พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545

พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 แก้ไข

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2545
เป็นปีที่ 57 ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 แก้ไข

พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545”

มาตรา 2 แก้ไข

พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป [1]

มาตรา 3 แก้ไข

ให้ยกเลิก

(1) พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2534
(2) พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2534
(3) พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2535
(4) พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2535
(5) พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2535
(6) พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2535
(7) พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2535
(8) พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2536
(9) พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2536
(10) พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2537
(11) พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2537
(12) พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2538
(13) พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2538
(14) พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2539
(15) พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 15) พ.ศ. 2541
(16) พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2541
(17) พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2542
(18) พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2542
(19) พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2542
(20) พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2542
(21) พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 21) พ.ศ. 2542
(22) พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 22) พ.ศ. 2543
(23) พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 23) พ.ศ. 2544

มาตรา 4 แก้ไข

ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 5 แก้ไข

ให้มีกระทรวง และส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกระทรวง ดังต่อไปนี้

(1) สำนักนายกรัฐมนตรี
(2) กระทรวงกลาโหม
(3) กระทรวงการคลัง
(4) กระทรวงการต่างประเทศ
(5) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
(6) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
(7) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
(8) กระทรวงคมนาคม
(9) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
(10) กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
(11) กระทรวงพลังงาน
(12) กระทรวงพาณิชย์
(13) กระทรวงมหาดไทย
(14) กระทรวงยุติธรรม
(15) กระทรวงแรงงาน
(16) กระทรวงวัฒนธรรม
(17) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
(18) กระทรวงศึกษาธิการ
(19) กระทรวงสาธารณสุข
(20) กระทรวงอุตสาหกรรม

หมวด 1 สำนักนายกรัฐมนตรี แก้ไข

มาตรา 6 แก้ไข

สำนักนายกรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการทั่วไปของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี รับผิดชอบการบริหารราชการทั่วไป เสนอแนะนโยบายและวางแผนการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และความมั่นคง และราชการเกี่ยวกับการงบประมาณ ระบบราชการ การบริหารงานบุคคล กฎหมายและการพัฒนากฎหมาย การติดตามและประเมินผลการปฏิบัติราชการ การปฏิบัติภารกิจพิเศษและราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักนายกรัฐมนตรีหรือส่วนราชการที่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี หรือที่มิได้อยู่ภายในอำนาจหน้าที่ของกระทรวงใดโดยเฉพาะ

มาตรา 7 แก้ไข

สำนักนายกรัฐมนตรี มีส่วนราชการ ดังต่อไปนี้

(1) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
(2) กรมประชาสัมพันธ์
(3) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค

ส่วนราชการที่อยู่ในบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี

(4) สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
(5) สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
(6) สำนักข่าวกรองแห่งชาติ
(7) สำนักงบประมาณ
(8) สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ
(9) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
(10) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน
(11) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
(12) [2] สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ

หมวด 2 กระทรวงกลาโหม แก้ไข

มาตรา 8 แก้ไข

กระทรวงกลาโหม มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการป้องกันและรักษาความมั่นคงของราชอาณาจักรจากภัยคุกคามทั้งภายนอกและภายในประเทศ การรักษาผลประโยชน์แห่งชาติ สนับสนุนการพัฒนาประเทศ และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงกลาโหมหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงกลาโหม [3]

มาตรา 9 แก้ไข

การจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหมให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบแบบแผนว่าด้วยการนั้น

หมวด 3 กระทรวงการคลัง แก้ไข

มาตรา 10 แก้ไข

กระทรวงการคลัง มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเงินการคลังแผ่นดิน การประเมินราคาทรัพย์สิน การบริหารพัสดุภาครัฐ กิจการเกี่ยวกับที่ราชพัสดุ ทรัพย์สินของแผ่นดิน ภาษีอากร การรัษฎากร กิจการหารายได้ที่รัฐมีอำนาจดำเนินการได้แต่ผู้เดียวตามกฎหมายและไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการอื่น การบริหารหนี้สาธารณะ การบริหารและการพัฒนารัฐวิสาหกิจและหลักทรัพย์ของรัฐ และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงการคลังหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงการคลัง

มาตรา 11 แก้ไข

กระทรวงการคลัง มีส่วนราชการ ดังต่อไปนี้

(1) สำนักงานรัฐมนตรี
(2) สำนักงานปลัดกระทรวง
(3) กรมธนารักษ์
(4) กรมบัญชีกลาง
(5) กรมศุลกากร
(6) กรมสรรพสามิต
(7) กรมสรรพากร
(8) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ
(9) สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ
(10) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

