งานแปล:ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับพระยากัลยาณไมตรี/ส่วนที่ 1

ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับพระยากัลยาณไมตรี (พ.ศ. 2469), แปลจากภาษาอังกฤษ โดย วิกิซอร์ซ
1. พระราชบันทึก ลงวันที่ 23 กรกฎาคม ค.ศ. 1926 (พ.ศ. 2469)โดย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
  • กรมราชเลขาธิการ
  • วันที่ ๒๙ กรกฎา ๒๔๖๙
สำเนา
วังศุโขทัย
 
23 กรกฎาคม 1926
ถึง ดร.แซร์[1]

พร้อมกันกับจดหมายฉบับนี้ ข้าพเจ้าขอส่งบันทึกว่าด้วยปัญหาบางประการของสยามกับแบบสอบถามมาให้ท่านพิจารณา ข้าพเจ้าเกรงว่า ได้รีบเขียนบันทึกนั้นไปหน่อยเพื่อจะได้ส่งถึงท่านให้ทันก่อนที่เราจะสนทนากันในวันพรุ่ง พรุ่งนี้เราจะคุยกันเบื้องต้น ซึ่งเราจะได้ถกคำถามเหล่านั้นกันได้เต็มที่ยิ่งขึ้น เมื่อท่านพิจารณาคำถามอย่างเต็มที่แล้ว ข้าพเจ้าใคร่ได้คำตอบจากท่านเป็นลายลักษณ์อักษร

บันทึกนี้มิได้หยิบยกปัญหาทุกประการในบ้านเมืองมากล่าวแต่อย่างใด ข้าพเจ้าเพียงเอ่ยถึงข้อที่เห็นว่าสำคัญ หากท่านมีความเห็นอื่นใดนอกจากที่อยู่ในข่ายของคำถาม ก็ยินดีรับฟังอย่างยิ่ง

ข้าพเจ้าหวังว่า ท่านจะได้รับความสะดวกสบายที่โรงแรมพญาไท

  • ด้วยใจจริง
  • (พระบรมนามาภิไธย) ประชาธิปก ป.ร.
ปัญหาของสยาม
1. ระเบียบการปกครอง[2]
ก) ตำแหน่งพระเจ้าแผ่นดิน  พระเจ้าแผ่นดินสยามย่อมมาจากการสมมติ[3] ของผู้คน ในสมัยก่อน มีการประกอบพิธีสมมติ เมื่อพระเจ้าแผ่นดินสิ้นพระชนม์ จะมีการประชุมสภาอันประกอบด้วยพระราชวงศ์ เสนาบดีแห่งรัฐ[4] และผู้สูงศักดิ์ในศาสนจักร จากนั้น เจ้าชายหรือเสนาบดีที่มีอาวุโสจะเสนอว่า พึงยกเจ้าชายพระองค์นั้นพระองค์นี้ขึ้นสู่ราชสมบัติ และถามว่า มีผู้ใดคัดค้านหรือไม่ โดยทั่วไปแล้วไม่มีใครตอบคำถามนี้ แต่บางทีก็มีการให้คำตอบในทางเห็นชอบโดยการยกมือไหว้หรือค้อมศีรษะ[5] ครั้นแล้ว จะประกาศพระเจ้าแผ่นดินอย่างเป็นทางการ และเพิ่มข้อความ "อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ" เข้าในพระนาม[6]
 ธรรมเนียมนี้ดำเนินมาจนถึงรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงรังสรรค์สิ่งใหม่ด้วยการสถาปนามกุฎราชกุมารซึ่งสืบราชสมบัติอย่างไร้ข้อกังขา ส่วนพิธีการ ณ เวลาที่พระเจ้าแผ่นดินสิ้นพระชนม์นั้นก็เป็นแต่ประกาศบางอย่าง
 รัชกาลที่ 6 ไม่มีพระราชโอรส จึงตกเป็นปัญหาในเสนาบดีสภาว่า ควรให้พระเชษฐาหรืออนุชาร่วมพระราชบิดามารดามาสืบทอดพระองค์ ภายหลังจึงทรงตรากฎหมายการสืบสันตติวงศ์ขึ้น[7]
 กฎหมายการสืบสันตติวงศ์นี้มีหลักการโดด ๆ อยู่สองประการ คือ หลักการเลือกตั้ง กับหลักการสืบสันตติวงศ์ด้วยการสืบตระกูล ในกฎหมายนี้ เริ่มข้อความโดยแถลงว่า พระเจ้าแผ่นดินทรงสงวนไว้ซึ่งสิทธิอันบริบูรณ์ในการที่จะแต่งตั้งสมาชิกผู้ใดในราชตระกูลขึ้นเป็นผู้สืบทอดพระองค์ แต่ถ้าพระเจ้าแผ่นดินสิ้นพระชนม์โดยมิได้ทรงแต่งตั้งผู้สืบทอดไว้ การสืบสันตติวงศ์ก็จะตกสู่พระราชโอรสของพระองค์ ข้อนี้ก็ฟังดูไม่อ้อมค้อมดีอยู่ แต่นิสัยการมีภริยามากเป็นเหตุให้เกิดความยุ่งยากขึ้นตรงนี้ กฎหมายระบุว่า พระราชโอรสของสมเด็จพระราชินีควรอยู่ในลำดับก่อนผู้อื่น แล้วจึงให้ลำดับแก่พระราชโอรสที่พระมารดามีพระยศถัดจากพระมเหสี (มีพระยศต่างกันสี่ชั้นและลดหลั่นลงมาตามขั้นไปจนถึงพระราชโอรสอันประสูติแต่พระสนมในที่สุด) ข้อนี้ก็ยังฟังดูใช้ได้ในหลักการ ถ้ามิใช่เพราะมีข้อเท็จจริงว่า พระสนมนั้นจะเลื่อนพระยศขึ้นเมื่อใดก็ได้ และพระมเหสีเองนั้นจะทรงถูกลดพระยศลงตามพระราชอัธยาศัยของพระเจ้าแผ่นดินก็ได้ ในความรู้สึกของข้าพเจ้า เรื่องนี้ทำให้เป็นไปได้อย่างยิ่งยวดที่จะเกิดความยุ่งยาก ข้าพเจ้าใคร่เสนอให้จัดลำดับความสำคัญของพระราชโอรสด้วยพระยศที่พระมารดาทรงได้แต่ประสูติ ข้าพเจ้าหมายความว่า ควรให้ความสำคัญแก่พระราชโอรสที่ประสูติแต่เจ้าหญิง เช่น พระราชธิดาของพระเจ้าแผ่นดิน จากนั้นเป็นพระราชนัดดาของพระเจ้าแผ่นดิน ฯลฯ ถ้ามีพระราชโอรสมากกว่าหนึ่งพระองค์ซึ่งพระมารดามีพระยศเสมอกัน การสืบสันตติวงศ์จึงจะอาศัยความอาวุโสทางพระชันษาของเจ้าชายเหล่านี้ เมื่อหาพระราชโอรสมิได้แล้ว การสืบสันตติวงศ์จึงจะตกแก่พระเชษฐาหรืออนุชาของพระเจ้าแผ่นดิน ตามความในกฎหมายดังที่เป็นอยู่นี้ การจัดลำดับความสำคัญยังอาศัยพระยศที่พระมารดาทรงได้จากการสถาปนา ข้าพเจ้าใคร่เสนอให้แก้ไขปรับปรุงอย่างเดียวกับที่ว่ามาข้างต้นนี้ คำถามต่อไปมีว่า กฎหมายมิได้สร้างความชัดเจนนักในกรณีที่ไม่มีพระเชษฐาหรืออนุชาเหลืออยู่ หรือในกรณีที่บุคคลซึ่งควรจะได้สืบสันตติวงศ์นั้นเกิดดับสูญเสียแล้ว พระโอรสทุกพระองค์ของเจ้าชายพระองค์นั้นชอบจะได้ขึ้นสู่ราชสมบัติหรือไม่ หรือเฉพาะพระโอรสประสูติแต่พระชายาเอกที่สามารถสืบสันตติวงศ์ได้ใช่หรือไม่ กรณีดังนี้ได้เกิดขึ้นจริงแล้ว ซึ่งปรากฏว่า ในพระทัยของพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศนั้น พระโอรสทุกพระองค์สามารถสืบสันตติวงศ์ได้ ในกรณีข้าพเจ้า พระโอรสของกรมขุนเพ็ชรบูรณ์ฯ[8] ถูกข้ามไปตามพระราชประสงค์ที่พระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศทรงแสดงเอาไว้[9] ทีนี้ หลายคนมองว่า แนวคิดที่ว่า พระโอรสทุกพระองค์สามารถสืบสันตติวงศ์ได้นั้น ควรค้าน เนื่องเพราะข้อเท็จจริงที่ว่า เจ้าชายบางพระองค์ทรงมีอนุชายาที่ชื่อเสียงเสื่อมเสียอย่างถึงที่สุด ซึ่งไม่เหมาะจะเป็นพระราชมารดาพระเจ้าแผ่นดินเอาเสียเลย เขายังว่า ชาวสยามดำเนินตามธรรมเนียมอินเดีย และประสงค์ให้พระเจ้าแผ่นดินของตนประสูติแต่เจ้าหญิงในราชตระกูล เป็นเจ้าชายซึ่งรับรู้กันว่า "ประสูติมาแต่พระครรภ์อันบริสุทธิ์" ก็คือ เป็นเจ้าฟ้า
 คำถามเกี่ยวกับหลักการที่เกี่ยวข้องซึ่งข้าพเจ้าใคร่จะได้ความเห็นจากท่านนั้น มีว่า
คำถามที่หนึ่ง  พระเจ้าแผ่นดินควรทรงมีสิทธิเลือกเจ้าชายพระองค์ใด ๆ เป็นรัชทายาทหรือไม่? ถ้าพระเจ้าแผ่นดินทรงมีสิทธิเช่นนี้ ควรหรือไม่ที่สิทธินี้จะขยายไปสู่สภาพระบรมวงศ์และเสนาบดีแห่งรัฐในกรณีที่พระเจ้าแผ่นดินสิ้นพระชนม์โดยมิได้ทรงเลือกรัชทายาทไว้? ในขณะนี้ พระเจ้าแผ่นดินแต่พระองค์เดียวที่มีสิทธิกำหนดรัชทายาท แต่คงจะสมเหตุสมผลมากกว่า ถ้าให้สภาสักสภาใช้สิทธิดังกล่าวเมื่อพระเจ้าแผ่นดินมิได้ทรงกระทำเช่นนั้น ข้อนี้คงจะสอดรับกับแนวคิดเรื่องสมมติราชมากกว่า
คำถามที่สอง  ควรหรือไม่ที่จะยอมรับหลักการเลือกทุกประการ หรือควรไหมที่ให้จะสืบสันตติวงศ์ด้วยชาติกำเนิดแต่ประการเดียว และควรไหมที่จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมบางอย่างในกฎหมายปัจจุบัน?
