พระราชพงษาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์/อธิบาย

อธิบาย

หนังสือพงษาวดารฉบับนี้ หลวงประเสริฐอักษรนิติ์ (แพ เปรียญ) ไปได้มาจากบ้านราษฎรแห่งหนึ่ง เอามาให้แก่หอสมุดวชิรญาณเมื่อณวันที่ ๑๙ มิถุนายน ร,ศ, ๑๒๖

ได้อ่านดูหนังสือพงษาวดารฉบับนี้ ได้ความว่า เรียบเรียงไว้แต่เมื่อจุลศักราช ๑๐๔๒ ในแผ่นดินพระนารายน์ ข้อความคล้ายกับพงษาวดารย่อตอนต้นฉบับกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส แต่ฉบับนี้มีข้อความแปลกและต่างไปหลายแห่ง บางแห่งเห็นว่าเปนหลักถานจะถูกต้องดีกว่าพงษาวดารฉบับอื่นที่ได้เห็นแล้ว ยกตัวอย่างดังตอนแผ่นดินพระบรมไตรโลกนารถ พงษาวดารฉบับอื่นว่า เสวยราชสมบัติอยู่ณกรุงเก่า ทรงสร้างวิหารวัดจุฬามณี แล้วเสด็จออกทรงผนวชอยู่ที่วัดนั้น ๘ เดือนจึงลาผนวช ความข้อนี้ได้ค้นคว้าหาวัดจุฬามณีในกรุงเก่ากันนักแล้วยังไม่ได้ความว่าวัดจุฬามณีอยู่ที่ไหนจนทุกวันนี้ มาได้ความตามพงษาวดารฉบับนี้ว่า พระบรมไตรโลกนารถเสด็จขึ้นไปครองราชสมบัติอยู่ณเมืองพิศณุโลก สร้างวิหารวัดจุฬามณีที่นั่น ทรงผนวชที่นั่น และสวรรคตที่นั่น วัดจุฬามณีที่เมืองพิศณุโลกมีจริง ๆ ด้วย จึงเห็นว่าเปนหลักถานอยู่อย่างหนึ่ง ยังอิกแห่งหนึ่งซึ่งควรจะสังเกตในเรื่องศึกพระเจ้าหงษาวดีครั้งแผ่นดินพระมหาจักรพรรดิ์ พงษาวดารฉบับอื่นไม่มีพระนามพระเจ้าหงษาวดี ทำให้เข้าใจว่า พระเจ้าหงษาวดีที่มาตีกรุงเก่า คือพระเจ้าหงษาวดีลิ้นดำพระองค์เดียว แต่ความในพงษาวดารพม่าเขาว่า ๒ พระองค์ พงษาวดารฉบับนี้มีพระนามพระเจ้าหงษาวดีปรากฎเปน ๒ พระองค์ตรงกับพงษาวดารพม่า แปลกกับฉบับอื่น ๆ ในข้อนี้ด้วย และยังมีที่แปลกอีกหลายแห่ง

หนังสือพงษาวดารฉบับนี้เปนสมุดไทย เขียนตัวรง ลายมือเขียนหนังสือดูเหมือนจะเปนฝีมือครั้งกรุงเก่าตอนปลายหรือครั้งแรกตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ ของเดิมเห็นจะเปน ๒ เล่มจบ แต่ได้มาแต่เล่ม ๑ เล่มเดียว

กรรมการหอสมุดวชิรญาณเห็นว่า หนังสือพงษาวดารฉบับนี้ เมื่อได้ตรวจพิจารณาดูแล้ว ทั้งลายมือที่เขียนและโวหารที่แต่ง เห็นว่าเปนหนังสือเก่า ไม่มีเหตุอย่างใดจะควรสงไสยว่าได้มีผู้แก้ไขแซกแซงให้วิปลาตในชั้นหลังนี้ จึงได้สั่งให้ลงพิมพ์ไว้ให้ปรากฎ ป้องกันมิให้หนังสือเรื่องนี้สาบสูญไปเสีย ในการที่พิมพ์นั้น แห่งใดหนังสือในต้นฉบับเส้นรงเลือนพอสังเกตเห็นตัวหนังสือได้ก็ดี ที่สังเกตเห็นไม่ได้ทีเดียวก็มีบ้างแห่ง ได้วงเล็บมือไว้เปนสำคัญในที่ตัวหนังสือลบเลือนนั้นทุก ๆ แห่ง

วันที่ ๒๖ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๖
ดำรงราชานุภาพ