พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534

ตราพระบรมราชโองการ
ตราพระบรมราชโองการ
พระราชบัญญัติ
  • มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิด
  • เกี่ยวกับยาเสพติด
พ.ศ. ๒๕๓๔

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
  • ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๔
  • เป็นปีที่ ๔๖ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้

มาตรา  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔"

มาตรา  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา  ในพระราชบัญญัตินี้

 "ยาเสพติด" หมายความว่า ยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ และยาเสพติดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีกำหนดในกฎกระทรวง

 "กฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด" หมายความว่า กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษและกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท

 "ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด" หมายความว่า การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติด และให้หมายความรวมถึง การสมคบ สนับสนุน ช่วยเหลือ หรือพยายามกระทำความผิดดังกล่าวด้วย

 "ทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิด" หมายความว่า เงิน หรือทรัพย์สินที่ได้รับมาเนื่องจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และให้หมายความรวมถึง เงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาโดยการใช้เงินหรือทรัพย์สินดังกล่าว ซื้อหรือกระทำไม่ว่าด้วยประการใด ๆ ให้เงินหรือทรัพย์สินนั้นเปลี่ยนสภาพไปจากเดิม ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนสภาพกี่ครั้ง และไม่ว่าเงินหรือทรัพย์สินนั้นจะอยู่ในความครอบครองของบุคคลอื่น โอนไปเป็นของบุคคลอื่นหรือปรากฎตามหลักฐานทางทะเบียนว่าเป็นของบุคคลอื่นก็ตาม

 "คณะกรรมการ" หมายความว่า คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน

 "กรรมการ" หมายความว่า กรรมการตรวจสอบทรัพย์สินและให้หมายความรวมถึงประธานกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินด้วย

 "กองทุน" หมายความว่า กองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

 "พนักงานเจ้าหน้าที่" หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฎิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

 "เลขาธิการ" หมายความว่า เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

 "สำนักงาน" หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

 "รัฐมนตรี" หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา  ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ กับออกกฎกระทรวงและระเบียบเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

กฎกระทรวงและระเบียบนั้นเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

หมวด ๑
บททั่วไป


มาตรา  ผู้ใดกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด แม้จะกระทำนอกราชอาณาจักรผู้นั้นจะต้องรับโทษในราชอาณาจักร ถ้าปรากฎว่า

 (๑) ผู้กระทำความผิดหรือผู้ร่วมกระทำความผิดคนใดคนหนึ่งเป็นคนไทย หรือมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย หรือ

 (๒) ผู้กระทำความผิดเป็นคนต่างด้าว และได้กระทำโดยประสงค์ให้ความผิดเกิดขึ้นในราชอาณาจักรหรือรัฐบาลไทยเป็นผู้เสียหาย หรือ

 (๓) ผู้กระทำความผิดเป็นคนต่างด้าวและการกระทำนั้นเป็นความผิดตามกฎหมายของรัฐที่การกระทำเกิดขึ้นในเขตอำนาจของรัฐนั้น หากผู้นั้นได้ปรากฎตัวอยู่ในราชอาณาจักรและมิได้มีการส่งตัวผู้นั้นออกไปตามกฎหมายว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน

ทั้งนี้ ให้นำมาตรา ๑๐ แห่งประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา  ในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ผู้ใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้น

 (๑) สนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด

 (๒) จัดหาหรือให้เงินหรือทรัพย์สิน ยานพาหนะ สถานที่หรือวัตถุใด ๆ เพื่อประโยชน์ หรือให้ความสะดวกแก่การกระทำความผิด หรือเพื่อมิให้ผู้กระทำความผิดถูกลงโทษ

 (๓) จัดหาหรือให้เงินหรือทรัพย์สิน ที่ประชุม ที่พำนัก หรือที่ซ่อนเร้นหรือช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ผู้กระทำความผิด หรือเพื่อช่วยให้ผู้กระทำความผิดพ้นจากการถูกจับกุม