ข) พระราชอำนาจของพระเจ้าแผ่นดิน  ดังที่ท่านทราบดี พระเจ้าแผ่นดินมีพระราชอำนาจเบ็ดเสร็จในทุกสิ่ง หลักการนี้ดีอย่างยิ่งและเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับประเทศตราบที่เรามีพระเจ้าแผ่นดินที่ดี ถ้าพระเจ้าแผ่นดินทรงเป็นสมมติราชอย่างแท้จริงแล้ว ก็น่าที่ผู้นั้นจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ดีทีเดียว แต่แนวคิดเรื่องการเลือกตั้งนี้ออกจะเป็นทฤษฎีแท้ ๆ และในความเป็นจริงแล้วพระเจ้าแผ่นดินสยามก็มาจากการสืบตระกูลล้วน ๆ ส่วนความเป็นไปได้ที่จะมีการเลือกนั้นก็จำกัดยิ่งนัก เมื่อกรณีเป็นเช่นนี้ จึงไม่เป็นที่แน่นอนเสมอไปว่า เราจะได้พระเจ้าแผ่นดินที่ดีทุกครั้ง ดังนั้น อำนาจเบ็ดเสร็จอาจกลายเป็นภัยโดยแท้ต่อบ้านเมือง นอกจากนี้ การณ์ก็แปรเปลี่ยนไปมากมาย ในยุคก่อน แทบไม่มีใครสงสัยในพระจริยวัตรของพระเจ้าแผ่นดิน เพราะทำเช่นนั้นก็คงไม่ปลอดภัย ทั้งพระเจ้าแผ่นดินก็ทรงเป็นที่เคารพอย่างจริงแท้ และพระราชดำรัสก็เป็นกฎหมายอย่างแท้จริง แต่การณ์เริ่มเปลี่ยนแปลงเมื่อมีการจัดระเบียบสิ่งต่าง ๆ เสียใหม่ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าแผ่นดินยังทรงเป็นที่ยำเกรงและเคารพอย่างสูงยิ่ง แม้เป็นเช่นนั้นไปจนสิ้นรัชกาล ก็ยังมีคนหนุ่มสาวคณะหนึ่งเริ่มวิจารณ์พระเจ้าแผ่นดินในหลาย ๆ ทาง แต่มิได้ออกหน้าออกตา ครั้นในรัชกาลที่เพิ่งสิ้นลงนี้ การณ์ย่ำแย่ลงอย่างยิ่งด้วยสาเหตุหลายประการ ซึ่งข้าพเจ้าไม่จำต้องเล่าให้ท่านฟังเพราะท่านทราบดีพออยู่แล้ว พระเจ้าแผ่นดินกลายเป็นบุคคลที่ถูกชักจูงได้โดยใครก็ตามที่สามารถเป็นที่สนอกสนใจของพระราชวัลลภ ข้าราชการทุกคนต้องสงสัยว่ายักยอกหรือเห็นแก่ญาติไม่มากก็น้อย โชคยังดีที่เจ้าชายทั้งหลายยังทรงได้รับความเคารพในฐานะที่ทรงอยู่ในหมู่ผู้ซื่อสัตย์ทั้งปวง ส่วนเรื่องที่ชวนโทมนัสเหลือเกิน ก็คือ ราชสำนักนั้นถูกชิงชังอย่างสุดขั้วหัวใจ และช่วงหลัง ๆ ก็แทบจะถูกเย้ยหยันถากถาง[10] การเกิดขึ้นของสื่อเสรียิ่งทำให้เรื่องบานปลาย สถานะของพระเจ้าแผ่นดินกลายเป็นสิ่งที่มีความลำบากอย่างสาหัส ขบวนการทางความคิดในประเทศนี้เป็นเค้าลางแน่นอนว่า ระบอบผู้ครองอำนาจเด็ดขาดนั้นนับวันได้ ถ้า[11] ราชวงศ์นี้จะดำรงอยู่ต่อ ก็ต้องทำให้สถานะของพระเจ้าแผ่นดินมั่นคงยิ่งขึ้น และต้องหาหลักประกันสักอย่างมาป้องกันมิให้มีพระเจ้าแผ่นดินผู้โฉดเขลา
คำถามที่สาม  แล้วการปกครองสยามควรเป็นไปในรูปแบบใด? วันหนึ่งประเทศนี้ก็ต้องมีระบบรัฐสภาใช่ไหม และการปกครองแบบมีรัฐสภาอย่างแองโกล-แซ็กซันนั้นเหมาะสมแก่ชาวตะวันออกหรือไม่?
คำถามที่สี่  ประเทศนี้พร้อมหรือยังที่จะมีการปกครองแบบมีผู้แทนสักแบบ?
 สำหรับคำถามที่สามนั้น โดยส่วนตัวแล้วข้าพเจ้ายังกังขาอยู่ ส่วนคำถามที่สี่นั้น ความเห็นส่วนตัวของข้าพเจ้า คือ "ไม่" แบบเน้น ๆ
 แล้วควรทำอะไรไปพลาง? ความพยายามขั้นแรกของข้าพเจ้าในอันที่จะหาหลักประกันสักอย่างให้องค์พระเจ้าแผ่นดินนั้น คือ การจัดตั้งอภิมนตรีสภา
ค) อภิมนตรีสภา[12]  การก่อกำเนิดอภิมนตรีสภานั้นควรค่าแก่การเล่าให้ฟังพร้อมรายละเอียดบางเรื่อง
 ข้าพเจ้าได้ถกแนวคิดเรื่องสภาเช่นว่านั้นในหมู่เพื่อนฝูงมาสักระยะก่อนที่จะเกิดแนวคิดใด ๆ ว่า ควรมีโอกาสได้จัดตั้งสภานั้นด้วยตนเองแล้ว ผู้สนับสนุนแนวคิดนี้อย่างหนักแน่น คือ กรมพระดำรงฯ[13] ข้าพเจ้าปรึกษาเรื่องแนวคิดนี้กับเจ้าฟ้าภาณุรังษีฯ[14] และเจ้าฟ้าบริพัตรฯ[15] เพียงหนึ่งวันก่อนพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศจะเสด็จสวรรคต เจ้าฟ้าพระองค์แรกไม่สนพระทัยในแนวคิดนั้นนัก เพราะทรงเห็นว่า จะเป็นการบั่นทอนพระเกียรติพระเจ้าแผ่นดิน แต่เจ้าฟ้าพระองค์หลังสนพระทัยอย่างแรงกล้า ครั้นพระเจ้าอยู่หัวสวรรคต ก็มีการตัดสินใจว่า ควรจัดตั้งอภิสภาในทันที เรามีเวลาสองวันให้เตรียมประกาศ และเมื่อพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศสวรรคตได้สามวัน ก็มีการประกาศอภิมนตรีสภาโดยวิธีแถลงต่อองคมนตรี[16]
