แผ่นดินสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๓ (พระเอกาทศรฐ)
จุลศักราช ๙๕๕–๙๖๓
เชิญพระบรมศพสมเด็จพระนเรศวรยกทัพกลับคืนพระนคร
น่า
๒๔๓
ตั้งพระทุลองลูกพระเจ้าเชียงใหม่เปนพระศรีสุมหาธรรมราชา
"
๒๔๔
เมืองไทรแต่งทูตแลเครื่องบรรณาการเข้ามาถวาย ขึ้นไปเฝ้าที่เมืองกำแพงเพ็ชร
"
๒๔๔
ทำพระราชพิธีสงครามาภิเศก แห่เสด็จจากปากโมก ประเวศพระนคร
"
๒๔๔
สร้างวัดวรเชษฐาราม
"
๒๔๗
หัวเมืองมอญเปนขบถต่อพระยาตองอู
"
๒๔๙
พระยาตองอูแอบอ้างรับสั่งพระเจ้าหงษาวดีลวงหัวเมืองมอญ
"
๒๔๙
นักสร้างบุตรพระยาตองอูลอบปลงพระชนม์พระเจ้าหงษาวดี
"
๒๕๐
พระยาตองอูกลัวหัวเมืองมอญจะขบถ ประกาศว่า จะมาขึ้นกรุงศรีอยุทธยา
"
๒๕๑
หัวเมืองมอญออกหากจากพระยาตองอูมาสวามิภักดิ์พระยาทละ ขึ้นกรุงศรีอยุทธยา
"
๒๕๒
พระยาตองอูแต่งทูตคุมเครื่องบรรณาการเข้ามาถวาย ขอขึ้นกรุงศรีอยุทธยา
"
๒๕๒
แต่งเรือทำพระราชพิธีอาศวยุช
"
๒๕๒
สร้างพระพุทธรูปสนองพระองค์ แลทำพระราชพิธีไล่เรือรับพระพุทธรูป
"
๒๕๔
ตั้งพระราชกำหนดกฎพระไอยการ
น่า
๒๕๖
ตั้งส่วยแลอากรขนอนตลาด
"
๒๕๖
พระราชทานที่กัลปนาเปนนิตยภัตรสงฆ์
"
๒๕๖
ตั้งเจ้าฟ้าสุทัศนราชโอรสเปนพระมหาอุปราช
"
๒๕๖
พระมหาอุปราชเสวยยาพิศม์สิ้นพระชนม์
"
๒๕๗
สมเด็จพระเอกาทศรฐสวรรคต
"
๒๕๗

แผ่นดินสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๓ (พระเอกาทศรฐ)

 พระบาทสมเด็จพระอนุชาธิราชทรงโศการ่ำรักพระบรมเชษฐาธิราชถึงความหลังต่าง ๆ พระเจ้าเชียงใหม่แลเสนาบดีแลนายทัพนายกองต่างคนโศกาอาดูรภาพต่าง ๆ ครั้นคลายโศกแล้ว จึงพระราชครูทั้ง ๔ แลท้าวพระยาสามนตราชมหาเสนาบดีมนตรีพิริยโยธามาตย์ทั้งหลายตั้งพลับพลาไชยสุพรรณมหาวิมานในทัพไชยกลางพยุหนั้นเสร็จ ก็นำพระราเชนทรยานกาญจนอลงกฎรจนามหานวรัตนชัชวาล ประดับด้วยอภิรุมชุมสายเสวตรฉัตรพัดวาลวิชนีพรรณกลิ้งกลดจามรมาศทั้งปวง แลเครื่องมหาเบญจราชกกุธภัณฑ์อนันตเรืองรัตนราโชประโภค อันเปนเครื่องราชาภิเศกสำหรับพระมหากระษัตราธิราชเจ้า มาถวายแด่พระบาทสมเด็จเอกาทศรฐอิศวรบรมนารถบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว อัญเชิญเสด็จขึ้นผ่านพิภพมไหสวรรยาธิปัติถวัลยราชประเพณี สืบสันตติศรีสุริยวงษ์ ดำรงพิภพมณฑลสกลกรุงพระมหานครศรีอยุทธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อันอำพนด้วยสามนตราชประเทศนานามหาไพบูลยพิศาลราชเจ้าสิมาอาณาเขตรมณฑลทั้งปวง โดยบุรพประเพณีพระมหากระษัตราธิราชเจ้าสืบ ๆ มา พระบาทสมเด็จเอกาทศรฐอิศวรบรมนารถบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็เสด็จขึ้นพลับพลาไชยสุพรรณมหาวิมาน อันประดับด้วยเครื่องอลงการกาญจนดารามหาวิศดารสานตทิพมณฑล ดูถกลด้วยบวรเสวตรฉัตรรัตนจามรมาศอลงกฎ แลมีพระคชาธารพระยาคชสารราชคเชนทรสถิตย์ซ้ายขวา ทั้งพระพิไชยพาหนะมงคลราชอัศดรสถิตย์ซ้ายขวา แลตั้งพยุหพลากรพลพฤนทโยธาทหารทุกหมู่ทุกพรรค์ประดับโดยขนัด พลช้างพลม้าพลเขนดั้งแพนแสนเสโลห์โตมรธนูศรทั้งปวงแห่ห้อมล้อมเปนบริวารเสร็จสรรพ จึงเบิกท้าวพระยาสามนตราชราชสกูลประยูรราชมหาเสนาบดีมนตรีมุขทั้งปวงถวายบังคม พระบาทสมเด็จเอกาทศรฐอิศวรบรมนารถบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชโองการตรัศสั่งท้าวพระยาทั้งหลายให้ตกแต่งการที่จะรับพระศพสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงมายังกรุงพระมหานครศรีอยุทธยา แลมีพระราชกำหนดให้ขึ้นไปหาท้าวพระยาทั้งหลายอันไปทัพน่านั้นให้กลับคืนมายังทัพหลวง ส่วนพระรามเดโชซึ่งมีพระราชกำหนดให้ไปหาถึงเชียงแสนเชียงรายนั้น พระรามเดโชก็มาถึงแลเบิกเข้ามาถวายบังคมในตำบลห้างหลวงนั้น.