 (๔) รับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจากผู้กระทำความผิดเพื่อประโยชน์หรือให้ความสะดวกแก่การกระทำความผิด หรือเพื่อมิให้ผู้กระทำความผิดถูกลงโทษ

 (๕) ปกปิด ซ่อนเร้นหรือเอาไปเสียซึ่งยาเสพติดหรือวัตถุใด ๆ ที่ใช้ในการกระทำความผิดเพื่อช่วยเหลือผู้กระทำความผิด

 (๖) ชี้แนะ หรือติดต่อบุคคลอื่นเพื่อประโยชน์ในการกระทำความผิด

ผู้ใดจัดหาหรือให้เงินหรือทรัพย์สิน ที่พำนักหรือที่ซ่อนเร้นเพื่อช่วยบิดา มารดา บุตร สามี หรือภริยาของตนให้พ้นจากการถูกจับกุม ศาลจะไม่ลงโทษผู้นั้นหรือลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

มาตรา  ผู้ใดพยายามกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดสำเร็จ

มาตรา  ผู้ใดสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ผู้นั้นสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าได้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันตามวรรคหนึ่ง ผู้สมคบกันนั้นต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  ผู้ใดกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดโดยแต่งเครื่องแบบหรือโดยแต่งกายให้เข้าใจว่าเป็นเจ้าพนักงาน ข้าราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่น พนักงานองค์การ หรือหน่วยงานของรัฐหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ ต้องระวางโทษหนักกว่าโทษตามที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นอีกกึ่งหนึ่ง

มาตรา ๑๐ กรรมการหรืออนุกรรมการตามพระราชบัญญัตินี้หรือตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด เจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด สมาชิกสภาเทศบาล หรือสภาท้องถิ่นอื่น ข้าราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่น พนักงานองค์การหรือหน่วยงานของรัฐหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจผู้ใด กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือกระทำความผิดตามมาตรา ๔๒ ต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา ๑๑ กรรมการหรืออนุกรรมการตามพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด เจ้าพนักงานหรือข้าราชการผู้ใดกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญาอันเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ต้องระวางโทษสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา ๑๒ การกำหนดโทษจำคุกที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดตามมาตรา ๙ มาตรา ๑๐ หรือมาตรา ๑๑ ให้กำหนดโทษจำคุกอย่างสูงที่สุดได้ไม่เกินห้าสิบปี

มาตรา ๑๓ ในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้กรรมการ อนุกรรมการ เลขาธิการ และพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา ๑๔ การจับกุมหรือการแจ้งข้อหาแก่ผู้กระทำความผิดตามมาตรา ๖ หรือตามมาตรา ๘ ต้องได้รับ อนุมัติจากเลขาธิการก่อน และเมื่อดำเนินการตามที่ได้รับอนุมัติแล้ว ให้รายงานให้เลขาธิการทราบทันที

การขออนุมัติ การอนุมัติ และการรายงานตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

หมวด ๒
คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน


มาตรา ๑๕ ให้มีคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินคณะหนึ่งประกอบด้วย ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการเป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นรองประธาน อัยการสูงสุด เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้อำนวยการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน อธิบดีกรมตำรวจ อธิบดีกรมบังคับคดี อธิบดีกรมศุลกากร อธิบดีกรมที่ดิน ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นกรรมการ และเลขาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการ

คณะกรรมการจะแต่งตั้งข้าราชการคนใดคนหนึ่งในสำนักงานเป็นผู้ช่วยเลขานุการก็ได้

มาตรา ๑๖ ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

 (๑) เสนอแนะต่อรัฐมนตรีเกี่ยวกับการออกกฎกระทรวงตามมาตรา ๑๔ มาตรา ๒๑ มาตรา ๒๒ มาตรา ๒๓ และมาตรา ๓๓

