พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539

สารบัญ
พระราชบัญญัติ
คำปรารภ
มาตรา
  1. นามพระราชบัญญัติ
  2. วันเริ่มใช้บังคับ
  3. การยกเลิกกฎหมายเดิม
  4. บทนิยาม
  5. การกระทำเพื่อค้าประเวณี
  6. การมั่วสุมในสถานค้าประเวณี
  7. การโฆษณาค้าประเวณี
  8. การชำเราบุคคลในสถานค้าประเวณี
  9. การจัดหาผู้ค้าประเวณี
  10. การปล่อยให้ผู้ใต้ปกครองค้าประเวณี
  11. การบริหารกิจการหรือสถานค้าประเวณี
  12. การบังคับค้าประเวณี
  13. การถอนอำนาจปกครองตามมาตรา 10
  14. คณะกรรมการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ (ก.ค.อ.)
  15. อำนาจหน้าที่ของ ก.ค.อ.
  16. ก.ค.อ. จังหวัด
  17. อำนาจหน้าที่ของ ก.ค.อ. จังหวัด
  18. วาระของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน ก.ค.อ.
  19. การพ้นจากตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน ก.ค.อ.
  20. การเติมเต็มตำแหน่งที่ว่างใน ก.ค.อ.
  21. การปฏิบัติหน้าที่ระหว่างยังไม่มีกรรมการใหม่ใน ก.ค.อ.
  22. การประชุม ก.ค.อ.
  23. คณะอนุกรรมการของ ก.ค.อ.
  24. อำนาจของ ก.ค.อ. ในการเรียกบุคคลหรือวัตถุ
  25. สำนักงาน ก.ค.อ.
  26. การจัดตั้งสถานแรกรับและสถานคุ้มครอง
  27. คำวินิจฉัยคำขอจัดตั้งสถานแรกรับหรือสถานคุ้มครอง
  28. การกำหนดท้องที่รับผิดชอบของสถานแรกรับและสถานคุ้มครอง
  29. การฝ่าฝืนของผู้จัดตั้งสถานแรกรับหรือสถานคุ้มครอง
  30. การอุทธรณ์คำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตสถานแรกรับหรือสถานคุ้มครอง
  31. การจัดการหลังเพิกถอนใบอนุญาตสถานแรกรับหรือสถานคุ้มครอง
  32. การควบคุมตัวผู้กระทำความผิด
  33. การจัดการกับผู้กระทำความผิดในกรณีที่ควรลงโทษ
  34. การจัดการกับผู้กระทำความผิดในกรณีที่ไม่ควรลงโทษ
  35. การส่งตัวผู้แรกรับไปยังสถานคุ้มครอง
  36. หลักเกณฑ์และวิธีการส่งตัวตามมาตรา 35
  37. กำหนดเวลาอยู่ในสถานคุ้มครอง
  38. การหลบหนีจากสถานแรกรับหรือสถานคุ้มครอง
  39. อำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่
  40. การเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
  41. การไม่อำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่
  42. การดำเนินการระหว่างที่ยังมิได้ตั้งสำนักงาน ก.ค.อ.
  43. สถานสงเคราะห์ตามกฎหมายเดิม
  44. อนุบัญญัติตามกฎหมายเดิม
  45. ผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติ
หมายเหตุ


เล่ม ๑๑๓ ตอนที่ ๕๔ ก

๒๒ ตุลาคม ๒๕๓๙
หน้า ๑
ราชกิจจานุเบกษา

ตราราชโองการ
ตราราชโองการ
พระราชบัญญัติ
ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี
พ.ศ. ๒๕๓๙

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๙
เป็นปีที่ ๕๑ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการปรามการค้าประเวณี

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. ๒๕๓๙”

มาตรา  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา  ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ. ๒๕๐๓

มาตรา  ในพระราชบัญญัตินี้

“การค้าประเวณี” หมายความว่า การยอมรับการกระทำชำเรา หรือการยอมรับการกระทำอื่นใด หรือการกระทำอื่นใด เพื่อสำเร็จความใคร่ในทางกามารมณ์ของผู้อื่น อันเป็นการสำส่อนเพื่อสินจ้างหรือประโยชน์อื่นใด ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้ยอมรับการกระทำและผู้กระทำจะเป็นบุคคลเพศเดียวกันหรือคนละเพศ

