อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางทูต

คำแปล
อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางทูต

รัฐภาคีแห่งอนุสัญญานี้

โดยระลึกว่า ประชาชนของชาติทั้งมวลตั้งแต่โบราณกาลมา ได้ยอมรับนับถือสถานภาพของตัวแทนทางทูต

โดยคำนึงถึง ความมุ่งประสงค์และหลักการของกฎบัตรสหประชาชาติ เกี่ยวกับความเสมอภาคทางอธิปไตยของรัฐ การธำรงสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ และการส่งเสริมความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างชาติ

โดยเชื่อว่า อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการติดต่อ เอกสิทธิและความคุ้มกันทางทูตจะมีส่วนช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างชาติ โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างกันในระบบแห่งธรรมนูญและระบบสังคมของชาติเหล่านั้น

โดยตระหนักว่า ความมุ่งประสงค์ของเอกสิทธิและความคุ้มกันเช่นว่านี้ มิใช่เพื่อที่จะให้เป็นคุณประโยชน์แก่ตัวบุคคล แต่เพื่อที่จะประกันการปฏิบัติการหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพของคณะผู้แทนทางทูตในฐานะที่เป็นผู้แทนของรัฐ

โดยยืนยันว่า กฎเกณฑ์แห่งกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ ควรใช้บังคับต่อไปแก่ปัญหาที่มิได้กำหนดไว้อย่างชัดแจ้งโดยบทของอนุสัญญานี้

ได้ตกลงกันดังต่อไปนี้

ข้อ ๑

เพื่อความมุ่งประสงค์ของอนุสัญญานี้ ให้ถ้อยคำต่อไปนี้มีความหมายตามที่ได้กำหนดไว้ข้างท้ายนี้

(ก) “หัวหน้าคณะผู้แทน” คือ บุคคลที่ได้รับมอบหมายจากรัฐผู้ส่งให้มีหน้าที่กระทำการในฐานะนั้น

(ข) “บุคคลในคณะผู้แทน” คือ หัวหน้าคณะผู้แทนและบุคคลในคณะเจ้าหน้าที่ของคณะผู้แทน

(ค) “บุคคลในคณะเจ้าหน้าที่ของคณะผู้แทน” คือ บุคคลในคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายทูต คณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรการและฝ่ายวิชาการ และคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริการ ของคณะผู้แทน

(ง) “บุคคลในคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายทูต” คือ บุคคลในคณะเจ้าหน้าที่ของคณะผู้แทนซึ่งมีตำแหน่งทางทูต

(จ) “ตัวแทนทางทูต” คือ หัวหน้าของคณะผู้แทน หรือบุคคลในคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายทูตของคณะผู้แทน

(ฉ) “บุคคลในคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรการ และฝ่ายวิชาการ” คือ บุคคลในคณะเจ้าหน้าที่ของคณะผู้แทน ซึ่งทำงานเกี่ยวกับบริการ ฝ่ายธุรการและฝ่ายวิชาการของคณะผู้แทน

(ช) “บุคคลในคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริการ” คือ บุคคลในคณะเจ้าหน้าที่ของคณะผู้แทนในฝ่ายบริการรับใช้ของคณะผู้แทน

(ซ) “คนรับใช้ส่วนตัว” คือ บุคคลซึ่งอยู่ในฝ่ายบริการรับใช้ของบุคคลในคณะผู้แทน และซึ่งมิได้เป็นลูกจ้างของรัฐผู้ส่ง

(ฌ) “สถานที่ของคณะผู้แทน” คือ อาคารหรือส่วนของอาคาร และที่ดินซึ่งอาคารตั้งอยู่ ซึ่งใช้เพื่อความมุ่งประสงค์ของคณะผู้แทนโดยไม่คำนึงถึงกรรมสิทธิ์ รวมถึงที่อยู่ของหัวหน้าคณะผู้แทนด้วย

ข้อ ๒

การสถาปนาความสัมพันธ์ทางทูตระหว่างรัฐ และการส่งคณะผู้แทนถาวรทางทูตมีขึ้นได้ด้วยความยินยอมของกันและกัน