 ทีนี้ ข้าพเจ้าจะอธิบายเหตุผลที่รีบจัดตั้งสภานี้ถึงเพียงนั้น ดังที่ท่านทราบ ประชาชนเริ่มเสื่อมศรัทธาในพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศตลอดมาจนสิ้นรัชกาล และคำถามเกี่ยวกับการสืบสันตติวงศ์ก็ก่อความกังวลใหญ่หลวง พระบรมวงศ์พระองค์เดียวที่พอจะมีชื่ออยู่บ้าง ก็คือ เจ้าฟ้าบริพัตรฯ และหลายคนคงอยากให้พระองค์ได้สืบสันตติวงศ์ แม้รู้กันดีว่า พระเจ้าอยู่หัวทรงคาดหมายที่จะได้พระราชบุตรอยู่ และถ้าพระองค์ไร้ซึ่งพระราชโอรสแล้ว การสืบสันตติวงศ์ก็จะตกแก่พระเชษฐาหรืออนุชาที่—ข้าพเจ้าขออภัยที่ต้องกล่าวเช่นนี้—ที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้มองในแง่ดี ส่วนตัวข้าพเจ้าเองนั้น ข้าพเจ้าเป็นม้ามืด และยังอ่อนหัดในกิจการของรัฐไม่ว่าในแง่ใด แต่ข้าพเจ้าค่อนข้างจะโชคดีที่พอสิ้นอัษฎางค์ฯ[17] พี่ชายของข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าได้รับโอกาสหลายครั้งให้ปฏิบัติราชกิจแทนพระเจ้าอยู่หัวในช่วงที่ไม่ทรงอยู่ในพระนครและในช่วงที่ทรงพระประชวร ข้าพเจ้ามีบุญพอที่สามารถได้รับความไว้วางใจจากเสนาบดีและพระบรมวงศ์ถึงขั้นที่ท่านเหล่านี้เห็นชอบในข้อเสนอให้ข้าพเจ้าขึ้นสู่ราชสมบัติ ข้าพเจ้ายังได้รับการสนับสนุนอย่างดีที่สุดจากเจ้าฟ้าบริพัตรฯ ครั้นข้าพเจ้าขึ้นสืบราชสมบัติแล้ว ก็มีความเห็นกันอย่างแน่แท้ว่า จำจะต้องทำอะไรสักอย่างโดยพลันเพื่อเรียกศรัทธาจากประชาชน ฉะนั้น จึงนำไปสู่การจัดตั้งอภิมนตรีสภา เรื่องนี้เกิดผลทันที และข้าพเจ้าก็ได้รับศรัทธาจากประชาชนภายในวันเดียวจริง ๆ เหตุผลที่การกระทำครั้งนี้มีผลลัพธ์ฉับพลันเช่นนั้น ก็เพราะเป็นการให้คำมั่นถึงหลายสิ่งหลายอย่างที่น่าพึงใจ
 ประการแรก คือ ราชตระกูลมารวมตัวกันและจะทำงานเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว
 ประการที่สอง คือ พระเจ้าแผ่นดินเต็มพระทัยจะแสวงหาคำแนะนำจากเหล่าเจ้าชายซึ่งเป็นที่เคารพอย่างสูง จัดเจนในกิจการของรัฐ และได้รับความไว้วางใจจากปวงประชา โดยไม่เอาชนชั้นข้าราชการซึ่งผู้คนรังเกียจไว้ในสภานี้แม้แต่ผู้เดียว
 ประการที่สาม คือ สภานี้จะมาลดทอนอำนาจของพระเจ้าแผ่นดินในอันที่จะกระทำการโดยพลการ (ขอให้ระลึกว่า ในสถานการณ์ทางความคิดในบ้านเมืองยามนี้นั้น มองกันว่า พระเจ้าแผ่นดินมักจะสร้างผลเสียมากกว่าผลดี)
 เพราะฉะนั้น ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นทันทีจากการจัดตั้งอภิมนตรีสภานั้นจึงค่อนข้างดี และข้าพเจ้าคิดว่า สภานี้สมความมุ่งหมายอย่างดียิ่งแล้ว และการกระทำของข้าพเจ้านั้นก็มีเหตุผลรองรับดี นับแต่นั้น ประชาชนมีช่วงเวลาให้สะท้อนความรู้สึกไม่มาก และอภิมนตรีสภาก็ตกเป็นเป้าการวิจารณ์อย่างหนักหน่วง ข้าพเจ้าจะขอจาระไนคำวิจารณ์บางข้อและตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องนั้น
 1. ผู้คนสงสัยว่า อภิมนตรีสภาเป็นองค์กรที่ปรึกษาหรือเป็นองค์กรบริหารกันแน่ บางคนคิดว่า สภานี้มีอำนาจมากไป ข้าพเจ้าใคร่ขอตอบว่า สภานี้มีหน้าที่ให้คำปรึกษาอย่างเดียว เพราะไม่อาจดำเนินการใด ๆ ในทางบริหารได้เลย ความเห็นของสภานี้จะมีผลในทางบริหารผ่านทางพระเจ้าแผ่นดินแต่ผู้เดียว วิธีทำงานของสภาในเวลานี้ คือ สภาจะประชุมโดยพระเจ้าแผ่นดินประทับอยู่ด้วย และไม่มีวันประชุมโดยพระเจ้าแผ่นดินไม่เสด็จอยู่ด้วยเว้นแต่มีรับสั่งเป็นพิเศษ คำถามทั้งหลายที่เสนอไปยังสภานั้น ได้แก่ คำถามทุกอย่างในทางนโยบาย คำถามในกิจการคลังของชาติ การแต่งตั้งข้าราชการผู้ใหญ่ดังเช่นเสนาบดีของรัฐ คำถามในการปูนบำเหน็จชั้นสูงและชั้นพิเศษดังเช่นยศเจ้าพระยาและสายสะพาย[18] (ในอดีตมีการนำไปใช้โดยมิชอบและก่อให้เกิดอิทธิพลหลังฉาก) และคำถามเกี่ยวกับประเพณีและพิธีกรรมอันสำคัญ พระเจ้าแผ่นดินอาจแสวงหาคำแนะนำในกิจการส่วนพระองค์หรือส่วนราชตระกูลด้วยก็ได้
 เมื่อมีคำถามใด ๆ เกี่ยวกับกระทรวงแห่งใด เสนาบดีผู้รับผิดชอบก็อาจได้รับเชิญร่วมประชุม
 อภิมนตรี[19] ย่อมนั่งประชุมในเสนาบดีสภาและออกความเห็น แต่การวินิจฉัยขั้นสุดท้ายในเรื่องสำคัญดังเช่นการประกาศใช้กฎหมายใหม่หรือการลงนามในสนธิสัญญานั้นเป็นกิจของเสนาบดีสภาเสมอ และในเสนาบดีสภาก็ดี อภิมนตรีสภาก็ดี พระราชวินิจฉัยของพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้นที่เป็นใหญ่ ถึงแม้ในช่วงเหตุการณ์ปรกติ พระเจ้าแผ่นดินจะทรงรับตามความเห็นของเสียงส่วนใหญ่ตลอด แต่ในเมื่อทรงมีอำนาจเบ็ดเสร็จแล้วไซร้ ก็ไม่จำเป็นเลยที่จะต้องทรงกระทำเช่นนั้น