“สถานการค้าประเวณี” หมายความว่า สถานที่ที่จัดไว้เพื่อการค้าประเวณีหรือยอมให้มีการค้าประเวณี และให้หมายความรวมถึงสถานที่ที่ใช้ในการติดต่อหรือจัดหาบุคคลอื่นเพื่อกระทำการค้าประเวณีด้วย

“สถานแรกรับ” หมายความว่า สถานที่ที่ทางราชการจัดให้มีขึ้น หรือสถานที่ที่มูลนิธิ สมาคม หรือสถาบันอื่นจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อรับผู้รับการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพไว้เป็นการชั่วคราวเพื่อพิจารณาวิธีการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพให้เหมาะสมสำหรับแต่ละบุคคล

“สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ” หมายความว่า สถานที่ที่ทางราชการจัดให้มีขึ้น หรือสถานที่ที่มูลนิธิ สมาคม หรือสถาบันอื่นจัดตั้งขึ้น เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพและพัฒนาอาชีพแก่ผู้รับการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพตามพระราชบัญญัตินี้

“การคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ” หมายความว่า การอบรมฟื้นฟูจิตใจ การบำบัดรักษาโรค การฝึกอบรมและพัฒนาอาชีพ ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิต

“กรรมการ” หมายความว่า กรรมการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ หรือกรรมการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพประจำจังหวัด แล้วแต่กรณี

“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

“อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมประชาสงเคราะห์

“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา  ผู้ใดเข้าติดต่อ ชักชวน แนะนำตัว ติดตาม หรือรบเร้าบุคคลตามถนนหรือสาธารณสถาน หรือกระทำการดังกล่าวในที่อื่นใด เพื่อการค้าประเวณี อันเป็นการเปิดเผยและน่าอับอาย หรือเป็นที่เดือดร้อนรำคาญแก่สาธารณชน ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท

มาตรา  ผู้ใดเข้าไปมั่วสุมในสถานการค้าประเวณี เพื่อประโยชน์ในการค้าประเวณีของตนเองหรือผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งได้กระทำเพราะถูกบังคับหรือตกอยู่ภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ ผู้กระทำไม่มีความผิด

มาตรา  ผู้ใดโฆษณา หรือรับโฆษณา ชักชวน หรือแนะนำด้วยเอกสาร สิ่งพิมพ์ หรือกระทำให้แพร่หลายด้วยวิธีใดไปยังสาธารณะในลักษณะที่เห็นได้ว่า เป็นการเรียกร้องหรือการติดต่อเพื่อการค้าประเวณีของตนเองหรือผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสองปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา  ผู้ใดกระทำชำเราหรือกระทำอื่นใดเพื่อสำเร็จความใคร่ของตนเองหรือผู้อื่นแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีในสถานการค้าประเวณี โดยบุคคลนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสามปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหกหมื่นบาท

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำแก่เด็กอายุไม่เกินสิบห้าปี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงหกปี และปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสองหมื่นบาท

ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำต่อคู่สมรสของตนโดยมิใช่เพื่อสำเร็จความใคร่ของผู้อื่น ผู้กระทำไม่มีความผิด

มาตรา  ผู้ใดเป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือชักพาไปซึ่งบุคคลใดเพื่อให้บุคคลนั้นกระทำการค้าประเวณี แม้บุคคลนั้นจะยินยอมก็ตาม และไม่ว่าการกระทำต่าง ๆ อันประกอบเป็นความผิดนั้นจะได้กระทำภายในหรือนอกราชอาณาจักร ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปี ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสามแสนบาท

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสี่แสนบาท

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง วรรคสอง หรือวรรคสาม เป็นการกระทำโดยใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการใด ๆ ผู้กระทำต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง วรรคสอง หรือวรรคสาม หนึ่งในสาม แล้วแต่กรณี

