คำแปลธรรมเทศนาของพระโลกนาถ/ธรรมเทศนา/2


พระธรรมเทศนา พระโลกนาถ




ในจำนวนเห็ดที่นายจุนทะฯ ทำถวายนั้น มีเห็ดที่มีพิษปนอยู่ด้วย พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงตระหนักดีอยู่แล้ว ฉะนั้น จึงแสดงให้เห็นได้โดยธรรมดาว่า เหตุใดพระองค์จึงได้ตรัสสั่ง ไม่ให้นายช่างโลหะอังคาสเห็ดนั้นแก่ภิกษุสงฆ์ พระองค์กลับทรงสั่งให้นำไปทิ้งเสียอย่างของไม่ควรบริโภค.

เมื่อสมเด็จพระพุทธองค์ได้ทรงเสวยสุกรมัททวะนั้นเพียงพอแล้ว พระองค์ได้ตรัสแก่นายจุนทะฯ นายช่างโลหะนั้นว่า “ดูกร จุนทะฯ เห็ดที่เหลืออยู่แก่ท่านเท่าใด จงเอาไปฝังเสียในบ่อ จุนทะฯ เอ๋ย! เราไม่เห็นใครเลย ไม่ว่าในโลกนี้หรือในสวรรค์ชั้นมาร หรือสวรรค์ชั้นพรหม ไม่เห็นใครเลย ไม่ว่าในเหล่าสมณหรือเหล่าพราหมณ์ จะเป็นเทพยเจ้า หรือมนุษย์ที่จะบริโภคแล้วให้หล่อเลี้ยงร่างกายได้ นอกจากตถาคต.”

สมเด็จพระศรีสรรเพ็ชร์พุทธเจ้า ได้ทรงตรัสล่วงหน้าไว้แล้วว่า พระองค์จะปรินิพพานในกำหนด 3 เดือน และบัดนั้น ได้ถึงกำหนด 3 เดือนนั้นแล้ว สุกรมัททวะนั้นเป็นพิษ ไม่ควรแก่การย่อยหล่อเลี้ยงร่างกาย เป็นอาหารที่เหมาะแก่การที่จะทำให้สมเด็จพระพุทธองค์ทรงรักษาพระสัจวาจา ที่จะเสด็จสู่ปรินิพพานตามเวลากำหนดได้.

สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้พร้อมแล้วที่จะปรินิพพาน พระองค์ทรงตั้งพระทัยแล้วว่า จะปรินิพพานในวันนั้น แต่หาได้มีพระพุทธประสงค์ ที่จะให้ผู้อื่นถึงแก่อาการมรณะไปด้วยไม่ ทั้งไม่ได้ประสงค์ที่จะทำให้นายจุนทะฯ มีวิปฏิสารเสียน้ำใจ ที่ไม่มีผู้ใดรับอังคาสบิณฑบาตทานแห่งตน พระองค์จึงได้เสวยสุกรมัททวะนั้น และเต็มพระทัยที่จักเข้าสู่อนุปาทิเสสปรินิพพานอันวิเศษสุด เป็นการดับขันธ์โดยมิได้มีชาติภพคงเหลืออยู่เลย.

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบริโภคภัตตาหารของนายจุนทะฯ ช่างโลหะนั้นแล้ว ก็เกิดอาพาธกล้า ทรงพระประชวรโรคบิด (ลงพระโลหิต) เกิดเวทนาแรงกล้า แต่พระองค์ทรงพระสติสัมปชัญญะและขันติธรรม มิได้ลั่นพระพุทธวาจาบ่นถึงความเวทนานั้นประการใดเลย.

และพระองค์ดำรัสเรียกพระอานนท์ว่า “ดูกร อานนท์ เราพร้อมกันจักไปเมืองกุสินารา.”

“สาธุ พระพุทธเจ้าข้า” พระอานนท์รับพระพุทธาญัตติพจน์ดังนี้

พระพุทธบรรหารที่ตรัสสั่งให้นายจุนทะฯ ฝังสุกรมัททวะส่วนที่เหลือเสียนั้น ได้ช่วยให้ชีวิตมากหลายรอดไปจากความตาย.