 (๒) ตรวจสอบทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด

 (๓) วินิจฉัยว่าทรัพย์สินใดของผู้ต้องหาหรือผู้อื่นเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือไม่

 (๔) ยึดหรืออายัดทรัพย์สินตามมาตรา ๒๒

 (๕) วางระเบียบเกี่ยวกับการเก็บรักษา การนำทรัพย์สินออกขายทอดตลาดและการนำทรัพย์สินไปใช้ประโยชน์ตามมาตรา ๒๔ และระเบียบเกี่ยวกับกองทุนตามมาตรา ๓๗ และมาตรา ๓๘

คณะกรรมการอาจมอบหมายให้อนุกรรมการหรือเลขาธิการดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินตาม (๒) หรือดำเนินการยึดหรืออายัดตาม (๔) แล้วรายงานให้ทราบก็ได้

มาตรา ๑๗ การประชุมของคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุมให้ประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ในกรณีที่ประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม หากรองประธานไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการซึ่งมาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม

การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุม ให้ถือเสียงสองในสามของกรรมการที่มาประชุมกรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน

มาตรา ๑๘ คณะกรรมการจะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาและเสนอความเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ได้รับมอบหมายก็ได้และให้นำความในมาตรา ๑๗ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๑๙ ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าทรัพย์สินของผู้ต้องหารายใดเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ให้คณะกรรมการสั่งให้มีการตรวจสอบทรัพย์สินของผู้นั้น

ในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน เลขาธิการอาจสั่งให้มีการตรวจสอบทรัพย์สินของผู้ต้องหาไปก่อน แล้วรายงานให้คณะกรรมการทราบก็ได้

มาตรา ๒๐ ในการตรวจสอบทรัพย์สินของผู้ต้องหา หากมีหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าทรัพย์สินใดของผู้อื่นเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดของผู้ต้องหา โดยได้รับทรัพย์สินนั้นมาโดยเสน่หา หรือรู้อยู่ว่าทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ก็ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้มีการตรวจสอบทรัพย์สินของผู้นั้นด้วย และให้นำความในมาตรา ๑๙ วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๒๑ คณะกรรมการ หรือเลขาธิการอาจมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินแทนแล้วรายงานให้ทราบก็ได้ โดยให้ประกาศเพื่อให้ผู้ซึ่งอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินยื่นคำร้องพร้อมทั้งเอกสารหลักฐานต่อคณะกรรมการเพื่อขอรับทรัพย์สินคืนได้ด้วย

การตรวจสอบทรัพย์สินและการประกาศตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนด ในกฎกระทรวง

มาตรา ๒๒ ในการตรวจสอบทรัพย์สิน ถ้าผู้ถูกตรวจสอบหรือผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินไม่สามารถแสดงหลักฐานได้ว่าทรัพย์สินที่ถูกตรวจสอบไม่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือได้รับโอนทรัพย์สินนั้นมาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน หรือเป็นทรัพย์สินที่ได้มาตามสมควรในทางศีลธรรมอันดี หรือในทางกุศลสาธารณ ให้คณะกรรมการสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้นไว้จนกว่าจะมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีซึ่งต้องไม่ช้ากว่าหนึ่งปีนับแต่วันยึดหรืออายัดหรือจนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องในคดีที่ต้องหานั้น

เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบทรัพย์สิน หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าทรัพย์สินรายใดอาจมีการโอน ยักย้าย ซุกซ่อน หรือเป็นกรณีที่มีเหตุผลและความจำเป็นอย่างอื่น ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินรายนั้นไว้ชั่วคราวจนกว่าจะมีการวินิจฉัยตามมาตรา ๑๖ (๓) ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิผู้ถูกตรวจสอบหรือผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่จะยื่นคำร้องขอผ่อนผันเพื่อขอรับทรัพย์สินนั้นไปใช้ประโยชน์โดยไม่มีประกันหรือมีประกันหรือมีประกันและหลักประกันก็ได้ และให้นำความในมาตรา ๑๙ วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม

เมื่อมีการยึดหรืออายัดทรัพย์สินชั่วคราวแล้ว ให้คณะกรรมการจัดให้มีการพิสูจน์ตามวรรคหนึ่งโดยเร็ว และในกรณีที่ผู้ถูกตรวจสอบหรือผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินสามารถพิสูจน์ตามวรรคหนึ่งได้ ก็ให้คืนทรัพย์สินให้แก่ผู้นั้น แต่ถ้าไม่สามารถพิสูจน์ได้ ให้ถือว่าการยึดหรืออายัดตามวรรคสองเป็นการยึดหรืออายัดตามวรรคหนึ่ง

การยื่นคำร้องขอผ่อนผันตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

เพื่อประโยชน์ตามมาตรานี้ คำว่า "ทรัพย์สิน" ให้หมายความรวมถึง

(๑) ทรัพย์สินที่เปลี่ยนสภาพไป สิทธิเรียกร้อง ผลประโยชน์ และดอกผลจากทรัพย์สินดังกล่าว

(๒) หนี้ที่บุคคลภายนอกถึงกำหนดชำระแก่ผู้ต้องหา

(๓) ทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดของผู้ต้องหาที่ได้รับ ขาย จำหน่าย โอนหรือยักย้ายไปเสียในระหว่างระยะเวลาสิบปีก่อนมีคำสั่งยึดหรืออายัด และภายหลังนั้น เว้นแต่ผู้รับโอนหรือผู้รับประโยชน์จะพิสูจน์ต่อคณะกรรมการได้ว่าการโอนหรือการกระทำนั้นได้กระทำไปโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน

มาตรา ๒๓ เมื่อคณะคณะกรรมการหรือเลขาธิการ แล้วแต่กรณี ได้มีคำสั่งให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินใดแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินและประเมินราคาทรัพย์สินนั้นโดยเร็วแล้วรายงานให้ทราบ

การยึดหรืออายัดทรัพย์สินและการประเมินราคาทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดไว้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กําหนดในกฎกระทรวง

ทั้งนี้ ให้นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๒๔ การเก็บรักษาทรัพย์สินที่คณะกรรมการได้มีคำสั่งให้ยึดหรืออายัดไว้ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกําหนด

ในกรณีที่ทรัพย์สินตามวรรคหนึ่งไม่เหมาะสมที่จะเก็บรักษาไว้หรือหากเก็บรักษาไว้จะเป็นภาระแก่ทางราชการมากกว่าการนําไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น เลขาธิการอาจสั่งให้นำทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาดหรือไปใช้เพื่อประโยชน์ของทางราชการ แล้วรายงานให้คณะกรรมการทราบก็ได้

การนําทรัพย์สินออกขายทอดตลาดหรือการนำทรัพย์สินไปใช้ประโยชน์ตามวรรคสองให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง

ถ้าความปรากฏในภายหลังว่าทรัพย์สินที่นำไปใช้ตามวรรคสองมิใช่เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ให้คืนทรัพย์สินนั้นพร้อมทั้งชดใช้ค่าเสียหายและค่าเสื่อมสภาพตามจำนวนที่คณะกรรมการกำหนด โดยใช้จากเงินกองทุนให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครอง ถ้าไม่อาจคืนทรัพย์สินได้ ให้ชดใช้ราคาทรัพย์สินนั้นตามราคาที่ประเมินได้ในวันที่ยึดหรืออายัดทรัพย์สิน หรือตามราคาที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินนั้น แล้วแต่กรณี

การประเมินค่าเสียหายและค่าเสื่อมสภาพตามวรรคสี่ ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา ๒๕ เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาและตรวจสอบทรัพย์สิน ยึดหรืออายัดทรัพย์สินตามพระราชบัญญัตินี้ ให้กรรมการ อนุกรรมการและเลขาธิการ มีอำนาจดังต่อไปนี้