 2. วิจารณ์กันว่า อภิมนตรีสภาซึ่งเป็นองค์กรที่ปรึกษานั้นไม่ควรมานั่งประชุมในเสนาบดีสภาซึ่งเป็นองค์กรบริหาร ข้าพเจ้ายอมรับว่า ข้อนี้ค่อนข้างจริง เรารับระบบนี้มาเพียงเพื่อประโยชน์แห่งความสะดวก แต่ถ้าอภิมนตรีสภาไม่มานั่งประชุมในคณะเสนาบดีด้วยแล้ว การงานก็คงล่าช้าขึ้นมาก เพราะคำถามใด ๆ ที่วินิจฉัยกันในคณะเสนาบดี ก็ต้องยกไปพิจารณากันในอภิมนตรีสภาซ้ำอีก และเพราะพระเจ้าแผ่นดินเป็นผู้เดียวที่จะวินิจฉัยคำถามทั้งหลาย จึงยังไม่เห็นว่าจำเป็นจะต้องนำความยุ่งยากใด ๆ เข้ามาในชั้นนี้ ถ้ามีอัครมหาเสนาบดีมาเป็นประธานเสนาบดีสภาแล้ว ใครจะเป็นผู้ถวายคำวินิจฉัยของเสนาบดีสภาต่อพระเจ้าแผ่นดิน ฉะนั้น คงจะดีถ้าให้อภิมนตรีสภาเป็นองค์กรแยกต่างหากซึ่งพระเจ้าแผ่นดินจะได้ทรงปรึกษาได้ก่อนจะมีพระราชวินิจฉัยขั้นสุดท้าย เราจะคุยเรื่องนี้กันเพิ่มในภายหลัง
 3. ที่ว่า ควรมีกฎหมายบางอย่างมาระบุและจัดระเบียบหน้าที่ของอภิมนตรีนั้น อันนี้จำเป็นแน่นอน และมีการยกร่างกฎหมายขึ้นแล้ว แต่เพราะยังเห็นไม่ลงรอยกันว่า หน้าที่ของอภิมนตรีควรมีอะไรบ้าง ข้าพเจ้าจึงพักร่างนี้ไว้ก่อน จนกว่าจะได้แนวคิดที่ชัดเจนขึ้นว่า กำหนดให้สภาเช่นนี้มีรูปแบบใดดีที่สุด
 4. ที่ว่า อภิมนตรีสภาเป็นที่ยอมรับในเวลานี้เพราะลักษณะส่วนตัวของผู้เป็นมนตรี และในกรณีที่เอาคนอื่นมาแทนมนตรีเหล่านี้แล้ว สภาจะไม่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนอีกนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่า แนวคิดเช่นนี้ออกจะเป็นการมองแง่ร้ายไปหน่อย ถ้าสืบไปภายหน้าจะหาคนดีไม่ได้อีก เราก็สิ้นหวังสำหรับสยามแล้ว
 5. ที่ว่า การมีอยู่ของอภิมนตรีสภาเป็นการบั่นทอนพระเกียรติพระเจ้าแผ่นดินนั้น ข้าพเจ้ายอมรับว่า ข้อนี้ก็จริง แต่ข้าพเจ้าเห็นว่า เกียรติยศของความเป็นราชาในประเทศนี้แทบจะไม่ตกต่ำไปกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้ได้อีก ข้าพเจ้าได้อธิบายแล้วถึงเหตุที่ข้าพเจ้ากังขายิ่งนักว่า มีทางจะกอบกู้เกียรติยศแต่ครั้งเก่าก่อนได้อีกไหม ข้าพเจ้าคิดว่า ความเห็นของสาธารณชนในกรุงเทพฯ และในชั้นปัญญาชนนั้นวิวัฒนาการไปไกลโขแล้ว และการเพียรจะนำความรุ่งเรืองใด ๆ ในวันเก่ากลับคืนมานั้นคงเหมือนงมเข็มในมหาสมุทร พระเจ้าแผ่นดินควรพอพระทัยที่ได้ทำความดีทุกอย่างที่ทำได้ ถึงแม้คนอื่นจะได้หน้าก็ตาม ข้าพเจ้าเชื่อว่า ณ เวลานี้ และตามความรู้สึกนึกคิดของประชาชนเช่นที่เป็นอยู่ในยามนี้ แม้ไม่มีอภิมนตรีสภา ทุกครั้งคนที่ได้หน้าก็จะเป็นคนอื่น เป็นเสนาบดีบางท่าน ไม่ก็เจ้าชายบางพระองค์อยู่แล้ว แต่ถ้าเกิดผิดพลาดอะไรขึ้นมา ก็จะยกให้เป็นอิทธิพลของคนชั่วบางคน และ[ถือว่า]พระเจ้าแผ่นดินกำลังถูกคนผู้นั้นชักจูงให้เลอะเทอะ ผู้คนดูจะมีแนวคิดว่า พระเจ้าแผ่นดินเป็นหัวโขนสักอย่างที่ใครก็ชักจูงได้ง่าย ๆ และพระเจ้าแผ่นดินไม่มีความเห็นเป็นของตนเลย คำพูดนี้อาจฟังแล้วเกินจริง แต่ที่จริงแล้วแทบไม่เกินจริง
 6. ที่ว่า พระราชอำนาจพระเจ้าแผ่นดินถูกลดทอนนั้น แน่นอน นี่เป็นเรื่องที่ตั้งใจอยู่แล้ว ดังที่ข้าพเจ้าได้เอ่ยมาแล้ว อำนาจเบ็ดเสร็จนั้นนับวันได้ อ.ส.[20] จึงย่อมลดทอนพระราชอำนาจพระเจ้าแผ่นดินในอันที่จะกระทำการโดยพลการจนส่งผลเสียเป็นแน่ แต่ที่แน่ ๆ มิได้ลดทอนพระราชอำนาจในการทำดี ซึ่งในกรณีนี้ อ.ส. ควรสนับสนุนพระองค์อย่างสุดหัวใจจริง ๆ
 ข้าพเจ้าเชื่อว่า เหตุผลบางอย่างที่ทำให้ อ.ส. กลายเป็นที่วิจารณ์และเกรงกลัวกันหนักหนาในเวลานี้ คือ ความรู้สึกริษยาในบางแง่ คนไหนที่พระเจ้าแผ่นดินเอาพระทัยใส่ คนนั้นก็ย่อมถูกชังน้ำหน้าเรื่อยไป อ.ส. ยังทำให้อิทธิพลหลังฉากเกิดค่อนข้างยาก เพราะเดี๋ยวนี้ผู้คนจะต้องเดินทะลุฉากถึงห้าชั้นหรือกว่านั้น แทนที่จะเป็นชั้นสองชั้น
 ก็เมื่อได้กล่าวถึงคำวิจารณ์บางอย่างที่มีต่ออภิมนตรีสภาในรูปแบบปัจจุบันนี้แล้ว ข้าพเจ้าขอตั้ง. . .
คำถามที่ห้า  กำหนดให้อภิมนตรีสภามีรูปแบบใดดีที่สุด? คุ้มไหมที่จะให้สภานี้เป็นสถาบันถาวรของประเทศ หรือควรปล่อยให้สภานี้ยุติไปตามยถากรรม?
ง) คณะเสนาบดี  ในบทความของท่านใน แอตแลนติกรายเดือน นั้น[21] ท่านได้กล่าวว่า ระบบการปกครองสยามอยู่ในสัดส่วนแยกกันอย่างรัดกุม ข้อนี้จริงแท้แน่นอน แต่ข้าพเจ้าเห็นว่า นี่เป็นเนื้อในของระบบที่ให้เสนาบดีแต่ละคนรับผิดชอบต่อพระเจ้าแผ่นดินพระองค์เดียว แต่ละคนย่อมดำเนินงานเพื่อประโยชน์ของกระทรวงตนฝ่ายเดียว มิใช่เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ได้พยายามจะปรับปรุงเรื่องนี้โดยให้มีประชุมทุกสัปดาห์แล้ว อย่างน้อยเสนาบดีจะพบกันสัปดาห์ละครั้งเพื่อถกเรื่องต่าง ๆ ด้วยกัน และข้าพเจ้าเห็นว่า มีการกระเตื้องขึ้นจริง ๆ แต่ก็ยังจะดีกว่านี้ได้ถ้าเรามีอัครมหาเสนาบดีมาเป็นประธานคณะเสนาบดี คนผู้นี้ควรได้รับอนุญาตให้มีอิสระพอสมควรในการเลือกเพื่อนร่วมงานของตน เพื่อที่คณะเสนาบดีจะทำงานได้ดีอย่างองค์กรซึ่งมีรากเหง้าเดียวกัน เสนาบดีนั้นพระเจ้าแผ่นดินจะได้ทรงตั้งขึ้นหลังจากที่ได้ทรงปรึกษากับมหาเสนาบดี[22] ข้าพเจ้าเชื่อว่า นี่จะเป็นผลประโยชน์ต่อบ้านเมืองอย่างแท้จริง ส่วนอภิมนตรีสภานั้นก็จะได้ทำหน้าที่ในฐานะองค์กรควบคุม ข้าพเจ้าได้กำหนดแนวทางสำหรับดำเนินงานภายใต้ระบบนี้เรียบร้อยแล้ว ส่วนสิ่งที่จะต้องวินิจฉัย ก็คือ ระบบนี้ควรนำมาใช้เลยหรือเอาไว้ก่อน
คำถามที่หก  เราควรมีอัครมหาเสนาบดีหรือไม่? ควรเริ่มระบบนี้ตอนนี้เลยหรือไม่?
จ) สภานิติบัญญัติ  คำถามเกี่ยวกับการมีสภานิติบัญญัติสักสภานั้นได้ถกกันมาหลายวาระแล้ว ต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการจัดตั้งสภานิติบัญญัติประเภทหนึ่งขึ้น[23] สภานี้ประกอบด้วยเสนาบดีแห่งรัฐและสมาชิกที่ทรงแต่งตั้งมาสิบสองคน สภานี้ดำรงอยู่ราวห้าปี และหลังจากนั้นก็เข้ากรุไป กระนั้น สมาชิกบางคนในครั้งนั้นเดี๋ยวนี้ก็ยังมีชีวิตอยู่ ข้าพเจ้าเห็นว่า สภานี้ล้มเลิกไปเพราะรู้สึกกันว่า ไม่มีความจำเป็นจริง ๆ ที่จะต้องมีสภาเช่นนั้น และสภานี้มีแต่ทำให้งานของเสนาบดีล่าช้า
 ครั้นพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ กรมหลวงพิษณุโลกฯ[24] ถวายคำแนะนำให้ทรงก่อตั้งสภาแห่งรัฐ คล้าย ๆ กับที่มีอยู่ในรัสเซียสมัยนั้น (ไม่ได้หมายถึง ดูมา)[25] ข้าพเจ้าเชื่อว่า เรื่องนี้ได้ถกกันในที่ประชุมคณะเสนาบดีแล้ว แต่ก็มิได้ตกลงรับโครงการนี้ เนื่องจากความเห็นของนายเจนส์ เวสเตนการ์ด[26] ที่คิดว่า การนำระบบรัฐสภารูปแบบใด ๆ มาใช้แก้ขัดนั้นไม่ช่วยให้เกิดผลดีอันใด
 บัดนี้ กรมพระดำรงฯ[13] ได้เสนอแนวคิดใหม่เกี่ยวกับสภานิติบัญญัติซึ่งประกอบด้วยข้าราชการที่แต่งตั้งจากทุกกระทรวง ที่จริงสภานี้จะทำงานเหมือนเป็นคณะกรรมการร่างกฎหมายสักคณะ แต่เรามีกรมร่างกฎหมายอยู่แล้ว และข้าพเจ้าไม่มั่นใจว่า สภาที่เสนอมานั้นจะทำงานได้ดีกว่ากัน ความกริ่งเกรงของข้าพเจ้านั้นออกจะไปในทางตรงกันข้าม และสภานี้ก็จะทำให้งานล่าช้าเหมือนกัน นอกจากนั้น สภาอาจพยายามวิจารณ์นโยบายของเสนาบดี และด้วยเหตุที่สมาชิกสภาได้แก่ข้าราชการในกระทรวงต่าง ๆ ซึ่งแต่งตั้งมาแต่ชั่ววาระหนึ่ง ระบบนี้จึงอาจไม่ดีนักสำหรับการรักษาวินัย ปัญหาในการสรรหาสมาชิกนั้นก่อความยากลำบากเกี่ยวกับสภาที่มาจากแต่งตั้งดังกล่าวเสมอ ในยามนี้เราไม่มีเงินพอจะจ้างสมาชิก และเราก็ไม่มีทางจะได้สมาชิกที่ไม่รับค่าจ้าง
คำถามที่เจ็ด  เราควรมีสภานิติบัญญัติหรือไม่? องค์ประกอบ[27] ของสภาเช่นว่านั้นควรเป็นเช่นไร? (ข้าพเจ้าได้รับฎีกาหลายฉบับให้จัดตั้งสภาขึ้นสักอย่าง)
2. กิจการคลัง
 เกี่ยวกับกิจการคลังนั้น ข้าพเจ้าจะไม่กล่าวมากมาย เพราะข้าพเจ้ารู้สึกว่า ตนเองไร้ความสามารถในเรื่องนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่า เรามีที่ปรึกษาที่เปี่ยมความสามารถอย่างยิ่งอยู่แล้ว คือ เซอร์เอ็ดเวิร์ด คุก
 ปัญหาสำคัญข้อหนึ่ง คือ การปันทรัพยากรที่มีในหมู่กระทรวงต่าง ๆ นั้นให้เหมาะสม ข้าพเจ้าทราบว่า ในความเห็นของท่าน เราใช้เงินมากไปในด้านกองกำลังกลาโหม ข้าพเจ้ามีแนวโน้มที่จะเห็นด้วยกับท่านในประการนี้ กระนั้น การตัดงบประมาณด้านกลาโหมเป็นความรับผิดชอบอันหนักอึ้งนัก มีไม่กี่คนที่กล้าหนุนเรื่องเช่นนี้ เพราะเราได้ประสบการณ์มากล้นจากนโยบายอันบ้าบิ่นของเพื่อนบ้านเรา