ถ้าความจริงสุกรมัททวะนั้นเป็นเนื้อหมูป่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราจักไม่ทรงบริโภคเลย พระองค์ก็จักเสวยแต่ข้าวหวานและขนมหวานกับเหล่าภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย สมเด็จพระสัพพัญญูและเหล่าภิกษุสงฆ์จักไม่บริโภคเนื้อสัตว์ในเมื่อท่านสงสัยว่า เนื้อสัตว์นั้นได้ถูกจัดเตรียมเพื่อเฉพาะท่าน สุกรมัททวะนั้นได้ทำเตรียมขึ้น เพื่อสมเด็จพระพุทธองค์และเหล่าสังฆสาวก ดังนั้น ถ้าเป็นเนื้อหมูป่าพระองค์จักทรงบริโภคไม่ได้ เพราะฉะนั้น สุกรมัททวะจึงไม่ใช่เนื้อหมูป่า (แต่เป็นเห็ด)

(ซ. ต. พ.)

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น มิได้เคยทรงเปล่งพระสุรเสียงเป็นสำเนียงโกรธออกมาเลย ก็เหตุไฉนจะทรงบริโภคเนื้อสัตว์ ซึ่งถูกฆาตกรรมมาเล่า? พระองค์จะทรงก่อนำให้บังเกิดมีการฆ่าสัตว์อย่างไรได้? กรรมอะไรเล่าจะร้ายกว่า โทสะจริต หรือ การฆ่าสัตว์?

สมเด็จพระพุทธองค์ทรงเป็นพระประมุขของสงฆ์ และด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงทรงมีสิทธิ ที่จะโปรดประกอบกรรมบางอย่างได้บางขณะ อย่างเดียวกับพระมหากษัตริย์ มีสิทธิ์ที่จะบันเทิงพระองค์เองได้ในพระราชอุทยาน ชาวประชานั้นหาอาจที่จะทำอะไรตามใจชอบในพระราชอุทยานได้ไม่ และภิกษุทั้งหลายก็ไม่บังควรที่จะบริโภคเนื้อสัตว์ เพราะเหตุที่ภิกษุเหล่านั้นสมมุติวิปริตไปว่า สมเด็จพระผู้มีพระภาคทรงบริโภคเนื้อสัตว์ครั้งหนึ่ง หรือสองครั้งในพระพุทธสมัย. (เป็นการเข้าใจผิดไปมาก)

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานั้น ทรงตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ มิใช่ด้วยการเสวยเนื้อสัตว์ แต่ด้วยเสวยน้ำข้าวต่างหาก! ฉะนี้ด้วยเหตุใดเล่า สมเด็จพระภควันต์จักทรงบริโภคเนื้อสัตว์ ในกาลที่พระองค์ทรงดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพาน (อนุปาทิเสสปรินิพพาน).

ผู้รักที่จะเสพเนื้อสัตว์หวังแต่จะอ้างอิง เอาเหตุจากพระพุทธปัจฉิมบิณฑบาตมาโต้แย้ง เหตุใดเล่า? ก็เพราะเหตุว่า เขาเหล่านั้นไม่พบธรรมเทศนาในที่ใดๆ เลยว่า สมเด็จพระพุทธองค์ทรงบริโภคเนื้อสัตว์ ถ้าหากว่านายจุนทะฯ ถวาย น้ำข้าว แก่สมเด็จพระผู้มีพระภาคแทนที่จะถวาย สุกรมัททวะ แล้ว แม้พวกรักเสพเนื้อสัตว์ก็จะต้องยอมรับว่า พระองค์เป็นผู้บริโภคแต่ผักตลอดพระพุทธชนม์ชีพ เป็นการเลขาเกินไป ที่ผู้รักเสพเนื้อสัตว์จะหวังเอาคำๆ เดียว คือ สุกรมัททวะ-เห็ด มาเป็นข้อเถียง เป็นคำแห่งคำทั้งหลายที่จะพิสูจน์ว่า สมเด็จพระพุทธองค์หาได้ทรงเสพแต่ผักจนกาลอวสาน ถ้าหากจะมีนางสุชาดาคนที่สองมาถวาย น้ำข้าว แก่สมเด็จพระพุทธองค์ในปัจฉิมวารนั้นแล้ว พวกรักเสพเนื้อสัตว์จะเอาอะไรมาปฏิเสธได้เล่าว่า พระพุทธองค์ไม่ได้ทรงเสพแต่ผักตลอดพระชนม์ชีพ สมเด็จพระผู้มีพระภาค ทรงเสด็จรับบิณฑบาตอยู่เป็นเวลา 50 พรรษา และมิได้เคยทรงบริโภคเนื้อสัตว์เลย ก็เหตุใดเล่า พระองค์จะมาบริโภคเนื้อสัตว์ในวันสุดท้ายที่จะปรินิพพาน สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์เจ้าจะทรงบริโภคเนื้อสัตว์ ในวันสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพ ที่เสวยแต่ผักมาแล้วเจียวหรือ?