ผู้ใด เพื่อให้มีการกระทำการค้าประเวณี รับตัวบุคคลซึ่งตนรู้อยู่ว่า มีผู้จัดหา ล่อไป หรือชักพาไปตามวรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคสาม หรือวรรคสี่ หรือสนับสนุนในการกระทำความผิดดังกล่าว ต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคสาม หรือวรรคสี่ แล้วแต่กรณี

มาตรา ๑๐ ผู้ใดเป็นบิดา มารดา หรือผู้ปกครองของบุคคลซึ่งมีอายุยังไม่เกินสิบแปดปี รู้ว่า มีการกระทำความผิดตามมาตรา ๙ วรรคสอง วรรคสาม หรือวรรคสี่ ต่อผู้อยู่ในความปกครองของตน และมีส่วนร่วมรู้เห็นเป็นใจให้มีการกระทำความผิดนั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสี่แสนบาท

มาตรา ๑๑ ผู้ใดเป็นเจ้าของกิจการการค้าประเวณี ผู้ดูแล หรือผู้จัดการกิจการการค้าประเวณีหรือสถานการค้าประเวณี หรือเป็นผู้ควบคุมผู้กระทำการค้าประเวณีในสถานการค้าประเวณี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสามแสนบาท

ถ้ากิจการหรือสถานการค้าประเวณีตามวรรคหนึ่งมีบุคคลซึ่งมีอายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปี ทำการค้าประเวณีอยู่ด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสามแสนบาท

ถ้ากิจการหรือสถานการค้าประเวณีตามวรรคหนึ่งมีเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีทำการค้าประเวณีอยู่ด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสี่แสนบาท

มาตรา ๑๒ ผู้ใดหน่วงเหนี่ยว กักขัง กระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย หรือทำร้ายร่างกาย หรือขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ ว่า จะใช้กำลังประทุษร้ายผู้อื่น เพื่อข่มขืนใจให้ผู้อื่นนั้นกระทำการค้าประเวณี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสี่แสนบาท

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำ

(๑) ได้รับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต

(๒) ถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต

ผู้ใดสนับสนุนในการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง หรือวรรคสอง แล้วแต่กรณี

ถ้าผู้กระทำความผิดหรือผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเจ้าหน้าที่ในสถานแรกรับหรือสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพตามพระราชบัญญัตินี้ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สามแสนบาทถึงสี่แสนบาท

มาตรา ๑๓ ถ้าบิดา มารดา หรือผู้ปกครองของผู้กระทำความผิดตามมาตรา ๕ มาตรา ๖ หรือมาตรา ๗ มีส่วนร่วมรู้เห็นเป็นใจให้บุคคลผู้อยู่ในความปกครองกระทำการค้าประเวณี เมื่อคณะกรรมการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพมีคำขอ ให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลให้ถอนอำนาจปกครองของบิดา มารดา หรือผู้ปกครองของผู้นั้นเสีย และแต่งตั้งผู้ปกครองแทนบิดา มารดา หรือผู้ปกครองนั้น

ในกรณีที่ศาลจะตั้งผู้ปกครองตามวรรคหนึ่ง และศาลเห็นว่า ไม่มีผู้เหมาะสมที่จะปกครองผู้กระทำความผิด ศาลจะตั้งผู้อำนวยการสถานแรกรับหรือผู้อำนวยการสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพที่ผู้กระทำความผิดนั้นอยู่ในเขตอำนาจเป็นผู้ปกครองของผู้กระทำความผิดก็ได้

ให้นำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เกี่ยวกับการตั้งผู้ปกครองมาใช้บังคับกับการตั้งผู้ปกครองตามมาตรานี้ด้วยโดยอนุโลม

มาตรา ๑๔ ให้มีคณะกรรมการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ เรียกโดยย่อว่า ก.ค.อ. ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เป็นประธานกรรมการ อธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ อธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมการจัดหางาน อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน อธิบดีกรมการศึกษานอกโรงเรียน อธิบดีกรมควบคุมโรคติดต่อ อธิบดีกรมตำรวจ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อธิบดีกรมสามัญศึกษา อธิบดีกรมอาชีวศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ หรือรองอธิบดีหรือรองเลขาธิการซึ่งอธิบดีหรือเลขาธิการดังกล่าวข้างต้นมอบหมาย ผู้แทนศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ผู้แทนคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานสตรีแห่งชาติ และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งไม่เกินเจ็ดคน เป็นกรรมการ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ เป็นกรรมการและเลขานุการ และให้ประธานกรรมการแต่งตั้งผู้ช่วยเลขานุการได้ไม่เกินสองคน