ข้อ ๓

๑. นอกจากประการอื่นแล้ว การหน้าที่ของคณะผู้แทนทางทูตประกอบด้วย

(ก) เป็นผู้แทนรัฐผู้ส่งในรัฐผู้รับ

(ข) คุ้มครองผลประโยชน์ของรัฐผู้ส่งและของคนชาติของรัฐผู้ส่งในรัฐผู้รับ ภายในขีดที่จำกัดที่กฎหมายระหว่างประเทศอนุญาตให้

(ค) เจรจากับรัฐบาลของรัฐผู้รับ

(ง) สืบเสาะให้แน่ด้วยวิถีทางทั้งมวลอันชอบด้วยกฎหมาย ถึงสภาวะและพัฒนาการในรัฐผู้รับ และรายงานไปยังรัฐบาลของรัฐผู้ส่ง

(จ) ส่งเสริมความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างรัฐผู้ส่งกับรัฐผู้รับและพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และวิทยาศาสตร์ของรัฐผู้ส่งและรัฐผู้รับ

๒. ไม่มีข้อความในอนุสัญญานี้ที่จะแปลความได้ว่าเป็นการห้ามคณะผู้แทนทางทูตปฏิบัติการหน้าที่ทางกงสุล

ข้อ ๔

๑. รัฐผู้ส่งต้องทำให้เป็นที่แน่นอนว่า รัฐผู้รับได้ให้ความเห็นชอบแล้วสำหรับบุคคลที่รัฐผู้ส่งเสนอขอแต่งตั้งเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไปยังรัฐนั้น

๒. รัฐผู้รับไม่จำต้องให้เหตุผลแก่รัฐผู้ส่งในการปฏิเสธการให้ความเห็นชอบ

ข้อ ๕

๑. หลังจากที่ได้บอกกล่าวแก่รัฐผู้รับที่เกี่ยวข้องตามสมควรแล้ว รัฐผู้ส่งอาจแต่งตั้งหัวหน้าคณะผู้แทน หรือแต่งตั้งบุคคลใดในคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายทูต แล้วแต่กรณี ไปยังมากกว่ารัฐหนึ่งก็ได้ นอกจากจะมีการคัดค้านอย่างชัดแจ้งโดยรัฐผู้รับรัฐใดรัฐหนึ่ง

๒. ถ้ารัฐผู้ส่งแต่งตั้งหัวหน้าคณะผู้แทนไปยังรัฐอื่นหนึ่งรัฐหรือมากกว่านั้น รัฐผู้ส่งอาจสถาปนาคณะผู้แทนทางทูตโดยมีอุปทูตชั่วคราวเป็นหัวหน้าในแต่ละรัฐที่หัวหน้าคณะผู้แทนไม่มีที่นั่งทำงานของตนเป็นประจำก็ได้

๓. หัวหน้าคณะผู้แทน หรือบุคคลหนึ่งใดในคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายทูตของคณะผู้แทน อาจกระทำการในฐานะเป็นผู้แทนของรัฐผู้ส่งในองค์การระหว่างประเทศใด ก็ได้

ข้อ ๖

รัฐสองรัฐหรือมากกว่านั้น อาจแต่งตั้งให้บุคคลคนเดียวกัน เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไปยังรัฐอื่นก็ได้ เว้นแต่ว่ารัฐผู้รับจะแจ้งการคัดค้าน

ข้อ ๗

ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติของข้อ ๕, ๘, ๙, และ ๑๑ รัฐผู้ส่งอาจแต่งตั้งบุคคลในคณะเจ้าหน้าที่ของคณะผู้แทนได้โดยเสรี ในกรณีของผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารบก ทหารเรือ หรือทหารอากาศ รัฐผู้รับอาจเรียกร้องให้เสนอนามล่วงหน้า เพื่อรับความเห็นชอบของตนก็ได้

ข้อ ๘

๑. บุคคลในคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายทูตของคณะผู้แทนนั้น ในหลักการควรมีสัญชาติของรัฐผู้ส่ง

