งานแปล:สอดส่องหลายท้องถิ่น: สยาม/บทที่ 6

สอดส่องหลายท้องถิ่น: สยาม (ค.ศ. 1908) โดย เออร์เนสต์ ยัง, แปลจากภาษาอังกฤษ โดย วิกิซอร์ซ
บทที่ 6 การรื่นเริง

เกวียนเทียมควาย[1]

บทที่ 6
การรื่นเริง

ในทางปฏิบัติแล้ว ชาวสยามไม่มีการละเล่นที่มีการออกกำลังกายมากมายเหมือนฟุตบอลหรือฮอกกี้ ชาวสยามพอใจจะสำราญอารมณ์อย่างเงียบ ๆ เพราะอากาศร้อนเหลือหลาย การรื่นเริงหลัก ๆ คือ การพนันไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง เด็กชายตัวน้อย ๆ จะจับจิ้งหรีดแล้วนำใส่กล่องไม้ขีดไปโรงเรียน ในช่วงเวลาเล่น เด็กเหล่านี้จะขุดหลุมเล็ก ๆ ที่พื้น ใส่จิ้งหรีดลงในหลุม และให้มันกัดกัน ขณะเดียวกันก็พนันผลการต่อสู้นี้ด้วยมีด ยาสูบ และข้าวของเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างอื่น

บางทีมีการตีไก่ ด้วยเหตุที่นาฬิกาจับเวลายกต่าง ๆ นั้นไม่มีหรือมีน้อย จึงใช้เครื่องวัดเวลาอย่างอื่นแทน เครื่องนี้ประกอบด้วยถ้วยใบเล็กลอยในน้ำ ที่ก้นถ้วยมีรูน้อยรูหนึ่งสำหรับให้น้ำผ่านเข้าไปช้า ๆ เมื่อถ้วยจุน้ำจนถึงระดับหนึ่งแล้ว ถ้วยจะจม และเป็นอันหมดยก

ในการแข่งขันที่ใช้เป็นช่องทางพนันนั้น อันที่ชวนให้อยากรู้อยากดูมากที่สุดคงจะเป็นการแข่งขันระหว่างปลากัดสองตัว ปลากัดนี้เป็นปลาไนตัวเล็กสายพันธุ์หนึ่ง ขนาดพอ ๆ กับปลาเหล็กใน ปลากัดมีผิวด้านข้างเป็นสีฟ้านกยูง[2] งดงาม และมีครีบสีทับทิม เมื่อปลากัดทั้งสองพบเจอกันในขวดใหญ่ใส่น้ำ มันจะจู่เข้ายื้อยุดกันด้วยท่าทีที่น่าขบขันเป็นที่สุด และเมื่อใดที่สบช่อง มันจะล่องเข้ากัดกันด้วยท่าทีอันโหดร้ายไม่มีใครเกิน ตลอดช่วงที่การต่อสู้ดำเนินไปนั้น ผู้ชมจะวางเดิมพันในผลลัพธ์

ในเดือนมีนาคม เมื่อลมแรงกล้า ชาวประชาทั้งผู้ใหญ่และเด็กจะสาละวนกับการเล่นว่าว ณ ที่แข่งขันเล่นว่าว มีความตื่นเต้นอยู่เสมอ ชายสองคนจะยืนชิดกัน คนหนึ่งจะส่งว่าวขึ้นสู่เบื้องบน และเมื่อว่าวลอยอยู่ในอากาศได้ดีแล้ว ชายคนที่สองจะส่งว่าวของตนขึ้นสู่เวหนบ้าง ว่าวนั้นไม่มีหาง แต่ล่องลอยได้อย่างมั่นคง เมื่อว่าวทั้งสองอยู่ใกล้กันแล้ว ชายคนหนึ่งจะกระตุกสายว่าวของตนอย่างพิลึก นี่จะทำให้ว่าวของเขากระโจนข้ามว่าวอีกตัว ลอยลงต่ำเล็กน้อย แล้วเลื่อนลอยขึ้นไปอีกฝั่ง ในลักษณะเช่นนี้สายที่โยงยึดอยู่กับว่าวทั้งสองจะเกี่ยวกระหวัดกัน ว่าวจะถูกทำให้ฟาดฟันซึ่งกันและกันด้วยการดึงสายเข้าและคลายสายออกสลับไปมา ชายคนที่สายว่าวขาดก่อนก็แพ้ไปในการละเล่น ยังมีการติดนกหวีดไว้บนว่าวหลายชนิด และเมื่อว่าวนี้โฉบเฉี่ยวผ่านอากาศ จะมีเสียงแหลมบาดแก้วหูดังคู่เคียงมากับการล่องลอย