 ถึงณวัน ๑๒ ฯ  ค่ำ พระบาทสมเด็จเอกาทศรฐอิศวรบรมนารถบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็เสด็จด้วยพระที่นั่งครุธพาหนะ มีเสวตรฉัตรรัตนพระอภิรุมชุมสายพรายพรรณประดับ สรรพด้วยท้าวพระยาสามนตราชพิริยโยธาแสนยากรทั้งหลายย้ายโดยขบวนน่าหลัง ก็เสด็จกรีธาพลพยุหยกทัพหลวงจากเมืองห้างหลวงคืนมาโดยอันดับมารค ก็เสด็จมาถึงเมืองเชียงใหม่ พระบาทสมเด็จเอกาทศรฐอิศวรบรมนารถบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็มีพระราชโองการตรัศสั่งแก่พระเจ้าเชียงใหม่ให้อยู่รักษาเมืองแลบำรุงช้างม้ารี้พลให้มั่งคั่ง เมื่อจะมีการพระราชสงครามไซ้ จะเอาพระเจ้าเชียงใหม่ไปโดยเสด็จ ก็แรมทัพหลวงในเมืองเชียงใหม่คืนหนึ่ง ครั้นพระเจ้าเชียงใหม่นำท้าวพระยามาถวายบังคมเสร็จ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็ยกทัพหลวงเสด็จจากเชียงใหม่ลงมา แลทรงพระกรุณาเอาพระทุลองลูกพระเจ้าเชียงใหม่ลงมาโดยเสด็จ แลพระราชทานให้นามกรชื่อ พระศรีสุมหาธรรมราชา พระบาทสมเด็จเอกาทศรฐอิศวรบรมนารถบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็เสด็จมาโดยทางศุโขไทยมายังท่าเรือในเมืองกำแพงเพ็ชร.

 ในขณะนั้น เมืองไทรแต่งทูตานุทูตให้ถือหนังสือแลเครื่องราชบรรณาการเข้ามาถวาย จึงข้าหลวงก็นำทูตานุทูตเมืองไทรนั้นขึ้นไปถวายบังคมแลถวายเครื่องราชบรรณาการถึงทัพหลวงในเมืองกำแพงเพ็ชร แต่ทัพหลวงตั้งอยู่ในเมืองกำแพงเพ็ชรนั้นสิบห้าวัน จึงมีพระราชกำหนดลงมาแก่ท้าวพระยาผู้อยู่รั้งพระนครให้แต่งพระตำหนักตำบลปากโมก ครั้นเสร็จก็เสด็จโดยชลมารคล่องมายังพระตำหนักในปากโมกนั้น พระบาทสมเด็จเอกาทศรฐอิศวรบรมนารถบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็มีพระราชโองการตรัศสั่งแก่เจ้าพระยาธรมาธิบดีให้ตกแต่งการประดับประดาพระราชวังหลวงแลตั้งราชวัตรฉัตรธงทั้งสองตราบข้างชลมารคแต่พระตำหนักปากโมกเท่าถึงพระราชวังหลวง แลให้ท้าวพระยาทั้งหลายตรวจจัดเรือแห่แหนทั้งปวงสรรพเสร็จ ถึงณวัน ๑๐ ฯ  ๑๒ ค่ำ พระบาทสมเด็จเอกาทศรฐอิศวรบรมนารถบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็มีพระราชโองการตรัศให้พระราชครูทั้ง ๔ แต่งการพระราชพิธีสงครามาภิเศก แล้วก็ให้เอาเรือพระที่นั่งไชยสุพรรณหงษ์พยุหบาตราอันประดับด้วยสรรพาลังการอันมเหาฬารมาบรรทับขนานแลเทียบเรือแห่น่าหลังทั้งปวงเสร็จ ถึงเพลารุ่งแล้วนาฬิกาหนึ่ง ได้ศุภโยคมังคโลดมเพลาฤกษ์อันประเสริฐ จึงพระโหราธิบดีศรีจันทรประพาฬก็ลั่นฆ้องไชย พระราชปโรหิตาจารย์ราชสุภาวดีศรีบรมองค์บุริโสดมพรหมพิชาจารย์เป่ามหาสังข์ทักขิณาวัฏแลประโคมแตรสังข์ดุริยดนตรีทั้งปวง พระบาทสมเด็จเอกาทศรฐอิศวรบรมนารถบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็เสด็จลงเรือพระที่นั่งไชยสุพรรณหงษ์พยุหบาตรา แลมีพระราชครูทั้ง ๔ แลโหราธิบดีแพทยาธิบดีโดยเสด็จเฝ้าพระบาทในน่าพระที่นั่ง จึงให้ยกธงไชยโบกโบยคลายพระที่นั่งไชยสุพรรณหงษ์พยุหบาตราเสด็จออกจากขนาน ก็เสด็จโดยชลมารคคนทีธาร ดูมเหาฬารเรือต้นทั้งปวงอันประดับด้วยเครื่องอลงกฏรจนาสรรพาการพิธี แลกอปรด้วยเรือท้าวพระยามหาเสนาบดีทั้งปวงแห่โดยขบวนน่าหลังเดียรดาษ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็เสด็จถึงบรรทับขนานพระราชวังหลวง