๒. บุคคลในคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายทูตของคณะผู้แทนนั้น ไม่อาจแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งมีสัญชาติของรัฐผู้รับได้ เว้นแต่ด้วยความยินยอมของรัฐผู้รับ ซึ่งอาจจะเพิกถอนเสียในเวลาใดก็ได้

๓. รัฐผู้รับอาจสงวนสิทธิเช่นเดียวกันนี้ ในเรื่องที่เกี่ยวกับคนชาติของรัฐที่สาม ซึ่งมิใช่เป็นคนชาติของรัฐผู้ส่งด้วยก็ได้

ข้อ ๙

๑. รัฐผู้รับอาจบอกกล่าวแก่รัฐผู้ส่งในเวลาใดก็ได้ และโดยมิต้องชี้แจงถึงการวินิจฉัยของตนว่า หัวหน้าคณะผู้แทนหรือบุคคลใดในคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายทูตของคณะผู้แทนเป็นบุคคลที่ไม่พึงปรารถนา หรือว่าบุคคลอื่นใดในคณะเจ้าหน้าที่ของคณะผู้แทนเป็นที่ไม่พึงยอมรับได้ ในกรณีใดเช่นว่านี้ ให้รัฐผู้ส่งเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องนั้นกลับ หรือเลิกการหน้าที่ของผู้นั้นกับคณะผู้แทนเสียก็ได้ตามที่เหมาะสม บุคคลอาจจะถูกประกาศให้เป็นผู้ไม่พึงปรารถนา หรือไม่พึงยอมรับได้ ก่อนที่จะมาถึงในอาณาเขตของรัฐผู้รับก็ได้

๒. ถ้ารัฐผู้ส่งปฏิเสธ หรือไม่ปฏิบัติตามข้อผูกพันของตนภายใต้วรรค ๑ ของข้อนี้ภายในระยะเวลาอันสมควร รัฐผู้รับอาจปฏิเสธที่จะยอมรับนับถือบุคคลที่เกี่ยวข้องนั้นว่าเป็นบุคคลในคณะผู้แทนก็ได้

ข้อ ๑๐

๑. กระทรวงการต่างประเทศของรัฐผู้รับ หรือกระทรวงอื่น เช่น ที่อาจจะตกลงกันจะได้รับการบอกกล่าวถึง

(ก) การแต่งตั้งบุคคลในคณะผู้แทน การมาถึงและการเดินทางออกไปท้ายที่สุด หรือการสิ้นสุดของการหน้าที่กับคณะผู้แทนของบุคคลนั้น

(ข) การมาถึงและการเดินทางออกไปท้ายที่สุดของคนในครอบครัวของบุคคลในคณะผู้แทน และเมื่อสมควร การที่บุคคลใดเป็นหรือพ้นจากเป็นคนในครอบครัวของบุคคลในคณะผู้แทน

(ค) การมาถึงและการเดินทางออกไปท้ายที่สุดของคนรับใช้ส่วนตัวของบุคคลที่ได้กล่าวไว้ในอนุวรรค (ก) ของวรรคนี้ และการที่บุคคลนั้นออกจากการเป็นลูกจ้างของบุคคลเช่นว่านั้น

(ง) การว่าจ้างและการปลดบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้รับ ในฐานะเป็นบุคคลในคณะผู้แทน หรือคนรับใช้ส่วนตัวซึ่งมีสิทธิที่จะได้รับเอกสิทธิและความคุ้มกัน

๒. เมื่อกระทำได้ ให้บอกกล่าวล่วงหน้าถึงการมาถึง และการเดินทางออกไปท้ายที่สุดด้วย

ข้อ ๑๑

๑. เมื่อไม่มีความตกลงจำเพาะในเรื่องขนาดของคณะผู้แทน รัฐผู้รับอาจเรียกร้องให้ขนาดของคณะผู้แทนอยู่ในขีดจำกัด ที่ตนเห็นว่าสมควรและปกติได้ ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงพฤติการณ์และสภาวะในรัฐผู้รับและความจำต้องการของคณะผู้แทนเฉพาะราย