หมวด 4 กระทรวงการต่างประเทศ แก้ไข

มาตรา 12 แก้ไข

กระทรวงการต่างประเทศ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการต่างประเทศ และราชการอื่นตามที่ได้มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงการต่างประเทศ

มาตรา 13 แก้ไข

กระทรวงการต่างประเทศ มีส่วนราชการ ดังต่อไปนี้

(1) สำนักงานรัฐมนตรี
(2) สำนักงานปลัดกระทรวง
(3) กรมการกงสุล
(4) กรมพิธีการทูต
(5) กรมยุโรป
(6) กรมวิเทศสหการ
(7) กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
(8) กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย
(9) กรมสารนิเทศ
(10) กรมองค์การระหว่างประเทศ
(11) กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้
(12) กรมอาเซียน
(13) กรมเอเชียตะวันออก
(14) กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา

หมวด 5 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา แก้ไข

มาตรา 14 แก้ไข

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การกีฬา การศึกษาด้านกีฬา นันทนาการ และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

มาตรา 15 แก้ไข

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีส่วนราชการ ดังต่อไปนี้

(1) สำนักงานรัฐมนตรี
(2) สำนักงานปลัดกระทรวง
(3) สำนักงานพัฒนาการกีฬาและนันทนาการ
(4) สำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว

หมวด 6 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แก้ไข

มาตรา 16 แก้ไข

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการพัฒนาสังคม การสร้างความเป็นธรรมและความเสมอภาคในสังคม การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพและความมั่นคงในชีวิต สถาบันครอบครัว และชุมชน และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์หรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

มาตรา 17 แก้ไข

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีส่วนราชการ ดังต่อไปนี้

(1) สำนักงานรัฐมนตรี
(2) สำนักงานปลัดกระทรวง
(3) กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ
(4) สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว
(5) สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ

หมวด 7 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แก้ไข

มาตรา 18 แก้ไข

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับเกษตรกรรม กรมป่าไม้ การจัดหาแหล่งน้ำและพัฒนาระบบชลประทาน ส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร ส่งเสริมและพัฒนาระบบสหกรณ์ รวมตลอดทั้งกระบวนการผลิตและสินค้าเกษตรกรรม และราชการอื่นตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

มาตรา 19 แก้ไข

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีส่วนราชการ ดังต่อไปนี้

(1) สำนักงานรัฐมนตรี
(2) สำนักงานปลัดกระทรวง
(2/1) [4] กรมการข้าว
(3) กรมชลประทาน
(4) กรมตรวจบัญชีสหกรณ์
(5) กรมประมง
(6) กรมปศุสัตว์
(7) กรมป่าไม้
(8) กรมพัฒนาที่ดิน
(9) กรมวิชาการเกษตร
(10) กรมส่งเสริมการเกษตร
(11) กรมส่งเสริมสหกรณ์
(12) สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
(13) สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ
(14) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

หมวด 8 กระทรวงคมนาคม แก้ไข

มาตรา 20 แก้ไข

กระทรวงคมนาคม มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการขนส่ง ธุรกิจการขนส่ง การวางแผนจราจร และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงคมนาคมหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงคมนาคม

มาตรา 21 แก้ไข

กระทรวงคมนาคม มีส่วนราชการ ดังต่อไปนี้

(1) สำนักงานรัฐมนตรี
(2) สำนักงานปลัดกระทรวง
(3) กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี
(4) กรมการขนส่งทางบก
(5) กรมการขนส่งทางอากาศ
(6) กรมทางหลวง
(7) กรมทางหลวงชนบท
(8) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร

หมวด 9 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แก้ไข

มาตรา 22 แก้ไข

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการสงวน อนุรักษ์ และการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การจัดการการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน และราชการอื่นตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

มาตรา 23 แก้ไข

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีส่วนราชการ ดังต่อไปนี้

(1) สำนักงานรัฐมนตรี
(2) สำนักงานปลัดกระทรวง
(3) กรมควบคุมมลพิษ
(4) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
(5) กรมทรัพยากรธรณี
(6) กรมทรัพยากรน้ำ
(7) กรมทรัพยากรน้ำบาดาล
(8) กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
(9) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
(10) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

หมวด 10 กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร แก้ไข

มาตรา 24 แก้ไข

กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการวางแผน ส่งเสริม พัฒนา และดำเนินกิจการเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การอุตุนิยมวิทยา และการสถิติ และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