ภิกษุถูกห้ามมิให้บริโภคเนื้อสัตว์เหล่านี้ คือ เนื้อมนุษย์ เนื้อช้าง เนื้อม้า เนื้อสุนัข เนื้องู เนื้อสิงโต เนื้อเสือโคร่ง เนื้อเสือเหลือง เนื้อหมี เนื้อเลียงผา[1] เหตุนี้ภิกษุจึงไม่บังควรบริโภคเนื้อสัตว์เป็นอันขาด ถ้าไม่ได้ถามเสียให้รู้ก่อนว่าเป็นเนื้ออะไร

ถึงแม้สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าของเรา จักมิได้ยอมให้พระเทวทัตตั้งวินัยที่ให้เสพแต่เฉพาะผักขึ้นก็ดี แต่พระองค์ปฏิเสธก็เพราะ พระศาสนาของพระองค์เป็นศาสนาของสากลโลก พระองค์ทรงเป็น ประทีปแห่งสากลโลก มิใช่เป็นแต่เฉพาะประทีปของประเทศอินเดีย ซึ่งหาผักได้ง่ายเท่านั้น นอกจากนั้นพระองค์อุบัติมาเพื่อทรงสั่งสอนพระจตุราอริยสัจ มิใช่ทรงอุบัติมาเพื่อแต่เฉพาะลัทธิกินผักเท่านั้น

ภิกษุที่แท้นั้น หามีทรัพย์สมบัติไม่ จึงต้องบริโภคตามแต่จะได้ มิใช่ตามแต่จะชอบ บัดนี้ ความประสงค์อันแรงกล้าของเรา ก็เพื่อจะสถาปนาคณะสงฆ์ในอัสดงคตประเทศ ถ้าหากสมเด็จพระพุทธองค์ของเราทรงตั้งวินัยห้ามการเสพเนื้อสัตว์เสียแล้ว ก็จักสถาปนาคณะสงฆ์ขึ้นในอัสดงคตประเทศ ที่เขาเสพแต่เนื้อสัตว์กันมิได้เลย ความหวังที่จะเผยแพร่พระพุทธศาสนาก็จักต้องถูกบั่นทอน สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นใหญ่ยิ่งกว่าเทพยดาทั้งหลาย ทรงพระปรีชาญาณมองการไกลๆ เพียงใด

วิธีการปฏิบัติทางพระพุทธศาสนานั้น กระทำจากทางภายใน มิใช่ทางภายนอก พระพุทธพจน์ในพระธรรม วรรค 393 และ 394 มีว่า :-
“มิใช่ด้วยมุ่นผม หรือด้วยเชื้อสาย หรือด้วยกำเนิด ที่จะทำบุคคลให้เป็นพราหมณ์!
ผู้ใดมีแล้วซึ่งสัจธรรม ผู้นั้นก็บริสุทธิ์ ผู้นั้นก็เป็นพราหมณ์
มุ่นผมนั้นจะเป็นประโยชน์อะไรแก่เจ้าเล่า ผู้เฉาโฉดเอ๋ย!
เครื่องห่อหุ้มด้วยหนังนั้น จะมีประโยชน์อะไรเล่า?
ในเมื่อภายในกายเจ้า มีแต่สิ่งโสโครก เจ้าชำระแต่ภายนอก”
ประมวลธรรมวินัยโดยย่อ

ประเทศอินเดียนั้นเป็นแหล่งที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายได้เลือกแล้ว ไม่มีพื้นธรณีแดนใดที่จะได้รับผลานิสงส์อันวิเศษดังนี้ แม้ว่าในสมัยนี้จะปรากฏเผินๆ ว่า พระพุทธศาสนาได้สูญไปจากประเทศอินเดียแล้วก็ดี แต่ในดวงจิตและขนบธรรมเนียมของชาวอินเดียทั่วไป ก็ยังมีความรู้สึกเป็นพุทธศาสนิกชนซึมซาบอยู่ด้วย เพราะว่า จะเป็นไปได้เจียวหรือ ที่จะกวาดพระพุทธศาสนาออกจากแหล่งที่เกิดให้เตียนราบได้ในระยะเวลา 2,500 ปี?

