งานแปล:ที่มาแห่งกฎหมายโบราณของสยาม

ที่มาแห่งกฎหมายโบราณของสยาม (ค.ศ. 1905)
โดย พระยามหิธรมนูปกรณ์โกศลคุณ (โทกิจิ มาซาโอะ), แปลจากภาษาอังกฤษ โดย วิกิซอร์ซ
ที่มาแห่งกฎหมายโบราณของสยาม[1]

มองจากมุมของนิติศาสตร์เปรียบเทียบ อาจกล่าวได้ว่า มีระบบกฎหมายดั้งเดิมอยู่ห้าระบบที่เป็นต้นเค้าของกฎหมายในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก คือ

(1) ระบบกฎหมายโรมัน

(2) ระบบกฎหมายอังกฤษ

(3) ระบบกฎหมายฮินดู

(4) ระบบกฎหมายมุฮัมมัด[2] และ

(5) ระบบกฎหมายจีน

กฎหมายของกลุ่มประเทศภาคพื้นยุโรปเป็นตัวอย่างของระบบกฎหมายโรมัน กฎหมายของกลุ่มประเทศเยอรมันเป็นกฎหมายโรมันแบบบริสุทธิ์กว่าเพื่อน ส่วนกฎหมายของกลุ่มประเทศละตินเป็นกฎหมายโรมันแบบบริสุทธิ์น้อยลงมา กฎหมายของอังกฤษและรัฐต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกา ยกเว้นลุยเซียนา เป็นตัวอย่างของกฎหมายที่มาจากระบบกฎหมายอังกฤษ อินเดีย กับทั้งดินแดนมากมายในอินเดียที่ครั้งหนึ่งเป็นราชอาณาจักรและราชรัฐอิสระ บ้างถือศาสนาอย่างหนึ่ง บ้างถืออีกอย่างหนึ่ง แต่ทุกวันนี้อยู่ในความปกครองของบริเตนทั้งสิ้นแล้ว เป็นตัวอย่างเพียงหนึ่งเดียวในปัจจุบันของประเทศที่ศาลบริเตนต้องบริหารกฎหมายพราหมณ์ พุทธ และมุฮัมมัด ไปตามการนับถือศาสนาของคู่ความ ส่วนกฎหมายของจีนและเกาหลีนั้นเป็นตัวอย่างของระบบกฎหมายจีน กฎหมายโบราณของญี่ปุ่นก็มาจากระบบกฎหมายจีน แต่กฎหมายปัจจุบันนี้ อาจกล่าวได้ว่า ในภาพรวมแล้ว มาจากสาขาหนึ่งของระบบกฎหมายโรมันที่อาจเรียกขานว่า กฎหมายเยอรมัน แม้จะรับหลายสิ่งหลายอย่างมาจากระบบกฎหมายอังกฤษอยู่เหมือนกัน เมื่อคำนึงถึงความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์ของสยามกับอินเดีย กับข้อเท็จจริงที่ว่า ในครั้งโบราณ สยามอยู่ใต้อิทธิพลของอารยธรรมอินเดียมากอย่างยิ่ง ก็เป็นธรรมดาที่เราจะคาดหมายได้ว่า กฎหมายโบราณของสยามย่อมมาจากระบบกฎหมายฮินดู แต่น่าสงสัยชวนให้สังเกตเหลือเกินว่า ถึงแม้ใคร ๆ ก็ดูจะเข้าอกเข้าใจกันว่า กฎหมายโบราณของสยามย่อมมาจากระบบกฎหมายฮินดู แต่ไม่มีใครเลยที่เคยลงแรงพิสูจน์เรื่องนี้ ผู้เขียนลองคิดดูว่า ที่เป็นเช่นนี้ มิใช่เพราะหัวเรื่องนี้ไม่น่าสนใจ แต่เพราะประเด็นที่จะให้พิสูจน์นั้นก็เป็นที่ยอมรับละนับถือหมดใจโดยทั่วกันอยู่แล้ว วัตถุประสงค์ของเอกสารนี้จึงเป็นการนำเสนอตัวบทจากกฎหมายโบราณของสยามที่จะแสดงให้เห็นว่า กฎหมายโบราณเหล่านี้มีที่มาจากระบบกฎหมายฮินดู ถ้าผู้เขียนเป็นนักภาษาศาสตร์หรือนักโบราณคดี ก็คงรู้สึกมั่นใจได้ว่า จะสามารถนำข้อเท็จจริงทางภาษาศาสตร์หรือโบราณคดีที่น่าสนใจออกมากสงเคราะห์ตนเองในงานชิ้นนี้ แต่อย่างเดียวที่ผู้เขียนเป็น คือ นักกฎหมายสายอาชีพ ผู้เขียนจึงได้แต่พึ่งพาตัวบทที่ผ่านหูผ่านตามาในระหว่างศึกษากฎหมายโบราณของสยาม

