จดหมายเหตุ เรื่อง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประชวรฯ/คำนำ

คำนำ

ในงานพระราชทานเพลิงศพพระยาอุไทยธรรม (หรุ่น วัชโรทัย) และคุณหญิงอุไทยธรรม (หลี วัชโรทัย) ณ วัดมกุฎกษัตริยาราม วันที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๐ บุตรธิดามีความประสงค์จะตีพิมพ์จดหมายเหตุ เรื่อง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประชวร แจกเป็นที่ระลึก นำต้นฉะบับหนังสือเรื่องนี้มามอบให้กรมศิลปากรช่วยจัดการให้

กรมศิลปากรเห็นว่า สกุลวัชโรทัยรับราชการฉลองพระเดชพระคุณสมเด็จพระมหากษัตริย์ในพระราชวงศ์จักรีในหน้าที่ใกล้ชิดเป็นพิเศษสืบเป็นลำดับมาหลายชั่วคนจนถึงปัจจุบัน การที่คิดตีพิมพ์หนังสือเรื่องนี้แจกเป็นที่ระลึกจึงเหมาะด้วยประการทั้งปวง เพราะเป็นเรื่องเนื่องด้วยพระราชประวัติตอนหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งยังมิใคร่มีใครจะได้ทราบมากนัก ด้วยเป็นเรื่องที่ยังไม่แพร่หลาย แม้ฉะบับที่มีอยู่ในหอสมุดแห่งชาติก็เป็นแต่ฉะบับเขียน กรมศิลปากรจึงรับจัดการพิมพ์ให้ตามประสงค์

จดหมายเหตุ เรื่อง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประชวร นี้ เดิมมีอยู่ ๒ ฉะบับ เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) แต่เมื่อครั้งยังเป็นพระยาราชสุภาวดี สมุหพระสุรัสวดี แต่งไว้ฉะบับ ๑ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) แต่งไว้ในตอนท้ายพระราชพงศาวดาร รัชชกาลที่ ๔ ฉะบับ ๑ ที่ตีพิมพ์ในสมุดเล่มนี้เป็นฉะบับเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงแต่ง เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงเป็นข้าหลวงเดิมในรัชชกาลที่ ๔ ในเวลาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประชวรนั้น เป็นพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ จางวางมหาดเล็ก อยู่ในผู้หนึ่งซึ่งได้อยู่เฝ้ารักษาพยาบาลข้างที่ จึงได้รู้เห็นเหตุการเมื่อทรงประชวรโดยใกล้ชิด ข้อความที่เจ้าพระยาทิพากรวงศ์กล่าวไว้ในจดหมายเหตุฉะบับของท่าน ก็เข้าใจว่า คงถามมาจากเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง

จดหมายเหตุทั้ง ๒ ฉะบับที่กล่าวมานี้มีข้อความสำคัญคลาดเคลื่อนกันอยู่บางแห่ง แต่อ้างถึงพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสมรรัตนศิริเชษฐ ซึ่งเวลานั้น ปรากฏพระนามว่า พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าโสมาวดี เป็นผู้อยู่ประจำรักษาพยาบาลข้างที่เป็นนิจ พระองค์ ๑ ว่า เป็นผู้เชิญพระกระแสรับสั่งออกมาข้างหน้าในเวลาเมื่อทรงประชวรนั้นเนือง ๆ เมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงแต่งจดหมายเหตุ เรื่อง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต ตอนพรรณนาถึงเหตุการเมื่อทรงประชวร ทรงสงสัยข้อความที่กล่าวในจดหมายเหตุ ๒ ฉะบับนั้น จะตรัสถามผู้แต่งทั้งสองก็ไม่ได้ ด้วยเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ก็ถึงพิราลัย และเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงก็ถึงอสัญญกรรมไปเสียแล้ว จึงทูลถามกรมหลวงสมรรัตนฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ อันเป็นปีที่เริ่มทรงแต่งหนังสือเรื่องนั้น ได้ความตามที่กรมหลวงสมรรัตนฯ ตรัสเล่า ทรงเห็นแม่นยำชัดเจนสิ้นสงสัย จึงจดลงไว้ในหนังสือที่ทรงแต่งนั้นตามที่ได้ทราบจากกรมหลวงสมรรัตนฯ เว้นไว้แต่แห่งใดที่กรมหลวงสมรรัตนฯ ไม่ทรงทราบ จึงทรงจดตามจดหมายเหตุของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงที่ตีพิมพ์ในสมุดนี้ เพราะฉะนั้น จดหมายเหตุ เรื่อง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประชวร จึงมีเป็น ๓ ฉะบับด้วยกัน ฉะบับอื่นเคยตีพิมพ์แล้ว แต่ฉะบับนี้เพิ่งตีพิมพ์เป็นครั้งแรก