มาตรา 25 แก้ไข

กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มีส่วนราชการ ดังต่อไปนี้

(1) สำนักงานรัฐมนตรี
(2) สำนักงานปลัดกระทรวง
(3) กรมไปรษณีย์โทรเลข
(4) กรมอุตุนิยมวิทยา
(5) สำนักงานสถิติแห่งชาติ

หมวด 11 กระทรวงพลังงาน แก้ไข

มาตรา 26 แก้ไข

กระทรวงพลังงาน มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการจัดหา พัฒนาและบริหารจัดการพลังงาน และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของกระทรวงพลังงานหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงพลังงาน

มาตรา 27 แก้ไข

กระทรวงพลังงาน มีส่วนราชการ ดังต่อไปนี้

(1) สำนักงานรัฐมนตรี
(2) สำนักงานปลัดกระทรวง
(3) กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ
(4) กรมธุรกิจพลังงาน
(5) กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
(6) สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน

หมวด 12 กระทรวงพาณิชย์ แก้ไข

มาตรา 28 แก้ไข

กระทรวงพาณิชย์ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการค้า ธุรกิจบริการ ทรัพย์สินทางปัญญา และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์หรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงพาณิชย์

มาตรา 29 แก้ไข

กระทรวงพาณิชย์ มีส่วนราชการ ดังต่อไปนี้

(1) สำนักงานรัฐมนตรี
(2) สำนักงานปลัดกระทรวง
(3) กรมการค้าต่างประเทศ
(4) กรมการค้าภายใน
(5) (ยกเลิก) [5]
(6) กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
(7) กรมทรัพย์สินทางปัญญา
(8) กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
(9) กรมส่งเสริมการส่งออก

หมวด 13 กระทรวงมหาดไทย แก้ไข

มาตรา 30 แก้ไข

กระทรวงมหาดไทย มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการบำบัดทุกข์บำรุงสุข การรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน การอำนวยความเป็นธรรมของสังคม การส่งเสริมและพัฒนาการเมืองการปกครอง การพัฒนาการบริหารราชการส่วนภูมิภาค การปกครองท้องที่ การส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและพัฒนาชุมชน การทะเบียนราษฎร ความมั่นคงภายใน กิจการสาธารณภัย และการพัฒนาเมืองและราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงมหาดไทย

มาตรา 31 แก้ไข

กระทรวงมหาดไทย มีส่วนราชการ ดังต่อไปนี้

(1) สำนักงานรัฐมนตรี
(2) สำนักงานปลัดกระทรวง
(3) กรมการปกครอง
(4) กรมการพัฒนาชุมชน
(5) กรมที่ดิน
(6) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
(7) กรมโยธาธิการและผังเมือง
(8) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

หมวด 14 กระทรวงยุติธรรม แก้ไข

มาตรา 32 แก้ไข

กระทรวงยุติธรรม มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการกระบวนการยุติธรรมเสริมสร้างและอำนวยความยุติธรรมในสังคม และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงยุติธรรมหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงยุติธรรม

มาตรา 33 แก้ไข

กระทรวงยุติธรรม มีส่วนราชการ ดังต่อไปนี้

(1) สำนักงานรัฐมนตรี
(2) สำนักงานปลัดกระทรวง
(3) กรมคุมประพฤติ
(4) กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ
(5) กรมบังคับคดี
(6) กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน
(7) กรมราชทัณฑ์
(8) กรมสอบสวนคดีพิเศษ
(9) สำนักงานกิจการยุติธรรม
(10) สถาบันนิติวิทยาศาสตร์

ส่วนราชการที่อยู่ในบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อรัฐมนตรี

(11) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

หมวด 15 กระทรวงแรงงาน แก้ไข

มาตรา 34 แก้ไข

กระทรวงแรงงาน มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารและคุ้มครองแรงงาน พัฒนาฝีมือแรงงาน ส่งเสริมให้ประชาชนมีงานทำ และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงแรงงานหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงแรงงาน

มาตรา 35 แก้ไข

กระทรวงแรงงาน มีส่วนราชการ ดังต่อไปนี้

(1) สำนักงานรัฐมนตรี
(2) สำนักงานปลัดกระทรวง
(3) กรมการจัดหางาน
(4) กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
(5) กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
(6) สำนักงานประกันสังคม

หมวด 16 กระทรวงวัฒนธรรม แก้ไข

มาตรา 36 แก้ไข

กระทรวงวัฒนธรรม มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับศิลปะ ศาสนา และวัฒนธรรม และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงวัฒนธรรมหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงวัฒนธรรม

มาตรา 37 แก้ไข

กระทรวงวัฒนธรรม มีส่วนราชการ ดังต่อไปนี้

(1) สำนักงานรัฐมนตรี
(2) สำนักงานปลัดกระทรวง
(3) กรมการศาสนา
(4) กรมศิลปากร
(5) สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
(6) สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย

หมวด 17 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แก้ไข

มาตรา 38 แก้ไข

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการวางแผน ส่งเสริมและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

มาตรา 39 แก้ไข

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีส่วนราชการ ดังต่อไปนี้

(1) สำนักงานรัฐมนตรี
(2) สำนักงานปลัดกระทรวง
(3) กรมวิทยาศาสตร์บริการ
(4) สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ

หมวด 18 กระทรวงศึกษาธิการ แก้ไข

มาตรา 40 แก้ไข

กระทรวงศึกษาธิการ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและกำกับดูแลการศึกษาทุกระดับและทุกประเภท กำหนดนโยบาย แผน และมาตรฐานการศึกษา สนับสนุนทรัพยากรเพื่อการศึกษา ส่งเสริมและประสานงานการศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม และการกีฬาเพื่อการศึกษา รวมทั้งการติดตามตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษา และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ

มาตรา 41 แก้ไข

การจัดระเบียบราชการกระทรวงศึกษาธิการ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

หมวด 19 กระทรวงสาธารณสุข แก้ไข

มาตรา 42 แก้ไข

กระทรวงสาธารณสุข มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพอนามัย การป้องกัน ควบคุม และรักษาโรคภัย การฟื้นฟูสมรรถภาพของประชาชน และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุข

มาตรา 43 แก้ไข

กระทรวงสาธารณสุข มีส่วนราชการ ดังต่อไปนี้

(1) สำนักงานรัฐมนตรี
(2) สำนักงานปลัดกระทรวง
(3) กรมการแพทย์
(4) กรมควบคุมโรค
(5) กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
(6) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
(7) กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
(8) กรมสุขภาพจิต
(9) กรมอนามัย
(10) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

หมวด 20 กระทรวงอุตสาหกรรม แก้ไข

มาตรา 44 แก้ไข

กระทรวงอุตสาหกรรม มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรม การส่งเสริมการลงทุน การพัฒนาผู้ประกอบการ และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรมหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม

มาตรา 45 แก้ไข

กระทรวงอุตสาหกรรม มีส่วนราชการ ดังต่อไปนี้

(1) สำนักงานรัฐมนตรี
(2) สำนักงานปลัดกระทรวง
(3) กรมโรงงานอุตสาหกรรม
(4) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
(5) กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
(6) สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย
(7) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
(8) สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ส่วนราชการที่อยู่ในบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อรัฐมนตรี

(9) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

หมวด 21 ส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงหรือทบวง แก้ไข

มาตรา 46 แก้ไข

ส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงหรือทบวง มีดังต่อไปนี้

(1) สำนักราชเลขาธิการ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเลขานุการในพระองค์พระมหากษัตริย์
(2) สำนักพระราชวัง มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการจัดการพระราชวัง ตลอดจนดูแลรักษาทรัพย์สินและผลประโยชน์ของพระมหากษัตริย์
(3) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับกิจการพระพุทธศาสนา ส่งเสริมพัฒนาพระพุทธศาสนาและดูแลรักษาศาสนสมบัติตามกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ และอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย
(4) สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
(5) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการวิจัย และอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย
(6) ราชบัณฑิตยสถาน มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการค้นคว้า วิจัย และเผยแพร่ทางวิชาการและอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย
(7) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อย และอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย
(8) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการดำเนินการให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและคณะกรรมการธุรกรรม และอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย
(9) สำนักงานอัยการสูงสุด มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาทั้งปวง ดำเนินคดีแพ่งและให้คำปรึกษาด้านกฎหมายแก่รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ และอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย

ส่วนราชการตามวรรคหนึ่ง (1) (2) (3) (4) (5) (6) และ (7) มีฐานะเป็นกรม อยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี

ส่วนราชการตามวรรคหนึ่ง (8) และ (9) มีฐานะเป็นกรม อยู่ในบังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

