ดูฉบับอื่นของงานนี้ที่ ประมวลคำอธิบายทางนิติศาสตร์


ประเพณีประกาศพระราชกฤษฎีกาแต่โบราณ เมื่อสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินดำรัสสั่งให้ประกาศกิจการอันใด คือ เช่น ตั้งพระราชบัญญัติ เป็นต้น โดยปกติมักดำรัสสั่งให้อาลักษณ์เป็นพนักงานเรียบเรียงข้อความที่จะประกาศลงเป็นหนังสือ บางทีดำรัสให้ผู้อื่นรับพระราชโองการมาสั่งอาลักษณ์ให้เรียบเรียงประกาศก็มี ผู้รับสั่งมักเป็นเจ้าหน้าที่ซึ่งจะต้องอำนวยการที่ประกาศ แต่ที่มิใช่เป็นเจ้าหน้าที่ เป็นแต่ข้าเฝ้าคนใดคนหนึ่ง ดำรัสใช้ตามสดวกพระราชหฤทัยก็มี ลักษณะที่อาลักษณ์เรียบเรียงประกาศนั้นตั้งข้อความเป็นหลัก ๕ อย่าง คือ (๑) วันเดือนปีที่สั่ง (๒) นามผู้สั่ง ถ้าสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินดำรัสสั่งเอง ก็อ้างแต่ว่า มีพระราชโองการ ถ้ามีผู้อื่นมาสั่ง ก็อ้างนามผู้นั้นรับพระราชโองการ (๓) กล่าวถึงคดีอันเป็นมูลเหตุแห่งประกาศนั้น (๔) พระราชวินิจฉัย (๕) ข้อบัญญัติพระราชนิยมที่ให้ประกาศ เมื่ออาลักษณ์ร่างเสร็จแล้ว คงนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายทรงตรวจแก้ก่อน จึงประกาศ แต่ข้อนี้หาได้กล่าวไว้ให้ปรากฏไม่ ลักษณะที่ประกาศนั้น แต่โบราณเป็นหน้าที่กรมพระสุรัสวดีโดยเป็นผู้ถือบาญชีกระทรวงทบวงการทั้งปวง ที่จัดคัดสำเนาประกาศแจกจ่ายไปยังกรมต่าง ๆ ทุกกรม ส่วนหัวเมืองทั้งปวงนั้น เมื่อมหาดไทย กลาโหม กรมท่า อันเป็นเจ้ากระทรวงบังคับบัญชาหัวเมือง ได้รับประกาศจากกรมพระสุรัสวดี ก็คัดสำเนาส่งไปยังหัวเมืองอันขึ้นอยู่ในกรมนั้น ๆ อีกชั้น ๑ ลักษณการที่จะประกาศให้ราษฎรทราบพระราชกฤษฎีกานั้น ประเพณีเดิมใากรุงเทพฯ กรมเมืองให้นายอำเภอเป็นเจ้าพนักงานไปเที่ยวอ่านประกาศตามตำบลที่ประชุมชน ส่วนหัวเมืองทั้งปวง เจ้าเมือง กรมการ ให้กำนันเป็นพนักงานอ่านประกาศ เมื่อพนักงานจะอ่านประกาศที่ตำบลไหน ให้ตีฆ้องเป็นสัญญาเรียกราษฎรมาประชุมกัน แล้วอ่านประกาศให้ฟัง ณ ที่นั้น วิธีประกาศเช่นว่ามานี้จึงเรียกกันเป็นสามัญว่า "ตีฆ้องร้องป่าว" ส่วนต้นฉะบับประกาศพระราชกฤษฎีกาทั้งปวงนั้น อาลักษณ์รักษาไว้ในหอหลวงฉะบับ ๑ คัดส่งไปรักษาไว้ที่ศาลาลูกขุนอันเป็นที่ประชุมเสนาบดีฉะบับ ๑ และส่งไปรักษาไว้ที่ศาลหลวงอันเป็นที่ประชุมผู้พิพากษาด้วยอีกฉะบับ ๑ ประเพณีเดิมมีลักษณะดังว่านี้

