พระราชบัญญัติราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2544

ตราราชโองการ
ตราราชโองการ
พระราชบัญญัติ
ราชบัณฑิตยสถาน
พ.ศ. ๒๕๔๔

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๔
เป็นปีที่ ๕๖ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยราชบัณฑิตยสถาน

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๔"

มาตรา  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา  ให้ยกเลิก

(๑) พระราชบัญญัติราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช ๒๔๘๕

(๒) พระราชบัญญัติราชบัณฑิตยสถาน (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๘๗

มาตรา  ให้ราชบัณฑิตยสถานที่ได้จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช ๒๔๘๕ เป็นราชบัณฑิตยสถานตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา  ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

หมวด ๑
บททั่วไป


มาตรา  ให้ราชบัณฑิตยสถานเป็นส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น และมีฐานะเป็นกรม ซึ่งไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน

มาตรา  ให้ราชบัณฑิตยสถานมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(๑) ค้นคว้า วิจัย และบำรุงสรรพวิชา แล้วนำผลงานที่ได้สร้างสรรค์ออกเผยแพร่ให้เป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศและประชาชน

(๒) ติดต่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสานงานทางวิชาการกับองค์การปราชญ์และสถาบันทางวิชาการอื่น ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

(๓) ให้ความเห็น คำแนะนำ และคำปรึกษาทางวิชาการแก่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี

(๔) ให้บริการทางวิชาการแก่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญ องค์การมหาชน หน่วยงานอื่นของรัฐ สถาบันการศึกษา หน่วยงานของเอกชน และประชาชน

(๕) ดำเนินงานเกี่ยวกับการจัดทำพจนานุกรม สารานุกรม อักขรานุกรม อนุกรมวิธาน การบัญญัติศัพท์วิชาการสาขาต่าง ๆ รวมทั้งการจัดทำพจนานุกรมศัพท์วิชาการภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทย และงานวิชาการอื่น ๆ

(๖) กำหนดหลักเกณฑ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย การอนุรักษ์ภาษาไทยมิให้แปรเปลี่ยนไปในทางที่เสื่อม การส่งเสริมภาษาไทยซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาติให้ปรากฏเด่นชัดยิ่งขึ้น

(๗) ปฏิบัติการอื่นตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของราชบัณฑิตยสถาน

มาตรา  ให้แบ่งงานทางวิชาการของราชบัณฑิตยสถานออกเป็นสำนัก ดังนี้

(๑) สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง

(๒) สำนักวิทยาศาสตร์

(๓) สำนักศิลปกรรม

การจัดตั้งสำนักขึ้นใหม่ การยุบ การรวม หรือการแยกสำนัก ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

มาตรา  การกำหนดประเภทวิชาในแต่ละสำนัก และการแบ่งประเภทวิชาออกเป็นสาขาวิชา ให้ทำเป็นข้อบังคับสภาราชบัณฑิต

มาตรา ๑๐ ข้อบังคับสภาราชบัณฑิต ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

หมวด ๒
สมาชิก


มาตรา ๑๑ ราชบัณฑิตยสถานมีสมาชิก ๓ ประเภท คือ

(๑) ภาคีสมาชิก

(๒) ราชบัณฑิต

(๓) ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์

มาตรา ๑๒ ภาคีสมาชิก ได้แก่ บุคคลผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา ๑๓ และมีคุณวุฒิตามมาตรา ๑๔ ซึ่งสมัครเข้าเป็นภาคีสมาชิกของสำนักใดสำนักหนึ่งตามข้อบังคับสภาราชบัณฑิต และสำนักนั้นได้มีมติรับเป็นภาคีสมาชิกแล้ว

มาตรา ๑๓ ผู้สมัครเป็นภาคีสมาชิกต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(๑) มีสัญชาติไทย

(๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปีบริบูรณ์

(๓) ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

(๔) ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

(๕) ไม่มีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรง

มาตรา ๑๔ ผู้สมัครเป็นภาคีสมาชิกต้องมีคุณวุฒิเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาใดวิชาหนึ่ง โดยได้รับปริญญา ประกาศนียบัตร หรือตำแหน่งทางวิชาการไม่ต่ำกว่าที่กำหนดไว้ในข้อบังคับสภาราชบัณฑิต และได้ใช้คุณวุฒิแสดงความสามารถอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

(๑) ได้แสดงความสามารถในการปฏิบัติงานจนมีชื่อเสียงเกียรติคุณเป็นที่ประจักษ์ในวิชาการ ศิลปะ หรือวิชาชีพ

(๒) ได้คิดขึ้นใหม่หรือคิดแก้ไขให้ดีขึ้นซึ่งสิ่งประดิษฐ์ กรรมวิธี หรือหลักวิชาการซึ่งราชบัณฑิตยสถานเห็นว่า เป็นประโยชน์เป็นที่ประจักษ์

(๓) ได้แต่งหรือแปลงหนังสือซึ่งราชบัณฑิตยสถานเห็นว่า ดีถึงขนาด และหนังสือนั้นได้พิมพ์เผยแพร่แล้ว

มาตรา ๑๕ การกำหนดจำนวนภาคีสมาชิกซึ่งจะมีได้ในแต่ละสำนัก หลักเกณฑ์และวิธีการสมัครและวิธีการรับบุคคลเป็นภาคีสมาชิก ให้เป็นไปตามข้อบังคับสภาราชบัณฑิต

มาตรา ๑๖ ราชบัณฑิต ได้แก่ ภาคีสมาชิกซึ่งนายกรัฐมนตรีจะได้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นราชบัณฑิตในประเภทวิชาสาขาใดสาขาหนึ่งที่อยู่ในหน้าที่ของราชบัณฑิตยสถาน โดยคำแนะนำของสภาราชบัณฑิต

มาตรา ๑๗ การกำหนดจำนวนราชบัณฑิตซึ่งจะมีได้ในแต่ละสำนัก การตั้งตำแหน่งราชบัณฑิตขึ้นใหม่ การตั้งราชบัณฑิตในตำแหน่งที่ว่าง รวมทั้งการเลือกภาคีสมาชิกเพื่อแต่งตั้งเป็นราชบัณฑิตในตำแหน่งที่ตั้งขึ้นใหม่หรือในตำแหน่งที่ว่าง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับสภาราชบัณฑิต

มาตรา ๑๘ ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ได้แก่ บุคคลผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีชื่อเสียงเกียรติคุณดีเด่นเป็นที่ประจักษ์ในประเภทวิชาสาขาใดสาขาหนึ่งที่อยู่ในหน้าที่ของราชบัณฑิตยสถาน และได้ให้ความร่วมมือปฏิบัติงานทางวิชาการอันเป็นประโยชน์แก่กิจการของราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะได้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์โดยคำแนะนำของสภาราชบัณฑิต

มาตรา ๑๙ ให้สมาชิกราชบัณฑิตยสถานมีสิทธิและประโยชน์ ดังต่อไปนี้

(๑) ภาคีสมาชิก

 (ก) รับเงินอุปการะตามระเบียบราชบัณฑิตยสถาน

 (ข) ประดับเข็มเครื่องหมายตามระเบียบสภาราชบัณฑิต

 (ค) เข้าร่วมประชุมและแสดงความคิดเห็นหรืออภิปรายในการประชุมสำนักหรือการประชุมสภาราชบัณฑิต แต่ไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน

(๒) ราชบัณฑิต

 (ก) รับเงินอุปการะตามระเบียบราชบัณฑิตยสถาน

 (ข) ประดับเข็มเครื่องหมายตามระเบียบสภาราชบัณฑิต

 (ค) ได้รับความยกย่องในงานพระราชพิธี งานพิธี หรือสโมสรสันนิบาตของทางราชการเสมอด้วยข้าราชการซึ่งดำรงตำแหน่งอธิบดี

