และ ๒๕๔๕ โดยปีภาษี ๒๕๔๓ ได้รับจำนวนแปดหมื่นบาท ปีภาษี ๒๕๔๖ จำนวนแปดแสนสี่หมื่นสองพันหนึ่งร้อยห้าบาทยี่สิบสตางค์ ปีภาษี ๒๕๔๗ จำนวนหนึ่งล้านแปดหมื่นหกพันสองร้อยแปดสิบเก้าบาทสี่สิบหกสตางค์ ปีภาษี ๒๕๔๘ จำนวนเกินกว่าหนึ่งล้านบาท ส่วนปีภาษี ๒๕๔๙ และ ๒๕๕๐ ข้อมูลไม่ปรากฏว่า เงินได้จากการเป็นพิธีกรของผู้ถูกร้องได้รับจากผู้ใด

อนึ่ง ผู้ถูกร้องเองก็เบิกความรับต่อศาลว่า ได้รับค่าตอบแทนจากบริษัทเฟซ มีเดีย จำกัด ตามที่ปรากฏในเอกสารหลักฐานที่ศาลเรียกมาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจริง เพียงแต่โต้แย้งว่า เป็นการได้รับก่อนที่จะเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งเป็นการรับค่าตอบแทนในฐานะผู้รับจ้าง มิใช่ในฐานะลูกจ้าง แต่เมื่อพิเคราะห์จากหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาที่ผู้ถูกร้องยื่นต่อศาลนั้นระบุว่า ในการรับเชิญไปเป็นพิธีกรในรายการทำอาหารให้แก่บริษัทเฟซ มีเดีย จำกัด ผู้ถูกร้องได้รับค่าพาหนะครั้งละประมาณห้าพันบาทเท่านั้น อันเป็นการขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากเอกสารที่ศาลเรียกมาจากกรมสรรพากร ประกอบกับคำเบิกความของนายศักดิ์ชัย แก้ววรรณีสกุล ผู้ก่อตั้งและกรรมการบริษัทเฟซ มีเดีย จำกัด และคำเบิกความของนางดาริกา รุ่งโรจน์ ผู้จัดการฝ่ายการเงินและบัญชีของบริษัทเฟซ มีเดีย จำกัด ที่ระบุว่า บริษัทเฟซ มีเดีย จำกัด จ่ายค่าเป็นพิธีกรให้แก่ผู้ถูกร้องในช่วงก่อนเป็นนายกรัฐมนตรีเพียงครั้งละสามพันถึงห้าพันบาทเพื่อเป็นค่าน้ำมันรถเท่านั้น โดยจ่ายให้แก่คนขับรถตามระยะทาง อันเป็นการเบิกความที่สอดรับกับคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของผู้ถูกร้อง แต่เมื่อปรากฏความจริงจากเอกสารหลักฐานการเสียภาษีดังที่แสดงมาข้างต้นแล้วว่า ผู้ถูกร้องได้รับค่าตอบแทนการทำหน้าที่ เป็นพิธีกรจากบริษัทเฟซ มีเดีย จำกัด เป็นจำนวนมากตลอดมาอย่างสม่ำเสมอ จึงฟังได้ว่า คำชี้แจงของผู้ถูกร้องและคำเบิกความของพยานทั้งสองมิได้เป็นความจริง และมีพฤติการณ์ส่อให้เห็นเป็นพิรุธว่า น่าจะมีการปกปิดบิดเบือนข้อเท็จจริงบางอย่างบางประการ และเมื่อพิจารณาประกอบกับการที่ทางกรมสรรพากรไม่สามารถตรวจสอบหาหลักฐานการยื่นรายการภาษีหัก ณ ที่จ่าย (ภ.ง.ด.๓) ของบริษัทเฟซ มีเดีย จำกัด ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน ๒๕๕๑ อันเป็นช่วงที่ผู้ถูกร้องเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว และยังคงทำหน้าที่เป็นพิธีกรให้บริษัทเฟซ มีเดีย จำกัด อยู่ ทั้ง ๆ ที่บริษัทเฟซ มีเดีย จำกัด มิได้หยุดกิจกรรมการถ่ายทำรายการวิทยุโทรทัศน์ทั้งสองรายการ ทำให้ข้อเคลือบแคลงว่า น่าจะมีการปิดบังอำพรางข้อเท็จจริงในกรณีนี้มีความเป็นไปได้มากยิ่งขึ้น ทั้งยังปรากฏข้อพิรุธจากหนังสือที่บริษัทเฟซ มีเดีย จำกัด โดยนายศักดิ์ชัย แก้ววรรณีสกุล ทำถึงผู้ถูกร้องระบุวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ สอบถามว่า เมื่อผู้ถูกร้องลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้วจะยังคง เป็นพิธีกรในรายการ “ชิมไป บ่นไป” ได้หรือไม่ ซึ่งผู้ถูกร้องมีหนังสือระบุตอบว่า ถ้าเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ก็ไม่มีปัญหาในการทำรายการ แต่หากทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร คงทำไม่ได้ แต่ “ผมจะทำให้เปล่า ๆ โดยไม่รับเงินค่าตอบแทนเป็นค่าน้ำมันรถเหมือนอย่างเคย” ซึ่งหนังสือทั้งสองฉบับที่ผู้ถูกร้องอ้างสนับสนุนข้อต่อสู้ของตนด้วยนี้ ถ้าความจริงฟังได้ว่า ผู้ถูกร้อง ไม่เคยได้รับค่าตอบแทนใด ๆ จากบริษัทเฟซ มีเดีย จำกัด มาก่อนเลย นอกจากค่าน้ำมันรถครั้งละสามพันถึงห้าพันบาทเท่านั้น หนังสือสองฉบับนี้ก็สมเหตุสมผล และมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏจากหลักฐานการเสียภาษีอากรแล้วว่า ความจริงมิได้เป็นเช่นนั้น เพราะความจริงผู้ถูกร้องได้รับค่าตอบแทนในการเป็นพิธีกรให้แก่บริษัทเฟซ มีเดีย จำกัด ในอัตราที่สูงมากมาโดยตลอดเวลาที่ทำหน้าที่พิธีกรให้บริษัทเฟซ มีเดีย จำกัด ข้อความในหนังสือของผู้ถูกร้องจึงขัดแย้งต่อความจริง และไม่เพียงแต่ไม่มีน้ำหนักให้เชื่อถือเท่านั้น แต่ยังส่อแสดงให้เห็นพิรุธหนักยิ่งขึ้นอีกด้วย ดังนั้น ข้อกล่าวอ้างของผู้ถูกร้องที่ว่า ทำหน้าที่ให้บริษัทเฟซ มีเดีย จำกัด ในช่วงเวลาที่เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนใด ๆ จากบริษัทเฟซ มีเดีย จำกัด เลยนั้น จึงไม่มีน้ำหนักให้เชื่อถือได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้ถูกร้องได้รับค่าตอบแทนในการทำหน้าที่พิธีกรจากบริษัทเฟซ มีเดีย จำกัด มาตลอดเวลาที่ทำหน้าที่พิธีกรให้แก่บริษัทเฟซ มีเดีย จำกัด