หนังสือประกาศชั้นเดิม ต้นร่างและสำเนามักเขียนในสมุดดำด้วยเส้นดินสอขาว ส่วนตัวประกาศที่ส่งไป ณ ที่ต่าง ๆ มักเขียนลงม้วนกระดาษข่อยด้วยดินสอดำ เพราะวิธีตีพิมพ์หนังสือไทยยังไม่เกิดขึ้นในชั้นนั้น มาจนในรัชกาลที่ ๓ พวกมิชชันนารีอเมริกันตั้งโรงพิมพ์หนังสือไทยขึ้น ความปรากฏว่า เมื่อปีกุน พ.ศ. ๒๓๘๒ พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดฯ ให้โรงพิมพ์พวกอเมริกันพิมพ์หมายประกาศห้ามมิให้คนสูบฝิ่นและค้าขายฝิ่นเป็นหนังสือ ๙๐๐๐ ฉะบับ นับเป็นครั้งแรกที่ได้พิมพ์หมายประกาศ แต่พิมพ์ครั้งนั้นแล้ว ก็มิได้ปรากฏว่า พิมพ์ประกาศเรื่องอื่นต่อมาอีก ถึงรัชกาลที่ ๔ ในชั้นแรก ประกาศต่าง ๆ ก็ยังใช้เขียนแจกตามแบบเดิม ปรากฏแต่ว่า ทรงแก้ไขวิธีแจกประกาศ ซึ่งแต่เดิมกรมพระสุรัสวดีเป็นพนักงานเขียนประกาศแจกจ่ายไปตามกระทรวงทบวงการต่าง ๆ นั้น โปรดฯ ให้กรมต่าง ๆ ไปคัดสำเนาหมายประกาศเอง ณ หอหลวง ยังคงส่งสำเนาประกาศไปแต่ที่มหาดไทย กลาโหม และกรมท่า สำหรับจะได้มีท้องตราประกาศออกไปตามหัวเมือง การที่แก้ไขชั้นนี้ก็พอเห็นเหตุได้ คงเป็นเพราะการเขียนประกาศแจกจ่ายมาแต่ก่อนเป็นการมากมายเหลือกำลังพนักงานกรมพระสุรัสวดี แจกไปไม่ทั่วถึงทุกกระทรวงทบวงการได้จริงดังที่กล่าวในลักษณะประกาศ จึงได้โปรดฯ ให้กรมอื่น ๆ ไปคัดประกาศเอาเอง ณ หอหลวง ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ นั้น โปรดฯ ให้สร้างโรงพิมพ์หลวงขึ้นที่ในพระบรมมหาราชวัง ขนานนามว่า โรงอักษรพิมพการ (อยู่ตรงพระที่นั่งภาณุมาศจำรูญบัดนี้) เริ่มพิมพ์หมายประกาศเมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๐๑ ในชั้นต้น โปรดเกล้าฯ ให้ทำเป็นหนังสือพิมพ์ข่าวออกโดยระยะเวลา ขนานนามว่า หนังสือราชกิจจานุเบกษา บอกข่าวในราชสำนักและเก็บความจากประกาศต่าง ๆ ซึ่งได้ออกในระยะนั้นบอกไว้ให้ทราบเพียงเนื้อความ หนังสือราชกิจจานุเบกษาซึ่งออกในรัชกาลที่ ๔ ครั้งนั้น พิเคราะห์ดูเรื่องที่พิมพ์เป็นพระราชนิพนธ์สมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมาก เห็นจะไม่มีผู้อื่นกล้ารับผิดชอบเป็นผู้แต่ง ครั้นต่อมา ทรงติดพระราชธุระอื่นมากขึ้น ไม่มีเวลาพอจะทรงแต่งหนังสือราชกิจจานุเบกษา เพราะฉะนั้น พิมพ์อยู่ได้สักปี ๑ จึงต้องหยุด แต่การที่พิมพ์หมายประกาศ เห็นจะนิยมกันมาก เมื่อหยุดหนังสือราชกิจจานุเบกษาแล้ว จึงโปรดฯ ให้พิมพ์แต่หมายประกาศ และให้พิมพ์ตลอดเรื่อง ไม่คัดแต่เนื้อความเหมือนอย่างที่ลงพิมพ์ในหนังสือราชกิจจานุเบกษามาแต่ก่อน ทำเป็นใบปลิวแจกตามกระทรวงทบวงการ และจ่ายไปปิดไว้ตามที่ประชุมชนแทนป่าวร้อง เป็นประเพณีสืบมาจนรัชกาลที่ ๕ จนกลับออกหนังสือราชกิจจานุเบกษาอีกเมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๔๑๗ แต่นั้น บรรดาประกาศจึงใช้ลงในหนังสือราชกิจจานุเบกษา และเลิกวิธีแจกจ่ายหมายประกาศอย่างแต่ก่อนสืบมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