สิ่งแรก ๆ ที่สะกิดใจผู้เขียนตอนเริ่มศึกษากฎหมายโบราณของสยามราวแปดปีก่อนนั้น คือ ความคล้ายคลึงกันอย่างเห็นได้ชัดของกฎหมายสยามกับกฎหมายฮินดูในแง่ของการแบ่งหัวเรื่องหรือชื่อเรื่อง ในประมวลกฎหมายพระมนู อันเป็นแบบฉบับตำรากฎหมายฮินดูนั้น มีการแบ่งส่วนกฎหมายแพ่งและอาญาทั้งหมดออกเป็น 18 หัวเรื่องหลัก ตามคำแปลของศาสตราจารย์บือเลอร์[3] หัวเรื่องหรือมูลคดีทั้ง 18 นี้ ได้แก่

(1) หนี้

(2) ฝาก และจำนำ

(3) ขายโดยไม่มีกรรมสิทธิ์

(4) ความเกี่ยวพันในหมู่หุ้นส่วน[4]

(5) เอาสิ่งที่ให้แล้วคืน

(6) จ้างแรงงาน

(7) ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง

(8) บอกเลิกการซื้อขาย

(9) ข้อพิพาทระหว่างเจ้าของปศุสัตว์กับคนรับใช้ของตน

(10) ข้อพิพาทเรื่องเขตแดน

(11) ทำร้ายร่างกาย

(12) หมิ่นประมาท

(13) ลักทรัพย์

(14) ปล้นทรัพย์ และประทุษร้าย

(15) กระทำชู้

(16) หน้าที่ของสามีและภริยา

(17) แบ่งมรดก

(18) พนันขันต่อ (พระมนู เล่ม 8 หน้า 4–8)

ในเรื่องเดียวกันนี้ พระธรรมศาสตร์[5] ของสยามระบุว่า "มูลอันก่อให้เกิดคดีความมีดังนี้"[6] แล้วลำดับหัวเรื่องทั้ง 18 นี้ด้วยถ้อยคำที่แทบจะไม่ผิดจากกัน ก่อนจะเพิ่มเข้าไปอีก 11 หัวเรื่อง เป็นต้นว่า ลักพา กบฏ สงคราม ราชทรัพย์ และภาษี ฯลฯ

ความคล้ายคลึงกันเช่นนั้นยังเห็นได้ในแง่ของการจัดประเภททาส ในประมวลกฎหมายพระมนู ทาสจัดออกเป็นประเภทดังนี้

(1) ผู้เคยตกเป็นเชลยศึก

(2) ผู้กลายเป็นทาสเพียงเพื่อให้ท้องอิ่ม

(3) ผู้เกิดจากทาสหญิงในบ้านของนายทาส

(4) ผู้ถูกซื้อมา

(5) ผู้ถูกมอบให้

(6) ผู้ที่ได้รับมาจากมรดกของบุพการี และ

(7) ผู้กลายเป็นทาสเพราะจ่ายค่าปรับจำนวนมากไม่ไหว (พระมนู เล่ม 8 หน้า 4–15)

ในเรื่องนี้ ลักษณะทาส[7] ของสยามเริ่มโดยกล่าวว่า ทาสมีเจ็ดประเภท แล้วลำดับแต่ละประเภท ดังนี้

(1) ทาสที่ท่านไถ่ถอนมาจากนายเงินผู้อื่น[8]

(2) ทาสที่เกิดจากทาสในบ้านของท่าน[9]