แลตีอินทเภรีเปนประถมประโคมแตรสังข์ จึงเสด็จขึ้นพระราเชนทรยานพยุหบาตรา แลประดับด้วยเสวตรฉัตรสำหรับราชาภิเศก แลตีอินทเภรีเปนทุติยวาร ก็เสด็จด้วยพระราเชนทรยานถึงอัฒจันท์แห่งพระที่นั่งมังคลาภิเศกมหาปราสาท จึงตีอินทเภรีเปนตติยวาร พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็เสด็จลงจากพระราเชนทรยาน เสด็จในน่าฆ้องไชย ชำระพระบาทเสร็จ เจ้าพระยาธรมาธิบดีก็ลั่นฆ้องไชยประโคมแตรสังข์ดุริยดนตรีทั้งปวง จึงเสด็จขึ้นพระที่นั่งมังคลาภิเศกมหาปราสาท แลเสด็จออกน่าสีหบัญชรอันประดับด้วยเนาวรัตนอันชัชวาล มีพระคชาธารพระยาสารอลงกฎสถิตย์ทั้งซ้ายขวา ทั้งพวกพลโยธาทหารตั้งแห่ดาษดาโดยขนัดสรรพายุทธทั้งปวงตั้งเปนกระบวนประดับประดา จึงเบิกท้าวพระยาสามนตราชราชตระกูลพฤฒามาตย์มหาเสนาธิบดีทั้งปวงถวายบังคมพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว แล้วก็เบิกสมโภชเลี้ยงลูกขุน แลถวายอาเศียรพาทสำหรับการพระราชพิธีประเวศพระนครนั้น.

 ในศักราช ๙๕๕ ปีมเสง เบญจศกนั้น พระบาทสมเด็จเอกาทศรฐอิศวรบรมนารถบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จราชาภิเศกเสวยราชสมบัติในกรุงพระมหานครศรีอยุทธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์ ทรงพระนาม พระศรีสรรเพชญ์ สมเด็จบรมราชาธิราชรามาธิบดีศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิสวรรคราชาธิบดินทร์ธรณินทราธิราชรัตนากาศภาษกรวงษ์องค์บรมาธิเบศรตรีภูวเนตรวรนารถนายกดิลกรัตนราชชาติอาชาวไศรยสมุทัยตโรมนต์สกลจักรวาฬาธิเบนทรสุริเยนทราธิบดินทรหริหรินทราธาดาธิบดีศรีวิบูลย์คุณรุจิตรฤทธิราเมศวรธรรมิกราชเดโชไชยพรหมเทพาดิเทพตรีภูวนาธิเบศโลกเชษฐวิสุทธมกุฏเทศคตามหาพุทธางกูรบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวกรุงพระมหานครทวาราวดีศรีอยุทธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์ พระองค์ทรงทศพิธราชธรรม แลสถิตย์ในพุทธารรถจรรยา ญาตารรถจรรยา โลการรถจรรยา มหิมาด้วยพุทธการกโพธิสมภารมเหาฬารมหัศจรรย์ อนันตปัญญาฤทธาพล พหลเดโชนุภาพ ปราบบรราชอรี ศรีพระเดชเดชะตบะอันมหิมา คือองค์สฤษดิรักษสังหารวิศาลวิสุทธิอุดมเทพสมบูรณ์ในพระองค์บมิขาด อาทิคือ พระพรหม พระพิษณุ พระอิศวร พระพาย พระพรุณ พระเพลิง พระยม พระไพศพ พระอินทร พระจันทร์ พระอาทิตย์ แลพระองค์ทรงฤทธิสิทธิศักดิอรรคอดุลยาดิเรก อเนกคุณคณามหามหรรณพ สบสกลเวทศิลปาคม อุดมยศโยค สกลโลกมกุฎ วิสุทธจุธามณีรัตน สวัสดิมงคล ถกลเหนือศิโรตมางค์มหากระษัตริย์เจ้าทั้งปวงในสกลชมพูทวีป แลพระบาทเสด็จเสวยไอสุริยาธิปัติบุรีรัตนสมบูรณ์มั่งคั่งด้วยช้าม้ารี้พลพหลแสนยากรสมณพราหมณาจารย์จตุรพรรคประชาชนคณสกลสบไสมยประเทศนานาพรรคนิกรสโมสรบรมศุขเกษมเปรมประชาราษฎร์เลิศล้นพ้นกว่าโบราณราชประเพณี มีพระราชหฤไทยไกรกรุณาปรานีสัตวโลกากรทั้งหลาย หมายให้นฤทุกข์ปลุกใจราษฎรให้สานติเกษมศุขโดยยุกติธรรมอันบวร ขจรพระเกียรติปรากฏพระยศเซนซ่าทั่วทิศนานุทิศ แลท้าวพระยามหากระษัตราธิราชเจ้าทั้งหลายก็แต่งเครื่องบรรณาการให้ทูตานุทูตมาถวายบังคมพระบาทบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวมิได้ขาด