การรื่นเริงยอดนิยมอีกอย่าง คือ "ฟุตบอล"[3] ซึ่งไม่มีจุดใดคล้ายกับการละเล่นของชาวเราที่เรียกนามอย่างเดียวกันเลย ตัวบอลมีเส้นผ่านศูนย์กลางราว 6 หรือ 7 นิ้วเท่านั้น บอลนี้เบามาก เพราะทำจากไม้ไผ่บิดเป็นเกลียวไม่กี่ชิ้น จะเล่นกันกี่คนก็ได้ตั้งแต่สองขึ้นไป ผู้เล่นจะยืนประจันหน้ากันเป็นวง คนหนึ่งส่งบอลขึ้นสู่อากาศ และคนใกล้บอลที่สุดต้องส่งบอลขึ้นไปอีกครั้งเมื่อบอลดิ่งลงมาหา การส่งเช่นนี้จะทำโดยใช้หัว ไหล่ เข่า หรือเท้าก็ได้ แต่ต้องมิให้มือถูกลูกบอล ถ้าบอลเพียงร่วงลงด้านหลังผู้เล่น ผู้เล่นนั้นจะกะระยะโดยไม่หมุนตัวไปรอบ ๆ และเกี่ยวบอลขึ้นบนหลังส้นเท้า แล้วจึงนำบอลกลับเข้าวงมาทางผู้เล่นอีกคน ประตูบอลนั้นไม่มี และที่จริงก็ไม่มีการนับคะแนนอย่างใด ๆ ด้วย การละเล่นนี้จะยุติเมื่อผู้เล่นเหนื่อย บางทีผู้อ่อนล้าจะถอนตัวจากการเล่นไปนอนลงพักสักครู่แล้วจึงกลับเข้ากลุ่มเมื่อรู้สึกชุ่มชื่นอีกครั้งก็ได้ คนมาใหม่จะเข้าร่วมเล่นเมื่อใดก็ได้ การรื่นเริงที่เกือบจะเป็นชนิดเดียวซึ่งไม่ข้องเกี่ยวกับการพนัน คือ มหรสพ ในราชธานีมีโรงมหรสพประจำเพียงแห่งเดียว ในยุคที่ยังไม่มีทั้งแก๊สและไฟฟ้า โรงมหรสพจะเปิดแต่ในคืนเดือนฉาย เพราะถ้าไร้แสงเดือนแล้ว ผู้คนก็ไม่แคล้วจะต้องกลับบ้านท่ามกลางความมืด โดยปรกติแล้วการแสดงมหรสพจะมีขึ้นที่บ้านเรือนส่วนบุคคลในยามมงคลสมรส หรืองานศพ หรือในโอกาสอื่นที่เป็นงานมงคลหรืออวมงคลส่วนบุคคล

ไม่มีนักแสดงที่เป็นชาย เว้นแต่ตัวจำอวด ส่วนบทอื่น ๆ นั้น ผู้หญิงรับไปเล่น ละครนั้น ถ้าแสดงตั้งแต่ต้นจนปลาย จะยาวเป็นหลายสัปดาห์ แต่เนื่องจากทุกคนรู้เรื่องทั้งหมดของนาฏกรรมทั้งมวลแล้ว ครั้งหนึ่ง ๆ จึงจะแสดงเพียงตอนสั้น ๆ เรื่องที่เลือกมาเล่นนั้น ยิ่งเป็นที่รู้จักของผู้คนมากเท่าไร ก็จะยิ่งเป็นที่ชื่นชอบของผู้คนมากเท่านั้น นักแสดงหญิงจะจรลีจากเวทีด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่ง บิดหัว แขน และขาในลีลาเชื่องช้าและชวนสนใจ อันเป็นท่วงท่าที่เขารำกัน พวกเขาไม่เอ่ยวจี แต่จะมีการเล่าเรื่องด้วยคณะขับร้องหมู่ผู้จะกรีดเสียงแหลมออกมาเป็นเรื่องเล่าคลอเคล้าไปกับวงดนตรีสุดพิลึกพิลั่น ส่งเสียงเหมือนกลอง ฉาบ และปี่[4] ระคนกัน

เนื่องจากไม่จำเป็นต้องมีโรงมหรสพประจำ ละครจึงแสดงที่ใดก็ได้ ที่ว่างที่ใช้เป็นเวทีนั้นจะเอาเสื่อทำหมายเขตไว้บนพื้น วงดนตรีและคณะขับร้องหมู่นั่งอยู่รอบเสื่อ ส่วนผู้ชมนั่งบ้างยืนบ้างอยู่ค่อนข้างใกล้ผู้แสดง และบางทีก็มีเด็กเปรตหลุดมาวิ่งวุ่นอยู่ท่ามกลางแข้งขาของเทวดาและอสูรที่กำลังเยื้องกรายอย่างแยบคายอยู่บนพื้นที่ที่เอาเสื่อล้อมไว้ พอชายผู้บรรเลงกลองและประโคมฉาบเล่นมาพอแล้ว หนุ่มน้อยบางคนในหมู่ผู้ชมจะเข้าไปทำหน้าที่แทน จึงเป็นอันเปิดช่องให้ชายนักดนตรีผู้อ่อนล้าได้ออกมาพักสักนิด

