พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2550

ตราราชโองการ
ตราราชโองการ
พระราชบัญญัติ
แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๑๘)
พ.ศ. ๒๕๕๐

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๐
เป็นปีที่ ๖๒ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้

มาตรา  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๑๘) พ.ศ. ๒๕๕๐"

มาตรา  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (๑๕) ของมาตรา ๑ แห่งประมวลกฎหมายอาญา

"(๑๕) "หนังสือเดินทาง" หมายความว่า เอกสารสำคัญประจำตัว ไม่ว่าจะมีรูปลักษณะใด ที่รัฐบาลไทย รัฐบาลต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ ออกให้แก่บุคคลใด เพื่อใช้แสดงตนในการเดินทางระหว่างประเทศ และให้หมายความรวมถึง เอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง และแบบหนังสือเดินทางที่ยังไม่ได้กรอกข้อความเกี่ยวกับผู้ถือหนังสือเดินทางด้วย"

มาตรา  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (๒/๒) ของมาตรา ๘ แห่งประมวลกฎหมายอาญา

"(๒/๒) ความผิดเกี่ยวกับหนังสือเดินทางตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖๙/๘ ถึงมาตรา ๒๖๙/๑๕"

มาตรา ๕ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นหมวด ๕ ความผิดเกี่ยวกับหนังสือเดินทาง มาตรา ๒๖๙/๘ มาตรา ๒๖๙/๙ มาตรา ๒๖๙/๑๐ มาตรา ๒๖๙/๑๑ มาตรา ๒๖๙/๑๒ มาตรา ๒๖๙/๑๓ มาตรา ๒๖๙/๑๔ และมาตรา ๒๖๙/๑๕ ของลักษณะ ๗ ความผิดเกี่ยวกับการปลอมและการแปลง ในภาค ๒ ความผิดแห่งประมวลกฎหมายอาญา

"หมวด ๕
ความผิดเกี่ยวกับหนังสือเดินทาง

มาตรา ๒๖๙/๘ ผู้ใดทำหนังสือเดินทางปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในหนังสือเดินทางที่แท้จริง หรือประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในหนังสือเดินทาง โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นหนังสือเดินทางที่แท้จริง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมหนังสือเดินทาง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท

มาตรา ๒๖๙/๙ ผู้ใดใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ซึ่งหนังสือเดินทางปลอมตามมาตรา ๒๖๙/๘ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท

ผู้ใดจำหน่ายหรือมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งหนังสือเดินทางปลอมตามมาตรา ๒๖๙/๘ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสี่แสนบาท

การมีหนังสือเดินทางปลอมตามมาตรา ๒๖๙/๘ จำนวนตั้งแต่สองฉบับขึ้นไป ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า มีไว้เพื่อจำหน่าย

ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองเป็นผู้ปลอมซึ่งหนังสือเดินทางตามมาตรา ๒๖๙/๘ ให้ลงโทษตามมาตรานี้แต่กระทงเดียว

มาตรา ๒๖๙/๑๐ ผู้ใดนำเข้าในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งหนังสือเดินทางปลอมตามมาตรา ๒๖๙/๘ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งได้กระทำไปเพื่อจำหน่าย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสี่แสนบาท

มาตรา ๒๖๙/๑๑ ผู้ใดใช้หนังสือเดินทางของผู้อื่นโดยมิชอบ ในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท

ผู้ใดจัดหาหนังสือเดินทางให้ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน

มาตรา ๒๖๙/๑๒ ผู้ใดทำปลอมขึ้นซึ่งดวงตรา รอยตรา หรือแผ่นปะตรวจลงตราอันใช้ในการตรวจลงตราสำหรับการเดินทางระหว่างประเทศ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท

มาตรา ๒๖๙/๑๓ ผู้ใดใช้ดวงตรา รอยตรา หรือแผ่นปะตรวจลงตราที่ทำปลอมขึ้นตามมาตรา ๒๖๙/๑๒ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท

ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นผู้ปลอมซึ่งดวงตรา รอยตรา หรือแผ่นปะตรวจลงตราตามมาตรา ๒๖๙/๑๒ ให้ลงโทษตามมาตรานี้แต่กระทงเดียว

มาตรา ๒๖๙/๑๔ ผู้ใดนำเข้าในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งดวงตรา รอยตรา หรือแผ่นปะตรวจลงตราซึ่งระบุไว้ในมาตรา ๒๖๙/๑๒ อันเป็นของปลอม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท

มาตรา ๒๖๙/๑๕ ผู้ใดใช้ดวงตรา รอยตรา หรือแผ่นปะตรวจลงตราอันแท้จริงที่ใช้ในการตรวจลงตราสำหรับการเดินทางระหว่างประเทศโดยมิชอบ ในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖๙/๑๓"

  • ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
  • พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์
  • นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ปัจจุบันการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติได้ทวีความรุนแรงและมีรูปแบบที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น และได้มีการใช้หนังสือเดินทางเป็นเครื่องมือในการกระทำดังกล่าว ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงภายในประเทศและต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สมควรขยายขอบเขตของการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนังสือเดินทางให้กว้างขึ้น และสมควรกำหนดอัตราโทษให้เหมาะสมกับความผิด จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

บรรณานุกรม แก้ไข

 

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"