 (๑) มีหนังสือสอบถามหรือเรียกเจ้าหน้าที่ของส่วนราชการ องค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจมาเพื่อให้ถ้อยคำ ส่งคำชี้แจงเป็นหนังสือ หรือส่งบัญชีเอกสารหรือหลักฐานใดมาเพื่อตรวจสอบหรือเพื่อประกอบการพิจารณา

 (๒) มีหนังสือสอบถามหรือเรียกบุคคลใดที่เกี่ยวข้องมาเพื่อให้ถ้อยคำ ส่งคำชี้แจงเป็นหนังสือ หรือส่งบัญชีเอกสารหรือหลักฐานใดมาเพื่อตรวจสอบ หรือเพื่อประกอบการพิจารณา ทั้งนี้ รวมถึงการตรวจสอบจากธนาคาร ตลาดหลักทรัพย์และสถาบันการเงินด้วย

 (๓) เข้าไปในเคหสถาน สถานที่ หรือยานพาหนะใดที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือมีทรัพย์สินตามมาตรา ๒๒ ซุกซ่อนอยู่ เพื่อทำการตรวจค้นหรือเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบ ยึด หรืออายัดทรัพย์สิน ในเวลากลางวันระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก ในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าหากไม่ดำเนินการในทันทีทรัพย์สินนั้นจะถูกยกย้ายก็ให้มีอำนาจเข้าไปในเวลากลางคืน

ในกรณีตาม (๓) ประธานกรรมการ หรือเลขาธิการจะมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการแทนแล้วรายงานให้ทราบก็ได้

ในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับมอบหมายตามวรรคสอง ต้องแสดงเอกสารมอบหมายต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องทุกครั้ง

มาตรา ๒๖ การยึดหรืออายัดทรัพย์สินตามมาตรา ๒๒ ซึ่งกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย หากก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใด ผู้กระทำไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นส่วนตัว

มาตรา ๒๗ เมื่อพนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องและทรัพย์สินที่คณะกรรมการมีคำสั่งให้ยึดหรืออายัดตามมาตรา ๒๒ เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดก็ให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินนั้น โดยจะยื่นไปพร้อมกับฟ้องหรือจะยื่นคำร้องก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาก็ได้

เมื่อพนักงานอัยการได้ยื่นคำร้องต่อศาลแล้ว ให้เลขาธิการประกาศเพื่อให้ผู้ซึ่งอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินมายื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีก่อนคดีถึงที่สุด และถ้ามีหลักฐานแสดงว่าผู้ใดอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินได้ ก็ให้เลขาธิการมีหนังสือแจ้งให้ผู้นั้นทราบเพื่อใช้สิทธิดังกล่าวด้วย

ในกรณีที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วปรากฏว่ามีทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพิ่มขึ้นอีกก็ให้ยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินนั้นในเวลาใดก่อนคดีถึงที่สุดได้ และให้นำความในวรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๒๘ การประกาศตามมาตรา ๒๗ วรรคสอง ให้ปิดประกาศไว้ที่สำนักงานและที่สถานีตำรวจท้องที่ที่มีการยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้นอย่างน้อยเจ็ดวัน และให้ประกาศอย่างน้อยสองวันติดต่อกันในหนังสือพิมพ์ที่มีจำหน่ายแพร่หลายในท้องถิ่น ส่วนการแจ้งตามมาตรา ๒๗ วรรคสอง ให้แจ้งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับตามที่อยู่ครั้งหลังสุดของผู้นั้นเท่าที่ปรากฏหลักฐานในสํานวนการสอบสวน

มาตรา ๒๙ บรรดาทรัพย์สินซึ่งพนักงานอัยการได้ยื่นคำร้องต่อศาลตามมาตรา ๒๗ วรรคหนึ่งนั้น ให้ศาลไต่สวน หากคดีมีมูลว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ให้ศาลสั่งรับทรัพย์สินนั้น เว้นแต่บุคคลซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินได้ยื่นคำร้องขอคืนก่อนคดีถึงที่สุดและแสดงให้ศาลเห็นว่า