๒. ภายในขอบเขตที่คล้ายคลึงกันและบนมูลฐานที่ไม่เลือกปฏิบัติ รัฐผู้รับอาจปฏิเสธได้เช่นกันที่จะยอมรับพนักงานประเภทหนึ่งประเภทใดก็ได้

ข้อ ๑๒

รัฐผู้ส่งไม่อาจตั้งที่ทำการซึ่งประกอบเป็นส่วนของคณะผู้แทนขึ้นในท้องถิ่นอื่น นอกจากท้องถิ่นที่คณะผู้แทนนั้นเองตั้งอยู่ได้ โดยปราศจากความยินยอมล่วงหน้าอย่างชัดแจ้งของรัฐผู้รับ

ข้อ ๑๓

๑. หัวหน้าคณะผู้แทนพึงถือว่าได้เข้ารับการหน้าที่ของตนในรัฐผู้รับ เมื่อตนได้ยื่นสาสน์ตราตั้งหรือเมื่อตนได้บอกกล่าวการมาถึงของตน และได้เสนอสำเนาที่ถูกต้องของสาสน์ตราตั้งของตนต่อกระทรวงการต่างประเทศของรัฐผู้รับ หรือกระทรวงอื่นที่อาจจะตกลงกันตามทางปฏิบัติที่มีอยู่ในรัฐผู้รับซึ่งจะต้องปฏิบัติโดยเท่าเทียมกัน

๒. ลำดับของการยื่นสาสน์ตราตั้ง หรือสำเนาที่ถูกต้องของสาสน์ตราตั้ง จะได้พิจารณากำหนดตามวันและเวลาของการมาถึงของหัวหน้าคณะผู้แทน

ข้อ ๑๔

๑. หัวหน้าคณะผู้แทนแบ่งออกเป็น ๓ ชั้น กล่าวคือ

(ก) ชั้นเอกอัครราชทูต หรือเอกอัครสมณทูต ซึ่งแต่งตั้งไปยังประมุขของรัฐและหัวหน้าคณะผู้แทนอื่นที่มีชั้นเท่ากัน

(ข) ชั้นรัฐทูต อัครราชทูต และอัครสมณทูต ซึ่งแต่งตั้งไปยังประมุขของรัฐ

(ค) ชั้นอุปทูต ซึ่งแต่งตั้งไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

๒. เว้นแต่ที่เกี่ยวกับลำดับอาวุโสและมารยาทแล้ว ไม่ให้มีความแตกต่างกันระหว่างหัวหน้าคณะผู้แทน โดยถือเหตุผลของชั้นของหัวหน้าคณะผู้แทน

ข้อ ๑๕

ชั้นที่จะกำหนดให้แก่หัวหน้าคณะผู้แทนนั้น ให้ทำความตกลงกันระหว่างรัฐ

ข้อ ๑๖

๑. ให้หัวหน้าคณะผู้แทนมีลำดับอาวุโสในแต่ละชั้นของตนตามลำดับวันและเวลาที่เข้ารับหน้าที่ตามข้อ ๑๓

๒. การเปลี่ยนแปลงในสาสน์ตราตั้งของหัวหน้าคณะผู้แทนซึ่งไม่เกี่ยวพันกับการเปลี่ยนชั้นอย่างใด จะไม่กระทบกระเทือนลำดับอาวุโสของหัวหน้าคณะผู้แทน

๓. ข้อนี้ไม่กระทบกระเทือนต่อทางปฏิบัติใดซึ่งมีอยู่ในรัฐผู้รับในเรื่องลำดับอาวุโสของผู้แทนของรัฐสันตะปาปา

ข้อ ๑๗

ลำดับอาวุโสของสมาชิกของคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายทูตของคณะผู้แทนนั้น ให้หัวหน้าคณะผู้แทนเป็นผู้บอกกล่าวแก่กระทรวงการต่างประเทศหรือกระทรวงอื่นเช่นที่อาจจะตกลงกัน