(3) ทาสที่ท่านได้มาจากบิดามารดาของท่าน

(4) ทาสที่ท่านได้มาโดยผู้อื่นให้

(5) ทาสที่ท่านได้ช่วยให้พ้นจากโทษทัณฑ์

(6) ผู้ที่กลายเป็นทาสท่านเพราะท่านได้เลี้ยงในยามข้าวแพง และ

(7) ผู้ที่ท่านนำกลับมาเป็นเชลยในคราวที่ท่านไปรบมา[10] จะเห็นได้ทันทีว่า ทาสทั้งเจ็ดประเภทที่เอ่ยถึงในประมวลกฎหมายพระมนูกับลักษณะทาสของสยามเหมือนกันทุกประการ

เซอร์จอห์น เบาว์ริง กล่าวไว้ในความเรียงเรื่องสยาม[11] ว่า "ในสยาม เหตุผลทางกฎหมายที่จะใช้ตัดพยานนั้นมีมากโข ถึงขั้นที่ดูจะก้าวก่ายกับการรวบรวมพยานหลักฐานเหลือเกิน" ตรงนี้จะขอยกอีกสักตัวอย่างหนึ่งให้เห็นว่า กฎหมายฮินดูกับกฎหมายโบราณของสยามนั้นเทียบกันได้ติด ประมวลกฎหมายพระมนูระบุว่า

"ผู้มีส่วนได้เสียในคดีก็ดี เพื่อนคุ้นเคย คู่หู หรือศัตรูของคู่ความก็ดี ผู้เคยถูกพิพากษาว่าให้การเท็จก็ดี ผู้เจ็บป่วยรุนแรงก็ดี ช่างซ่อมและนักแสดงก็ดี โศรติยะ[12] ก็ดี ผู้ร่ำเรียนพระเวทก็ดี นักพรตผู้ได้ละทิ้งความเกี่ยวข้องทั้งปวงกับทางโลกแล้วก็ดี ผู้ต้องพึ่งพาผู้อื่นโดยสิ้นเชิงก็ดี ผู้มีชื่อเสียงเสื่อมทรามก็ดี ทัสยุ[13] ก็ดี ผู้ประกอบอาชีพโหดร้ายก็ดี ผู้สูงอายุก็ดี ทารกก็ดี คนโสดก็ดี คนจากวรรณะต่ำสุดก็ดี ผู้ขาดอวัยวะในการรับรู้ก็ดี ผู้ทุกข์ตรมอย่างหนักก็ดี คนเมาก็ดี คนบ้าก็ดี ผู้ทรมานเพราะความหิวหรือกระหายก็ดี ผู้ถูกความเหนื่อยล้ารังควานก็ดี ผู้ทรมานเพราะความอยากได้อยากมีก็ดี คนเจ้าอารมณ์ก็ดี 'โจร' ก็ดี เป็นผู้ที่ต้องห้ามเป็นพยาน" (พระมนู เล่ม 8 หน้า 64–68)

ในเรื่องนี้ ลักษณะพยาน[14] ของสยามระบุว่า บุคคล 33 จำพวกดังต่อไปนี้ ต้องตัดออกจากการเป็นพยาน คือ

(1) ผู้ไม่ถือศีลห้าและศีลแปด

(2) ผู้เป็นลูกหนี้ของคู่ความ หรือเคยยืมสิ่งใด ๆ จากเขาเหล่านั้น[15]

(3) ทาสของคู่ความ

(4) ญาติของคู่ความ

(5) เพื่อนของคู่ความ

(6) คู่หูของคู่ความซึ่งกินอยู่หลับนอนด้วยกัน[16]

(7) ผู้เคยวิวาทกับคู่ความ

(8) คนละโมบ[17]

(9) ศัตรูของคู่ความ[18]

(10) คนเจ็บป่วยรุนแรง[19]

(11) เด็กอายุต่ำกว่าเจ็ดปี[20]

(12) คนแก่อายุกว่าเจ็ดสิบปี[21]

(13) ผู้เที่ยวไปว่าร้ายคนโน้นคนนี้[22]

(14) ผู้เต้นรำขออาหาร[23]

(15) ผู้ขับร้องบรรเลงขออาหาร[24]

(16) ผู้ไร้บ้านและเที่ยวท่องไปเรื่อย[25]

(17) ผู้ถือกะลามะพร้าวเที่ยวขอทาน[26]

(18) คนหูหนวก

(19) คนตาบอด

(20) โสเภณี[27]

(21) หญิงลามก[28]

(22) หญิงมีครรภ์

(23) ผู้ไม่เป็นทั้งชายทั้งหญิง[29]

(24) ผู้เป็นทั้งชายทั้งหญิง[30]

