จดหมายเหตุ เรื่อง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประชวรฯ/ผู้วายชนม์

ประวัติย่อ

มหาเสวกโท พระยาอุไทยธรรม (หรุ่น วัชโรทัย) ป.ม., ท.จ.ว. เกิดเมื่อวันพุธ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๗ ปีเถาะ จุลศักราช ๑๒๑๗ ตรงกับวันที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๙๘ สืบเนื่องมาจากสกุลเก่าทั้งสองฝ่าย คือ สกุลบิดา "วัชโรทัย" และสกุลมารดา "สิงหเสนี"

ฝ่ายบิดา พระยาราชโกษา (จันทร์) เป็นบุตรพระยาอุไทยธรรม (เพ็ชร) ๆ เป็นบุตรพระรัตนวงศา (แจ่ม) ๆ เป็นบุตรพระยาอุไทยธรรม (ทอง) ต้นสกุลวัชโรทัย

ฝ่ายมารดา คุณหญิงปุ้ย ราชโกษา เป็นธิดาคนใหญ่ของท่านเจ้าพระยายมราช (แก้ว) ๆ เป็นบุตรท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) ต้นสกุล สิงหเสนี

ท่านบิดาได้นำเข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๙ และได้เข้ารับราชการอยู่ในกรมมหาดเล็ก เมื่ออายุสมควรจะอุปสมบท ได้กราบถวายบังคมลาอุปสมบทตามคตินิยม ต่อมา ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปรับราชการในกรมพระภูษามาลาในตำแหน่งนายเวร

ท่านได้รับราชการฉลองพระเดชพระคุณโดยใกล้ชิดด้วยความอุตสาหะบากบั่นต่อหน้าที่และความจงรักภักดี ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณเป็นลำดับ ได้เป็นที่ขุนราชสมบัติ หลวงเทพากรณ์ พระราชโกษา และพระยาราชโกษา ในรัชชกาลที่ ๕ ถึงรัชชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็นที่พระยาอุไทยธรรมเมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๕ และพระราชทานยศมหาเสวกโทเมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๗ ท่านได้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพระภูษามาลา รับพระราชทานเงินเดือน ๆ ละ ๑,๓๐๐ บาท

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ ได้ทำการสมรสกับคุณหญิงหลี อุไทยธรรม ธิดาของท่านกวงหลิม คหบดี และท่านนิ่ม ซึ่งตั้งเคหสถานอยู่หน้าวัดทองนพคุณ จังหวัดธนบุรี ได้อยู่ร่วมกันมาเป็นเวลา ๕๐ ปีเศษ คุณหญิงหลี อุไทยธรรม ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ ก่อนหน้าท่านปีเดียว ได้มีบุตรเป็นกำลังรับราชการฉลองพระคุณสืบมาจนบัดนี้ ด้วยคุณความดีของท่าน ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานหีบลายก้านแย่งทอง และเครื่องพระราชทานเพลิง เป็นพระมหากรุณาธิคุณพิเศษ

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เสด็จประพาสชะวา พ.ศ. ๒๔๓๙ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสิมาประชวรหนักถึงกับต้องนั่งยามถวายพยาบาล ท่านก็ได้มีโอกาสฉลองพระเดชพระคุณร่วมด้วยจนหายประชวร

ท่านได้ฉลองพระเดชพระคุณพิเศษในหน้าที่ผู้อำนวยการวัดพระศรีรัตนศาสดารามครั้ง ๑ และเป็นอนุกรรมการจัดการราชพิพิธภัณฑ์ในบั้นปลายแห่งชีวิต เมื่อกราบถวายบังคมลาออกจากประจำการโดยเหตุชราภาพเมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๙ ก็ได้ถวายปฏิญาณไว้ว่า ถ้ามีราชการ ก็จะได้เข้ามาฉลองพระเดชพระคุณในหน้าที่ทุกคราวเช่นเดียวกับข้าราชการประจำการ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้กำกับราชการพระภูษามาลา แต่งเครื่องยศประจำการได้เป็นพิเศษตลอดอายุขัยของท่าน ท่านได้รับพระราชทานเกียรติยศพิเศษให้เป็นผู้เชิญพระมหาพิชัยมงกุฎในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกถึง ๒ รัชชกาล คือ รัชชกาลที่ ๖ และที่ ๗

ท่านถึงอนิจจกรรมด้วยโรคชราที่บ้านริมสะพานยาว วัดจักรวรรดิราชาวาส เมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๘ คำนวณอายุได้ ๙๐ ปีเศษ ได้รับพระราชทานโกศโถเป็นเกียรติยศ.