พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ พ.ศ. 2563

ตราพระบรมราชโองการ
ตราพระบรมราชโองการ
พระราชกำหนด
ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา
เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด
ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙
พ.ศ. ๒๕๖๓

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ
พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๓
เป็นปีที่ ๕ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๗๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกำหนดขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา  พระราชกำหนดนี้เรียกว่า "พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ พ.ศ. ๒๕๖๓"

มาตรา  พระราชกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา  เพื่อประโยชน์ในการแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ ให้กระทรวงการคลัง โดยอนุมัติคณะรัฐมนตรี มีอำนาจกู้เงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศ หรือออกตราสารหนี้ ในนามรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย มีมูลค่ารวมกันไม่เกินหนึ่งล้านบาท โดยต้องลงนามในสัญญากู้เงินหรือออกตราสารหนี้ภายในวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๔

มาตรา  ให้การกู้เงินตามพระราชกำหนดหนี้เป็นการกู้เงินตามมาตรา ๕๓ แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. ๒๕๖๑

มาตรา  เงินกู้ตามพระราชกำหนดนี้จะนำไปใช้เพื่อการอื่นนอกจากการดังต่อไปนี้มิไก้

(๑) เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙

(๒) เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙

(๓) เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙

แผนงานหรือโครงการใช้จ่ายเงินกู้เพื่อการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดนี้

มาตรา  การกู้เงินตามพระราชกำหนดนี้ ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติเท่าที่จำเป็น โดยคำนึงถึงขีดความสามารถของรัฐในการชำระหนี้คืนประกอบด้วย ทั้งนี้ การกู้เงินเพื่อการตามมาตรา ๕ (๑) และ (๒) ให้มีมูลค่ารวมกันไม่เกินหกแสนล้านบาท และเพื่อการตามมาตรา ๕ (๓) ให้มีมูลค่ารวมกันไม่เกินสี่แสนล้านบาท

ในกรณีจำเป็น คณะรัฐมนตรีจะมีมติให้นำวงเงินกู้เพื่อการตามมาตรา ๕ (๒) มาใช้เพื่อการตามมาตรา ๕ (๑) ก็ได้

ในกรณีจำเป็นอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ คณะรัฐมนตรีจะมีมติให้นำวงเงินกู้เพื่อการตามมาตรา ๕ (๓) มาใช้เพื่อการตามมาตรา ๕ (๑) และ (๒) เพิ่มเติมก็ได้ แต่เมื่อรวมวงเงินกู้ทั้งหมด ต้องไม่เกินหนึ่งล้านล้านบาท

มาตรา  เพื่อประโยชน์ในการพิจารณากลั่นกรองและอนุมัติการใช้จ่ายเงินกู้ให้เป็นไปตามมาตรา ๕ และมาตรา ๖ ให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ประกอบด้วย เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานกรรมการ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงการคลัง ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนไม่เกินห้าคน เป็นกรรมการ ให้รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคนหนึ่ง ซึ่งเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมอบหมาย เป็นเลขานุการ และผู้แทนสำนักงบประมาณ และผู้แทนสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เป็นผู้ช่วยเลขานุการร่วม โดยให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติรับผิดชอบงานวิชาการและธุรการของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้

วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ให้เป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรีกำหนด

การดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการตามพระราชกำหนดนี้ ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนดโดยข้อเสนอแนะของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้

มาตรา  ให้คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้มีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้

(๑) พิจารณากลั่นกรองแผนงานหรือโครงการให้เป็นไปตามแผนงานหรือโครงการใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดนี้ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติ

(๒) กำกับดูแลการดำเนินงานตามแผนงานหรือโครงการที่ใช้เงินกู้ตามพระราชกำหนดนี้ และรายงานความก้าวหน้าต่อคณะรัฐมนตรีอย่างน้อยทุกสามเดือน

(๓) กำหนดวงเงินสำหรับรายการเงินสำรองจ่ายตามแผนงานหรือโครงการที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายพระราชกำหนดนี้ เพื่อจัดเตรียมไว้เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการบริหารโครงการ ตามความจำเป็นและเหมาะสม เพื่อขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี

(๔) เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณามีมติตามมาตรา ๖ วรรคสอง และวรรคสาม

(๕) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมาย

(๖) เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อวางระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการที่ใช้เงินกู้ตามพระราชกำหนดนี้ ระเบียบดังกล่าว เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้ว ให้ใช้บังคับได้

(๗) ปฏิบัติการอื่นตามที่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย

การพิจารณากลั่นกรองตาม (๑) คณะกรรมการต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จไม่ช้ากว่ายี่สิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง

มาตรา  ให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะมีหน้าที่และอำนาจดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารและจัดการการกู้เงิน การเบิกจ่ายเงินกู้ การชำระหนี้ และการอื่นใดที่เกี่ยวกับการกู้เงินตามพระราชกำหนดนี้ และให้นำกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะมาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม เว้นแต่คำว่า หน่วยงานของรัฐ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ทั้งนี้ นอกจากพระราชกำหนดนี้จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

มาตรา ๑๐ ภายในหกสิบวันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ ให้กระทรวงการคลังรายงานการกู้เงินตามพระราชกำหนดนี้ที่กระทำในปีงบประมาณที่ล่วงมาแล้วให้รัฐสภาทราบ โดยรายงานดังกล่าวอย่างน้อยต้องระบุรายละเอียดของการกู้เงิน วัตถุประสงค์ของการใช้จ่ายเงินกู้ รวมถึงผลสัมฤทธิ์และประโยชน์ที่ได้รับหรือคาดว่าจะได้รับ