เพราะเรื่องตำนานเป็นดังแสดงมา ประกาศในรัชกาลที่ ๔ จึงมีสำเนาเป็น ๒ ชนิด คือ ประกาศในชั้นต้นเมื่อยังมิได้ตั้งโรงพิมพ์หลวงนั้น มีแต่สำเนาเป็นหนังสือเขียน ประกาศตอนหลังเมื่อตั้งโรงพิมพ์หลวงแล้ว มีสำเนาเป็นหนังสือพิมพ์ สำเนาประกาศชั้นที่เป็นหนังสือเขียนมีฉะบับน้อยมาแต่เดิม ยิ่งนานมากก็ยิ่งหายากขึ้นทุกที ประกาศที่มีฉะบับพิมพ์หาง่ายกว่า จึงมีผู้รวบรวมไว้บ้าง แต่ก็ไม่ปรากฏว่า มีใครที่สามารถรวบรวมไว้ได้หมดทุกฉะบับ เป็นแต่มีกันมากบ้างน้อยบ้าง การที่รวบรวมประกาศรัชกาลที่ ๔ พิมพ์ขึ้นใหม่ให้เป็นสาธารณะประโยชน์ ได้จับทำเมื่อครั้งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ ทรงบัญชาการโรงพิมพ์หลวงและเป็นผู้จัดการหนังสือราชกิจจานุเบกษาซึ่งกลับพิมพ์อีกในรัชกาลที่ ๕ นั้น ได้ทรงหาสำเนาประกาศครั้งรัชกาลที่ ๔ มาพิมพ์ไว้ในหนังสือราชกิจจานุเบกษาบ้าง เมื่อพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ ออกหนังสือพิมพ์ดรุโณวาท ก็ได้ทรงหาฉะบับมาพิมพ์ไว้ในหนังสือดรุโณวาทอีกบ้าง ต่อมาเมื่อหอพระสมุดวชิรญาณออกหนังสือพิมพ์ กรรมการหอพระสมุดฯ ก็หาสำเนาประกาศรัชกาลที่ ๔ มาพิมพ์ไว้ในหนังสือวชิรญาณบ้าง แต่ที่รวบรวมประกาศรัชกาลที่ ๔ พิมพ์เป็นเล่มสมุดโดยฉะเพาะ พึ่งมาพิมพ์เมื่อครั้งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ ทรงบัญชาการโรงพิมพ์หลวง ได้ทรงพยายามหาต้นฉะบับแต่ที่ต่าง ๆ มารวบรวมพิมพ์ขึ้นเมื่อรัตนโกสินทรศก ๑๑๐ (พ.ศ. ๒๔๓๔) พิมพ์ได้ ๓ เล่มสมุด โรงพิมพ์อักษรพิมพการเลิก โรงพิมพ์อักษรนิติจึงพิมพ์ต่อมาอีกเล่ม ๑ รวมเป็น ๔ เล่มด้วยกัน

