ผลต่างระหว่างรุ่นของ "ตำนานหนังสือสามก๊ก/ส่วน 1/ตอน 7"

เนื้อหาที่ลบ เนื้อหาที่เพิ่ม
Tiemianwusi (คุย | ส่วนร่วม)
หน้าที่ถูกสร้างด้วย '{{c|{{fs|120%|'''๗. รูปภาพสามก๊ก'''}}}} ไทยเรารู้เรื่องสามก๊กย...'
 
Tiemianwusi (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
บรรทัดที่ 3:
 
 
ไทยเรารู้เรื่องสามก๊กยิ่งกว่าเรื่องอื่นในพงศาวดารจีนฉันใด อาจจะอ้างต่อออกไปถึงรูปภาพจีนว่า ไทยเราคุ้นกับรูปบุคคลในเรื่องสามก๊กยิ่งกว่าในเรื่องอื่นทั้งนั้นก็ว่าได้ ข้อนี้พึงสังเกตรูปภาพจีนอย่างที่เขียนในแผ่นกระจกสำหรับติดฝาผนังที่ชอบใช้แต่งตำหนักรักษาเหย้าเรือนกันมาแต่ก่อนก็มักเป็นรูปเรื่องสามก๊กเป็นพื้น<ref>รูปภาพเช่นนั้นที่เป็นเครื่องประดับพระที่นั่งในพระราชวังบวรสถานมงคล ยังรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครก็มีมาก</ref> ไทยดูงิ้วก็ชอบดูเรื่องสามก๊กชำนาญตากว่าเรื่องอื่นจนเห็นตัวงิ้วก็มักบอกได้ทันทีว่าเป็นบุคคลผู้ใดในเรื่องสามก๊ก แต่รูปภาพในเรื่องสามก๊กนั้น เมื่อสืบสวนหาตำราได้ความว่า เป็นรูปคิดสมมติขึ้นทั้งนั้น น่าสันนิษฐานว่า พวกจีนเล่นงิ้วจะคิดสมมติขึ้นก่อนโดยเอาวิสัยของตัวบุคคลตามที่ปรากฏในเรื่องมาคิดแต่งหน้าแต่งตัวแลทำกิริยาอาการให้เห็นว่าเป็นเช่นนั้น ๆ คนดูก็รู้สึกนิยมตาม จนเลยยุติเป็นแบบแผนว่า บุคคลนั้นหน้าต้องเป็นสีนั้น มีหนวดยาว หรือหนวดสั้น หรือหน้าเกลี้ยง ส่วนเครื่องแต่งตัวนั้น รูปภาพเรื่องสามก๊กซึ่งจีนเขียนก็ดีหรือแต่งเล่นงิ้วก็ดีได้ความว่า เป็นแบบเครื่องแต่งตัวในสมัยราชวงศ์ไต้เหม็ง คือ ในระหว่าง พ.ศ. ๑๙๑๑ จน พ.ศ. ๒๑๘๖ มิใช่เป็นแบบเครื่องแต่งตัวอย่างเก่าถึงสมัยสามก๊ก ข้อนี้ก็เป็นเค้าเงื่อนชวนให้สันนิษฐานว่า รูปภาพในเรื่องสามก๊กอย่างเช่นปรากฏทุกวันนี้น่าจะเกิดขึ้นร่วมสมัยกับเมื่อมีหนังสือสามก๊กอ่านนิยมกันแพร่หลาย แต่ประหลาดอยู่อย่างหนึ่ง สังเกตดูรูปภาพที่จีนทำในเรื่องสามก๊กต่างกันเป็นสองแบบ ถ้าเป็นรูปปั้นระบายสีมักเขียนหน้าสลับสีอย่างงิ้ว ไม่นิยมที่จะให้แม้นเหมือนสีเนื้ออย่างธรรมดา แต่ถ้าเป็นรูปเขียน เช่น เขียนในแผ่นกระจกสำหรับผิดปิดฝา หรือเขียนในฉาก มักระบายสีหน้าให้คล้ายสีเนื้อธรรมดา แม้ตัวบุคคลซึ่งในเรื่องกล่าวว่าหน้าดำหรือหน้าแดง ก็ประสานสีหน้าพอให้คล้ำหรือให้แดงแปลกกว่าผู้อื่นสักเล็กน้อยพอเป็นที่สังเกต ยกตัวอย่างดังเช่นฉากเขียนรูปกวนอูอันมีรูปจิวฉ่องกับกวนเป๋งยืนสองข้างซึ่งแขวน ณ ที่บูชาตามบ้านจีนเห็นอยู่แพร่หลายก็เป็นเช่นว่า ข้อที่ช่างจีนทำรูปภาพปั้นกับรูปภาพเขียนผิดกันดังว่ามาจะเป็นเพราะเหตุใดยังไม่ทราบ จีนทำหนังฉายเรื่องสามก๊กก็พยายามจะให้เหมือนคนธรรมดา เป็นแต่แต่งหน้าให้เข้าเค้าภาพสามก๊ก ทำได้ดีหนักหนา
 
รูปภาพที่พิมพ์ไว้ในหนังสือสามก๊กฉบับภาษาจีนมีเป็นสองประเภท คือ ภาพรูปตัวคน ประเภทหนึ่ง ภาพเรื่อง ประเภทหนึ่ง ได้จำลองภาพเรื่องพิมพ์ไว้ตรงเรื่องในหนังสือสามก๊กฉบับงานพระเมรุ ส่วนภาพตัวบุคคลได้จำลองมาพิมพ์ไว้ในหนังสือเล่มตำนานตอนนี้