ข้อ ๑๘

วิธีดำเนินการที่จะต้องปฏิบัติในแต่ละรัฐ สำหรับการรับหัวหน้าคณะผู้แทน จะต้องเป็นเอกรูปในแต่ละชั้น

ข้อ ๑๙

๑. ถ้าตำแหน่งของหัวหน้าคณะผู้แทนว่างลง หรือถ้าหัวหน้าคณะผู้แทนไม่สามารถปฏิบัติการหน้าที่ของตนได้ อุปทูตชั่วคราวจะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนเป็นการชั่วคราวได้ หัวหน้าคณะผู้แทน หรือ ในกรณีที่หัวหน้าคณะผู้แทนไม่สามารถจะกระทำได้ กระทรวงการต่างประเทศของรัฐผู้ส่งจะแจ้งนามอุปทูตชั่วคราวไปยังกระทรวงการต่างประเทศของรัฐผู้รับ หรือกระทรวงอื่น เช่นที่อาจจะตกลงกัน

๒. ในกรณีที่ไม่มีบุคคลในคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายทูตของคณะผู้แทนอยู่ในรัฐผู้รับด้วยความยินยอมของรัฐผู้รับบุคคลในคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรการและฝ่ายวิชาการอาจจะได้รับแต่งตั้งโดยรัฐผู้ส่งให้รักษาการในกิจการด้านบริหารโดยปกติของคณะผู้แทนก็ได้

ข้อ ๒๐

คณะผู้แทนและหัวหน้าคณะผู้แทนมีสิทธิใช้ธงและเครื่องหมายของรัฐผู้ส่งณสถานที่ของคณะผู้แทนรวมถึงที่อยู่ของหัวหน้าคณะผู้แทนและที่พาหนะในการขนส่งของหัวหน้าคณะผู้แทนด้วย

ข้อ ๒๑

๑. รัฐผู้รับจะให้ความสะดวกในการได้มาในอาณาเขตของตนตามกฎหมายของตนโดยรัฐผู้ส่งซึ่งสถานที่ที่จำเป็นสำหรับคณะผู้แทนของรัฐผู้ส่งหรือช่วยเหลือคณะผู้แทนในการหาที่อาศัยโดยวิธีอื่น

๒. เมื่อจำเป็นรัฐผู้รับจะช่วยเหลือคณะผู้แทนในการหาที่อาศัยที่เหมาะสมสำหรับบุคคลในคณะผู้แทนด้วย

ข้อ ๒๒

๑. สถานที่ของคณะผู้แทนจะถูกละเมิดมิได้ตัวแทนของรัฐผู้รับไม่อาจเข้าไปในสถานที่นั้นได้เว้นแต่ด้วยความยินยอมของหัวหน้าคณะผู้แทน

๒. รัฐผู้รับมีหน้าที่พิเศษที่จะดำเนินการทั้งมวลที่เหมาะสมเพื่อคุ้มครองสถานที่ของคณะผู้แทนจากการบุกรุกหรือความเสียหายใด และที่จะป้องกันการรบกวนใดต่อความสงบสุขของคณะผู้แทนหรือการทำให้เสื่อมเสียเกียรติของคณะผู้แทน

๓. สถานที่ของคณะผู้แทนเครื่องตกแต่งและทรัพย์สินอื่นของคณะผู้แทนในสถานที่นั้นและพาหนะในการขนส่งของคณะผู้แทนจะได้รับความคุ้มกันจากการค้นการเรียกเกณฑ์การอายัดหรือการบังคับคดี

ข้อ ๒๓

๑. นอกจากที่เป็นการชำระค่าบริการจำเพาะที่ได้ให้รัฐผู้ส่งและหัวหน้าคณะผู้แทนจะได้รับยกเว้นจากค่าติดพันและภาษีทั้งมวลของชาติท้องถิ่นหรือเทศบาลในส่วนที่เกี่ยวกับสถานที่ของคณะผู้แทนไม่ว่าจะได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือได้เช่ามา

