ประกาศ
ว่าด้วยทาษลูกหนี้ไม่มีเงินดอกเบี้ยเสียแก่เจ้าหนี้นายเงิน
ก็เฆี่ยนลดเงินดอกเบี้ย ๓ ทีต่อตำลึง

 ด้วย ฯพณฯ สมุหพระกระลาโหม รับพระบรมราชโองการใส่เกล้าใส่กระหม่อมสั่งให้ข้าพระพุทธเจ้า พระมหาราชครูปโรหิตาจารย์ พระมหาราชครูมหิธร พระยามนูเนตติบรรหาร พระยามนูสารสาตรบัญชา พระศรีสังขกร พระพิจารณา หลวงเทพราชธาดา หลวงศรีมโหสถ หลวงธรรมสาตร หลวงอัทธยา หลวงราชมณี ขุนไชยอาญา แต่งพระราชบัญญัติหมายประกาศให้ทราบทั่วกัน ด้วยอีสาทาษทำฎีกากล่าวโทษจมื่นจิตร์จำนงผู้นายเงิน มีใจความว่า จมื่นจิตร์จำนงเอาต้นเงินสองชั่ง ดอกเบี้ยสองชั่ง ทำสารกรมธรรม รวมเปนเงินสี่ชั่ง แล้วจมื่นจิตร์จำนงคิดเอาต้นเงินสี่ชั่ง ดอกเบี้ยสี่ชั่ง รวมเปนเงินแปดชั่ง แจ้งอยู่ในฎีกานั้นแล้ว แลความเรื่องนี้ ขุนหลวงพระไกรศรีได้นำเอาใบสัตย์กราบเรียน ฯพณฯ สมุหพระกระลาโหม แลในระวางใบสัตย์นั้นมีว่า เดิมนายยิ้มทำสารกรมธรรมขายอีสาภรรยา อีหมาจีนบุตร ฝากไว้แก่มารดาภรรยาจมื่นจิตร์จำนงเปนเงินสองชั่ง นายยิ้มรับตัวอีสา อีหมาจีน ผูกดอกเบี้ยไป ดอกเบี้ยเท่าต้นเงิน นายยิ้มมาหาเงินจมื่นจิตร์จำนง ๆ จึ่งได้เอาเงินสี่ชั่งไปวางค่าตัวอีสา อีหมาจีน ภรรยาบุตรนายยิ้ม มาจากมารดาภรรยาจมื่นจิตร์จำนง แล้วนายยิ้มทำสารกรมธรรมขายอีสาภรรยา อีหมาจีนบุตร อีนิ่มหลาน อ้ายอ่อนบุตรเขย ฝากไว้แก่จมื่นจิตร์จำนงเปนเงินตราสี่ชั่ง นายยิ้มรับตัวอีสา อีหมาจีน อีนิ่ม อ้ายอ่อน ผูกดอกเบี้ยไป ดอกเบี้ยเท่าต้นเงิน นายยิ้มผู้ขายตายแล้ว อีสา อีหมาจีน อีนิ่ม ฟ้องกล่าวโทษจมื่นจิตร์จำนง ตระลาการพิจารณาความอีสา อีหมาจีน อีนิ่ม กับจมื่นจิตรจำนงเสร็จสำนวนแล้ว ได้คัดขึ้นให้ลูกขุนปฤกษา ปรับให้อีสา อีหมาจีน อีนิ่ม ใช้ต้นเงินแลดอกเบี้ยให้แก่จมื่นจิตร์จำนงจงเต็ม แล้วให้ทวนอีสา อีหมาจีน อีนิ่ม คนะล ๑๐ ที ถานต่อสู้นายเงิน ได้ความตามระวางใบสัตย์เช่นนี้ มีพระประสาสน์ว่า ซึ่งลูกขุนปรับความเรื่องนี้มา ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว แต่อีสา อีหมาจีน อีนิ่ม ไม่มีเงินดอกเบี้ยจะเสียให้นายเงิน จึ่งมาร้องฎีกา ครั้นจะตัดสินให้ยกเงินดอกเบี้ยเสีย ก็จะเปนอย่างธรรมเนียมไป ภายน่าทาษลูกหนี้ไม่มีเงินดอกเบี้ยจะเสียให้เจ้าหนี้นายเงิน ก็จะมาร้องฎีกาอีก จึ่งมีพระประสาสน์สั่งว่า แต่นี้สืบไปเมื่อน่า ถ้าทาษลูกหนี้คนใดคนหนึ่งมาร้องฟ้องกล่าวโทษเจ้าหนี้นายเงินว่า เอาเงินดอกเบี้ยทำต้นเงินก็ดี แลเงินดอกเบี้ยน้อยคิดฉ้อเอามากก็ดี ถ้าพิจารณาได้ความจริงว่า เปนทาษเปนลูกหนี้ไม่มีเงินดอกเบี้ยจะเสียให้เจ้าหนี้นายเงินประการใด ๆ ก็ดี ให้ตัดสินให้ทาษลูกหนี้ใช้ต้นเงินให้แก่เจ้าหนี้นายเงินจงเต็มตามสารกรมธรรม แต่เงินดอกเบี้ยนั้นมากน้อยเท่าใด ถ้าทาษลูกหนี้ไม่มีเงินจะเสียให้แก่เจ้าหนี้นายเงิน ก็ให้เฆี่ยนทาษลูกหนี้ลดเงินดอกเบี้ยสามทีต่อแสน ๆ ละตำลึงกว่าจะครบเงินดอกเบี้ยนั้นเทอญ

ประกาศมาณวันพุฒ เดือนสาม แรมเจ็ดค่ำ ปีมโรง สัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๓๐