บทเฉพาะกาล แก้ไข

มาตรา 47 แก้ไข

ให้โอนบรรดากิจการ อำนาจหน้าที่ ทรัพย์สิน งบประมาณ หนี้ สิทธิ และภาระผูกพันทั้งปวงของกระทรวง ทบวง กรม และส่วนราชการอื่นที่ถูกยุบเลิกตามมาตรา 3 ไปเป็นของกระทรวง กรมหรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ โดยกิจการ อำนาจหน้าที่ ทรัพย์สิน งบประมาณ หนี้ สิทธิ และภาระผูกพันของกระทรวง ทบวง กรม และส่วนราชการอื่นใดจะโอนไปเป็นของส่วนราชการใด ให้เป็นไปตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวจะกำหนดให้การกำหนดรายละเอียดบางกรณีเป็นไปตามมติของคณะรัฐมนตรีหรือประกาศของรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องก็ได้

มาตรา 48 แก้ไข

ให้โอนบรรดาข้าราชการ ลูกจ้าง และอัตรากำลังของกระทรวง ทบวง กรม และส่วนราชการอื่นที่ถูกยุบเลิกตามมาตรา 3 ไปเป็นข้าราชการ ลูกจ้าง และอัตรากำลังของกระทรวง กรมหรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นตามพระราชบัญญัตินี้ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวจะกำหนดให้การกำหนดรายละเอียดบางกรณีเป็นไปตามมติของคณะรัฐมนตรีหรือประกาศของรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องก็ได้

มาตรา 49 แก้ไข

บรรดาอำนาจหน้าที่ที่มีบทกฎหมายกำหนดให้เป็นของส่วนราชการที่ถูกยุบเลิกตามมาตรา 3 หรือของรัฐมนตรี ผู้ดำรงตำแหน่ง หรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในส่วนราชการนั้น ให้โอนไปเป็นของส่วนราชการ หรือของรัฐมนตรี ผู้ดำรงตำแหน่งหรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในส่วนราชการอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

ในการโอนอำนาจหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ถ้าจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของคณะกรรมการตามกฎหมายใด หรือแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติของกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สอดคล้องกับการโอนอำนาจหน้าที่และเจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าว ให้กระทำได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกาโดยในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวจะกำหนดเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาให้ส่วนราชการที่ถูกโอนอำนาจหน้าที่ไป รัฐมนตรีผู้ดำรงตำแหน่งหรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในส่วนราชการนั้น ยังคงมีอำนาจหน้าที่เดิมต่อไปเพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการให้มีความต่อเนื่องกันก็ได้

ให้ถือว่าพระราชกฤษฎีกาตามมาตรานี้มีผลเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมบรรดาบทกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย

มาตรา 50 แก้ไข

ให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมของกระทรวงที่ถูกยุบเลิกตามมาตรา 3 และรัฐมนตรีช่วยว่าการของกระทรวงดังกล่าว เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และรัฐมนตรีช่วยว่าการที่เกี่ยวข้องของกระทรวงตามมาตรา 5 ตามลำดับ จนกว่าจะมีประกาศพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรีใหม่

มาตรา 51 แก้ไข

ในระหว่างที่ยังมิได้จัดระเบียบราชการกระทรวงศึกษาธิการให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ ให้กระทรวงศึกษาธิการมีส่วนราชการภายในกระทรวงตามที่พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติมบัญญัติไว้สำหรับกระทรวงศึกษาธิการ เว้นแต่ส่วนราชการใดของกระทรวงศึกษาธิการที่พระราชบัญญัตินี้บัญญัติไว้ให้อยู่ในสังกัดของกระทรวง ทบวง กรมอื่นแล้ว

ให้ {[สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ]] ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2534 มีฐานะเป็นกรมอยู่ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ จนกว่าจะมีการจัดระเบียบกระทรวงศึกษาธิการตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ

มาตรา 52 แก้ไข

ให้ทบวงมหาวิทยาลัยและส่วนราชการที่สังกัดทบวงมหาวิทยาลัยตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งถูกยกเลิกโดยมาตรา 3 ยังคงเป็นทบวงมหาวิทยาลัยซึ่งมีฐานะเทียบเท่ากระทรวงและส่วนราชการที่สังกัดทบวงมหาวิทยาลัยต่อไปและให้มีรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย และข้าราชการในทบวงมหาวิทยาลัยและในส่วนราชการที่สังกัดทบวงมหาวิทยาลัย โดยมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ จนกว่าจะมีการจัดระเบียบราชการกระทรวงศึกษาธิการตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ

มาตรา 53 แก้ไข

ภายในสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้โอนกิจการอำนาจหน้าที่ ทรัพย์สิน งบประมาณ หนี้ สิทธิ ภาระผูกพัน ข้าราชการ ลูกจ้าง และอัตรากำลังของกรมวิเทศสหการและบรรดาอำนาจหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งหรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในกรมวิเทศสหการ ไปเป็นของส่วนราชการหนึ่งส่วนราชการใดของกระทรวงการต่างประเทศ หรือของผู้ดำรงตำแหน่งหรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในส่วนราชการดังกล่าว แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวจะกำหนดให้การกำหนดรายละเอียดบางกรณีเป็นไปตามมติของคณะรัฐมนตรีหรือประกาศของรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องก็ได้

เมื่อมีการตราพระราชกฤษฎีกาตามวรรคหนึ่งขึ้นใช้บังคับแล้ว ให้ถือว่ากรมวิเทศสหการเป็นอันยุบเลิก

มาตรา 54 แก้ไข

(ยกเลิก) [6]

มาตรา 55 แก้ไข

ภายในสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้รัฐบาลเสนอกฎหมายปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ให้สอดรับกับภารกิจของทหารตามรัฐธรรมนูญ

มาตรา 56 แก้ไข

ภายในสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้รัฐบาลเสนอกฎหมายเพื่อโอนภารกิจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่มิใช่ภารกิจหลักในการรักษาความสงบเรียบร้อยและการป้องกันและปราบปรามผู้กระทำผิด ไปเป็นของส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐอื่นที่เกี่ยวข้องและเพื่อลดภารกิจในพื้นที่ตามลำดับความพร้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการรักษาความสงบเรียบร้อยและการป้องกันและปราบปรามผู้กระทำผิด

มาตรา 57 แก้ไข

ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้รัฐบาลเสนอกฎหมายจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และกรมสำรวจและทำแผนที่พลเรือน ขึ้นในกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

มาตรา 58 แก้ไข

ให้โอนกิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่ งบประมาณ ข้าราชการและลูกจ้างของกรมไปรษณีย์โทรเลขตามบทบัญญัติกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมไปเป็นของสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เสมือนสำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นสำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม และเมื่อมีการโอนแล้วให้ถือว่ากรมไปรษณีย์โทรเลขเป็นอันยุบเลิก

มาตรา 59 แก้ไข

ภายใต้บังคับวรรคสอง ให้กระทรวง กรม และส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเป็นกรมตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติมยังคงมีอำนาจหน้าที่และการจัดระเบียบราชการเช่นเดิมต่อไป เว้นแต่กระทรวงกลาโหม สำนักราชเลขาธิการ สำนักพระราชวัง สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ราชบัณฑิตยสถาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และสำนักงานอัยการสูงสุด ให้มีอำนาจหน้าที่และการจัดระเบียบราชการตามพระราชบัญญัตินี้นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

เมื่อมีการตราพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 47 มาตรา 48 และมาตรา 49 ใช้บังคับสำหรับกระทรวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเป็นกรมแห่งใดแล้ว ให้กระทรวง กรมหรือส่วนราชการนั้น มีอำนาจหน้าที่และการจัดระเบียบราชการตามพระราชบัญญัตินี้นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับเป็นต้นไป

ในการจัดระเบียบราชการระยะแรก ถ้ากระทรวงใดสมควรมีกลุ่มภารกิจให้ตรากฎกระทรวงกำหนดให้มีกลุ่มภารกิจใช้บังคับพร้อมกับพระราชกฤษฎีกาตามวรรคสอง

ในกรณีที่มีการจัดระเบียบราชการของกระทรวงใดเป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว ถ้ากระทรวงนั้นมีตำแหน่งรองปลัดกระทรวงและผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกินกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และเป็นกรณีที่ไม่สามารถย้ายไปดำรงตำแหน่งอื่นในกระทรวงนั้นหรือกระทรวงอื่นที่เหมาะสมได้ ให้ตำแหน่งรองปลัดกระทรวงและผู้ช่วยปลัดกระทรวงดังกล่าวยังคงมีต่อไปได้ แต่ต้องไม่เกินสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

มาตรา 60 แก้ไข

ให้รัฐบาลรายงานค่าใช้จ่ายประจำและอัตราของข้าราชการและลูกจ้างของราชการส่วนกลางและราชการส่วนภูมิภาคเปรียบเทียบกับก่อนพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เมื่อครบกำหนดหนึ่งปีและสองปีของการใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้


ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ
รองนายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ แก้ไข

   เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ระบบราชการนั้นเป็นกลไกสำคัญของประเทศในอันที่จะผลักดันให้แนวทางการบริหารประเทศตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่าง ๆ รวมทั้งการดำเนินการตามแนวนโยบายของรัฐเกิดผลสำเร็จเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนส่วนรวม การจัดกลไกของระบบราชการจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นไปของสังคม ซึ่งที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีการปรับปรุงการแบ่งส่วนราชการหลายครั้ง แต่ยังคงให้มีการปฏิบัติราชการตามโครงสร้างการบริหารที่ไม่แตกต่างจากรูปแบบเดิมซึ่งเป็นผลให้การทำงานของข้าราชการเป็นไปด้วยความล่าช้าเพราะมีขั้นตอนการปฏิบัติงานค่อนข้างมาก และส่วนราชการต่าง ๆ มิได้กำหนดเป้าหมายร่วมกันและจัดกลไกการปฏิบัติงานให้มีความสัมพันธ์กัน จึงเป็นผลทำให้การปฏิบัติงานเกิดความซ้ำซ้อนและกระทบต่อการให้บริการแก่ประชาชน แนวทางแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้จำเป็นต้องมีการปรับปรุงระบบราชการทั้งระบบ โดยการปรับอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการขึ้นใหม่ และปรับปรุงการบริหารงานโดยการจัดส่วนราชการที่ปฏิบัติงานสัมพันธ์กันรวมไว้เป็นกลุ่มงานเดียวกัน ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการปรับระบบการทำงานในรูปกลุ่มภารกิจ เพื่อให้สามารถกำหนดเป้าหมายและทิศทางการปฏิบัติงานของส่วนราชการที่มีความเกี่ยวข้องกันให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีเอกภาพ และเกิดประสิทธิภาพ รวมทั้งจะเป็นการลดค่าใช้จ่ายในส่วนงานที่ซ้ำซ้อนกัน เมื่อจัดส่วนราชการใหม่ให้สามารถปฏิบัติงานได้แล้วจะมีผลทำให้แนวทางความรับผิดชอบของส่วนราชการต่าง ๆ มีเป้าหมายที่ชัดเจน ซึ่งจะสามารถปรับปรุงการทำงานของข้าราชการให้มีประสิทธิภาพในระยะต่อไปได้  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2549 [7]


หมายเหตุ แก้ไข

  เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากข้าวเป็นพืชที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจไทย แต่ปัจจุบันหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องข้าวมีอยู่หลายหน่วยงานและกระจัดกระจายอยู่ตามส่วนราชการต่าง ๆ ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงสมควรให้มีการจัดตั้งกรมการข้าวขึ้นมีฐานะเป็นส่วนราชการระดับกรมเพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบดูแลเรื่องข้าวโดยเฉพาะ ให้ครอบคลุมถึงการปรับปรุงพัฒนาการปลูกข้าวให้มีผลผลิตต่อพื้นที่และคุณภาพสูงขึ้น การพัฒนาพันธุ์ การอนุรักษ์และคุ้มครองพันธุ์ การผลิตเมล็ดพันธุ์ การตรวจสอบรับรองมาตรฐาน การส่งเสริมและเผยแพร่เพื่อพัฒนาชาวนา การแปรรูป และการจัดการอื่น ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าข้าว รวมทั้งการตลาดและการส่งเสริมวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับข้าว  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้


พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2550 [8]

หมายเหตุ แก้ไข

  เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย พ.ศ. 2550 มีบทบัญญัติให้จัดตั้งคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยเพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยแทนกรมการประกันภัย กระทรวงพาณิชย์ และให้โอนบรรดากิจการ อำนาจหน้าที่ ทรัพย์สิน งบประมาณ เงินของกองทุนเพื่อการพัฒนาธุรกิจประกันวินาศภัย เงินของกองทุนเพื่อการพัฒนาธุรกิจประกันชีวิต เงินของกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย หนี้ สิทธิ และภาระผูกพันของกรมการประกันภัย กระทรวงพาณิชย์ ในส่วนที่เกี่ยวกับงานประกันวินาศภัย งานประกันชีวิต และงานคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ไปเป็นของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย และให้โอนการดำเนินคดีและการดำเนินการทางวินัยกับข้าราชการหรือลูกจ้างและเงินงบประมาณหมวดเงินเดือนและค่าจ้างประจำและเงินต่าง ๆ ที่จ่ายควบกับเงินเดือนซึ่งมีผู้ครองอยู่ ให้โอนไปเป็นของสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ กรณีจึงมีความจำเป็นต้องยกเลิกความใน (5) ของมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ให้สอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย พ.ศ. 2550  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้


พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2550 [9]

มาตรา 4 แก้ไข

ให้โอนบรรดากิจการ อำนาจหน้าที่ ทรัพย์สิน งบประมาณ สิทธิ หนี้ และภาระผูกพันทั้งปวง ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 ไปเป็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 5 แก้ไข