๒. การยกเว้นจากการเก็บภาษีที่ได้อ้างถึงในข้อนี้จะไม่ใช้กับค่าติดพันและภาษีที่จะต้องชำระภายใต้กฎหมายของรัฐผู้รับโดยบุคคลผู้ทำสัญญากับรัฐผู้ส่งหรือกับหัวหน้าคณะผู้แทน

ข้อ ๒๔

บรรณสารและเอกสารของคณะผู้แทนจะถูกละเมิดมิได้ไม่ว่าเวลาใดและไม่ว่าจะอยู่ณที่ใด

ข้อ ๒๕

รัฐผู้รับจะประสาทความสะดวกอย่างเต็มที่สำหรับการปฏิบัติการหน้าที่ของคณะผู้แทน

ข้อ ๒๖

ภายในบังคับของกฎหมายและข้อบังคับของรัฐผู้รับเกี่ยวกับการเข้าไปในเขตที่ได้หวงห้ามหรือที่ได้วางระเบียบไว้โดยเหตุผลของความมั่นคงแห่งชาติรัฐผู้รับจะให้หลักประกันแก่สมาชิกทั้งมวลของคณะผู้แทนซึ่งเสรีภาพในการเคลื่อนไหวและการเดินทางในอาณาเขตของตน

ข้อ ๒๗

๑. รัฐผู้รับจะอนุญาตและคุ้มครองการสื่อสารโดยเสรีในส่วนของคณะผู้แทนเพื่อความมุ่งประสงค์ในทางการทั้งมวลในการติดต่อกับรัฐบาลและกับคณะผู้แทนและสถานกงสุลอื่นของรัฐผู้ส่งไม่ว่าตั้งอยู่ที่ใดคณะผู้แทนอาจใช้วิถีทางอันเหมาะสมทั้งมวลได้รวมทั้งผู้ถือสารทางทูตและสารเป็นรหัสหรือตัวเลขรหัสอย่างไรก็ดีคณะผู้แทนอาจติดตั้งและใช้เครื่องส่งวิทยุได้ด้วยความยินยอมของรัฐผู้รับเท่านั้น

๒. หนังสือโต้ตอบทางการของคณะผู้แทนจะถูกละเมิดมิได้หนังสือโต้ตอบทางการหมายถึงหนังสือโต้ตอบทั้งมวลที่เกี่ยวกับคณะผู้แทนและการหน้าที่ของคณะผู้แทน

๓. ถุงทางทูตจะไม่ถูกเปิดหรือถูกกักไว้

๔. หีบห่อซึ่งรวมเป็นถุงทางทูตจะต้องมีเครื่องหมายภายนอกที่เห็นได้แสดงลักษณะของถุงทางทูตและอาจบรรจุได้แต่เอกสารหรือสิ่งของทางทูตซึ่งได้เจตนาเพื่อใช้ในทางการเท่านั้น

๕. ผู้ถือสารทางทูตซึ่งจะได้รับเอกสารทางการแสดงสถานภาพของตนและแสดงจำนวนหีบห่อซึ่งรวมเป็นถุงทางทูตนั้นจะได้รับความคุ้มครองจากรัฐผู้รับในการปฏิบัติการหน้าที่ของตนผู้ถือสารทางทูตจะได้อุปโภคความละเมิดมิได้ส่วนบุคคลและต้องไม่ถูกจับกุมหรือกักขังในรูปใด

๖. รัฐผู้ส่งหรือคณะผู้แทนอาจแต่งตั้งผู้ถือสารทางทูตเฉพาะกรณีได้ในกรณีเช่นว่านี้ให้นำบทบัญญัติแห่งวรรค๕ของข้อนี้มาใช้ด้วยเว้นแต่ว่าความคุ้มกันที่ได้กล่าวไว้ในวรรคนั้นจะไม่ใช้เมื่อผู้ถือสารเช่นว่านี้ได้ส่งถุงทางทูตในหน้าที่ของตนให้แก่ผู้รับแล้ว

