ประชุมจดหมายเหตุ สมัยอยุธยา ภาค 1/คำนำ

จอมพล ถนอม กิตติขจร
นายกรัฐมนตรี

คำนำ

ประชุมจดหมายเหตุที่คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และโบราณคดี พิมพ์ขึ้นนี้ ได้จัดทำไปตามโครงการที่ตั้งวัตถุประสงค์ไว้ รัฐบาลได้ประกาศแต่งตั้งกรรมการคณะนี้เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๐๕ และเมื่อมีการประชุมครั้งแรก คณะกรรมการได้แบ่งงานออกเป็น ๒ โครงการ คือ (๑) โครงการระยะยาวที่ต้องตรวจสอบชำระเอกสารหรือต้นฉบับที่กระจัดกระจายอยู่ตามที่ต่าง ๆ มาพิจารณาก่อนว่า สมควรจะพิมพ์หรือไม่เพียงใด (๒) โครงการระยะสั้น โดยเร่งรัดจัดพิมพ์เอกสารสำคัญที่มีค่า ซึ่งได้ต้นฉบับมาแต่ยังไม่เคยพิมพ์มาก่อน ผลการปฏิบัติงานตามโครงการระยะสั้นเท่าที่ได้จัดพิมพ์ไปแล้วก็มีประชุมพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาค ๑ ภาค ๒ และประชุมศิลาจารึก ภาค ๓ ในไม่ช้านี้ก็จะมีประชุมพระตำราบรมราชูทิศเพื่อกัลปนาสำเร็จเป็นรูปเล่มออกมาอีกเรื่องหนึ่ง ส่วนการดำเนินงานตามโครงการระยะยาว ขณะนี้ กรรมการผู้ได้รับมอบหมายก็กำลังตรวจพิจารณาต้นฉบับที่มีค่าและหาได้ยากกันอยู่แล้ว คาดหมายว่า จะผลิตออกมาสู่ผู้อ่านได้ในเวลาอันไม่ช้านัก

หนังสือตามโครงการระยะสั้นที่จะเสนอเป็นลำดับต่อไปควรจะเป็นประชุมหมายรับสั่งสมัยอยุธยา สมัยธนบุรี และสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญของชาติที่ทรงคุณค่าที่สุด เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับหลักปกครองแผ่นดิน ขนบธรรมเนียมประเพณีที่เป็นโบราณศาสตรราชนิติ ตลอดจนการพระพุทธศาสนา ซึ่งเอกสารนั้น ๆ ได้จารึกเรื่องที่อ้างไว้อย่างพิสดาร โดยออกมาในรูปที่สมัยโบรารเรียกว่า หมายรับสั่ง คือ ที่ปัจจุบันเราเข้าใจในรูปกระแสพระบรมราชโองการนั่นเอง แต่เนื่องด้วยเอกสารเรื่องนี้มีความพิสดารและซับซ้อนด้วยเรื่องต่าง ๆ เป็นอเนกนัย คณะกรรมการจำต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ วางวิธีการ วางรูปเรื่อง ให้สอดคล้องเป็นลำดับกันมาตามยุคตามรัชสมัย จึงต้องใช้เวลานานพอสมควร ระหว่างที่ดำเนินการตามกรรมวิธีดังกล่าวแล้ว เพื่อมิให้มีช่องว่างของเวลาเกิดขึ้นอย่างเปล่าประโยชน์ นายปรีดา ศรีชลาลัย กรรมการผู้เสนอให้พิมพ์ประชุมหมายรับสั่ง ก็ได้เสนอให้นำเอาประชุมจดหมายเหตุในสมัยอยุธยามาพิมพ์แทนไว้ก่อนจนกว่าการจัดยุครัชสมัยของประชุมหมายรับสั่งจะเสร็จสมบูรณ์ ที่ประชุมกรรมการพิจารณาอนุมัติหลักการแล้วมอบให้นายฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ นายปรีดา ศรีชลาลัย นายยิ้ม ปัณฑยางกูร เป็นผู้รวบรวมจดหมายเหตุมาดำเนินการข้อเสนอ

กรรมการทั้งสามได้รวบรวมเรื่องราวอันมีปรากฏอยู่ตามเอกสารและสถานที่ต่าง ๆ ในรูปจดหมายเหตุมาประมวลเป็นเรื่องราวได้หลายประเภท เช่น ประเภทจดหมายเหตุว่าด้วยการเจริญทางพระราชไมตรี ทางการค้าขาย ทางจดหมายส่งสารโต้ตอบ ทางแต่งหนังสือพระราชพงศาวดาร ทางพระพุทธศาสนา ทางตำราราชเสวกราชประเพณี ทางขบวนพยุหยาตราชลมารคสถลมารค และการพระบรมศพ ฯลฯ จดหมายเหตุประเภทต่าง ๆ เหล่านี้ได้นำมาพิมพ์ขึ้นไว้ตามลำดับศักราชและรัชสมัยเท่าที่จะสรรหามาได้ ดั่งได้แบ่งประเภทพิมพ์ไว้แล้วในเล่มนี้ เริ่มตั้งแต่จดหมายเหตุที่จารึกไว้ ณ พระเจดีย์ศรีสองรักษ์ จังหวัดเลย อันเป็นเรื่องราวระหว่างสมเด็จพระมหาจักรพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยากับสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชแห่งกรุงศรีสัตนาคนหุตกระทำสัตยสาบานเป็นราชพันธมิตรต่อกันเมื่อปีวอก พุทธศักราช ๒๑๐๓ เป็นเรื่องแรก แล้วจบลงด้วยเรื่องจดหมายเหตุการพระบรมศพเป็นเรื่องสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้

