พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด)/ตอน 9

(๘) รัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

สมเด็จพระราเมศวรเจ้าผู้เป็นพระราชกุมารขึ้นเสวยราชสมบัติ ทรงพระนามชื่อ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ยกวังทำเป็นวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ เสด็จมาอยู่ริมน้ำ จึงให้สร้างพระที่นั่งเบญจรัตน์มหาปราสาทองค์หนึ่ง สร้างพระที่นั่งสรรเพชญปราสาทองค์หนึ่ง[1] แล้วพระราชทานชื่อขุนนางตำแหน่งนา ให้เอาทหารเป็นสมุหพระกลาโหม เอาพลเรือนเป็นสมุหนายก เอาขุนเมืองเป็นพระนครบาลเมือง เอาขุนวังเป็นพระธรรมาธิกร เอาขุนนาเป็นพระเกษตรา เอาขุนคลังเป็นโกษาธิบดี ให้ถือศักดินาหมื่น แลที่ถวายพระเพลิงสมเด็จพระรามาธิบดีที่พระองค์สร้างกรุงนั้น ให้สถาปนาพระมหาธาตุแลพระวิหารเป็นพระอาราม ให้นามชื่อ วัดพระราม

ศักราช ๘๐๒[2] ปีวอก โทศก ครั้งนั้น ออกทรพิษตายมากนัก

ศักราช ๘๐๓[3] ปีรกา ตรีนิศก แต่งทัพไปเอาเมืองมะละกา

ศักราช ๘๐๔[4] ปีจอ จัตวาศก แต่งทัพไปเอาเมืองศรีสพเถิน ครั้งนั้น เสด็จหนุนทัพขึ้นไปตั้งทัพหลวงตำบลบ้านโคน

ศักราช ๘๐๕[5] ปีกุญ เบญจศก เข้าเปลือกแพงเป็นทะนานละ ๘๐๐ เบี้ย เบี้ยเฟื้องละ ๘๐๐ เบี้ย[6] เกวียนหนึ่งเป็นเงินสามชั่งกับสิบบาท

ศักราช ๘๐๖[7] ปีชวด ฉศก ให้บำรุงพระพุทธศาสนาบริบูรณ์ แลหล่อพระรูปพระโพธิสัตว์ ๕๕๐ พระชาติ

ศักราช ๘๐๘[8] ปีขาล อัฐศก เล่นการมหรสพฉลองพระ แลพระราชทานสมณชีพราหมณ์แลวรรณิพกทั้งปวง ครั้งนั้น พญาเชลียงคิดกบฏ พาครัวทั้งปวงไปแต่มหาราช

ศักราช ๘๐๙[9] ปีเถาะ นพศก พญาเชลียงนำมหาราชมาเอาเมืองพิษณุโลก เข้าปล้นเมืองเป็นสามารถมิได้ จึงยกทัพเปรไปเอาเมืองกำแพงเพชร เข้าปล้นเมืองถึง ๗ วันมิได้ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเจ้าแลสมเด็จพระอินทราชาเสด็จขึ้นไปช่วยเมืองกำแพงเพชรทัน แลสมเด็จพระอินทราชาเจ้าตีทัพพญาเกียรติแตก ทัพท่านมาปะทัพหมื่นนคร ได้ชนช้างด้วยหมื่นนคร แลข้าศึกลาวทั้งสี่ช้างเข้ารุมเอาช้างพระที่นั่งช้างเดียว ครั้งนั้น พระอินทราชาเจ้าต้องปืน ณ พระพักตร ทัพมหาราชนั้นเลิกกลับคืนไป

ศักราช ๘๑๐[10] ปีมะโรง สัมเรทธิศก สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเจ้าสร้างวิหารวัดจุลามณี

ศักราช ๘๑๑[11] ปีมะเส็ง เอกศก สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเจ้าทรงพระผนวชวัดจุลามณีได้แปดเดือนแล้วลาพระผนวช

ศักราช ๘๑๓[12] ปีมะแม ตรีนิศก ครั้งนั้น มหาท้าวบุญ[13] ชิงเมืองเชียงใหม่แก่ท้าวลูก

ศักราช ๘๑๕[14] ปีระกา เบญจศก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ช้างเผือก