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งตามวรรคหนึ่งต้องเป็นผู้มีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้าประเวณี และอย่างน้อยห้าคนให้แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งดำเนินงานในองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้องในด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้าประเวณี

มาตรา ๑๕ ให้ ก.ค.อ. มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) กำหนดนโยบายการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ค้าประเวณี

(๒) ประสานแผนงาน โครงการ ระบบงาน และกำหนดแนวทางปฏิบัติร่วมกันกับส่วนราชการและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องในการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี

(๓) เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการปรับปรุงการปฏิบัติราชการหรือแผนงานของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในเรื่องที่เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี

(๔) เสนอแนะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ และการจัดตั้งสถานแรกรับหรือสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพของทางราชการ

(๕) เสนอแนะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนการดำเนินการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ

(๖) เสนอแนะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการปฏิบัติตามมาตรา ๒๖

(๗) เสนอแนะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการวางระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งเกี่ยวกับการดำเนินงานของสถานแรกรับและสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ

(๘) วางระเบียบเกี่ยวกับการรับตัวและดูแลผู้ถูกควบคุมตามมาตรา ๓๒

(๙) วางระเบียบเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการส่งตัวบุคคลไปยังสถานแรกรับและสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ ตลอดจนการกำหนดระยะเวลาในการรับการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพในสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ

(๑๐) ดำเนินการอื่นในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๑๖ ให้มีคณะกรรมการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพประจำจังหวัด เรียกโดยย่อว่า ก.ค.อ. จังหวัด ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือรองผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ ปลัดจังหวัดหรือผู้แทน จัดหางานจังหวัดหรือผู้แทน หัวหน้าตำรวจจังหวัดหรือผู้แทน พัฒนาการจังหวัดหรือผู้แทน ศึกษาธิการจังหวัดหรือผู้แทน สามัญศึกษาจังหวัดหรือผู้แทน ผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัดหรือผู้แทน ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดหรือผู้แทน สาธารณสุขจังหวัดหรือผู้แทน แรงงานและสวัสดิการสังคมจังหวัดหรือผู้แทน อัยการจังหวัดหรือผู้แทน และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งไม่เกินเจ็ดคน เป็นกรรมการ และให้ประชาสงเคราะห์จังหวัดเป็นกรรมการและเลขานุการ

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งตามวรรคหนึ่งต้องเป็นผู้มีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้าประเวณี และอย่างน้อยห้าคนให้แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งดำเนินงานในองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้องในด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้าประเวณี

มาตรา ๑๗ ให้ ก.ค.อ. จังหวัดมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) เป็นศูนย์กลางในการประสานงานระหว่างภาครัฐบาลและภาคเอกชน ทั้งในด้านข้อมูล ทรัพยากร และการปฏิบัติงานในการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีของจังหวัด

(๒) ส่งเสริมและสนับสนุนการปฏิบัติงานในการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีทั้งของภาครัฐบาลและภาคเอกชนในพื้นที่ของจังหวัด

(๓) พิจารณาเสนอแนะต่อ ก.ค.อ. เพื่อแก้ไขปรับปรุง หรือวางระเบียบ ข้อบังคับ และคำสั่งที่เกี่ยวข้องในการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีของจังหวัด

(๔) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่ ก.ค.อ. มอบหมาย

มาตรา ๑๘ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสามปี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้ แต่ไม่เกินสองวาระติดต่อกัน

มาตรา ๑๙ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๑๘ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) รัฐมนตรีหรือผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งมีอำนาจแต่งตั้ง แล้วแต่กรณี ให้ออก

(๔) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ หรือ

(๕) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

มาตรา ๒๐ ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระและมีการแต่งตั้งผู้อื่นเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแทน ให้ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งตนแทน