(๓) ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์

 (ก) ประดับเข็มเครื่องหมายตามระเบียบสภาราชบัณฑิต

 (ข) ได้รับความยกย่องในงานพระราชพิธี งานพิธี หรือสโมสรสันนิบาตของทางราชการเสมอด้วยข้าราชการซึ่งดำรงตำแหน่งอธิบดี

 (ค) เข้าร่วมประชุมในการประชุมสภาราชบัณฑิตในฐานะที่ปรึกษา

มาตรา ๒๐ สมาชิกราชบัณฑิตยสถานพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๑๓ (๑) หรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๓ (๓) หรือ (๔)

(๔) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

(๕) ที่ประชุมสภาราชบัณฑิตมีมติให้พ้นจากตำแหน่งด้วยคะแนนเสียงไม่ต่ำกว่าสองในสามของจำนวนราชบัณฑิตที่มาประชุม ในกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้

 (ก) ขาดประชุมสำนักที่ตนเป็นภาคีสมาชิกหรือราชบัณฑิตเป็นเวลาติดต่อกันเกินหกเดือนโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

 (ข) มีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรง

ในกรณีที่ราชบัณฑิตพ้นจากตำแหน่ง ให้นายกราชบัณฑิตยสถานรายงานต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อนำความกราบทูลให้ทรงทราบ

มาตรา ๒๑ ราชบัณฑิตที่อยู่ในตำแหน่งซึ่งไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามปกติ เพราะเหตุชรา พิการ หรือทุพพลภาพ และราชบัณฑิตที่พ้นจากตำแหน่งเพราะเป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ ซึ่งสำนักที่ราชบัณฑิตผู้นั้นประจำอยู่มีมติว่า อยู่ในฐานะที่ควรอนุเคราะห์ ให้มีสิทธิได้รับเงินอุปการะพิเศษตามระเบียบราชบัณฑิตยสถาน

หมวด ๓
การดำเนินงาน


มาตรา ๒๒ ให้มีสภาขึ้นในราชบัณฑิตยสถานสภาหนึ่ง เรียกว่า "สภาราชบัณฑิต" ประกอบด้วย

(๑) นายกราชบัณฑิตยสถานตามมาตรา ๒๓ วรรคหนึ่ง เป็นนายกสภา

(๒) อุปนายกราชบัณฑิตยสถานสองคน ตามมาตรา ๒๓ วรรคหนึ่ง เป็นอุปนายกสภา

(๓) ราชบัณฑิตทุกคน เป็นกรรมการสภา

ให้เลขาธิการราชบัณฑิตยสถานเป็นเลขานุการสภา และรองเลขาธิการราชบัณฑิตยสถานเป็นผู้ช่วยเลขานุการสภา

มาตรา ๒๓ ให้สภาราชบัณฑิตประชุมเลือกราชบัณฑิตเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกราชบัณฑิตยสถานคนหนึ่ง และเป็นอุปนายกราชบัณฑิตยสถานสองคน แล้วเสนอชื่อไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง

หลักเกณฑ์และวิธีการในการเลือกนายกราชบัณฑิตยสถานและอุปนายกราชบัณฑิตยสถาน ให้เป็นไปตามข้อบังคับสภาราชบัณฑิต

มาตรา ๒๔  นายกราชบัณฑิตสถานมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้

(๑) เป็นผู้แทนของราชบัณฑิตยสถานในการดำเนินงานตามมาตรา ๗ (๒)

(๒) กำกับดูแลการปฏิบัติงานของราชบัณฑิตยสถานทางด้านวิชาการให้เป็นไปตามนโยบาย ข้อบังคับ ระเบียบ และมติของสภาราชบัณฑิต

(๓) แต่งตั้งคณะกรรมการตามมาตรา ๓๔

มาตรา ๒๕ อุปนายกราชบัณฑิตยสถานมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้

(๑) ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกราชบัณฑิตยสถานตามที่นายกราชบัณฑิตยสถานมอบหมาย

(๒) เป็นผู้รักษาการแทนนายกราชบัณฑิตยสถาน ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งนายกราชบัณฑิตยสถาน หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้