เมื่อตั้งหอพระสมุดสำหรับพระนคร กรรมการได้รวบรวมประกาศรัชกาลที่ ๔ บรรดามีอยู่ในหนังสือต่าง ๆ ที่กล่าวมา และหาฉะบับได้เพิ่มเติมมาแต่ที่อื่นอีก คือ ได้ฉะบับซึ่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ ได้ทรงรวบรวมไว้ประทานมาราย ๑ สำเนาประกาศรัชกาลที่ ๔ ในจำนวนหนังสือซึ่งหอพระสมุดหาได้จากที่ต่าง ๆ แห่งละเรื่องสองเรื่อง ก็มีหลายราย แต่ที่สำคัญนั้น คือ ได้ในสำเนาหมายรับสั่งกระทรวงมหาดไทยซึ่งส่งมายังหอพระสมุด มีสำเนาหมายประกาศรัชกาลที่ ๔ ปรากฏอยู่ในจดหมายรายวันของกรมมหาดไทยหลายเรื่อง ล้วนเป็นประกาศในชั้นที่ยังมิได้มีการพิมพ์ เริ่มแต่ปีกุน พ.ศ. ๒๓๙๔ อันเป็นปีแรกพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นต้นมา กรรมการจึงเห็นว่า สมควรจะพิมพ์ประกาศรัชกาลที่ ๔ ซึ่งมีฉะบับอยู่ในหอพระสมุดฯ ให้เป็นสาธารณะประโยชน์ได้

แต่ประกาศรัชกาลที่ ๔ ซึ่งมีฉะบับอยู่ในหอพระสมุดฯ เป็นประกาศพระราชนิยมก็มี เป็นประกาศพระราชบัญญัติก็มี ความที่ประกาศยังคงใช้เป็นกฎหมายและประเพณีอยู่ก็มี ยกเลิกเสียแล้วก็มี การที่หอพระสมุดฯ พิมพ์ ประสงค์จะพิมพ์ประกาศรัชกาลที่ ๔ บรรดามี ไม่เลือกว่าอย่างใด ๆ ความมุ่งหมายมีแต่จะให้เป็นประโยชน์ในทางศึกษาโบราณคดีและวรรณคดีเป็นประมาณ จึงขอบอกให้ท่านผู้อ่านทราบว่า บรรดาประกาศในฉะบับซึ่งหอพระสมุดฯ พิมพ์นี้ มิใช่สำหรับจะเอาไปยกอ้างใช้ในทางอรรถคดีที่ใด ๆ เพราะความในประกาศเรื่องใดจะยังคงใช้อยู่หรือจะยกเลิกเสียแล้ว ข้อนี้กรรมการหอพระสมุดฯ มิได้เอาเป็นธุระสอบสวน ประสงค์จะให้อ่านแต่เป็นอย่างเป็นจดหมายเหตุเก่าเท่านั้น


กฎมนเทียรบาลเขมรดูไม่เก่าเหมือนกฎมนเทียรบาลไทย เห็นจะเป็นเพราะชำระเรียบเรียงกันหลายคราว ด้วยกรุงกัมพูชาแต่ก่อนมาเกิดจลาจลบ่อย ๆ ตำหรับตำราที่มีมักแตกฉานซ่านเซ็น บ้านเมืองเป็นปกติคราว ๑ ก็ต้องรวบรวมกฎหมายกันใหม่ครั้ง ๑ กฎมนเทียรบาลกรุงกัมภูชานี้ ปรากฏในบานแพนกว่า พึ่งรวบรวมในครั้งสมเด็จพระนโรดมเมื่อปีกุน พ.ศ. ๒๔๑๘ ตรงกับในรัชกาลที่ ๕ กรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง พิเคราะห์ดูความ เป็นกฎหมายตั้งใหม่ก็มีบ้าง เอากฎหมายเดิมมารวบรวมก็มีบ้าง มีเรื่องเล่ากันว่า เมื่อองค์สมเด็จพระนโรดมจะตั้งกฎมนเทียรบาลนี้ ได้หารือเรสิดังฝรั่งเศส ทำนองเรสิดังคนนั้นจะไม่ชำนาญภาษาเขมร คงไม่ตรวจตราถ้วนถี่ จึงให้อนุมัติ ครั้นตั้งกฎหมายนี้แล้ว มีคดีอันใดอันหนึ่งเกิดขึ้นที่ในวังเมืองพนมเป็ญ องค์สมเด็จพระนโรดมจะลงอาญาตามกฎมนเทียรบาล เรสิดังฝรั่งเศสแย้งว่า อาญาแรงนักเกินกว่าความผิด องค์สมเด็จพระนโรดมโต้ว่า กฎหมายนี้ เมื่อจะตั้ง ฝรั่งเศสก็ได้เห็นชอบยอมให้ตั้งแล้ว ไยจะมาห้ามไม่ให้บังคับคดีตามกฎหมาย เกิดทุ่มเถียงกัน แต่ลงปลายจะยุติอย่างไร หาทราบต่อไม่