๗. ถุงทางทูตอาจจะมอบหมายไว้แก่ผู้บังคับการของเครื่องบินพาณิชย์ซึ่งได้กำหนดจะลงณท่าเข้าเมืองที่ได้รับอนุญาตแล้วได้ผู้บังคับการของเครื่องบินพาณิชย์จะได้รับเอกสารทางการแสดงจำนวนหีบห่อซึ่งรวมเป็นถุงแต่ไม่ให้ถือว่าผู้บังคับการของเครื่องบินพาณิชย์เป็นผู้ถือสารทางทูตคณะผู้แทนอาจส่งบุคคลหนึ่งในคณะผู้แทนไปรับมอบถุงทางทูตได้โดยตรงและโดยเสรีจากผู้บังคับการของเครื่องบิน

ข้อ ๒๘

ค่าธรรมเนียมและค่าภาระที่ได้เรียกเก็บโดยคณะผู้แทนตามวิถีของการปฏิบัติหน้าที่ทางการของคณะผู้แทนจะได้รับยกเว้นจากค่าติดพันและภาษีทั้งมวล

ข้อ ๒๙

ตัวบุคคลของตัวแทนทางทูตจะถูกละเมิดมิได้ตัวแทนทางทูตจะไม่ถูกจับกุมหรือกักขังในรูปใดรัฐผู้รับจะปฏิบัติต่อตัวแทนทางทูตด้วยความเคารพตามสมควรและจะดำเนินการที่เหมาะสมทั้งมวลที่จะป้องกันการประทุษร้ายใดๆต่อตัวบุคคลเสรีภาพหรือเกียรติของตัวแทนทางทูต

ข้อ ๓๐

๑. ที่อยู่ส่วนตัวของตัวแทนทางทูตจะได้อุปโภคความละเมิดมิได้และความคุ้มครองเช่นเดียวกับสถานที่ของคณะผู้แทน

๒. กระดาษเอกสารหนังสือโต้ตอบและยกเว้นตามที่ได้บัญญัติไว้ในวรรค๓ของข้อ๓๑ทรัพย์สินของตัวแทนทางทูตจะได้อุปโภคความละเมิดมิได้เช่นกัน

ข้อ ๓๑

๑. ตัวแทนทางทูตจะได้อุปโภคความคุ้มกันจากอำนาจศาลทางอาญาของรัฐผู้รับตัวแทนทางทูตจะได้อุปโภคความคุ้มกันจากอำนาจศาลทางแพ่งและทางปกครองของรัฐผู้รับด้วยเว้นแต่ในกรณีของ

(ก) การดำเนินคดีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ส่วนตัวที่ตั้งอยู่ในอาณาเขตของรัฐผู้รับนอกจากตัวแทนทางทูตครอบครองไว้ในนามของรัฐผู้ส่งเพื่อความมุ่งประสงค์ของคณะผู้แทน

(ข) การดำเนินคดีเกี่ยวกับการสืบมรดกซึ่งเกี่ยวพันถึงตัวแทนทางทูตในฐานะผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรมผู้จัดการมรดกโดยศาลตั้งทายาทหรือผู้รับมรดกในฐานะเอกชนและมิใช่ในนามของรัฐผู้ส่ง

(ค) การดำเนินคดีเกี่ยวกับกิจกรรมใดในทางวิชาชีพหรือพาณิชย์ซึ่งตัวแทนทางทูตได้กระทำในรัฐผู้รับนอกเหนือจากการหน้าที่ทางการของตน

๒. ตัวแทนทางทูตไม่จำต้องให้การในฐานะเป็นพยาน

๓. มาตรการบังคับคดีไม่อาจดำเนินได้ในส่วนที่เกี่ยวกับตัวแทนทางทูตเว้นแต่ในกรณีซึ่งอยู่ภายใต้อนุวรรค (ก) (ข) และ (ค) ของวรรค ๑ ของข้อนี้ และโดยมีเงื่อนไขว่ามาตรการที่เกี่ยวข้องอาจดำเนินไปได้โดยปราศจากการละเมิดต่อความละเมิดมิได้ในตัวบุคคลของตัวแทนทางทูตหรือที่อยู่ของตัวแทนทางทูต