๓.   จากข้อเท็จจริงดังกล่าวมีปัญหาต้องวินิจฉัยในข้อกฎหมายต่อไปว่า ผู้ถูกร้องมีฐานะเป็น ลูกจ้างของบริษัทเฟซ มีเดีย จำกัด อันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๒๖๗ หรือไม่ เห็นว่า บทบัญญัติมาตรา ๒๖๗ ของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ เป็นมาตรการหนึ่งของหมวด ๑๒ ว่าด้วยการตรวจสอบ การใช้อำนาจรัฐ และเป็นบทบัญญัติหนึ่งในส่วนที่ ๒ ว่าด้วยการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ที่มีเจตนารมณ์จะป้องปรามมิให้ฝ่ายการเมืองเข้าไปแทรกแซงก้าวก่ายกับฝ่ายราชการประจำ หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนพัวพันกับภาคธุรกิจเอกชน อันจะเป็นหนทางให้เกิดการทุจริตประพฤติมิชอบในการใช้ฐานะตำแหน่งและอำนาจหน้าที่ของฝ่ายการเมืองขึ้นได้โดยง่าย โดยการเอื้อประโยชน์ในทางที่ไม่ชอบให้แก่กันและกัน อันยากแก่การติดตามตรวจสอบในภายหลัง ดังนั้น การใช้และการตีความบทบัญญัติในส่วนที่ ๒ ว่าด้วยการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์นี้ จึงจำเป็นต้องให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ดังกล่าวให้มากที่สุด จะถือเคร่งครัดตามถ้อยคำสำนวนหรือลายลักษณ์อักษรที่ใช้กันในบริบทของกฎหมายเอกชนหาได้ไม่

เมื่อพิเคราะห์ถึงลักษณะกิจการงานที่บริษัทเฟซ มีเดีย จำกัด ได้กระทำร่วมกันกับผู้ถูกร้องมาโดยตลอดเป็นเวลาหลายปี โดยบริษัทเฟซ มีเดีย จำกัด ทำเพื่อมุ่งค้าหากำไร มิใช่เพื่อการกุศลสาธารณะ และผู้ถูกร้องก็ได้รับค่าตอบแทนอย่างสมฐานะและภารกิจ เมื่อได้มากระทำในระหว่างที่ผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี จึงเป็นการกระทำและนิติสัมพันธ์ที่อยู่ในขอบข่ายที่มาตรา ๒๖๗ ประสงค์จะป้องปรามเพื่อมิให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนพัวพันกับภาคธุรกิจเอกชนแล้ว ทั้งยังปรากฏจากคำให้สัมภาษณ์ของผู้ถูกร้องในหนังสือ “สกุลไทย” ฉบับที่ ๔๗ ประจำวันอังคารที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๔๔ หน้า ๓๗ อีกด้วยว่า การทำหน้าที่พิธีกรกิตติมศักดิ์รายการโทรทัศน์ “ชิมไป บ่นไป” ที่ออกอากาศทุกวันเสาร์ เวลา ๑๐:๓๐-๑๑:๐๐ นาฬิกา ทางไอทีวี ผลิตรายการโดยบริษัทเฟซ มีเดีย จำกัด นั้น ผู้ถูกร้องได้รับเงินเดือนจากบริษัทเฟซ มีเดีย จำกัด เดือนละแปดหมื่นบาท ด้วยเหตุผลและพฤติการณ์แห่งคดี ดังกล่าว จึงเห็นว่า ผู้ถูกร้องได้กระทำการเป็นลูกจ้างของบริษัทเฟซ มีเดีย จำกัด อันเป็นการต้องห้าม ตามมาตรา ๒๖๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ และเป็นเหตุทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามมาตรา ๑๘๒ วรรคหนึ่ง (๗) ตั้งแต่วันที่ได้กระทำการ ดังกล่าวแล้ว ประเด็นข้ออื่น ๆ ไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไป



จรัญ ภักดีธนากุล
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ



เชิงอรรถ แก้ไข

1.   ^  ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๕/ตอนที่ ๑๒๒ ก/หน้า ๒๒/๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๑




ชัช ชลวร ขึ้น จรูญ อินทจาร

 

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"