(25) พ่อมดและแม่มด

(26) คนบ้า[31]

(27) แพทย์ซึ่งมิได้เรียนตำราแพทย์[32]

(28) คนทำรองเท้า[33]

(29) ชาวประมง

(30) คนติดพนันขันต่อ[34]

(31) โจรและขโมย[35]

(32) คนเจ้าอารมณ์[36]

(33) เพชฌฆาต

จะสังเกตได้ว่า ข้อแตกต่างใด ๆ ในระหว่างตัวบทของพระมนูฮินดูกับตัวบทของลักษณะพยานสยาม ถ้าจะมี ก็คือ ตัวบทของฮินดูระบุบางกรณีเป็นการทั่วไปมากกว่า ขณะที่ตัวบทของสยามเจาะจงมากกว่า ตัวอย่างเช่น ประมวลกฎหมายพระมนูระบุในลักษณะทั่วไปว่า ทารกและคนชราจะนำมาเป็นพยานมิได้ ส่วนลักษณะพยานเจาะจงกว่า โดยจำกัดอายุที่เขาเหล่านั้นมีต่ำกว่าหรือสูงกว่าแล้วจะเป็นพยานไม่ได้ อีกประการหนึ่ง ประมวลกฎหมายพระมนูระบุอย่างทั่วไปว่า ให้ตัดผู้ประกอบอาชีพโหดร้าย ผู้ขาดอวัยวะในการรับรู้ ผู้มาจากวรรณะต่ำสุด ฯลฯ จากการเป็นพยาน ขณะที่ลักษณะพยานลงรายละเอียดและระบุว่า คนเหล่านี้ได้แก่ใครบ้าง แต่ในภาพรวมแล้ว ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ทั้งตัวบทของฮินดูและสยามกำลังเปรยถึงสิ่งเดียวกัน

กฎหมายฮินดูมีหลักว่า ดอกเบี้ยไม่ควรเกินต้น (พระมนู เล่ม 8 หน้า 151–153) ลักษณะกู้หนี้[37] ของสยามก็ปรากฏหลักอย่างเดียวกันว่า

"เมื่อบุคคลทำสัญญาเป็นหนี้ และจ่ายดอกเบี้ยให้เดือนหนึ่ง สองเดือน หรือสามเดือนก็ดี แต่หลังจากนั้นก็ไม่กระทำเช่นนั้นอีก และเมื่อเจ้าหนี้มาทวง ก็ผัดผ่อนหลบเลี่ยงชำระเสีย เจ้าหนี้ซึ่งมิได้ทั้งต้นทั้งดอกมาช้านาน จึงเรียกให้มาอยู่ต่อหน้าตุลาการ [ดังนี้ ให้ถือว่า] ดอกเบี้ยที่ลูกหนี้จ่ายไปในเดือนแรก เดือนสอง หรือเดือนสามนั้น เป็นกำไรที่เจ้าหนี้ควรได้ เจ้าหนี้จะเรียกดอกเบี้ยจำนวนที่ค้างจ่ายอีกก็ได้ แต่ถ้าหนี้นั้นเนิ่นนานนักหนาแล้ว ดอกเบี้ยให้คิดไม่เกินต้น ตามความในกฎหมาย"[38] (คำแปลกฎหมายสยามว่าด้วยหนี้ของอาร์เชอร์ หน้า 6)

หลักกฎหมายฮินดูมีว่า ถ้าจำเลยกล่าวเท็จว่าไม่ได้เป็นหนี้ เขาจะถูกปรับสองเท่าของจำนวนหนี้ (พระมนู เล่ม 8 หน้า 59) ลักษณะกู้หนี้ของสยามก็ปรากฏหลักอย่างเดียวกันว่า

"เมื่อลูกหนี้ที่ถูกเรียกมาอยู่ต่อหน้าตุลาการไม่รับว่าเป็นหนี้ ถ้าพิสูจน์ทราบว่า เป็นหนี้เช่นนั้นจริง ๆ ให้ปรับสองเท่าของจำนวนหนี้"[39] (คำแปลกฎหมายสยามว่าด้วยหนี้ของอาร์เชอร์ หน้า 9)