 (๑) ตนเป็นเจ้าของที่แท้จริง และทรัพย์สินนั้นไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือ

 (๒) ตนเป็นผู้รับโอน หรือผู้รับประโยชน์ และได้ทรัพย์สินนั้นมาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน หรือได้มาตามสมควรในทางศีลธรรมอันดี หรือในทางกุศลสาธารณ

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ถ้าปรากฏหลักฐานว่าจำเลยหรือผู้ถูกตรวจสอบเป็นผู้เกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดมาก่อน ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบรรดาเงินหรือทรัพย์สินที่ผู้นั้นมีอยู่หรือได้มาเกินกว่าฐานะ หรือความสามารถในการประกอบอาชีพหรือกิจกรรมอย่างอื่นโดยสุจริต เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด

มาตรา ๓๐ บรรดาเครื่องมือ เครื่องใช้ ยานพาหนะ เครื่องจักรกล หรือทรัพย์สินอื่นใดที่ใช้ในการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิด หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด ให้รับเสียทั้งสิ้น ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่

ให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีนั้นเพื่อขอให้สั่งรับทรัพย์สินตามวรรคหนึ่งและเมื่อพนักงานอัยการได้ยื่นคำร้องแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันมีจำหน่ายแพร่หลายในท้องถิ่นอย่างน้อยสองวันติดต่อกัน เพื่อให้บุคคลซึ่งอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินมายื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ทั้งนี้ ไม่ว่าในคดีดังกล่าวจะปรากฏตัวบุคคลซึ่งอาจเชื่อได้ว่าเป็นเจ้าของหรือไม่ก็ตาม

ในกรณีที่ไม่มีผู้ใดอ้างตัวเป็นเจ้าของก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งหรือในกรณีที่ปรากฏเจ้าของ แต่เจ้าของไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าตนไม่มีโอกาสทราบ หรือไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการกระทำความผิด และจะมีการนำทรัพย์สินดังกล่าวไปใช้ในการกระทําความผิด หรือได้ใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทําความผิด หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดให้ศาลสั่งรับทรัพย์สินดังกล่าวได้เมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันแรกของวันประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันตามวรรคสอง และในกรณีนี้มิให้นำมาตรา ๓๖ แห่งประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับ

มาตรา ๓๑ ทรัพย์สินที่ศาลมีคำสั่งให้รีบตามมาตรา ๒๙ และมาตรา ๓๐ ให้ตกเป็นของกองทุน

มาตรา ๓๒ ในกรณีที่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือมีคําพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องผู้ต้องหาหรือจําเลยรายใด ให้การยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้น รวมทั้งทรัพย์สินของผู้อื่นที่ได้ยึดหรืออายัดไว้เนื่องจากเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้นสิ้นสุดลง ส่วนทรัพย์สินที่ไม่ปรากฏตัวเจ้าของที่ได้ยึดหรืออายัดไว้เนื่องจากการกระทำความผิดของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้น ถ้าไม่มีผู้ใดมาขอรับคืนภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง ให้ตกเป็นของกองทุน

ในกรณีที่ไม่อาจดำเนินคดีได้ภายในสองปีนับแต่วันที่การกระทำความผิดเกิดและไม่อาจจับตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยได้ ให้ทรัพย์สินที่ได้ยึดหรืออายัดไว้เนื่องจากการกระทำความผิดของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้นตกเป็นของกองทุน แต่ถ้าไม่อาจดำเนินคดีต่อไปได้เพราะเหตุที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยรายใดถึงแก่ความตาย ให้ทรัพย์สินตกเป็นของกองทุนเว้นแต่ภายในสองปีนับแต่วันที่ผู้ต้องหาหรือจําเลยรายนั้นถึงแก่ความตาย และทายาทของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้นสามารถพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์สินนั้นไม่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้นได้ทรัพย์สินดังกล่าวมาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน หรือได้มาตามสมควรในทางศีลธรรมอันดี หรือในทางกุศลสาธารณ ก็ให้คืนทรัพย์สินนั้นให้แก่ทายาทของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้น