อนึ่ง ในการตีพิมพ์หนังสือเรื่องนี้ เจ้าภาพได้เรียบเรียงประวัติพระยาอุไทยธรรม (หรุ่น วัชโรทัย) ส่งมาขอให้เรียงลงไว้ด้วย จึงได้เรียงลงไว้ต่อจากคำนำนี้ และมีข้อความที่ควรจะกล่าวเพิ่มเติมว่า สกุลวัชโรทัยนี้เป็นสกุลเก่า สืบเชื้อสายมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ปรากฏในพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง "พระราชพิธีสิบสองเดือน" ว่า สกุลนี้ได้เป็นภูษามาลามาแต่แผ่นดินพระมหาบุรุษเพทราชาสืบเนื่องกันมามิได้ขาด พระยาอุไทยธรรม (เพ็ชร) ผู้เป็นปู่ของพระยาอุไทยธรรม (หรุ่น) ก็ได้รับราชการทรงเครื่องใหญ่มาแต่รัชชกาลที่ ๑ จนถึงรัชชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนับถือว่า เป็นผู้รู้มาก ครั้งหนึ่ง มีข้อโต้เถียงกันในเรื่องทรงพระภูษาตามสีวันในเวลาสรงมุรธาภิเษกว่า ลัทธิสีวันของกรมภูษามาลาไม่เหมือนกับที่ใช้สีตามกำลังวันของโหรอยู่สองสี คือ วันพฤหัสบดี ตามที่โหรว่า เป็นสีเหลือง ภูษามาลาว่า เป็นสีน้ำเงิน วันศุกร์ ซึ่งว่า เป็นสีเลื่อมประภัสสรหรือใช้สีน้ำเงินกันอยู่นั้น ภูษามาลาว่า สีเหลือง เรื่องสีที่เถียงกันนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงซักไซ้ไล่เลียงพระยาอุไทยธรรม (เพ็ชร) หลายครั้งหลายคราว พระยาอุไทยธรรม (เพ็ชร) ไม่ยอมเลยเป็นอันขาดว่า ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมา ก็ได้เกิดถุ้งเถียงกันแล้วตกลงตามอย่างภูษามาลาเช่นนี้ และว่า เคยใช้มาแต่ครั้งกรุงเก่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงยอม ถ้าทรงมุรธาภิเษกแล้ว ก็ทรงพระภูษาสีวันแบบภูษามาลา เว้นไว้แต่ถ้ารับเปลี่ยนทักษา ต้องตกลงยอมตามสีโหร ดังนี้

กรมศิลปากรขออนุโมทนากุศลบุญราศีทักษิณานุปทานกิจซึ่งบุตรและธิดาบำเพ็ญเพื่ออุทิศกัลปนาผลสนองคุณพระยาและคุณหญิงอุไทยธรรมด้วยความกตัญญูกตเวที ขออำนาจบุญกุศลทั้งปวงนี้จงบันดาลให้สำเร็จอิฐวิบากมนุญผลแก่ท่านทั้งสองนั้นตามสมควรแก่คติวิสัยในสัมปรายภพทุกประการเทอญ.

  • กรมศิลปากร
  • ๑๗ มกราคม ๒๔๙๐