แลพระบาทเสด็จสร้างโพธิสมภารบำเพ็ญพุทธการกธรรมปรมาธิคุณ อาทิคือ สร้างพระวรเชษฐารามมหาวิหารอันรจนาพระพุทธปฏิมามหาเจดีย์บรรจุพระสารีริกธาตุสำเร็จกุฎีสถานปราการสมด้วยอรัญวาสี แล้วก็สร้างพระไตรปิฎกธรรมจบบริบูรณ์ทั้งพระบาฬีแลอรรถกถาฎีกาคัณฐีวิวรณ์ทั้งปวง จึงแต่งหอพระสัทธรรมเสร็จ ก็นิมนต์พระสงฆ์อรัญวาสีผู้ทรงศีลาธิคุณอันเสลขมาอยู่ครองพระวรเชษฐารามนั้น แล้วก็แต่งขุนหมื่นข้าหลวงไว้สำหรับอารามนั้น แลจำหน่ายพระราชทรัพย์ไว้ให้แต่งจตุปัจจัยทานถวายแก่พระสงฆ์เปนนิจกาล แล้วให้แต่งฉ้อทานศาลา แลประสาทพระราชทรัพย์ ให้แต่งโภชนาหารจังหันถวายแก่ภิกษุสงฆ์เปนนิจภัตรบมิขาด พระบาทสมเด็จเอกาทศรฐอิศวรบรมนารถบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็มีพระราชโองการตรัศสั่งแก่ท้าวพระยาเสนาบดีมนตรีมุขทั้งหลายให้แต่งการพระศพสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง แลแต่งพระสุเมรุมาศสูงเส้นสิบเจ็ดวาประดับด้วยเมรุทิศเมรุรายราชวัตรฉัตรทองฉัตรนากฉัตรเบญจรงค์นานาเสร็จ ก็อัญเชิญพระศพเสด็จเหนือมหากฤษฎาธารอันประดับด้วยอภิรุมกลิ้งกลดรจนา แลท้าวพระยาเสนาบดีมนตรีมุขทั้งหลายมาประดับแห่ห้อมล้อมมหากฤษฎาธาร ก็อัญเชิญพระศพเสด็จลีลาโดยรัถยาราชวัตรไปยังพระเมรุมาศด้วยยศบริวารแลเครื่องสักการบูชาหนักหนา พระบาทสมเด็จเอกาทศรฐอิศวรบรมนารถบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จไปถวายพระเพลิงพระศพสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง แลทรงโศกาพิไรร่ำรักพระบรมเชษฐาต่าง ๆ เสนาบดีกรมฝ่ายน่าฝ่ายในต่างโศกาอาดูรร่ำรักในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงถึงความหลังต่าง ๆ ให้นิมนต์พระสงฆ์สบสังวาศหมื่นหนึ่งถวาย พระราชทานเครื่องอัฐบริขารทักษิณาบูชาพระสงฆ์ทั้งปวงเปนมเหาฬาร.

 ฝ่ายพระยาตองอู เมื่อทัพสมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าล่ากลับไปยังกรุงพระนครศรีอยุทธยาแล้ว พระยาตองอูก็ทำนุบำรุงพระเจ้าหงษาวดีไว้เปนอันดี หวังจะเกลี้ยกล่อมหัวเมืองทั้งปวงให้ราบคาบเปนปรกติก่อน จึงจะคิดการใหญ่ต่อไป จึงมีหนังสือไปประกาศแก่หัวเมืองทั้งปวงว่า เราผู้เปนราชนัดดาพระเจ้าหงษาวดีคิดถึงพระคุณสมเด็จพระบิตุลาธิราช จึงให้โหราพฤฒาจารย์ขับไล่ดูชตาเมืองหงษาวดีที่จะรับศึกพระนครศรีอยุทธยา โหราพฤฒาจารย์ผู้รู้แท้ทายว่า ชตาเมืองหงษาวดีขาดสูญแล้ว ที่จะรับรองข้าศึกนั้น ถึงมาทเทวดาจะมาช่วย ก็ไม่รอดเลย ในจะปราไชยเปนมั่นคง แลว่า ชตาเมืองตองอูครั้งนี้ได้จตุรงคโชค ถึงจะมีข้าศึกมามากดุจคลื่นในพระมหาสมุทร ก็ในจะปราไชยไปเอง เพราะเหตุดังนี้ เราจึงเชิญเสด็จพระเจ้าหงษาวดีแลกวาดครอบครัวขึ้นมาตั้งรับมั่นณเมืองตองอู ทัพพระนครศรีอยุทธยายกมาติดเมืองตองอูถึงหักหาญปีนปล้นเปนหลายครั้ง เสียทแกล้วทหารมาก แลตั้งล้อมอยู่ถึงสามเดือนเศษ ก็มิได้เมือง จนล่าทัพไป ก็เปนบำเหน็จมือเมืองตองอูรับทัพพระนเรศวรเอาไชยชำนะไว้ได้ ท่านทั้งปวงก็ย่อมแจ้งอยู่ แลพระเจ้าหงษาวดีเคยเปนศุขอยู่ในเมืองหงษาวดีฉันใด เราก็อุสาหะสนองพระคุณให้เปนศุขดุจฉันนั้น แลหัวเมืองทั้งปวงอย่าได้กินแหนงสนเท่ห์สิ่งใดเลย เคยทำราชการฉันใดก็ให้ทำราชการดุจกาลก่อนนั้นเถิด.

 ฝ่ายหัวเมืองทั้งปวงได้แจ้งหนังสือพระยาตองอูดังนั้น ลางเมืองก็เชื่อ ลางเมืองก็คิดแคลงสงไสยเปนอันมาก แลแต่งคนให้ขึ้นไปทรับทราบสืบสวนถึงเมืองตองอูเนือง ๆ จนศักราช ๙๕๓ ปีเถาะ ตรีนิศก ก็ได้เนื้อความว่า พระยาตองอูทำนุบำรุงพระเจ้าหงษาวดีไว้ทั้งนี้หาโดยสัตย์กตัญญูสุจริตไม่ ความคิดอันนี้เปนเล่ห์กะเท่ห์พระมหาเถรเสียมเพรียมบอก หัวเมืองทั้งปวงคิดกันจะยกไปรบชิงพระเจ้าหงษาวดีมาให้จงได้ ต่างเมืองก็จัดแจงไพร่พล เสร็จแล้วก็ยกขึ้นไปถึงเมืองจิตตอง ขณะนั้น พระยาตองอูรู้ จึงให้นิมนต์พระมหาเถรเสียมเพรียมเข้ามา แล้วนมัสการบอกว่า บัดนี้ หัวเมืองทั้งปวงคิดกันยกมาจะรบเมืองเรา พระผู้เปนเจ้าช่วยคิดให้โยมด้วย พระมหาเถรจึงว่า จะกลัวอะไรแก่อ้ายหัวเมืองเหล่านี้ แต่จะตีด้วยลมปากก็จะกลับไปเอง พระยาตองอูได้ฟัง มีความยินดีนัก กราบนมัสการพระมหาเถรแล้ว ๆ เล่า ๆ พระมหาเถรจึงกระซิบบอกอุบายให้พระยาตองอูทุกประการแล้วก็ไปอาราม พระยาตองอูจึงแต่งเปนหนังสือรับสั่งพระเจ้าหงษาวดีไปถึงท้าวพระยาหัวเมืองทั้งปวงว่า พระเคราะห์เมืองหงษาวดีร้ายนัก พระยาตองอูผู้หลานเรามีความกตัญญ กลัวจะเสียเมืองแก่ข้าศึก เสียดายรามัญทั้งปวงจะไปเปนเชลยกรุงพระนครศรีอยุทธยา จึงรับเรามาไว้ณเมืองตองอู ได้รอดจากเงื้อมมือปัจจามิตร ก็ค่อยเปนศุขอยู่ ถ้าครบเจ็ดปีสิ้นพระเคราะห์แล้ว ก็จะกลับลงไปตั้งอยู่ณเมืองหงษาวดีดังเก่า แลซึ่งหัวเมืองทั้งปวงคบคิดกันยกทัพมาทั้งนี้จะเปนกระบถฤๅ ฝ่ายท้าวพระยารามัญหัวเมืองทั้งปวงได้แจ้งในหนังสือรับสั่งดังนั้น ก็สำคัญว่าจริง ตกใจกลัวเปนกำลัง ก็พากันเลิกทัพกลับไป.

 ครั้นศักราช ๙๕๔ ปีมโรง จัตวาศก นักสร้างบุตรพระยาตองอูจึงคิดว่า บิดาไปพาเอาพระเจ้าหงษาวดีมาไว้ให้ศึกพระนครศรีอยุทธยามาติดแทบจะเสียเมืองครั้งหนึ่งแล้ว แลหัวเมืองทั้งปวงก็เปนเสี้ยนศัตรูพากันยกรี้พลมาจะตีเอาเมืองอิกเล่า แลเหตุซึ่งเปนทั้งนี้เพราะพระเจ้าหงษาวดีองค์เดียว ถ้าละไว้ ไหนเลยศึกจะวายเมือง จำจะลอบล้างพระเจ้าหงษาวดีเสียให้ดับสูญ แล้วเมืองตองอูจึงจะเปนศุข คิดแล้วก็ประกอบยาพิศม์ลอบใส่ในเครื่องเสวย พระเจ้าหงษาวดีมิทันรู้ เสวยเข้าไป พระองค์ก็ดับสูญสวรรคต พระยาตองอูรู้ว่า พระเจ้าหงษาวดีสวรรคาไลย ก็ตกใจ จึงให้ไต่สวนไล่เลียงก็ได้ความว่า นักสร้างผู้บุตรประกอบยาพิศม์ให้พระเจ้าหงษาวดีเสวยเข้าไป พระยาตองอูรู้เหตุผลตระหนักแล้วทอดใจใหญ่ มิรู้ที่จะทำประการใด จึงไปบอกแก่พระมหาเถรเสียมเพรียมโดยเหตุทุกประการ พระมหาเถรได้แจ้งดังนั้นก็ตกใจจึงว่า เอะการเราเสียแล้ว บุตรเท่าเปนคนโฉดเขลานักหาปัญญามิได้ สมด้วยพระบาฬีว่า มีบุตรถ้าไม่ดีแล้วก็เปนศัตรูแก่บิดามารดา ท่านนี้อุประมาดังพฤกษาชาติอันจะตายเพราะลูก พระยาตองอูได้ฟังพระมหาเถรก็โทมนัศน้อยใจแก่บุตรเปนกำลัง จึงกราบนมัสการพระมหาเถรแล้วว่า พระผู้เปนเจ้าจะคิดฉันใดดี พระมหาเถรจึงว่า การสิเสียไปไม่สมคเนแล้ว จะต้องการอันใดให้หัวเมืองทั้งปวงเปนเสี้ยนศัตรูเล่า เราจะเอาความดีไว้น่าเถิด ท่านจงให้ชาวเมืองโกนศีศะทั้งเมือง แล้วจึงมีหนังสือไปถึงหัวเมืองทั้งปวงว่า พระเจ้าหงษาวดีทรงพระประชวรได้สามวันเสด็จสวรรคต เราผู้เปนราชนัดดาจะทำการถวายพระเพลิงสนองพระคุณให้ถึงขนาด แล้วหัวเมืองทั้งหลายผู้ใดรู้พระคุณจะมาช่วยก็ตาม มิมาก็ตามอัชฌาไศรยนั้นเถิด แลตัวเราถึงถวายพระเพลิงเสร็จแล้วก็มิได้คิดตั้งตัวเปนใหญ่ จะไปพึ่งพระบรมโพธิสมภารสมเด็จพระนเรศวรบพิตรเปนเจ้าณกรุงพระนครศรีอยุทธยา ถ้าท่านมีหนังสือไปดังนี้ หัวเมืองทั้งปวงก็จะเห็นความจริง จะสิ้นอาฆาฎจองเวร ถ้าผู้ใดมาก็เห็นเปนสุจริต ถ้ามิมาจะไปพึ่งกรุงพระนครศรีอยุทธยา ดีร้ายก็จะเอาคดีอันนี้ไปเล่า ความดีก็จะมีแก่เราสืบไป พระมหาเถรชี้แจงบอกอุบายให้พระยาตองอูแล้วสั่งว่า ซึ่งจะแต่งการถวายพระเพลิงนั้นให้ค่อยทำช้าช้า ความดีจึงจะฦๅขจรไปนานาประเทศ สั่งแล้วพระมหาเถรก็ลาไปอาราม พระยาตองอูก็มีหนังสือไปถึงหัวเมืองทั้งปวงดุจคำพระมหาเถรทุกประการ ท้าวพระยาพระหัวเมืองทั้งปวงเห็นผู้ถือหนังสือโกนศีศะแล้วแจ้งในหนังสือว่า พระเจ้าหงษาวดีเสด็จสวรรคาไลย ก็มิได้มีความรังเกียจกินแหนง ต่างคนก็โทมนัศโศกาดูรภาพถึงพระเจ้าหงษาวดีเปนอันมาก ที่มีกตัญญูรู้พระคุณก็มายังเมืองตองอูช่วยแต่งการที่จะถวายพระเพลิงเปนหนักหนา ลางเมืองก็มิได้ไปช่วยพระยาตองอู ไปเข้าหาพระยาทะละอันสมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าให้อยู่สำเร็จราชการเมืองเมาะตมะ เมาะลำเลิ่ง ฝ่ายพระยาตองอู ครั้นตกแต่งการพระศพพระเจ้าหงษาวดีเสร็จแล้ว ก็ถวายพระเพลิงโดยราชประเพณีพระมหากระษัตราธิราชเจ้าสืบมา

 ลุสักราช ๙๕๕ ปีมเสง เบญจศก ณเดือนยี่ พระยาตองอูก็แต่งราชทูต อุปทูต ตรีทูต ถือพระราชสาสน์คุมช้างม้าเครื่องราชบรรณาการมาถวายแด่พระบาทสมเด็จเอกาทศรฐอิศวรบรมนารถบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวณกรุงพระนครศรีอยุทธยาขอพึ่งพระราชสมภารสืบไป ในเดือนนั้น พระยาล้าช้างก็แต่งราชทูต อุปทูต ถือพระราชสาสน์แลเครื่องบรรณาการมาถวายบังคมสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ทรงพระกรุณาให้เบิกทูตานุทูตมาถวายบังคมในพระที่นั่งมังคลาภิเศก ตรัศพระราชปฏิสันถารตามธรรมเนียม แล้วตรัศให้เลี้ยงดูแขกเมืองแลพระราชทานรางวัลโดยขนาด ในปีมะเร็ง เบญจศก เดือนสามนั้น ข้าหลวงผู้รั้งเมืองเมาะลำเลิ่งจับได้พระยาพะโรแลมอญขบถทั้งปวงอยู่ริมฝั่งน้ำสโตงนั้นส่งมาถวาย แลแมงมอญอันอยู่ในเมืองเมาะลำเลิ่งแลเมืองเมาะตมะนั้นก็ราบคาบไปจนเมืองตองอู

 ลุศักราช ๙๕๖ ปีมเมีย ฉศก พระบาทสมเด็จเอกาทศรฐอิศวรบรมนารถบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็มีพระราชโองการตรัศแก่พระยาศรีพิศวกรรม์ให้สถาปนาพระที่นั่งอรรณพอันอลงกฎรจนามหิมาด้วยแก้วกาญจน์พิสดารจัตุรมุขรัตนาสน์กนกกุฏาคารบราลีเรืองรัตนชัชวาลมเหาฬารด้วยพระขบวนเสร็จ จึ่งตั้งโรงระบำซ้ายขวา ก็ให้แต่งเรือต้นทั้งปวง อาทิคือ ไชยสุพรรณหงษ์พยุหบาตรา วรสุพรรณหงษ์พยุหบาตรา พระศรีสมรรถไชย ไกรสรมุขพิมานไชย ไกรจักรรัตน แลเรือพระครุธพาหนะ เรือไชย เรือรูปสัตวทั้งปวง แลเรือสิงโตอินทรีย์ เรือหัศดินทร์ เรือนรสิงห์ แลเรือจากพราก แลเรือแซทองพิฆาฎทอง แลเรือเลาคาอันได้มาแต่เมืองหงษาวดี แลตกแต่งเรือต้นทั้งปวงอันอลงกฎรจนาโอภาศพรรณรายโดยอันดับต้นเชือกแลปลายเชือก แลพลฝีพายทั้งปวงนั้นประดับด้วยเครื่องอาภรณ์เสื้อทองหมวกทองพายทอง แล้วก็ให้แต่งเรือจำนำท้าวพระยาสามนตราชเสนาบดีมนตรีมุขลูกขุนทั้งหลายหมายเปนอาทิคือ ราชสีห์ คชสีห์ แลเรือไชยท้าวพระยาสวรรคโลก กำแพงเพ็ชร ศุโขไทย แลเรือไชยจตุสดมภ์ แลเหนือน้ำ ท้ายน้ำ แลเรือจำนำขุนช้าง ขุนม้า ขุนตำรวจ ขุนดาบ ขุนการทหารพลเรือนทั้งปวง ก็ให้ตรวจตราเปนคู่แข่งแต่งเปนคู่ขันต่าง ๆ ครั้นถึงทิพพารกาลพระราชพิธีอาศวยุช ก็ให้ประดับพระที่นั่งอรรณพด้วยเครื่องอลงการมเหาฬารพิจิตรโอภาศชัชวาลแลจามรทั้งปวง จึ่งให้เอาพระครุธพาหนะอันรจนาประดิษฐานพระพิศวกรรม์ออกตั้งฉาน แลให้พระราชครูทั้ง ๔ กระทำการพระราชพิธีอาศวยุช จึ่งให้ตั้งเรือแห่แลให้เทียบเรือต้นแลเรือแข่งทั้งปวงตามขบวน จึ่งให้เบิกพระราชกุมาร แลพระราชนัดดา แลท้าวพระยาสามนตราชมหาเสนาบดีทั้งปวง มาประชุมในน่าพระที่นั่งอรรณพ แลให้เบิกทูตานุทูตอันมาแต่เมืองตองอูแลเมืองล้านช้างนั้นมาถวายบังคม แลให้เบิกพระสังฆราชคามวาสีอรัญวาสีแลพระสงฆ์สบสังวาสขึ้นนั่งในธรรมาศน์ที่จะถวายพระพรนั้นเสร็จ พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็เสด็จด้วยพระราเชนทรยานมายังพระที่นั่งอรรณพ จึ่งตีอินทเภรีเปนประถม พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็เสด็จออกในพระที่นั่งครุธพยุหอันรจนา จึ่งตีอินทเภรีเปนทุติยวาร ประโคมฆ้องกลองดุริยดนตรีทั้งปวง จึ่งเบิกเรือต้นพระไชยสุพรรณหงษ์แลวรสุพรรณหงษ์พยุหบาตรา ให้นำเรือต้นเรือคู่แข่งทั้งปวงขึ้นมาถวายบังคมพระบาทบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวโดยการพระราชพิธีอาศวยุช พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็ประสาทเรือต้นไชยสุพรรณหงษ์พยุหบาตรา วรสุพรรณหงษ์พยุหบาตรา แลเรือต้นทั้งปวง พระราชทานแก่พระสังฆราชคามวาสีอรัญวาสีแลพระสงฆ์มหานาคราชาคณะทั้งปวงอันเข้ามาถวายพระพรนั้น แล้วก็เอาเงินสนองเรือต้นทั้งปวงเปนเครื่องบูชาสักการจตุปัจจัยทานแก่พระสงฆ์ทั้งหลาย ครั้นเรือต้นแลเรือคู่แข่งทั้งปวงถวายบังคมแล้ว แลพายขึ้นไปอยู่โดยทำเนียบเทียบเปนคู่เข้าถนัดที่จะวางเรือนั้นโสด จึ่งยกธงอาศวยุชในน่าพระที่นั่งให้เปนสำคัญ ก็ลั่นฆ้องไชยวางเรือต้นศรีสมรรถไชย ไกรสรมุข พายแข่งกันลงมาเปนอาทิ แล้วก็วางเรือคู่แข่งทั้งปวงแข่งกันลงมาโดยอันดับ ครั้นแข่งเรือทั้งปวงเสร็จแล้ว จึ่งเลี้ยงดูลูกขุนแล้วประสาทพระราชทานรางวัลแก่ผู้ชนะทั้งปวงเสร็จ พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็เสด็จประเวศยังพระราชมณเฑียร ในบัดเดี๋ยวนั้น ก็มีพระราชโองการตรัศแก่พระยารัตนบาลให้รจนาพระพุทธปฏิมาสมาธิเปนพระพุทธรูปสนองพระองค์ห้าพระองค์ องค์หนึ่งบุทองนพคุณทรงเครื่องมงกุฎกุณฑลพาหุรัดย่อมประดับเนาวรัตน แลบัลลังก์นั้นบุทองจำหลักประดับเพชรรัตน องค์หนึ่งบุทองนพคุณ บัลลังก์นั้นบุทองจำหลัก องค์หนึ่งนั้นเปนพระพุทธปฏิมานาคาศนะ พระพุทธองค์นั้นรจนาด้วยนากสวาดิ์ แลเครื่องทรงนั้นทองจำหลักประดับเนาวรัตน แลบัลลังก์นั้นรจนาด้วยนากสวาดิ์ พระพุทธปฏิมาบุเงินสององค์ แลฐานเงินจำหลักสรรพางค์ ครั้นเสร็จ พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็มีพระราชโองการตรัศสั่งแก่เจ้าพระยาจักรีให้แต่งการพระราชพิธีไล่เรือแลให้รับพระพุทธปฏิมาอันให้สถาปนานั้น.

 ถึง ๑๓ ฯ  ค่ำ เพลารุ่งแล้วสองนาฬิกา ให้เอาเรือไชยสุพรรณหงษ์พยุหบาตราแลวรสุพรรณหงษ์พยุหบาตรามาประทับขนาน แลให้เอาเรือพระครุธพาหนะออกตั้งฉาน แลให้เทียบเรือต้นศรีสมรรถไชย ไกรสรมุข พิมานไชย ไกรจักรรัตน แลเรือต้นทั้งปวงโดยขบวนแห่ แล้วก็เทียบเรือจำนำท้าวพระยาลูกขุนทั้งปวงตั้งแห่โดยขบวนสรรพ จึ่งอัญเชิญพระพุทธปฏิมาทองนพคุณทรงเครื่องนั้นขึ้นช้างต้นพระคชาธารสังหารคชสีห์ แลเชิญพระพุทธปฏิมาทองนพคุณองค์หนึ่งเล่าขึ้นช้างต้นพระศรีไชยศักดิ์ แลพระคชาธารทั้งสองนี้ประดับด้วยเครื่องคชาภรณ์แลผูกเครื่องสำหรับพิไชยสงคราม จึ่งรับพระพุทธปฏิมาทั้งสององค์แต่น่าพระราชวังลงไปประทับเกย แลเอาเรือวรสุพรรณหงษ์พยุหบาตราเลื่อนเข้ามารับพระพุทธปฏิมาทั้งสองพระองค์ออกไปตั้งชลมารคเสร็จ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็เสด็จลงเรือไชยสุพรรณหงษ์พยุหบาตรา ครั้นได้อุดมเพลา ก็คลายเรือพระที่นั่งไชยสุพรรณหงษ์ออกไปจากขนาน แลเรือวรสุพรรณหงส์ซึ่งรับพระพุทธปฏิมานั้นไปเปนน่า แลประดับด้วยเรือแห่อันรจนาดาดาษโดยขบวนน่าหลัง พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็เสด็จพยุหบาตราลงไปบรรทับขนานในบางกดาน ดำรัศให้เลี้ยงท้าวพระยาเสนาบดีมนตรีมุขทั้งหลายเสร็จ ก็ให้เอาเรือบรรดาเข้าขบวนแห่ทั้งปวงออกจับขบวนโดยขนัด แลเรือบรรดาแห่พระพุทธเจ้าทั้งปวงนั้นก็ไว้ให้แห่พระพุทธเจ้าขึ้นมา ครั้นถึงเพลาชายแล้วสองนาฬิกาห้าบาท สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็ทรงเครื่องสรรพาภรณ์วรวิภูษิตากาญจนเสร็จ แล้วเสด็จทรงพระที่นั่งบุษบกรัตนมหาพิมานอันอลังการเรือไชยสุพรรณหงษ์พยุหบาตรา คลาเคลื่อนโดยขบวนเสด็จประเวศมาประทับท่าขนานมหาวาสุกรี คอยทอดพระเนตรขบวนแห่พระพุทธปฏิมากรอันมเหาฬาราดิเรกด้วยเรือต้นทั้งปวงนั้น ครั้นเรือพระพุทธปฏิมากรบรรทับขนานแล้ว ก็อัญเชิญพระพุทธปฏิมากรเสด็จทรงพระคชาธารแห่กลับไปประดิษฐานไว้ณพระศรีสรรเพชดาราม แล้วให้ตั้งการสมโภชเล่นมหรศพ ๗ วัน มโหฬารยิ่งนัก.

 ครั้นณวัน ค่ำ ทูตานุทูตเมืองล้านช้าง เมืองตองอู เข้าเฝ้ากราบถวายบังคมลา พระราชทานรางวัลแก่ทูตทั้งสองเมืองเปนอันมาก ฝ่ายทูตานุทูตต่างคนต่างกลับไปเมือง อันพระเกียรติพระยศแผ่ไพศาลไป ทุกนานาประเทศธานีใหญ่น้อยทั้งปวงก็เกรงพระเดชเดชานุภาพเปนอันมาก พระนครศรีอยุทธยาครั้งนั้นเกษมศุขสมบูรณ์ยิ่งนัก.

 ลุศักราช ๙๕๗ ปีมแม สัปตศก ทรงพระกรุณาตั้งพระราชกำหนดกฎหมายพระไอยการ แลส่วยสัดพัฒนากรขนอนตลาด แลพระกัลปนา ถวายเปนนิตยภัตรแก่สังฆารามคามวาสีอรัญวาสีบริบูรณ์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชบุตรสองพระองค์ องค์หนึ่งทรงพระนาม เจ้าฟ้าสุทัศน พระอชุนาทรงพระนาม เจ้าฟ้าศรีเสาวภาคย์ ๆ ประชวรพระยอดเสียพระเนตรข้างหนึ่ง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึ่งยกพระราชบุตรผู้พี่ขึ้นเปนพระมหาอุปราช อยู่มา ๔ เดือนเศษ พระมหาอุปราชกราบทูลพระกรุณาว่า จะขอพิจารณาคนออก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัศว่า จะเปนขบถฤๅ พระมหาอุปราชความกลัวพระราชบิดาเปนกำลัง ออกจากที่เฝ้า เสด็จมาพระราชวังบวรสถานมงคล เพลาค่ำ เสวยยาพิศม์สวรรคต สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระโทมนัศโศกาดูรภาพถึงพระราชโอรสเปนอันมาก แล้วให้แต่งการพระราชทานเพลิงพระศพตามอย่างพระมหาอุปราช สมเด็จพระบาทบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวตั้งพระไทยบำเพ็ญทานการกุศลเปนอเนกประการ.

 ครั้นลุศักราช ๙๖๓ ปีฉลู ตรีนิศก ทรงพระประชวรหนัก เสด็จสวรรคต อยู่ในราชสมบัติได้ ๙ พระพรรษา.