ในกรณีที่มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มขึ้นในระหว่างที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ให้ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มขึ้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับแต่งตั้งไว้แล้ว

มาตรา ๒๑ ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิดำรงตำแหน่งครบวาระแล้ว แต่ยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่ ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนจนกว่าจะมีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่

มาตรา ๒๒ การประชุมของ ก.ค.อ. หรือ ก.ค.อ. จังหวัด ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม ถ้าประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการซึ่งมาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม

การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมมีสิทธิออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด กรรมการผู้ใดมีส่วนได้เสียเป็นการส่วนตัวในเรื่องใด กรรมการผู้นั้นไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในเรื่องนั้น

มาตรา ๒๓ ก.ค.อ. หรือ ก.ค.อ. จังหวัด จะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ ก.ค.อ. หรือ ก.ค.อ. จังหวัด มอบหมายก็ได้ และให้นำมาตรา ๒๒ มาใช้บังคับกับการประชุมของคณะอนุกรรมการด้วยโดยอนุโลม

มาตรา ๒๔ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ ก.ค.อ. หรือ ก.ค.อ. จังหวัด หรือคณะอนุกรรมการที่ ก.ค.อ. หรือ ก.ค.อ. จังหวัดมอบหมายมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำหรือให้ส่งเอกสารหรือวัตถุใด ๆ มาเพื่อประกอบการพิจารณาได้ตามความจำเป็น

มาตรา ๒๕ ให้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพขึ้นในกรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม และให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) รับผิดชอบในงานธุรการของ ก.ค.อ.

(๒) ประสานงานและร่วมมือกับส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานเกี่ยวกับการคุ้มครอง การพัฒนาอาชีพ และการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี

(๓) จัดให้มีการฝึกอบรมและพัฒนาอาชีพ

(๔) ส่งเสริมอาชีพและจัดหางานให้แก่ผู้ซึ่งได้รับการฝึกอบรมและพัฒนาอาชีพตาม (๓)

(๕) รวบรวมผลการวิเคราะห์ วิจัย ดำเนินการ ติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติตามนโยบาย แผนงานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง แล้วรายงานผลให้ ก.ค.อ. ทราบ

(๖) ปฏิบัติตามมติของ ก.ค.อ. หรือตามที่ ก.ค.อ. มอบหมาย

มาตรา ๒๖ มูลนิธิ สมาคม หรือสถาบันอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ประสงค์จะจัดตั้งสถานแรกรับหรือสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ยื่นคำขออนุญาตต่ออธิบดี

การขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา ๒๗ เมื่ออธิบดีอนุญาตให้ตั้งสถานแรกรับหรือสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพแล้วให้ดำเนินการตามมาตรา ๒๘

ในกรณีที่อธิบดีไม่อนุญาต ให้ผู้ขออนุญาตมีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อรัฐมนตรีภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งการไม่อนุญาต

คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด

มาตรา ๒๘ ให้อธิบดีกำหนดท้องที่ที่อยู่ในเขตรับผิดชอบของสถานแรกรับหรือสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพที่จัดตั้งขึ้น โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร อธิบดีอาจเปลี่ยนแปลงท้องที่ที่อยู่ในเขตรับผิดชอบของสถานแรกรับหรือสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพก็ได้ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา ๒๙ เมื่อปรากฏว่า มูลนิธิ สมาคม หรือสถาบันอื่นที่ได้รับอนุญาตตามมาตรา ๒๖ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับของทางราชการ ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งเป็นหนังสือให้มูลนิธิ สมาคม หรือสถาบันอื่นดังกล่าวระงับการกระทำ ปรับปรุง แก้ไข หรือปฏิบัติให้ถูกต้องตามที่แจ้งไปภายในเวลาที่กำหนด

ในกรณีที่มูลนิธิ สมาคม หรือสถาบันอื่นไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติตามคำสั่งแต่ไม่ทันภายในเวลาที่กำหนดตามวรรคหนึ่งโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้ากระทำการแทนเพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งนั้นได้ และให้มูลนิธิ สมาคม หรือสถาบันอื่นนั้นเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการนี้