ในส่วนที่ไม่เสพเนื้อสัตว์ ชาวฮินดูเป็นพุทธศาสนิกชนมากกว่าพุทธศาสนิกชนเอง หลักธรรมแห่งพระพุทธศาสนา ข้อ อหิงสา ความไม่เบียดเบียนกันนั้น ได้ปฏิบัติกันครบถ้วนในอินเดีย มากกว่าประเทศที่เรียกกันว่า ถือศาสนาพุทธ เช่น สิงหล พม่า และสยาม ชาวฮินดูไม่เคยถวายเนื้อสัตว์แก่พระ “สาธุ” ของเขาเลย เขาเหล่านั้นทราบว่า ไม่เป็นการสมควร ที่ผู้ที่นับถือของเขาจะเสพเนื้อสัตว์ แต่ในประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา พระภิกษุจะบริโภคแต่ผักได้ก็ด้วยความยากลำบาก

ท่านเรียกพวกฮินดูว่า มิจฉาทิฐิบุคคล (คนที่เชื่อผิด) จริงอยู่ แต่เขาเหล่านั้นมีความกรุณา ท่านเป็นสัมมาทิฐิบุคคล (คนที่เชื่อถูก) แต่ทำไม ท่าน จึงไม่เป็นคนมีความกรุณาเล่า สัมมาทิฐิสอนให้ท่านทำให้เกิดการฆ่าหรือ ขอให้ ปฏิบัติ สัมมาทิฐิ กันเถิด! อย่าเป็นสัมมาทิฐิกันแต่ทางปริยัติเลย

สำหรับชาวฮินดูนั้น เขาเห็นกันว่า พุทธศาสนิกชนเป็นคนแผลงจากหลักเดิม โดยไม่มีที่สุด ทำไม เพราะพุทธศาสนิกชนนั้นยอมรับหลักธรรมที่ว่า อหิงสา ปรมา ธมฺมา ความไม่เบียดเบียนกันเป็นธรรมะสูงสุด และในเวลาเดียวกัน เขาเหล่านั้นพากันรับประทานเนื้อสัตว์ที่ถูกฆาตกรรม?

เคยมีอยู่เสมอๆ ที่คนขอให้อาตมายกข้อความในพระไตรปิฎก มาแสดงให้เห็นว่า พระพุทธองค์ทรงบริโภคแต่ผัก คำตอบของอาตมาคือ “ให้เปิดพระมหาไตรปิฎกนั้นไปทุกๆ หน้า ท่านจะพบคำว่ากรุณา มีปรากฏอยู่ทุกๆ หน้า”

หัวใจของพระพุทธศาสนานั้น คือ กรุณา กรุณา กรุณา ดังนั้น ท่านหวังจะเป็นพุทธศาสนิกชนได้อย่างไร ถ้าท่านจะยังชีพของท่านอยู่ด้วยเลือดเนื้อของสัตว์ ที่ถูกฆาตกรรมชีวิตมา? จะช่วยมิจฉาชีพของคนฆ่าสัตว์ให้คงอยู่ทำไม? ทำไมไปอุดหนุนให้เขาทำการฆาตกรรม ด้วยวิธีจ่ายเงินค่าสัตว์ที่ถูกทำการฆาตกรรมมาแล้วนั้น? การช่วยเหลือของท่านเช่นนี้ เป็นการสมคบในกรรมร่วมนั้นด้วย อย่าสงสัย

การภาวนา แผ่เมตตาและกรุณาจิต นั้น จะทำไปไม่ได้ ถ้าท่านยังเสพเนื้อสัตว์ ขณะใดอาตมาพบเนื้อสัตว์เข้าสักชิ้นหนึ่งในปาก อาตมาก็รู้สึกเหมือนกับฉันเนื้อทารก และรีบถ่มออกมาได้ทันที โดยไม่รู้สึกตัว เมื่อบำเพ็ญเมตตา และกรุณา-ภาวนา ได้สำเร็จดีแล้ว การเสพเนื้อสัตว์จะทำไปไม่ได้เลย การเสพเนื้อสัตว์จะทำไปไม่ได้ ในเมื่อกำลังบำเพ็ญการแผ่เมตตา และแผ่เมตตาก็ทำไปไม่ได้ ในเมื่อกำลังเสพเนื้อสัตว์ การที่จะสาธยายว่า สพฺเพ สตฺตา สุขี โหนตุ สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจงอยู่เป็นสุขๆ เถิด! ในเมื่อฟันก็เคี้ยวเนื้อสัตว์ไปด้วยนั้น เป็น การกระทำคล้ายทารก เล่นละคร และ เหลวไหลโดยแท้จริง (แผ่เมตตาด้วยลมปาก-มิได้แผ่ด้วยจิตใจ)




  1. เรื่องห้ามเนื้อสัตว์ 10 อย่างนี้ พระบาลีเดิมพระวินัยต้นตอไม่มี นักเสพเนื้อในลังกาเขามาเขียนเพิ่มเติมขึ้นภายหลังเมื่อ พ.ศ. 900 เศษ ฯ(อ้างอิงในเล่มที่จัดพิมพ์โดยชมรมธรรมทาน)