 ข้าพเจ้ากำลังจะยกเครื่องนโยบายการคลังทั้งหมดของเรา แต่ข้าพเจ้าออกจะด้อยเปรียบตรงที่ไม่มีความสามารถในเรื่องนี้เอาเสียเลย
คำถามที่แปด  ท่านมีความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการคลังของเราบ้างไหม?
3. กิจการภายใน
 การเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งซึ่งมีความสำคัญ อันอยู่ในความครุ่นคิดของข้าพเจ้า ณ เวลานี้ คือ องค์การของสภาเทศบาล[28] ข้าพเจ้าเห็นว่า เบื้องต้น สภาเหล่านี้ควรมาจากการแต่งตั้ง จากนั้น เราอาจลองเลือกตั้งเทศบาล เรื่องนี้คงจะนำไปสู่แนวคิดบางอย่างเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะเริ่มการปกครองแบบมีผู้แทนสักแบบ เรื่องนี้จะเป็นที่ถูกใจของความคิดหัวก้าวหน้าในประเทศ ทั้งจะเป็นเครื่องแสดงให้เห็นเป็นอย่างดีว่า ประชาชนพร้อมจริง ๆ หรือยังที่จะมีสิทธิ์มีเสียงในกิจการบ้านเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ
 คำถามอีกข้อซึ่งข้าพเจ้ามองว่าสำคัญ คือ คำถามเกี่ยวกับจีน ชาวจีนเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในสยาม ในกาลก่อน เขาสมรสกับหญิงชาวสยามและกลายเป็นพลเมืองที่ดียิ่งของสยาม แต่นับจากการปฏิวัติจีนเป็นต้นมา ก็เกิดความเปลี่ยนแปลงพอดู ในสมัยนี้ ชาวจีนพาภริยาของตัวมาจากจีน และตกลงใจจะเป็นจีนต่อไป เขาตั้งโรงเรียนที่ซึ่งการเรียนการสอนเกือบทั้งหมดเป็นภาษาจีนล้วน ๆ เป็นสถานการณ์ที่ค่อนข้างชวนวิตก เพราะเราต้องสูญเสียบ่อเกิดพลเมืองที่ดีและอุตสาหะไป ทั้งเมื่อแนวคิดใหม่ ๆ ในจีนหลั่งไหลไปทั่ว ก็ย่อมกลายเป็นภัยแอบแฝง
คำถามที่เก้า  ทำอะไรได้บ้างไหมเพื่อให้ชาวจีนกลายเป็นชาวสยามเหมือนเมื่อก่อน? (ในนิคมช่องแคบ เขาสมัครใจจะกลายเป็นคนในบังคับบริเตน)
 เรื่องเหล่านี้เป็นปัญหาทั้งหมดที่เรายังหาทางแก้ไขอันน่าพอใจมิได้ หรือจะตีให้แตกด้วยทางใดจึงจะเหมาะก็ยังกังขาอยู่ ส่วนเรื่องอื่น ๆ กำลังแก้ไขหรือก็ใกล้จะได้แก้ไขแล้ว

หมายเหตุ แก้ไข

  1. พระยากัลยาณไมตรี (ฟรานซิส บี. แซร์)
  2. ตาม Dictionary.com (2020a) "constitution" สามารถหมายถึง (1) ระบบระเบียบการบริหารองค์การ ประเทศ ฯลฯ และ (2) เอกสารว่าด้วยระบบระเบียบดังกล่าว นอกเหนือไปจากความหมายอื่น ในที่นี้ เมื่อพิเคราะห์เนื้อหาโดยรวม และการใช้คำนี้ในส่วนอื่น ๆ แล้ว เห็นว่า ไม่ได้หมายถึงเอกสาร จึงแปลว่า "ระเบียบการปกครอง"
  3. ต้นฉบับว่า "elect" ในที่นี้แปลว่า "สมมติ" ตามประเพณี ดังในถ้อยคำว่า "อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ" (ผู้คนหมู่ต่าง ๆ มาประชุมกันกำหนดขึ้น) หรือ "พระมหาสมมติ" (พระนามกษัตริย์องค์หนึ่งซึ่งตำนานพุทธศาสนาระบุว่า มาจากการที่ผู้คนพร้อมใจกันกำหนดให้เป็น) ทั้งนี้ "สมมติ" มีความหมายตรงตัวว่า ความคิดเห็นเสมอกัน, ความคิดเห็นเท่ากัน ฯลฯ มาจากภาษาสันสกฤตว่า "สม" (เสมอกัน) + "มติ" (ความคิดเห็น) ส่วนในที่อื่น ๆ จะแปล "elect" ว่า "เลือกตั้ง" ตามปรกติ
  4. อาจเรียกว่า "เสนาบดีฝ่ายอาณาจักร" หากเทียบกับถ้อยคำตามประเพณี เช่น ในประกาศยกรัชกาลที่ 5 ขึ้นครองราชย์ (ดำรงราชานุภาพ, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ, 2472, น. 29) มีว่า "ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยฝ่ายทหารและพลเรือน ทั้งพระพุทธจักรและพระราชอาณาจักร ประชุมในพระที่นั่งอนันตสมาคม" ซึ่งจะสอดคล้องกับถ้อยคำในภาษาอังกฤษที่ว่า "minister of state" อันสื่อว่า เป็น minister ฝ่ายรัฐ ตรงกันข้ามกับ "minister of the church" คือ minister ฝ่ายศาสนจักร (หมายถึง ศาสนาจารย์)
  5. ดูตัวอย่างการประชุมเช่นนี้เมื่อคราวรัชกาลที่ 4 สวรรคต ใน ดำรงราชานุภาพ, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ (2472, น. 19–29) และ มหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล), เจ้าพระยา (2490, น. 27–31)
  6. เช่น สร้อยพระนามรัชกาลที่ 5 มีว่า "สรรพวิเศษศิรินธร อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ ประสิทธิวรยศมโหดมบรมราชสมบัติ" (กฎหมายลักษณอาญา, 2451, น. 207)
  7. ดู "กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467". (2467, 12 พฤศจิกายน). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 41, ตอน 0 ก. น. 195–213.