มาตรา ๒๖ นายกราชบัณฑิตยสถานและอุปนายกราชบัณฑิตยสถานมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปี และอาจได้รับเลือกใหม่อีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันมิได้

ในกรณีที่นายกราชบัณฑิตยสถานหรืออุปนายกราชบัณฑิตยสถานพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ให้นายกราชบัณฑิตยสถานหรืออุปนายกราชบัณฑิตยสถานซึ่งพ้นจากตำแหน่งคงอยู่ในตำแหน่งต่อไป จนกว่านายกราชบัณฑิตยสถานหรืออุปนายกราชบัณฑิตยสถาน แล้วแต่กรณี ซึ่งได้รับเลือกใหม่เข้ารับหน้าที่

มาตรา ๒๗ นอกจากพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๒๖ นายกราชบัณฑิตยสถานและอุปนายกราชบัณฑิตยสถานพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

(๑) ลาออกจากตำแหน่งนายกราชบัณฑิตยสถานหรืออุปนายกราชบัณฑิตยสถาน

(๒) พ้นจากตำแหน่งสมาชิกราชบัณฑิตยสถานตามมาตรา ๒๐

มาตรา ๒๘ ในกรณีที่นายกราชบัณฑิตยสถานหรืออุปนายกราชบัณฑิตยสถานพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ให้มีการเลือกผู้ดำรงตำแหน่งแทน เว้นแต่วาระของนายกราชบัณฑิตยสถานหรืออุปนายกราชบัณฑิตยสถานเหลืออยู่ไม่ถึงเก้าสิบวัน จะไม่เลือกผู้ดำรงตำแหน่งแทนก็ได้ ผู้ซึ่งได้รับเลือกให้อยู่ในตำแหน่งเท่าวาระที่ยังเหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน

มาตรา ๒๙ สภาราชบัณฑิตมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(๑) วางนโยบายในการดำเนินงานด้านวิชาการตามอำนาจหน้าที่ของราชบัณฑิตยสถาน

(๒) พิจารณาให้ความเห็นชอบในการกำหนดประเภทวิชาของสำนักและการแบ่งวิชาแต่ละประเภทออกเป็นสาขาวิชาต่าง ๆ

(๓) พิจารณาให้ความเห็นชอบในการจัดตั้ง การรวม หรือการแยกสำนัก

(๔) พิจารณาให้ความเห็นชอบในการออกข้อบังคับและระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินงานของสภาราชบัณฑิต

(๕) เลือกนายกราชบัณฑิตยสถาน อุปนายกราชบัณฑิตยสถาน รวมทั้งมีมติให้ความเห็นชอบในการเสนอแต่งตั้งราชบัณฑิตและราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์

(๖) พิจารณาให้ความเห็นชอบและอนุมัติในเรื่องที่เกี่ยวกับกิจการของสภาราชบัณฑิตตามที่นายกราชบัณฑิตยสถานเสนอ

มาตรา ๓๐ การประชุมสภาราชบัณฑิต ให้เป็นไปตามข้อบังคับสภาราชบัณฑิต

ให้มีการประชุมสภาราชบัณฑิตอย่างน้อยปีละสี่ครั้ง เพื่อปรึกษา พิจารณา และดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๓๑ ให้ราชบัณฑิตแต่ละสำนักประชุมกันเลือกราชบัณฑิตในสำนักของตนเป็นประธานสำนักคนหนึ่ง และเป็นเลขานุการสำนักคนหนึ่ง แล้วให้นายกราชบัณฑิตยสถานเสนอชื่อไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อแต่งตั้งโดยประกาศราชบัณฑิตยสถาน

หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกประธานสำนักและเลขานุการสำนัก ให้เป็นไปตามข้อบังคับสภาราชบัณฑิต

มาตรา ๓๒ ประธานสำนักและเลขานุการสำนักมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปีและอาจได้รับเลือกใหม่อีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันมิได้