หวังว่า ข้อความข้างต้นซึ่งสุ่มยกมาจากประมวลกฎหมายฮินดูของพระมนูและกฎหมายโบราณของสยามจะพอแสดงให้เห็นว่า กฎหมายโบราณของสยามมีแหล่งกำเนิดมาจากฮินดู และอยู่ในกลุ่มกฎหมายที่อาจขนานนามว่า ระบบกฎหมายฮินดู อันเป็นทฤษฎีที่ทุกคนยอมรับและนับถือหมดใจ แต่แปลกดีที่ไม่เคยมีใครรับหน้าที่พิสูจน์มาก่อน

โทกิจิ มาซาโอะ

  1. เอกสารนี้จับใจความมาจากบทหนึ่งในวิทยานิพนธ์ เรื่อง การศึกษากฎหมายโบราณของสยาม ที่ผู้เขียนเสนอต่อมหาวิทยาลัยหลวงโตเกียว ญี่ปุ่น สองสามปีก่อน และจากปาฐกถาที่ผู้เขียนกล่าวต่อสยามสมาคม กรุงเทพฯ สยาม เมื่อเร็ว ๆ นี้
  2. หมายถึง อิสลาม (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  3. อาจหมายถึง เกออร์ค บือเลอร์ (Georg Bühler) (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  4. อาจตรงกับที่พระธรรมสาตรว่า "วิวาทด้วยปันหมู่ชาเปนมูล" (แลงกาต์ 2481a, น. 29) (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  5. ชื่อประมวลกฎหมายโบราณของสยาม เป็นเรื่องน่าสนใจชวนให้สังเกตว่า ชื่อ "ธรรมศาสตร์" นี้ส่อว่ามีที่มาจากพระมนู เพราะประมวลกฎหมายพระมนูก็เรียกว่า "ธรรมศาสตร์"
  6. ข้อความดั้งเดิมในพระธรรมสาตร (แลงกาต์ 2481a, น. 27) ว่า "แม้นอันว่ามูลคดีวิวาทอันให้บังเกีดความทังปวง" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  7. ชื่อกฎหมายโบราณของสยามเกี่ยวกับทาส
  8. ข้อความดั้งเดิมในพระไอยการทาษ (แลงกาต์ 2481b, น. 71) ว่า "ทาษไถ่มาด้วยทรัพย" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  9. ข้อความดั้งเดิมในพระไอยการทาษ (แลงกาต์ 2481b, น. 71) ว่า "ลูกทาษเกิดในเรือนเบี้ย" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  10. ข้อความดั้งเดิมในพระไอยการทาษ (แลงกาต์ 2481b, น. 71) ว่า "นำธงไชยไปรบศึกแล้วแลได้มาเปนทาษชะเลย" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  11. อาจหมายถึง หนังสือ เรื่อง The Kingdom and People of Siam; with a Narrative of the Mission to That Country in 1855 (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  12. Hiemstra (2021) ว่า โศรติยะ (śrotriya) หมายถึง ผู้ "ชำนาญและรู้มากในพระเวท" (proficient and well versed in Veda), พราหมณ์ที่คงแก่เรียน (learned Brāhmaṇa), หรือ "ผู้รู้มากในวิชาอาคม" (one well versed in sacred learning) (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  13. ทัสยุ (dasyu) หมายถึง คนไม่นับถือศาสนา (impious one) หรือคนไร้อารยะ (barbarian) สารานุกรมบริแทนนิกา (Stefon & Tikkanen 2010) ระบุว่า คำนี้ใช้เรียกคนพื้นเมืองดั้งเดิมของอินเดียซึ่งได้รับการพรรณนาว่า ผิวคล้ำ พูดจาไม่รื่นหู (harsh-spoken) บูชาลึงค์ และอาจจัดอยู่ในกลุ่มศูทร (วรรณะล่างสุดของอินเดีย) ซึ่งต้องรับใช้วรรณะที่เหลือ (พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์) และถูกกีดกันจากการร่วมพิธีกรรมกับวรรณะเหล่านั้น รากศัพท์ของคำนี้คือ "ทาส" (dāsa) (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  14. ชื่อกฎหมายโบราณของสยามเกี่ยวกับพยาน
  15. ข้อความดั้งเดิมในพระไอยการลักษณภญาณ (แลงกาต์ 2481a, น. 333) ว่า "คนกู้นี่ยืมสีนผู้เปนความ" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  16. ข้อความดั้งเดิมในพระไอยการลักษณภญาณ (แลงกาต์ 2481a, น. 333) ว่า "คนเปนเพื่อนกินอยู่สมเลกับผู้เปนความ" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  17. "Those who are covetous" (คนผู้ซึ่งละโมบ) น่าจะเป็นการแปลผิด เพราะข้อความดั้งเดิมในพระไอยการลักษณภญาณ (แลงกาต์ 2481a, น. 333) ว่า "คนมักมากถ้อยมากความ" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  18. ข้อความดั้งเดิมในพระไอยการลักษณภญาณ (แลงกาต์ 2481a, น. 333) ว่า "คนผูกเวรกับผู้เปนความ" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  19. ข้อความดั้งเดิมในพระไอยการลักษณภญาณ (แลงกาต์ 2481a, น. 333) ว่า "คนเปนโรคมาก" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  20. ข้อความดั้งเดิมในพระไอยการลักษณภญาณ (แลงกาต์ 2481a, น. 334) ว่า "เดก 7 เข้า" ความหมายของคำว่า "เข้า" ยังเป็นที่ถกเถียงอยู่ ราชบัณฑิตยสถาน (2556, น. 37) ว่า หมายถึง ปี เช่น 19 เข้า คือ 19 ปี ส่วนพิฑูร มลิวัลย์ (ใน สุจิตต์ วงษ์เทศ 2526, น. 175) ว่า "เข้า ควรจะหมายถึง ย่างเข้า ไม่ควรหมายความว่า ปี ในวรรณคดีอิสานมีที่ใช้หลายแห่ง...