มาตรา ๑๑ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกำหนดนี้


  • ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
  • พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
  • นายกรัฐมนตรี

  • บัญชีท้ายพระราชกำหนด
  • ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม
  • ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ พ.ศ. ๒๕๖๓
แผนงานหรือโครงการ หน่วยงานที่รับผิดชอบ วงเงิน (ภายใต้บังคับมาตรา ๖)
  • ๑.   แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙
  •  ๑.๑   แผนงานหรือโครงการเพื่อรองรับค่าใช้จ่าย ค่าเยียวยา ค่าชดเชย และค่าเสี่ยงภัย สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมถึงผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการจัดหาผู้ชำนาญการทั้งในประเทศและต่างประเทศ
  •  ๑.๒   แผนงานหรือโครงการเพื่อจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุข ยารักษาโรค วัคซีนป้องกันโรค และห้องปฏิบัติการทางการแพทย์
  •  ๑.๓   แผนงานหรือโครงการเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อการบำบัดรักษา ป้องกัน ควบคุมโรค รวมทั้งการวิจัยพัฒนาทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อการฟื้นฟูด้านสาธารณสุขของประเทศ
  •  ๑.๔   แผนงานหรือโครงการเพื่อการเตรียมความพร้อมด้านสถานพยาบาล และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายในการกักตัวผู้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙
  •  ๑.๕   แผนงานหรือโครงการด้านสาธารณสุข เพื่อรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินอันเนื่องมาจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙
  •   กระทรวงสาธารณสุข
  •   หน่วยงานของรัฐที่คณะรัฐมนตรีมอบหมายตามข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข
๔๕,๐๐๐ ล้านบาท
  • ๒.   แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้กับภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙
  •  ๒.๑   แผนงานหรือโครงการเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชนซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙
  •  ๒.๒   แผนงานหรือโครงการเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่เกษตรกรซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙
  •  ๒.๓   แผนงานหรือโครงการเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ผู้ประกอบการซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙
  •  ๒.๔   แผนงานหรือโครงการเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ เพื่อรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินอันเนื่องมาจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙
  •   กระทรวงการคลัง
  •   หน่วยงานของรัฐที่คณะรัฐมนตรีมอบหมายตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง
๕๕๕,๐๐๐ ล้านบาท
  • ๓.   แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙
  •  ๓.๑   แผนงานหรือโครงการลงทุน และกิจกรรมพัฒนา ที่สามารถพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิน เพิ่มศักยภาพ และยกระดับการค้า การผลิต และการบริการในสาขาเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ โดยครอบคลุมภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การค้าและการลงทุน ท่องเที่ยวและบริการ
  •  ๓.๒   แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชนผ่านการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมเพื่อสร้างงานสร้างอาชีพ โดยการส่งเสริมตลาดสำหรับผลผลิตและผลิตภัณฑ์ธุรกิจชุมชนที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวหรือภาคบริการอื่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในชุมชน การจัดหาปัจจัยการผลิตและสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและชุมชน รวมทั้งการสร้างการเข้าถึงช่องทางการตลาด พร้อมทั้งยกระดับมาตรฐานคุณภาพและมูลค่าเพิ่มของสินค้าและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและชุมชน
  •  ๓.๓   แผนงานหรือโครงการเพื่อส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชน รวมถึงการลงทุนต่าง ๆ ของภาคเอกชน เพื่อให้สภาวะการบริโภคและการลงทุนกลับเข้าสู่ระดับปกติได้โดยเร็ว
  •  ๓.๔   แผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานผ่านการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมเพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน และสนับสนุนกระบวนการผลิต เพื่อการพัฒนาประเทศในระยะต่อไป
  •   กระทรวงการคลัง
  •   หน่วยงานของรัฐที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย
๔๐๐,๐๐๐ ล้านบาท

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ โดยที่โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ ได้ระบาดอย่างรุนแรงขึ้นทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย และองค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้เป็นภาวการณ์แพร่ระบาดใหญ่ทั่วโลก ประกอบกับโรคติดเชื้อดังกล่าวเป็นโรคอุบัติใหม่ที่ยังไม่มียารักษาและวัคซีนป้องกัน ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกและภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า การระบาดของโรคดังกล่าวจะสิ้นสุดลงเมื่อใด นอกจากนั้น การระบาดของโรคร้ายแรงนี้ยังทำให้ระบบเศรษฐกิจทั้งของโลกและของประเทศไทยหดตัวลงอย่างรุนแรงและรวดเร็ว กระทบต่อประชาชนทุกสาขาอาชีพในวงกว้าง ถือเป็นภัยพิบัติสาธารณะที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชีวิตและสุขภาพอนามัยของประชาชนและต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างยิ่งยวด ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ใช้งบประมาณแผ่นดินที่มีอยู่ในการดำเนินมาตรการและวิธีการต่าง ๆ เพื่อหยุดยั้งและควบคุมการระบาดของโรค และช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ แต่ก็ยังไม่เพียงพอในอันที่จะยุติการระบาดของโรค และช่วยเหลือเยียวยาประชาชนซึ่งได้รับผลกระทบในทุกภาคส่วน แม้จะได้มีการปรับแผนการใช้จ่ายงบประมาณมาเพื่อใช้จ่ายในการนี้แล้วก็ตาม โดยในเบื้องต้น รัฐบาลประมาณการว่า มีความจำเป็นรีบด่วนที่จะต้องใช้จ่ายเงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ประมาณหนึ่งล้านล้านบาท ซึ่งไม่อาจดำเนินการให้ได้มาโดยวิธีการงบประมาณตามปกติ จึงเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ และป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้

บรรณานุกรม แก้ไข

 

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"