อันกฎหมายกรุงกัมพูชามีลักษณะและประเพณีคล้ายคลึงกับกฎหมายของไทยเราโดยมาก ที่หลักเดิมเหมือนกันทีเดียวก็มี เช่น ลักษณะโจร กับลักษณะรับฟ้องความโจรกรรม คาถาและข้อความตอนต้นล้วนแต่คัดมาจากคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ที่ได้ฉะบับไปจากไทย แต่ส่วนตัวบทกฎหมายนั้นได้แก้ไขกันต่อ ๆ มาตามภูมิประเทศและกาลสมัยในกรุงกัมพูชา ถึงดังนั้น รูปรอยก็ไม่ไกลกับของไทย

กฎหมายกรุงกัมพูชาที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้ได้รวบรวมในครั้งสมเด็จพระนโรดมทรงราชย์โดยมาก


การตั้งทำเนียบศักดินาที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้ทรงจัดขึ้นอีกอย่าง ๑ นั้น ได้ความในกฎหมายว่า ตั้งเมื่อปีจอ จุลศักราช ๘๑๖ พ.ศ. ๑๙๙๗ คือ ตั้งกำหนดว่า ผู้มียศชั้นใดควรมีนาเท่าใด ดังเช่น เจ้าพระยา หรือพระยาชั้นสูง มีนาได้คนละ ๑๐๐๐๐ ไร่บ้าง ๕๐๐๐ ไร่บ้าง ๓๐๐๐ ไร่บ้าง ขุนนางผู้น้อย ตั้งแต่ ๔๐๐ ไร่ขึ้นไป ส่วนพลเมืองมีนาได้คนละ ๒๕ ไร่ แปลว่า ในเวลาที่ตั้งกำหนดศักดินาขึ้นนั้น คนทำราชการไม่ได้รับเบี้ยหวัดเงินเดือน เวลานั้น ที่ดิน คือ ที่นา เป็นสมบัติอันมีราคายิ่งกว่าอย่างอื่น ผู้ที่แสวงหาทรัพย์สมบัติย่อมแสวงหาที่ดินเป็นสำคัญ เพื่อจะไม่ให้แย่งที่ดินกันนั้น ประการ ๑ เพื่อจะให้คนมีที่ดินมากแลน้อยตามกำลังและยศศักดิ์ ประการ ๑ จึงได้ตั้งพระราชบัญญัติกำหนดศักดินา คือว่า ถ้าผู้มียศถึงเท่านั้น รัฐบาลอนุญาตให้มีที่นาได้เท่านั้นเป็นอย่างมาก จะมีเกินอนุญาตไม่ได้ นี่เป็นมูลเหตุของศักดินา แต่เมื่อได้ตั้งศักดินาขึ้นแล้ว ศักดินาเลยเป็นเครื่องกำหนดสำหรับใช้ในการอื่นต่อไปอีกหลายอย่าง เช่น เป็นหลักในการปรับไหม เป็นหลักอำนาจในการบางอย่าง เช่น แต่งทนายว่าความ เป็นต้น ไม่ใช่แต่เพียงจะมีนาได้กี่ไร่อย่างเดียว ประเพณีศักดินายังมีอยู่จนทุกวันนี้[1] แต่อำนาจแลประโยชน์ทั้งปวงที่ได้จากศักดินาได้เลิกเสียแล้วแต่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