เช่น อายุได้ 16 เข้า หมายความว่า ย่างเข้า 16 ปี ศิลาจารึกสุโขทัย หลักที่สอง ก็มีข้อความว่า อายุยี่สิบเก้าเข้าสามสิบ" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  21. ข้อความดั้งเดิมในพระไอยการลักษณภญาณ (แลงกาต์ 2481a, น. 334) ว่า "เถ้า 70" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  22. ข้อความดั้งเดิมในพระไอยการลักษณภญาณ (แลงกาต์ 2481a, น. 334) ว่า "คนมักส่อเสียดท่าน" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  23. ข้อความดั้งเดิมในพระไอยการลักษณภญาณ (แลงกาต์ 2481a, น. 334) ว่า "คนเต้นรำขอทานเลี้ยงชีวิตร" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  24. ข้อความดั้งเดิมในพระไอยการลักษณภญาณ (แลงกาต์ 2481a, น. 334) ว่า "คนขับขอทานท่าน" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  25. ข้อความดั้งเดิมในพระไอยการลักษณภญาณ (แลงกาต์ 2481a, น. 333) ว่า "คนไม่มีเรือนเที่ยวจร" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  26. ข้อความดั้งเดิมในพระไอยการลักษณภญาณ (แลงกาต์ 2481a, น. 333) ว่า "คนถือกระเบื้องกระลาขอทาน" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  27. ข้อความดั้งเดิมในพระไอยการลักษณภญาณ (แลงกาต์ 2481a, น. 333) ว่า "หญิงนครโสภิณี" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  28. ข้อความดั้งเดิมในพระไอยการลักษณภญาณ (แลงกาต์ 2481a, น. 333) ว่า "หญิงแพศยา" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  29. ข้อความดั้งเดิมในพระไอยการลักษณภญาณ (แลงกาต์ 2481a, น. 333) ว่า "เปนกระเทย" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  30. ข้อความดั้งเดิมในพระไอยการลักษณภญาณ (แลงกาต์ 2481a, น. 333) ว่า "เปนบันเดาะ" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  31. ข้อความดั้งเดิมในพระไอยการลักษณภญาณ (แลงกาต์ 2481a, น. 333) ว่า "คนเปนพิกลจริต" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  32. ข้อความดั้งเดิมในพระไอยการลักษณภญาณ (แลงกาต์ 2481a, น. 334) ว่า "หมอยาหมีได้เรียนคำภีรแพท" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  33. ข้อความดั้งเดิมในพระไอยการลักษณภญาณ (แลงกาต์ 2481a, น. 334) ว่า "ช่างเกือก" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  34. ข้อความดั้งเดิมในพระไอยการลักษณภญาณ (แลงกาต์ 2481a, น. 334) ว่า "คนนักเลงเล่นเบี้ยบ่อน" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  35. ข้อความดั้งเดิมในพระไอยการลักษณภญาณ (แลงกาต์ 2481a, น. 334) ว่า "คนเปนโจร" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  36. ข้อความดั้งเดิมในพระไอยการลักษณภญาณ (แลงกาต์ 2481a, น. 334) ว่า "คนโทโสมาก" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  37. ชื่อกฎหมายโบราณของสยามเกี่ยวกับหนี้
  38. ข้อความดั้งเดิมในภาษาไทย คือ มาตรา 34 ของพระไอยการลักษณกู้หนี้ ซึ่งระบุว่า (แลงกาต์ 2481b, น. 186) "กู้เงินท่าน แลส่งดอกเบี้ยรายมาถึงเดือนหนึ่ง 2 เดือน 3 เดือนแล้วก็ดี แลอยู่มามิส่งนายเงิน ๆ ก็ไปทวง แลทำประเว่ประวิงไปมา ต้นเงินก็มิส่ง ดอกเบี้ยก็มิให้ เปนช้านาน นายเงินให้สมภักนักการเรียกหา แลท่านบังคับว่า ซึ่งดอกเบี้ยส่งรายเดือนหนึ่ง 2 เดือน 3 เดือนนั้น เปนลาภแก่นายเงินแต่ที่ได้ไว้แล้วนั้น แลซึ่งดอกเบี้ยยังไม่ส่งนั้น ให้บังคับตามมากแลน้อย ถ้าแลช้านานเท่าใด ให้บังคับแต่ต่อหน้าโดยพระราชกฤษฎีกา" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  39. ข้อความดั้งเดิมในภาษาไทยอาจได้แก่ มาตรา 53 ของพระไอยการลักษณกู้หนี้ ที่ระบุว่า (แลงกาต์ 2481b, น. 194) "ถ้ากู้หนี้ของท่านมิรับ ว่ามิได้กู้ ต่อสำนวนด้วยเจ้าหนี้ สวนสับขับแท้ แพ้แก่เจ้าหนี้ ให้เอาต้นสีนตั้งไหมทวีคูน" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)