ให้นำความในมาตรา ๒๖ วรรคสอง มาตรา ๒๗ และมาตรา ๒๘ มาใช้บังคับกับการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของประธานสำนักและเลขานุการสำนักด้วยโดยอนุโลม

มาตรา ๓๓ การประชุมสำนัก ให้เป็นไปตามข้อบังคับสภาราชบัณฑิต

ในการประชุมสำนักแต่ละสำนัก ราชบัณฑิตและภาคีสมาชิกมีหน้าที่เข้าประชุมและมีหน้าที่เสนอเรื่องเกี่ยวกับวิชาการที่ตนค้นคว้าได้ต่อสำนัก ตามระเบียบสภาราชบัณฑิต

มาตรา ๓๔ ให้มีคณะกรรมการทางวิชาการของราชบัณฑิตยสถานประจำสาขาวิชาต่าง ๆ คณะหนึ่งหรือหลายคณะ ซึ่งแต่งตั้งโดยนายกราชบัณฑิตยสถาน เพื่อดำเนินกิจการตามอำนาจหน้าที่ของราชบัณฑิตยสถานดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๗ (๕) และ (๖)

นอกจากคณะกรรมการทางวิชาการตามวรรคหนึ่ง นายกราชบัณฑิตยสถานมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการอื่น เพื่อทำการใด ๆ อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภาราชบัณฑิต

ให้กรรมการทางวิชาการตามวรรคหนึ่ง และกรรมการอื่นตามวรรคสอง ได้รับค่าตอบแทนตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

มาตรา ๓๕ ให้มีคณะกรรมการส่งเสริมกิจการราชบัณฑิตยสถานคณะหนึ่ง ประกอบด้วย

(๑) อุปนายกราชบัณฑิตยสถานซึ่งนายกราชบัณฑิตยสถานมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ และอุปนายกราชบัณฑิตยสถานอีกคนหนึ่ง เป็นรองประธานกรรมการ

(๒) ประธานสำนักและเลขานุการสำนักทุกสำนัก เป็นกรรมการ

(๓) ราชบัณฑิตซึ่งมิได้เป็นประธานสำนักหรือเลขานุการสำนัก ซึ่งแต่ละสำนักแต่งตั้งสำนักละหนึ่งคน เป็นกรรมการ

(๔) เลขาธิการราชบัณฑิตยสถาน เป็นกรรมการและเลขานุการ และรองเลขาธิการราชบัณฑิตยสถาน เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

คณะกรรมการส่งเสริมกิจการราชบัณฑิตยสถานมีหน้าที่ให้คำปรึกษาและเสนอข้อแนะนำแก่ราชบัณฑิตยสถาน ประสานงานและสนับสนุนการดำเนินกิจการของราชบัณฑิตยสถาน โดยเสนอต่อนายกราชบัณฑิตยสถาน

การแต่งตั้งและวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการตาม (๓) การดำเนินงานและการประชุมของคณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบสภาราชบัณฑิต

มาตรา ๓๖ ให้มีเลขาธิการราชบัณฑิตยสถานคนหนึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของราชบัณฑิตยสถาน และปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามนโยบาย ข้อบังคับ ระเบียบ และมติของสภาราชบัณฑิต และจะให้มีรองเลขาธิการราชบัณฑิตยสถานปฏิบัติราชการด้วยก็ได้

ให้เลขาธิการราชบัณฑิตยสถานและรองเลขาธิการราชบัณฑิตยสถานเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ

การแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการราชบัณฑิตยสถาน ให้แต่งตั้งจากข้าราชการพลเรือนสามัญ ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาใดวิชาหนึ่งที่อยู่ในหน้าที่ของราชบัณฑิตยสถานและการบริหารราชการแผ่นดิน โดยดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน

บทเฉพาะกาล

มาตรา ๓๗ ให้ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิต และราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นภาคีสมาชิก ราชบัณฑิต หรือราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แล้วแต่กรณี ตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๓๘ ให้คณะกรรมการต่าง ๆ ของราชบัณฑิตยสถานซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา คงเป็นคณะกรรมการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๓๙ ให้ผู้ดำรงตำแหน่งนายกราชบัณฑิตยสถาน อุปนายกราชบัณฑิตยสถาน ประธานสำนัก และเลขานุการสำนัก ซึ่งได้รับเลือกตามมาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช ๒๔๘๕ อยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา คงดำรงตำแหน่งต่อไปจนครบวาระการดำรงตำแหน่ง

ให้ผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการราชบัณฑิตยสถานซึ่งได้รับเลือกตามมาตรา ๒๐ (๒) แห่งพระราชบัญญัติราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช ๒๔๘๕ อยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการราชบัณฑิตยสถาน และให้ดำรงตำแหน่งอุปนายกราชบัณฑิตยสถานตามพระราชบัญญัตินี้จนครบวาระของเลขาธิการราชบัณฑิตยสถานเดิม

การดำรงตำแหน่งของบุคคลตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง มิให้นับเป็นวาระการดำรงตำแหน่งตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๔๐ ในระหว่างที่ยังไม่มีข้อบังคับสภาราชบัณฑิตกำหนดประเภทวิชาของแต่ละสำนักตามมาตรา ๙ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๘ มาตรา ๙ และมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช ๒๔๘๕ มาใช้บังคับไปพลางก่อน

มาตรา ๔๑ ในระหว่างที่ยังไม่มีข้อบังคับการประชุมสภาราชบัณฑิตตามมาตรา ๓๐ วรรคหนึ่ง และข้อบังคับการประชุมสำนักตามมาตรา ๓๓ วรรคหนึ่ง ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช ๒๔๘๕ มาใช้บังคับไปพลางก่อน

มาตรา ๔๒ บรรดาระเบียบ ระเบียบการ และประกาศที่ได้ออกตามพระราชบัญญัติราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช ๒๔๘๕ และพระราชบัญญัติราชบัณฑิตยสถาน (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๘๗ ที่ใช้บังคับอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ยังคงใช้บังคับต่อไป เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติในพระราชบัญญัตินี้ จนกว่าจะมีข้อบังคับหรือระเบียบที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

  • ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
  • พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร
  • นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช ๒๔๘๕ ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน ประกอบกับงานในหน้าที่ของราชบัณฑิตยสถานได้ขยายตัวออกไปมากทั้งในด้านการค้นคว้า วิจัย และการให้บริการทางวิชาการแก่รัฐบาล หน่วยงานของรัฐ และประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานปรับปรุงและตรวจชำระพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้สมบูรณ์และทันสมัย เพื่อใช้เป็นมาตรฐานในการเขียน การอ่าน และการพูดภาษาไทยให้ถูกต้องเป็นระเบียบเดียวกัน งานจัดทำสารานุกรม อักขรานุกรม อนุกรมวิธาน ทางวิชาการสาขาต่าง ๆ งานจัดทำพจนานุกรมและบัญญัติศัพท์วิชาการสาขาที่สำคัญ ๆ งานบัญญัติศัพท์วิชาการภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทย เพื่อให้ประชาชนใช้ในการศึกษา ค้นคว้าหนังสือตำราภาษาต่างประเทศ และส่งเสริมให้มีการใช้ศัพท์วิชาการภาษาไทยแทนศัพท์ภาษาต่างประเทศให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน รวมทั้งการทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางทางวิชาการในการอนุรักษ์ภาษาไทย เพื่อเสริมสร้างเอกลักษณ์แห่งภาษาไทย ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับบทบาท ภาระ หน้าที่ และสภาพการณ์ในปัจจุบันของราชบัณฑิตยสถาน สมควรปรับปรุงโครงสร้างองค์กร ระบบบริหารงานด้านวิชาการและด้านบริหาร และขยายอำนาจหน้าที่ของราชบัณฑิตยสถานในการสร้างสรรค์ทางวิชาการให้กว้างขวางยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

บรรณานุกรม แก้ไข

 

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"