มาตรา ๓๓ การขอรับทรัพย์สินคืนให้ยื่นคำร้องพร้อมทั้งเอกสารหลักฐานต่อคณะกรรมการ

การขอรับทรัพย์สินคืนและการคืนทรัพย์สินให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

หมวด ๓
กองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด


มาตรา ๓๔ ให้จัดตั้งกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดขึ้นกองทุนหนึ่งในสำนักงานเพื่อใช้ประโยชน์ในการป้อง กันและปราบปรามยาเสพติด

มาตรา ๓๕ กองทุนตามมาตรา ๓๔ ประกอบด้วยทรัพย์สินดังต่อไปนี้

 (๑) ทรัพย์สินที่ตกเป็นของกองทุนตามมาตรา ๓๑ และมาตรา ๒๒

 (๒) ทรัพย์สินที่มีผู้ให้

 (๓) ทรัพย์สินที่ได้รับจากรัฐบาล

 (๔) ผลประโยชน์ที่เกิดจากทรัพย์สินตาม (๑) (๒) และ (๓)

มาตรา ๓๖ กองทุนตามมาตรา ๓๕ ให้เป็นของสำนักงานโดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน

มาตรา ๓๗ การรับเงิน การจ่ายเงิน และการเก็บรักษาเงินของกองทุนให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการ กำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง

มาตรา ๓๘ การจัดหาผลประโยชน์ การจัดการและการจำหน่ายทรัพย์สินของกองทุนให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง

มาตรา ๓๙ ภายในหกเดือนนับแต่วันสิ้นปีปฏิทิน ให้เลขาธิการเสนองบดุลและรายงานการรับจ่ายเงินของกองทุนในปีที่ล่วงมาแล้วซึ่งสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบรับรองต่อรัฐมนตรีเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี

ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่าเงินกองทุนมีมากพอสมควร ซึ่งเมื่อนำไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของกองทุนแล้วยังคงมีเงินเหลืออยู่อีกเป็นจำนวนมาก คณะรัฐมนตรีจะมีมติให้ส่งเงินกองทุนจำนวนใดจำนวนหนึ่งเข้าคลังเป็นรายได้แผ่นดินก็ได้

หมวด ๔
บทกำหนดโทษ


มาตรา ๔๐ ผู้ใดไม่มาให้ถ้อยคำ หรือไม่ส่งคำชี้แจงเป็นหนังสือ หรือไม่ส่งบัญชีเอกสารหรือหลักฐานตามมาตรา ๒๕ (๒) หรือขัดขวาง หรือไม่ให้ความสะดวกตามมาตรา ๒๕ (๓) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๔๑ ผู้ใดรู้หรืออาจรู้ความลับในราชการเกี่ยวกับการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ กระทำด้วยประการใด ๆ ให้ผู้อื่นรู้หรืออาจรู้ความลับดังกล่าว เว้นแต่เป็นการปฏิบัติการตามหน้าที่หรือตามกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๔๒ ผู้ใดยักย้าย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ หรือรับไว้โดยมิชอบด้วยประการใดซึ่งทรัพย์สินที่มีคำสั่งยึดหรืออายัดหรือที่ตนรู้ว่าจะถูกยึดหรืออายัดตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

  • ผู้รับสนองพระราชโองการ
  • อานันท์ ปันยารชุน
  • นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เพื่อให้การปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นจำเป็นต้องมีการกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการปราบปรามผู้กระทำผิดตามกฎหมายดังกล่าวขึ้นโดยเฉพาะ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

บรรณานุกรม แก้ไข

 

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"