หนังสือพระราชพงศาวดารกล่าวอีกข้อ ๑ ว่า สมเด็จพระเอกาทศรฐโปรดให้ตั้ง "ส่วยสัดพัฒนากรขนอนตลาด" ว่าเพียงเท่านี้ ยากที่จะเข้าใจได้ว่า จัดการที่ว่านั้นอย่างไร ๆ บ้าง แต่เชื่อได้ว่า ไม่ใช่พึ่งตั้งภาษีอากรขึ้นคราวนั้นเหมือนกัน ภาษีอากรคู่กับรัฐบาล เหมือนกับกฎหมายคู่กับประชุมชน มีรัฐบาลเมื่อใด ภาษีอากรก็มีมาแต่เมื่อนั้น ผิดกันต่างกันแต่วิธีเก็บภาษี ภาษีอากรที่เรียกรวมในชื่อว่า "ส่วยสัดพัฒนากรขนอนตลาด" นี้ ข้าพเจ้าเข้าใจว่า จำแนกเป็น ๓ อย่าง คือ ส่วย อย่าง ๑ อากรขนอน อย่าง ๑ อากรตลาด อย่าง ๑ วิธีเก็บ ถ้าหมายความว่า ๓ อย่างนี้ ได้ความตามหนังสือของมองสิเออร์เลอลูแบ ประกอบกับที่เข้าใจความตามที่กล่าวในกฎหมาย เป็นดังนี้

ส่วยนั้น ตามความที่เข้าใจกันทุกวันนี้ หมายความว่า ยอมให้ไพร่พลส่งสิ่งของได้แทนแรงที่ต้องมาเข้าเวรรับราชการ เป็นต้นว่า ไพร่พลพวกใดตั้งภูมิลำเนาอยู่ในที่มีป่าไม้ ยอมให้ไพร่พลพวกนั้นตัดไม้ที่ต้องการใช้ในราชการส่งมาโดยกำหนดคนละเท่านั้น ๆ ไม้นั้นเรียกว่า ไม้ส่วย เมื่อผู้ใดได้ส่งส่วยแล้ว ก็ไม่ต้องรับราชการประจำในที่นั้น รัฐบาลเอาของส่วยมาใช้ในราชการ ดังเช่น ไม้ ก็เอาใช้ในการปลูกสร้างสถานที่ต่าง ๆ เป็นต้น ลักษณะของการส่วยเป็นดังว่ามานี้มาแต่ประเพณีโบราณซึ่งเป็นข้อกำหนดให้เมืองขึ้นหรือให้หมู่บ้านที่ขึ้นต้องจัดสิ่งของดีซึ่งมีในเมืองและบ้านนั้น ๆ ส่งแก่ผู้ซึ่งเป็นเจ้าเป็นใหญ่ เป็นพยานในการที่เป็นข้าขอบขัณฑเสมา ยกตัวอย่างดังเรื่องในพงศาวดารเหนือที่พระร่วงเมืองละโว้ต้องเป็นส่วยส่งน้ำทะเลชุบศรไปถวายพระเจ้ากรุงขอมทุก ๆ ปี ไม่ใช่ว่าเพราะเมืองขอมกันดารน้ำหรือมีความจำเป็นโดยแท้จริงอันใดที่จะต้องได้น้ำทะเลชุบศรไปใช้ในเมืองขอม การที่บังคับให้เมืองละโว้ส่งน้ำทะเลชุบศร ก็เพื่อจะให้ชาวละโว้รู้สึกทั่วกันอยู่เสมอว่า เป็นข้าของพระเจ้าแผ่นดินขอมเท่านั้นเอง ประเพณีอันนี้ แม้อย่างต่ำแต่เมืองที่ต้องส่งต้นไม้เงินทองถวายแทนของส่วย ทุนที่จะใช้ทำต้นไม้เงินทองนั้นยังใช้เก็บเฉลี่ยจากราษฎร เพื่อให้ความรู้สึกมีอยู่แก่ราษฎรทั่วกันว่า เป็นข้าขอบขัณฑเสมาตามธรรมเนียมเดิม ยังใช้เป็นประเพณีในหัวเมืองมลายูมาจนเลิกประเพณีถวายต้นไม้เงินทองในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วิธีเก็บส่วยจากราษฎร เห็นว่า เอามาจากประเพณีโบราณนี้เอง เปลี่ยนเป็นการเฉพาะตัวไพร่พลในชาติเดียวกัน และกำหนดให้ส่งแต่ของที่จะเป็นประโยชน์แก่ราชการ ยกหน้าที่ ๆ จะรับราชการประจำให้เป็นการตอบแทน ซึ่งต้องเป็นความยินดีพอใจของพวกไพร่พลที่อยู่ไกลอยู่เป็นธรรมดา วิธีเก็บส่วยจากไพร่พล ถ้าตั้งขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรฐจริงดังกล่าวในหนังสือพระราชพงศาวดาร ข้าพเจ้าเข้าใจว่า เกิดแต่จะบำรุงการทำมาหากิน ด้วยไพร่พลต้องทำศึกสงครามบอบช้ำมาช้านาน และเข้าใจว่า วิธีที่ยอมให้ส่งส่วยนี้เอง ในรัชกาลอื่นภายหลัง มาขยายต่อออกไปจนให้ส่งเงินแทนรับราชการได้ จึงเกิดมีประเพณีเสียเงินค่าราชการสืบมา ของส่วยที่เรียกในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรฐ ทราบไม่ได้ว่า อะไรบ้าง มาทราบได้ในชั้นหลัง ซึ่งข้าพเจ้าจะเอาไว้อธิบายในรัชกาลอื่นต่อไป.