ค่าใช้จ่ายตามวรรคสอง ให้หมายความรวมถึงค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรตามที่อธิบดีกำหนด

ถ้าพนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่า ไม่อาจกระทำการตามวรรคสองได้ หรือแม้ว่าจะได้กระทำตามวรรคสองแล้วก็ตาม แต่มูลนิธิ สมาคม หรือสถาบันอื่นนั้นก็ยังไม่อาจดำเนินกิจการต่อไปได้เอง หรือถ้าจะให้ดำเนินการต่อไป อาจเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ผู้รับการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพที่อยู่ในสถานแรกรับหรือสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพดังกล่าว ให้เสนออธิบดีเพื่อพิจารณาสั่งเพิกถอนใบอนุญาต

ในกรณีที่การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับของทางราชการเป็นความผิดร้ายแรงที่อธิบดีเห็นว่า ไม่สมควรสั่งการตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองเสียก่อน ก็ให้อธิบดีมีอำนาจพิจารณาสั่งเพิกถอนใบอนุญาตได้

มาตรา ๓๐ มูลนิธิ สมาคม หรือสถาบันอื่นที่ได้รับอนุญาตตามมาตรา ๒๖ ซึ่งถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา ๒๙ มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตต่อรัฐมนตรีเป็นหนังสือภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต และในระหว่างรอการวินิจฉัยของรัฐมนตรี ให้ดำเนินการต่อไปได้

คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด

มาตรา ๓๑ ในกรณีที่รัฐมนตรีมีคำวินิจฉัยเป็นที่สุดให้เพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา ๒๖ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่โดยได้รับอนุมัติจากอธิบดีดำเนินการส่งผู้รับการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพไปยังสถานแรกรับหรือสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพอื่น

ในกรณีที่ส่งผู้รับการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพไปยังสถานแรกรับหรือสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพของมูลนิธิ สมาคม หรือสถาบันอื่น ต้องได้รับความยินยอมจากสถานแรกรับ หรือสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพนั้นด้วย

มาตรา ๓๒ ในกรณีที่ต้องมีการควบคุมตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยในความผิดตามมาตรา ๕ หรือมาตรา ๖ ในระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวน หรือในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล ให้กระทำได้ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง แต่ให้ควบคุมตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นไว้ต่างหากจากผู้ต้องหาหรือจำเลยอื่น หรือจะขอให้กรมประชาสงเคราะห์เป็นผู้ดูแลผู้ถูกควบคุมตามระเบียบที่ ก.ค.อ. กำหนดก็ได้

มาตรา ๓๓ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามมาตรา ๕ หรือมาตรา ๖ เป็นบุคคลอายุยังไม่เกินสิบแปดปี และไม่ปรากฏว่าต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุก หรือต้องคำพิพากษาให้จำคุก ให้พนักงานสอบสวนในกรณีที่ได้เปรียบเทียบคดีแล้วแจ้งกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ*เพื่อดำเนินการจัดส่งตัวผู้นั้นไปเพื่อรับการดูแลในสถานแรกรับที่มีเขตรับผิดชอบ

กรณีตามวรรคหนึ่งหากเป็นบุคคลอายุกว่าสิบแปดปี ถ้าบุคคลนั้นประสงค์ที่จะได้รับการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพในสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ ให้พนักงานสอบสวนแจ้งกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ*เพื่อดำเนินการจัดส่งตัวผู้นั้นไปเพื่อรับการดูแลในสถานแรกรับที่มีเขตรับผิดชอบ

มาตรา ๓๔ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามมาตรา ๕ มาตรา ๖ หรือมาตรา ๗ เป็นบุคคลอายุยังไม่เกินสิบแปดปี เมื่อศาลได้พิจารณาถึงประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ ภาวะแห่งจิต อาชีพ และสิ่งแวดล้อมของผู้นั้นแล้วเห็นว่าไม่สมควรพิพากษาลงโทษแต่ควรให้ผู้กระทำความผิดได้รับการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพแทนการลงโทษก็ให้กรมประชาสงเคราะห์รับตัวผู้กระทำความผิดเพื่อดำเนินการจัดส่งตัวผู้นั้นไปเพื่อรับการดูแลในสถานแรกรับที่มีเขตรับผิดชอบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา

กรณีตามวรรคหนึ่งหากเป็นบุคคลอายุกว่าสิบแปดปี ถ้าบุคคลนั้นประสงค์ที่จะได้รับการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพในสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ และศาลเห็นสมควรให้กรมประชาสงเคราะห์รับตัวผู้กระทำความผิดเพื่อดำเนินการจัดส่งตัวผู้นั้นไปเพื่อรับการดูแลในสถานแรกรับที่มีเขตรับผิดชอบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา

ในกรณีที่ศาลพิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง และศาลเห็นสมควรให้ผู้กระทำความผิดรับการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพด้วยก็ให้กรมประชาสงเคราะห์รับตัวผู้กระทำความผิดเพื่อดำเนินการจัดส่งตัวผู้นั้นไปเพื่อรับการดูแลในสถานแรกรับที่มีเขตรับผิดชอบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา และให้ผู้กระทำความผิดอยู่ในความควบคุมของสถานแรกรับและสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ

มิให้นับระยะเวลาที่ควบคุมตัวผู้กระทำความผิดตามวรรคสามเข้าในกำหนดระยะเวลาที่อยู่ในความดูแลของสถานแรกรับและระยะเวลาที่รับการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพของสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ

หลักเกณฑ์และวิธีการรับตัวผู้กระทำความผิดจากศาลเพื่อดำเนินการจัดส่งตัวผู้นั้นไปเพื่อรับการดูแลในสถานแรกรับที่มีเขตรับผิดชอบ ให้เป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด โดยความเห็นชอบของ ก.ค.อ.

มาตรา ๓๕ ให้สถานแรกรับพิจารณาบุคลิกภาพ พื้นฐานการศึกษาอบรม สาเหตุการกระทำความผิด และทดสอบแนวถนัด แล้วพิจารณาจัดส่งตัวผู้อยู่ในความดูแลตามมาตรา ๓๓ หรือมาตรา ๓๔ ไปยังสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพที่เหมาะสมเพื่อให้การคุ้มครองและพัฒนาอาชีพภายในระยะเวลาตามระเบียบที่ ก.ค.อ. กำหนดแต่ต้องไม่เกินหกเดือนนับแต่วันที่รับตัวผู้นั้นไว้

ภายใต้บังคับมาตรา ๓๔ วรรคสาม ในกรณีที่สถานแรกรับพิจารณาแล้วเห็นว่ายังไม่มีความจำเป็นจะต้องส่งผู้นั้นไปรับการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ จะไม่ส่งตัวผู้นั้นไปยังสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพก็ได้ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามระเบียบที่ ก.ค.อ. กำหนด

มาตรา ๓๖ หลักเกณฑ์และวิธีการส่งตัวบุคคลไปเพื่อรับการดูแลในสถานแรกรับตามมาตรา ๓๓ และมาตรา ๓๔ และการส่งตัวไปเพื่อรับการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพในสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพตามมาตรา ๓๕ ให้เป็นไปตามระเบียบที่ ก.ค.อ. กำหนด

มาตรา ๓๗ ผู้รับการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพต้องอยู่รับการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพในสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพตามระเบียบที่ ก.ค.อ. กำหนดเป็นเวลาไม่เกินสองปีนับแต่วันที่สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพรับตัวไว้

มาตรา ๓๘ ในระหว่างที่รับการดูแลในสถานแรกรับหรือรับการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพในสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ ถ้าผู้ใดหลบหนีออกนอกสถานแรกรับ หรือสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ ให้เจ้าหน้าที่ของสถานแรกรับหรือสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพมีอำนาจหน้าที่ออกติดตามตัวผู้นั้นเพื่อส่งตัวกลับไปยังสถานแรกรับหรือสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพได้ แล้วแต่กรณี ในการนี้ สถานแรกรับหรือสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพจะร้องขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจช่วยดำเนินการให้ด้วยก็ได้