บรรณานุกรม แก้ไข

ต้นฉบับ แก้ไข

อ้างอิง แก้ไข

  • ราชบัณฑิตยสถาน (2556). พจนานุกรมศัพท์วรรณคดีไทย สมัยสุโขทัย ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช หลักที่ 1 (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน. ISBN 978-616-7073-62-0.  Check date values in: |date= (help)
  • แลงกาต์, ร., บรรณาธิการ (2481a). ประมวลกฎหมายรัชกาลที่ 1 จุลศักราช 1166 พิมพ์ตามฉะบับหลวงตรา 3 ดวง 1. พระนคร: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง.  Check date values in: |date= (help)
  • แลงกาต์, ร., บรรณาธิการ (2481b). ประมวลกฎหมายรัชกาลที่ 1 จุลศักราช 1166 พิมพ์ตามฉะบับหลวงตรา 3 ดวง 2. พระนคร: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง.  Check date values in: |date= (help)
  • สุจิตต์ วงษ์เทศ, บรรณาธิการ (2526). สุโขทัยไม่ใช่ราชธานีแห่งแรกของไทย. กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์. ISBN 974-8350-363.  Check date values in: |date= (help)
  • Hiemstra, G (2021). "Shrotriya, Śrotrīya, Śrotriya: 12 definitions". Wisdom Library. 
  • Stefon, M; Tikkanen, A (2010). "Dasyu". Encyclopaedia Britannica. 
    งานนี้เป็นงานแปล ซึ่งมีสถานะทางลิขสิทธิ์แยกต่างหากจากงานต้นฉบับ
งานต้นฉบับ:
 

งานนี้เป็นสาธารณสมบัติทั่วโลก เนื่องจากเผยแพร่ก่อนวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1929 หรือผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตายมาแล้วอย่างน้อย 100 ปี

 
งานแปล:
 

ข้าพเจ้า ผู้ถือลิขสิทธิ์ในงานนี้ ให้งานนี้เป็นสาธารณสมบัติ คำประกาศนี้ให้มีผลทั่วโลก
ถ้าคำประกาศดังกล่าวไม่อาจเป็นไปได้ในทางกฎหมาย ข้าพเจ้าก็ให้ทุกคนมีสิทธิใช้งานนี้ได้ในทุกกรณี โดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ เว้นแต่ที่กฎหมายกำหนด