  8. สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราไชย
  9. รัชกาลที่ 6 มีพระบรมราชโองการ ลงวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2486 (อ้างถึงใน สุพจน์ ด่านตระกูล, ม.ป.ป.) ว่า "ให้ข้ามหม่อมเจ้าวรานนท์ธวัชในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนเพชรบูรณ์อินทราไชยนั้นเสียเถิด เพราะหม่อมเจ้าวรานนท์ธวัชมีแม่ที่ไม่มีชาติสกุล เกรงว่าจะไม่เป็นที่เคารพแห่งพระบรมวงศานุวงศ์"
  10. ต้นฉบับว่า "rediculed" ซึ่งน่าจะพิมพ์ผิดจาก "ridiculed" (เย้ยหยัน ถากถาง ฯลฯ) ในที่นี้แปลเป็น "ridiculed"
  11. ต้นฉบับว่า "it if" ซึ่งคงเป็นการเขียนหรือพิมพ์ผิด ที่ถูกอาจเป็น (1) "as if" หรือ (2) "if" เฉย ๆ ในที่นี้แปลตาม (2)
  12. ชื่อเต็ม คือ "อภิรัฐมนตรีสภา" ภาษาอังกฤษใช้ว่า "Supreme Council of State" ดูเพิ่มเติมที่ สถานีย่อย:อภิรัฐมนตรีสภา
  13. 13.0 13.1 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ
  14. สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช
  15. สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
  16. ดู พระราชดำรัสทรงตั้งอภิรัฐมนตรีสภา (2468, น. 2618–2620)
  17. สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา
  18. "grand cross" เป็นชั้นเครื่องอิสริยาภรณ์ แปลตรงตัวว่า มหากางเขน ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ (ม.ป.ป.) ว่า เทียบได้กับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทยชั้นสายสะพาย
  19. ชื่อเต็ม คือ "อภิรัฐมนตรี" ภาษาอังกฤษใช้ว่า "Supreme Councillor of State" ดูเพิ่มเติมที่ สถานีย่อย:อภิรัฐมนตรีสภา
  20. "อภิมนตรีสภา" (Supreme Council) หรือชื่อเต็มว่า "อภิรัฐมนตรีสภา" (Supreme Council of State) ดูเพิ่มเติมที่ สถานีย่อย:อภิรัฐมนตรีสภา
  21. ดู Sayre, F. B. (1926, pp. 841–851)
  22. ต้นฉบับใช้ทั้ง "prime minister" และ "premier" ในคำแปลนี้จึงใช้ "อัครมหาเสนาบดี" กับ "prime minister" และ "มหาเสนาบดี" กับ "premier" เพื่อแสดงความแตกต่างทางถ้อยคำเท่านั้น
  23. คงหมายถึง สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (Council of State) ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อ จ.ศ. 1236 (พ.ศ. 2417) ราวหกปีหลังรัชกาลที่ 5 ขึ้นครองราชย์
  24. สมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
  25. Dictionary.com (2020b): "ดูมา" (duma) สามารถหมายถึง (1) สภาหรือสมัชชาอย่างเป็นทางการในประเทศรัสเซียก่อน ค.ศ. 1917, (2) สภานิติบัญญัติซึ่งมาจากการเลือกตั้ง เป็นสภาล่างในรัฐสภารัสเซีย พระเจ้านิโคลัสที่ 2 ทรงตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1905
  26. เจนส์ ไอเวอร์เซน เวสเตนการ์ด (Jens Iversen Westengaard) ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Foreign Language Press Survey, 1903)
  27. ตาม Dictionary.com (2020a) "constitution" สามารถหมายถึง องค์ประกอบ หรือรูปแบบการบริหาร ก็ได้ (นอกเหนือจากความหมายอื่น ๆ) ในที่นี้เห็นว่า กำลังอภิปรายเรื่ององค์ประกอบสภา มากกว่ารูปแบบการบริหารสภา จึงแปลว่า "องค์ประกอบ"
  28. ในที่นี้แปลว่า "องค์การ" เพราะต้นฉบับใช้รูปพหูพจน์ (organizations) แต่อาจเป็นการเขียนหรือพิมพ์ผิด เพราะควรเป็นรูปเอกพจน์ (organization) อันจะแปลว่า "การจัดระเบียบ"

บรรณานุกรม แก้ไข

ต้นฉบับ แก้ไข

  • ปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. (2545). Memorandum of 27 July 1926. ใน แผนพัฒนาการเมืองไปสู่การปกครองระบอบ "ประชาธิปไตย" ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2469–2475) (น. 167–176). (พิมพ์ครั้งที่ 4). นนทบุรี: สถาบันพระปกเกล้า. (สถาบันพระปกเกล้าจัดพิมพ์ในงานพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ 7 ธันวาคม พุทธศักราช 2545). ISBN 9743000372.

อ้างอิง แก้ไข