ศักราช ๘๑๖[15] ปีจอ ฉศก สมภพพระราชโอรสท่าน

ศักราช ๘๑๘[16] ปีชวด อัฐศก เสด็จไปเมืองเชลียง

ศักราช ๘๒๑[17] ปีเถาะ เอกศก แรกตั้งเมืองนครไทย

ศักราช ๘๒๒[18] ปีมะโรง โทศก พระสีห์ราชเดโชถึงแก่กรรม

ศักราช ๘๒๔[19] ปีมะเมีย จัตวาศก พญาลานช้างถึงแก่กรรม พระราชทานให้อภิเษกพญาซ้ายขวา[20] เป็นพญาลานช้าง

ศักราช ๘๒๖[21] ปีวอก ฉศก ทรงพระกรุณาให้เล่นการมหรสพฉลองพระศรีรัตนมหาธาตุ ๑๕ วัน

ศักราช ๘๒๘[22] ปีจอ อัฐศก พระบรมราชาผู้เป็นพระราชโอรสทรงพระผนวช

ศักราช ๘๒๙[23] ปีกุญ นพศก สมเด็จพระโอรสเจ้าลาผนวช ประดิษฐานพระองค์ไว้ในที่พระมหาอุปราช

ศักราช ๘๓๐[24] ปีชวด สัมเรทธิศก สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าไปวังช้างตำบลสำฤทธิบริบูรณ์

ศักราช ๘๓๑[25] ปีฉลู เอกศก มหาราชท้าวลูกพิราลัย

ศักราช ๘๓๒[26] ปีขาล โทศก สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าเสด็จยกทัพไปตีเมืองทวาย แลเมืองทวายเสียนั้น[27] เกิดอุบาทว์เป็นหลายประการ โคตกลูกตัวหนึ่งแปดเท้า ไก่ฟักฟองตกลูกตัวหนึ่งเป็นสี่เท้า ไก่ฟักฟองคู่ขอนตกลูกเป็นหกตัว อนึ่ง ข้าวสารงอกเป็นใบในปีนั้น สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จสวรรคต อยู่ในราชสมบัติ ๓๘ ปี

ศักราช ๘๓๔[28] ปีมะโรง จัตวาศก แรกให้ก่อกำแพงเมืองพิชัย


  1. ฉบับพันจันทนุมาศไม่มีข้อความที่ว่า "สร้างพระที่นั่งสรรเพชญปราสาททององค์หนึ่ง"
  2. ฉบับหลวงประเสริฐว่า ศักราช ๘๑๖ จอศก
  3.  " " ศักราช ๘๑๗ กุรศก
  4.  " " ศักราช ๘๑๘ ชวดศก
  5.  " " ศักราช ๘๑๙ ฉลูศก
  6. ฉบับพันจันทนุมาศว่า เบี้ย ๘๐๐ ต่อเฟื้อง เกวียนหนึ่งเป็น ๓ ชั่งกับ ๑๐ บาท
  7. ฉบับหลวงประเสริฐว่า ศักราช ๘๒๐ ขาลศก
  8.  " " ศักราช ๘๒๒ มะโรงศก
  9.  " " ศักราช ๘๒๕ มะแมศก
  10.  " " ศักราช ๘๒๖ วอกศก
  11. ฉบับหลวงประเสริฐว่า ศักราช ๘๒๙ ระกาศก
  12.  " " ศักราช ๘๓๐ ชวดศก
  13. ฉบับพันจันทนุมาศไม่มีคำว่า ครั้งนั้น
  14. ฉบับหลวงประเสริฐว่า ศักราช ๘๓๓ เถาะศก
  15.  " " ศักราช ๘๓๔ มะโรงศก
  16.  " " ศักราช ๘๓๖ มะเมียศก
  17.  " " ศักราช ๘๓๙ ระกาศก
  18.  " " ศักราช ๘๔๑ กุรศก
  19.  " " ศักราช ๘๔๒ ชวดศก
  20. ฉบับพระราชหัตถเลขาว่า พระราชทานให้อภิเษกพระยาเมืองขวาเป็นพระยาล้านช้าง
  21. ฉบับหลวงประเสริฐว่า ศักราช ๘๔๔ ขาลศก
  22.  " " ศักราช ๘๔๖ มะโรงศก
  23.  " " ศักราช ๘๔๗ มะเส็งศก
  24.  " " ศักราช ๘๔๘ มะเมียศก
  25.  " " ศักราช ๘๔๙ มะแมศก
  26.  " " ศักราช ๘๕๐ วอกศก
  27. ฉบับพันจันทนุมาศว่า "แลเมอเมืองทวายจะเสียนั้น"
  28. ฉบับหลวงประเสริฐว่า ศักราช ๘๕๒ จอศก