ที่เรียกว่า อากรขนอน นั้น ตามเนื้อความเท่าที่จะทราบได้ เป็นภาษีเก็บในจังหวัดราชธานี คือ ตั้งด่านขึ้นตามทางน้ำทางบกที่มหาชนไปมาค้าขายต้องผ่าน ครั้งกรุงเก่าเรียกด่านภาษีว่า ขนอน จะเป็นเรือก็ตาม เกวียนก็ตาม เมื่อพาสินค้าผ่านขนอน เก็บสินค้านั้นเป็นภาคหลวงโดยอัตรา ๑๐ ชัก ๑ ซึ่งเราเรียกกันทุกวันนี้ว่า ภาษีภายใน หรือภาษีผ่านด่าน มาจากอากรขนอนนี้เอง ถ้าเชื่อตามหนังสือพระราชพงศาวดารว่า ก็ตั้งขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรฐเป็นปฐมเหมือนกัน

อากรตลาดนั้น เข้าใจว่า อย่างเดียวกับที่เรียกว่า เก็บจังกอบ เก็บแต่ในจังหวัดราชธานีเหมือนกัน คือ ที่ใดราษฎรประชุมกันตั้งตลาดค้าขาย ที่นั้นก็ตั้งให้มีกำนันตลาดเก็บภาษีจากร้านและผู้ซึ่งมาขายของ อัตราที่เก็บเท่าใดในครั้งกรุงเก่า ข้าพเจ้ายังค้นไม่พบ


ในหนังสือพระราชพงศาวดารกล่าวอีกอย่าง ๑ ว่า สมเด็จพระเอกาทศรฐพระราชทานที่กัลปนาเป็นนิจภัตต์พระสงฆ์ ที่เรียกว่า พระราชทานที่กัลปนา นั้น หมายความว่า พระราชทานผลประโยชน์ซึ่งได้ในภาษีที่ดินเป็นนิจภัตต์เลี้ยงพระสงฆ์ ไม่ได้พระราชทานตัวที่ดิน ประเพณีพระราชทานที่กัลปนาเป็นพระราชประเพณีโบราณ มีมาแต่ครั้งสุโขทัย ไม่ใช่ตั้งขึ้นใหม่แผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรฐเป็นแน่ ที่หนังสือพระราชพงศาวดารกล่าว เห็นจะหมายความว่า พระราชทานเพิ่มเติมที่กัลปนาขึ้นอีก คือ วัดหลวงวัดใดที่ยังไม่มีกัลปนามาแต่ก่อน ก็จัดให้มีขึ้นให้เหมือนกับวัดที่มีแล้วให้บริบูรณ์เท่านี้เอง


  1. เลิกเสียเมื่อพระราชทานรัฐธรรมนูญ