ประชุมกฎหมายประจำศก/เล่ม 66/ภาค 1/ตอน 1/เรื่อง 10
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดั่งต่อไปนี้
มาตรา๑พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๔๙๖”
มาตรา๒พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา๓ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (๗) ของมาตรา ๑๒๙๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
“(๗)โดยนายทะเบียนขีดชื่อออกจากทะเบียน”
มาตรา๔ให้ยกเลิกความใน (๔) ของมาตรา ๑๒๙๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมครั้งสุดท้ายโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พุทธศักราช ๒๔๗๗
มาตรา๕ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๒๙๓ ทวิ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
“มาตรา๑๒๙๓ ทวิถ้าปรากฏว่า วัตถุที่ประสงค์หรือกิจการของสมาคมใดกลายเป็นภัยอันตรายต่อสันติภาพของประชาชนก็ดี หรือน่าจะก่อให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมืองก็ดี นายทะเบียนอาจสั่งให้ขีดชื่อสมาคมนั้นออกเสียจากทะเบียน”
มาตรา๖ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๒๙๓ ตรี แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
“มาตรา๑๒๙๓ ตรีในเมื่อนายทะเบียนสั่งให้ขีดชื่อสมาคมใดออกจากทะเบียนตามบทบัญญัติมาตรา ๑๒๙๓ ทวิ ให้นายทะเบียนมีหนังสือแจ้งไปให้ผู้จัดการสมาคมทราบ ถ้าผู้จัดการสมาคมไม่พอใจในคำวินิจฉัยของนายทะเบียน ให้อุทธรณ์คำสั่งนั้นไปยังรัฐมนตรีเจ้าหน้าที่ในการนี้ได้ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งความ คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้นับว่าเป็นที่สุด”
จอมพล ป. พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี