แผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาที่ ๑ (พระเจ้าทรงธรรม)
จุลศักราช ๙๖๔–๙๘๙
ตั้งจมื่นศรีสรรักษ์เปนพระมหาอุปราช
น่า
๒๕๘
พระมหาอุปราชสิ้นพระชนม์
"
๒๕๘
ยี่ปุ่นเปนขบถ
"
๒๕๘
ตั้งพระมหาอำมาตย์ที่ปราบยี่ปุ่นขบถเปนเจ้าพระยากลาโหมสุริวงษ์
"
๒๕๙
ชักพระมงคลบพิตรจากฝ่ายตวันออกพระราชวังมาทำมณฑปไว้ฝ่ายตวันตก
"
๒๕๙
เสียเมืองตะนาวศรีแก่มอญ
"
๒๕๙
พูนดินน่าวิหารแกลบเปนที่ทำการพระเมรุ
"
๒๕๙
พบรอยพระพุทธบาท
น่า
๒๕๙
สร้างบริเวณวัดพระพุทธบาท
"
๒๖๐
ตัดทางหลวงแต่ท่าเรือไปพระพุทธบาท
"
๒๖๐
สร้างตำหนักท่าเจ้าสนุก
"
๒๖๐
แปลงปัถวีเรือไชยเปนเรือกิ่ง
"
๒๖๐
ฉลองวัดพระพุทธบาท
"
๒๖๐
พระปรางค์วัดมหาธาตุพัง
"
๒๖๑
แต่งหนังสือมหาชาติคำหลวง
"
๒๖๑
สร้างพระไตรปิฎกจบบริบูรณ์
"
๒๖๑
สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมสวรรคต
"
๒๖๑

แผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาที่ ๑ (ทรงธรรม)

 สมเด็จพระพิมลธรรมเสด็จขึ้นผ่านพิภพกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยา ทรงพระนาม สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงธรรมอันมหาประเสริฐ ทรงพระกรุณาให้จมื่นศรีสรรักษ์เปนอุปราช อยู่ ๗ วัน มหาอุปราชประชวรลง ๓ วันสวรรคต สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็ให้แต่งการพระราชทานเพลิงตามอย่างอุปราช.

 ครั้งนั้น ยี่ปุ่นเข้ามาค้าขายหลายลำ ยี่ปุ่นโกรธว่า เสนาบดีมิได้เปนธรรม คบคิดกันเข้าด้วยพระพิมลฆ่าพระมหากระษัตริย์เสีย ยี่ปุ่นคุมกันได้ประมาณห้าร้อย ยกเข้ามาในท้องสนามหลวง คอยจะกุมเอาพระเจ้าอยู่หัวอันเสด็จออกมาฟังพระสงฆ์บอกหนังสือณพระที่นั่งจอมทองสามหลัง ขณะนั้น พอพระสงฆ์วัดประดู่โรงธรรมเข้ามาแปดรูป พาเอาพระองค์เสด็จออกมาต่อหน้ายี่ปุ่น ครั้นพระสงฆ์พาเสด็จไปแล้ว ยี่ปุ่นร้องอื้ออึงขึ้นว่า จะกุมเอาพระองค์แล้วเปนไรจึงนิ่งเสียเล่า ยี่ปุ่นทุ่งเถียงกันเปนโกลาหล ฝ่ายพระมหาอำมาตย์คุมพลได้ ไล่รบยี่ปุ่นล้มตายเปนอันมาก ยี่ปุ่นแตกไปจากพระราชวัง ลงสำเภาหนีไป ตั้งแต่นั้นมา สำเภาเมืองยี่ปุ่นก็มิได้เข้ามาค้าขายณกรุงเลย พระมหาอำมาตย์ให้ไปเชิญเสด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเข้าพระราชวัง เพลาเช้า เสด็จออกท้องพระโรงพร้อมท้าวพระยาเสนาบดีมนตรีมุขทั้งหลาย ทรงพระมหากรุณาตรัศว่า ราชการครั้งนี้ พระมหาอำมาตย์มีความชอบมาก ให้เปนเจ้าพระยากลาโหมสุริวงษ์ พระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคเปนอันมาก แล้วสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชโองการให้วิเสทแต่งกัปปีย์จังหันถวายพระสงฆ์วัดประดู่เปนนิตยภัตรอัตรา.

 ลุศักราช ๙๖๕ ปีเถาะ เบญจศก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ชักพระมงคลบพิตรอยู่ฝ่ายตวันออกมาไว้ฝ่ายตวันตก แล้วก็ให้ก่อพระมรฎปใส่ ในปีนั้น มีหนังสือเมืองตนาวศรีบอกเข้ามาว่า กองทัพพม่ามอญมาล้อมเมือง ขอพระราชทานกองทัพไปช่วย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัศให้พระยาพิไชยสงครามเปนแม่ทัพยกออกไปถึงเมืองศิงขร นายทัพนายกองบอกเข้ามาว่า เมืองตนาวศรีเสียแก่ข้าศึกแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้หากองทัพกลับ.

 ลุศักราช ๙๖๘ ปีมเมีย อัฐศก ทรงพระกรุณาให้พูนดินน่าพระวิหารแกลบไว้เปนที่สำหรับถวายพระเพลิง ในปีนั้น เมืองสุระบุรีบอกมาว่า พรานบุญพบรอยเท้าอันใหญ่บนไหล่เขา เห็นปลาด สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดีพระไทย เสด็จด้วยเรือพระที่นั่งไชยพยุหบาตราพร้อมด้วยเรือท้าวพระยาสามนตราชดาษดาโดยชลมารคนทีธาร ประทับท่าเรือ รุ่งขึ้น เสด็จทรงพระที่นั่งสุวรรณปฤษฎางค์พร้อมด้วยคเชนทรเสนางคนิกรเปนอันมาก ครั้งนั้น ยังมิได้มีทางสถลมารค พรานบุญเปนมัคคุเทศ ก็นำลัดตัดดงไปถึงเชิงเขา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัศทอดพระเนตรเห็นแท้เปนรอยพระบรมพุทธบาทมีลายลักษณกงจักรประกอบด้วยอัฏฐุตรสตมหามงคลร้อยแปดประการสมด้วยพระบาฬีแล้ว ต้องกับเมืองลังกาบอกเข้ามาว่า กรุงศรีอยุทธยามีรอยพระพุทธบาทอยู่เหนือยอดเขาสุวรรณบรรพต ก็ทรงพระโสมนัศปรีดาปราโมทย์ ถวายทัศนัขเหนือพระอุตมางคศิโรตม์ด้วยเบญจางคประดิษฐเปนหลายครา กระทำสักการบูชาด้วยธูปเทียนคันธรศจะนับมิได้ ทั้งท้าวพระยาเสนาบดีกระวีราชนักปราชบัณฑิตยชาติทั้งหลาย ก็ถวายวันทนประณามน้อมเกล้าด้วยเบญจางคประดิษฐ ต่างคนมีจิตรโสมนัศปราโมทย์ยิ่งนัก กระทำสักการบูชา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอุทิศถวายวนาสณฑ์เปนบริเวณออกไปโยชน์หนึ่งโดยรอบ แล้วทรงพระกรุณาตรัศสั่งให้ช่างจัดการสถาปนาเปนมรฎปสรวมพระบรมพุทธบาท แลสร้างพระอุโบสถพระวิหารการเปรียญตึกกว้านกุฎีสงฆ์เปนอเนกนุประการ แล้วให้ฝรั่งส่องกล้องตัดทางสถลมารคกว้างสิบวาตรงตระลอดถึงท่าเรือ ให้แผ้วถางทุบปราบให้รื่นราบเปนถนนหลวงเสร็จ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับถึงท่าเรือ ทรงพระกรุณาสั่งให้ตั้งพระราชนิเวศตำหนักฟากตวันออก ให้ชื่อ พระตำหนักท่าเจ้าสนุก ขณะนั้น ฝีพายเอาดอกเลาปักปัถวีเรือไชย ทอดพระเนตรเห็น ตรัศว่า งามดีอยู่ ครั้นเสด็จกลับถึงกรุง สั่งให้แปลงปัถวีเรือไชยเปนเรือกิ่ง ทรงพระกรุณาเร่งรัดให้ช่างสร้างมรฎปพระพุทธบาทแลอาวาศบริเวณทั้งปวง สี่ปีจึงสำเร็จ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นไปทำการฉลอง มีงานมหรศพสมโภชเจ็ดวัน แล้วเสด็จกลับยังกรุงเทพมหานคร ในปีนั้น ปรางค์วัดมหาธาตุทำลายลงจนชั้นครุธพื้นอัษฎงค์.

 ลุศักราช ๙๘๙ ปีเถาะ นพศก ทรงพระกรุณาแต่งพระมหาชาติคำหลวงแลสร้างพระไตรปิฎกธรรมไว้สำหรับพระสาสนาจบบริบูรณ์ ครั้นณวัน ค่ำ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรเดือนหนึ่งกับสิบหกวัน เสด็จสวรรคต พระเจ้าทรงธรรมอยู่ในราชสมบัติ ๒๕ พระพรรษา พระองค์มีพระราชบุตรสามพระองค์ พระองค์เปนประถมนั้นทรงพระนาม พระเชษฐาธิราชกุมาร พระองค์ที่สองนั้นทรงพระนาม พระพันปีศรีศิลป์ พระองค์ที่สามนั้นทรงพระนาม พระอาทิตยวงษ์.