แน่ล่ะ ไม่มีฉากอันใด และเมื่อการแสดงดำเนินไป ผู้ชมต้องอาศัยจินตนาการของตนเองอย่างมากมาย ลองสมมุติว่า คณะละครสยามกำลังจะเล่นเรื่อง "รอบินสัน ครูโซ" สิ่งที่จะเกิดขึ้นจะเป็นไปดังนี้ นักแสดงหญิงคนหนึ่งจะออกมาบนเวทีโดยมีไม้พลองมัดไว้กับอก ที่ยอดพลองนั้นมีธงน้อย ๆ ปลิวไสว ชาวคณะที่เหลือจะยืนเป็นคู่เคียงกันอยู่หลังแม่สาวผู้มีพลอง ที่สุดแล้ว นักแสดงหญิงอีกคนจะปรากฏตนออกมาโดยถือพลองกับธงอีกชุดหนึ่งไว้และมีหางเสือเรือผูกติดกับแผ่นหลัง ผู้คนจะชุมนุมกันเป็นแถวยาวเยี่ยงนี้เพื่อแสดงเป็นเรือกับผู้โดยสาร ทีนี้ การเดินทางก็เริ่มต้นด้วยการที่คณะละครม้วนขอบเสื่อขึ้นเป็นมวนอย่างเนิบนาบและเป็นจังหวะเหลือเกิน ทันใดก็บังเกิดพายุ ชาวกลองจะทุ่มกลอง ชาวฉาบจะฟาดฉาบ และชาวปี่ก็คงจะเป่าปี่จนตัวแทบแตก คณะขับร้องหมู่จะหอนหมู่ และเด็กหญิงชายทั้งหลายในหมู่ผู้ชมก็คงจะร่วมหอนด้วย แถมอาจหอนได้ดีกว่าคณะนักหอนมืออาชีพเองโดยไม่ยาก ก็อย่างที่ท่านอาจนึกภาพออก แล้วทุกคนจะนอนแผ่ลงบนเวที และนั่นจะเท่ากับเรือแตก นักเดินเรือที่ตกน้ำจะขึ้นมาแล้วเดินออกจากเวทีไปภายในหนึ่งหรือสองวินาที และจะไม่มีใครมองว่าน่าขำเลยสักคน รอบินสันเฒ่าผู้น่าเอาใจช่วยจะพบว่า มีแต่แกะเหลืออยู่กับตน และเจ้าแกะตัวนี้จะได้แก่คนหนึ่งในนักแสดงหญิงทั้งหลายผู้ซึ่งจะเดินไปรอบ ๆ ด้วยขาทั้งสองข้าง พลางสวมหน้ากากที่คงจะดูเหมือนลิงค่างมากกว่าแกะแพะ และยังจะมีเขาคู่หนึ่งอยู่บนศีรษะด้วย แกะนี้จะวนไปรอบเวทีโดยฟ้อนรำเหมือนเป็นมนุษย์ทุกกระเบียดนิ้ว และผู้ชมก็คงจะช่วยสงเคราะห์นักแสดงหญิงผู้นี้ด้วยการเชื่อว่า เธอเป็นแกะจริง ๆ และด้วยเหตุนั้น ทุกคนจะได้รับความพึงพอใจด้วยกัน พอรอบินสันอยากซ่อนตัวในป่า เขาจะเดินไปที่ขอบเวที แล้วถือกิ่งไม้บังหน้า เท่านี้จะหมายความว่า เขาซ่อนตัวได้เรียบร้อยพอดูแล้ว หากใครทำทีเป็นเห็นเขาเข้า คงจะได้ยินถ้อยคำหยาบคายร้ายกายเปล่งออกมาบ้างจากเหล่าผู้ชมที่เหลือซึ่งไม่อยากให้อารมณ์สุนทรีย์อย่างไร้เดียงสาของตนต้องปี้ป่นเพราะผู้เยาว์ที่วิจารณ์เก่ง

หมายเหตุ แก้ไข

  1. ในรูปดูจะเป็นเกวียนที่เรียกว่า ระแทะ
  2. คือ สีฟ้าเหมือนที่ปรากฏบนตัวนกยูง ดูตัวอย่างจากนกยูงอินเดียใน รูปที่ 1
  3. อาจหมายถึง ตะกร้อ
  4. แบ็กไพป์ หมายถึง ปี่ที่เป่าลมออกมาจากถุง ดูตัวอย่างจาก รูปที่ 2