กรรมการขอแถลงไว้ด้วยว่า จดหมายเหตุต่าง ๆ ที่นำมาพิมพ์ยังไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร เพราะการรวบรวมเอกสารเป็นไปด้วยความยากลำบาก นอกจากต้องคัดเขียนอักขรวิธีไปตามต้นเรื่องต้นฉบับแล้ว ยังต้องถ่ายภาพหาภาพของจดหมายเหตุเรื่องนั้น ๆ มาพิมพ์ประกอบเป็นหลักฐานไว้อีกด้วย ดั่งนั้น จึงอาจมีจดหมายเหตุระหว่างยุคระหว่างรัชสมัยตกค้างอยู่มิได้นำมาพิมพ์ในคราวนี้ หากมีเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นโดยนัยฉนี้ ก็พึงเข้าใจว่า มีอนุสนธิตามที่ได้พรรณนามา อย่างไรก็ตาม กรรมการจักพยายามรวบรวมจดหมายเหตุที่ตกค้างอยู่มาพิมพ์สืบต่อไปอีกจนกว่าจดหมายเหตุสมัยอยุธยาจะสมบูรณ์ แล้วจึงจะเสนอประชุมจดหมายเหตุสมัยธนบุรี ซึ่งบัดนี้ก็ได้ประมวลไว้แล้ว เป็นอันดับต่อไป

ผู้อ่านประชุมจดหมายเหตุคงจะเห็นความแตกต่างของลายมือที่เขียนหนังสือไทย ถ้อยคำสำนวนโวหาร อักขรวิธี ตลอดจนรูปสระพยัญชนะ ที่ปรากฏในที่แต่ละแห่งของจดหมายเหตุว่า มีความผิดแผกแตกต่างมาทุกสมัย แม้กับปัจจุบันก็ยิ่งแตกต่างกันเป็นอันมาก แสดงให้เห็นว่า การเขียน การพูด การใช้อักขรวิธี เป็นไปตามยุคตามสมัยนิยม และนอกกว่านั้น ยังเป็นมาตรการวัดระดับการศึกษาในสมัยนั้น ๆ ได้ว่า สูงต่ำเพียงใดอีกด้วย เช่น เราจะได้อ่านคำกราบบังคมทูลของขุนนางยศชั้นออกพระผู้เป็นราชทูตเขียนรายงานทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายองศ์พระมหากษัตริย์ด้วยสำนวนโวหารอันไพเราะ ทุกท่านที่ได้อ่านจะเว้นสรรเสริญพระธรรมไมตรีราชทูตของสมเด็จพระบรมโกศมิได้เลยว่า ทำไมจึงเขียนได้ดีถึงเพียงนั้น และข้อที่ควรสำนึกก็คือ นักศึกษาสมัยนี้จะหมิ่นฝีมือเขียนหนังสือคนสมัยอยุธยาไม่ได้เป็นอันขาด

ในโอกาสนี้ ขอขอบคุณกรรมการ ๓ ท่าน คือ นายฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ นายปรีดา ศรีชลาลัย นายยิ้ม ปัณฑยางกูล ที่ได้ร่วมกันดำเนินการจนเป็นผลสำเร็จโดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยากเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของรัฐบาล ในเรื่องการจัดพิมพ์เอกสารนี้ คณะกรรมการจะเว้นเสียไม่ได้ที่จะจารึกไว้ซึ่งพระคุณ ฯพณฯ จอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ที่ได้อนุมัติงบประมาณการจัดพิมพ์เอกสารสำคัญของชาติที่เก่าคร่ำคร่าขึ้นไว้ให้มีอายุสืบต่อไปอีก เพื่อจักได้เป็นหลักศึกษาของประชาชนพลเมืองผู้สนใจในสมบัติวัฒนธรรมประจำชาติ และในวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทย ตลอดจนความรู้ทางโบราณคดี อันเป็นรากฐานทางวัฒนธรรมส่วนหนึ่งของชาติ ทั้งในปัจจุบันและสืบไปในอนาคตกาล ให้ใหม่ต่อเก่าไว้ไม่ขาดสายขาดตอน อันเป็นสัญญลักษณะของความเป็นชนชาติไทยโดยสมบูรณ์

กรรมการหวังว่า ประชุมจดหมายเหตุจะเป็นเอกสารสำคัญที่อำนวยประโยชน์แก่ผู้อ่านโดยทั่วกัน

คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และโบราณคดี
สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี
๑ มกราคม ๒๕๑๐