เมื่อบุคคลใดได้รับการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพครบกำหนดเวลาแล้วให้เจ้าหน้าที่ของสถานแรกรับหรือสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพดำเนินการจัดส่งบุคคลนั้นกลับไปยังถิ่นที่อยู่หรือภูมิลำเนาของผู้นั้น เว้นแต่ ก.ค.อ. เห็นสมควรจะดำเนินการเป็นอย่างอื่น

มาตรา ๓๙ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) เข้าไปในสถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการในเวลากลางวันและกลางคืน เพื่อตรวจตราการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้

(๒) นำผู้ถูกล่อลวงหรือถูกบังคับให้ทำการค้าประเวณีซึ่งยินยอมให้นำตัวไปรับการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพส่งพนักงานสอบสวนเพื่อพิจารณาดำเนินการหาตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ โดยให้นำความในมาตรา ๓๓ มาใช้บังคับกับการส่งตัวผู้ค้าประเวณีไปรับการดูแลในสถานแรกรับด้วยโดยอนุโลม

มาตรา ๔๐ ให้กรรมการ อนุกรรมการ และพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา ๔๑ ผู้ใดฝ่าฝืนไม่อำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติตามมาตรา ๓๙ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๔๒ ในระหว่างที่ยังมิได้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ ให้กรมประชาสงเคราะห์มีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา ๒๕

มาตรา ๔๓ ให้สถานสงเคราะห์ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ. ๒๕๐๓ เป็นสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพตามพระราชบัญญัตินี้

ให้ผู้รับการสงเคราะห์ตามพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ. ๒๕๐๓ ซึ่งยังคงรับการสงเคราะห์อยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ รับการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพต่อไปจนกว่าจะครบระยะเวลาที่อธิบดีได้กำหนดไว้

มาตรา ๔๔ บรรดาประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งที่ออกตามพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ. ๒๕๐๓ ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไป เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ จนกว่าจะมีประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๔๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่กับออกกฎกระทรวงและประกาศเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

กฎกระทรวงและประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
บรรหาร ศิลปอาชา
นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ. ๒๕๐๓ ได้ประกาศใช้บังคับมาเป็นเวลานาน บทบัญญัติที่มีอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทกำหนดโทษ ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และโดยที่การค้าประเวณีมีสาเหตุสำคัญมาจากสภาพเศรษฐกิจและสังคม ผู้กระทำการค้าประเวณีส่วนมากเป็นผู้ซึ่งด้อยสติปัญญาและการศึกษา สมควรลดโทษผู้กระทำการค้าประเวณี และเปิดโอกาสให้บุคคลเหล่านั้นได้รับการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นการให้การอบรมฟื้นฟูจิตใจ การบำบัดรักษาโรค การฝึกอบรมและพัฒนาอาชีพ ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิต และในขณะเดียวกัน เพื่อเป็นการปราบปรามการค้าประเวณี และเพื่อคุ้มครองบุคคล โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ที่อาจถูกล่อลวงหรือชักพาไปเพื่อการค้าประเวณี สมควรกำหนดโทษบุคคลซึ่งกระทำชำเราโสเภณีเด็กในสถานการค้าประเวณี บุคคลซึ่งหารายได้จากการค้าประเวณีของเด็กและเยาวชน และบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง ซึ่งมีส่วนร่วมรู้เห็นเป็นใจในการจัดหาผู้อยู่ในความปกครองไปเพื่อการค้าประเวณี กับให้อำนาจศาลที่จะถอนอำนาจปกครองของบิดา มารดา หรือผู้ปกครองของผู้กระทำความผิดซึ่งเป็นเด็ก เพราะเหตุที่มีส่วนร่วมรู้เห็นเป็นใจให้ผู้อยู่ในความปกครองกระทำการค้าประเวณี นอกจากนั้น ในปัจจุบัน ปรากฏว่า ได้มีการโฆษณาชักชวนหรือแนะนำตัวทางสื่อมวลชนในลักษณะที่เห็นได้ว่า เป็นการเรียกร้องการติดต่อในการค้าประเวณีกันอย่างแพร่หลาย สมควรกำหนดให้การกระทำดังกล่าวเป็นความผิด จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"