ให้โอนบรรดาข้าราชการ ลูกจ้าง และอัตรากำลังของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 ไปเป็นข้าราชการ ลูกจ้าง และอัตรากำลังของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้

หมายเหตุ แก้ไข

  เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550 กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการเป็นส่วนราชการในสำนักนายกรัฐมนตรี และเป็นส่วนราชการที่อยู่ในบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่รับผิดชอบงานธุรการของ ก.พ.ร. และหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายหรือ ก.พ.ร. กำหนด ในการนี้สมควรแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 เพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติดังกล่าว  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้


พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2550 [10]

หมายเหตุ แก้ไข

  เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่บทบัญญัติมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ได้บัญญัติให้ต้องยุบเลิกกรมทางหลวงชนบทภายในห้าปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ โดยให้โอนกิจการอำนาจหน้าที่ ทรัพย์สิน งบประมาณ หนี้ สิทธิ ภาระผูกพัน ข้าราชการ ลูกจ้าง และอัตรากำลังของกรมทางหลวงชนบท และบรรดาอำนาจหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งหรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในกรมทางหลวงชนบท ไปเป็นของกรมทางหลวงหรือผู้ดำรงตำแหน่งหรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในกรมทางหลวง หรือไปเป็นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือผู้ดำรงตำแหน่งหรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แล้วแต่กรณี ซึ่งการยุบเลิกจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินภารกิจในการกำหนดมาตรฐาน การควบคุมในทางวิชาการ และการพัฒนางานทางหลวงชนบทและทางหลวงท้องถิ่นในภาพรวม ดังนั้น สมควรยกเลิกบทบัญญัติดังกล่าวเพื่อให้ยังคงมีกรมทางหลวงชนบทเพื่อดำเนินภารกิจต่อไป  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2552 [11]

หมายเหตุ แก้ไข

  เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา 54 แห่งกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม บัญญัติให้กรมทางหลวงชนบทต้องยุบเลิกไปภายใน 10 ปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ แต่เนื่องจากภารกิจปัจจุบันที่กรมทางหลวงชนบทดำเนินการอยู่มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง และการกระจายความเจริญสู่ชนบท ซึ่งเป็นนโยบายหลักของทุกรัฐบาล โดยกรมทางหลวงชนบทมีหน้าที่หลักในการกำหนดมาตรฐานทางการก่อสร้างและการบำรุงรักษาทางทั้งทางหลวงชนบทและทางหลวงท้องถิ่นที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) ควบคุมในทางวิชาการงานทางฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ทั้งระดับผู้ปฏิบัติและระดับผู้บริหารของ อปท. ทั่วประเทศ กำกับและตรวจตราให้เป็นไปตามมาตรฐานและหลักวิชาการตามที่กำหนดไว้วิจัยและพัฒนางานทางเพื่อสนับสนุนการพัฒนางานทางหลวงชนบทและงานทางหลวงท้องถิ่น ให้คำปรึกษาและให้ความช่วยเหลือในด้านวิชาการแก่ อปท. นอกจากนั้นกฎหมายทางหลวงได้กำหนดให้กรมทางหลวงชนบทมีหน้าที่เพิ่มขึ้นจากเดิม และมีสาระสำคัญ 2 ด้าน คือ ด้านกำกับตรวจตราและควบคุมทางหลวง และด้านควบคุม รักษาขยายและสงวนเขตทาง จึงมีความจำเป็นต้องมีกรมทางหลวงชนบทไว้รับผิดชอบภารกิจดังกล่าวซึ่งมีความสำคัญต่อระบบการคมนาคมขนส่งทางบกของประเทศ  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

เชิงอรรถ แก้ไข

  1. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 119/ตอนที่ 99 ก/หน้า 14/2 ตุลาคม 2545
  2. มาตรา 7 (12) เพิ่มโดยพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2550
  3. พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม
  4. มาตรา 19 (2/1) เพิ่มโดยพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2549
  5. มาตรา 29 (5) ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2550
  6. มาตรา 54 ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2552
  7. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 123/ตอนที่ 26 ก/หน้า 4/15 มีนาคม 2549
  8. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124/ตอนที่ 49 ก/หน้า 1/31 สิงหาคม 2550
  9. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124/ตอนที่ 55 ก/หน้า 11/15 กันยายน 2550
  10. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124/ตอนที่ 100 ก/หน้า 21/28 ธันวาคม 2550
  11. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 126/ตอนที่ 48 ก/หน้า 1/27 กรกฎาคม 2552