๔. ความคุ้มกันของตัวแทนทางทูตจากอำนาจศาลของรัฐผู้รับไม่ยกเว้นตัวแทนทางทูตจากอำนาจศาลของรัฐผู้ส่ง

ข้อ ๓๒

๑. ความคุ้มกันจากอำนาจศาลของตัวแทนทางทูตและของบุคคลที่อุปโภคความคุ้มกันภายใต้ข้อ ๓๗ อาจสละได้โดยรัฐผู้ส่ง

๒. การสละต้องเป็นที่ชัดแจ้งเสมอ

๓. การริเริ่มคดีโดยตัวแทนทางทูตหรือโดยบุคคลที่อุปโภคความคุ้มกันจากอำนาจศาลภายใต้ข้อ ๓๗ จะตัดตัวแทนทางทูตหรือบุคคลนั้นจากการอ้างความคุ้มกันจากอำนาจศาลในส่วนที่เกี่ยวกับการฟ้องแย้งที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการฟ้องคดีนั้น

๔. การสละความคุ้มกันจากอำนาจศาลในส่วนที่เกี่ยวกับคดีแพ่งหรือคดีปกครองจะไม่ถือว่าเป็นการสละความคุ้มกันในส่วนที่เกี่ยวกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาซึ่งจำเป็นต้องมีการสละต่างหากอีก

ข้อ ๓๓

๑. ภายในบังคับของบทบัญญัติของวรรค๓ของข้อนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับบริการที่ได้ให้เพื่อรัฐผู้ส่งตัวแทนทางทูตจะได้รับการยกเว้นจากบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการประกันสังคมซึ่งอาจจะใช้บังคับอยู่ในรัฐผู้รับ

๒. การยกเว้นที่ได้บัญญัติไว้ในวรรค๑ของข้อนี้จะใช้แก่คนรับใช้ส่วนตัวซึ่งเป็นลูกจ้างแต่ถ่ายเดียวของตัวแทนทางทูตได้โดยมีเงื่อนไขว่า

(ก) คนรับใช้นั้นมิใช่เป็นคนชาติของรัฐผู้รับหรือเป็นบุคคลผู้มีถิ่นที่อยู่ถาวรในรัฐผู้รับและ

(ข) คนรับใช้นั้นอยู่ในบังคับของบทบัญญัติเกี่ยวกับการประกันสังคมซึ่งอาจจะใช้บังคับอยู่ในรัฐผู้ส่งหรือรัฐที่สาม

๓. ตัวแทนทางทูตซึ่งจ้างบุคคลที่การยกเว้นตามวรรค๒ของข้อนี้ไม่ใช้จะปฏิบัติตามข้อผูกพันซึ่งบทบัญญัติเกี่ยวกับการประกันสังคมของรัฐผู้รับตั้งบังคับแก่นายจ้าง

๔. การยกเว้นที่ได้บัญญัติไว้ในวรรค๑และ๒ของข้อนี้จะไม่ให้ตัดการเข้ามีส่วนร่วมโดยสมัครใจในระบบประกันสังคมของรัฐผู้รับหากว่ารัฐนั้นได้อนุญาตการเข้ามีส่วนร่วมเช่นว่านั้น

๕. บทบัญญัติของข้อนี้จะไม่กระทบกระเทือนถึงความตกลงสองฝ่ายหรือหลายฝ่ายเกี่ยวกับการประกันสังคมซึ่งได้ทำกันไว้ก่อนแล้วและจะไม่กีดกันการทำความตกลงเช่นว่านี้ในอนาคต

ข้อ ๓๔

ตัวแทนทางทูตจะได้รับยกเว้นจากค่าติดพันและภาษีทั้งปวงของชาติของท้องถิ่นหรือของเทศบาลในส่วนบุคคลหรือในทรัพย์สินเว้นแต่

(ก) ภาษีทางอ้อมชนิดที่ตามปกติรวมอยู่ในราคาของสินค้าหรือบริการแล้ว

(ข) ค่าติดพันและภาษีจากอสังหาริมทรัพย์ส่วนตัวซึ่งตั้งอยู่ในอาณาเขตของรัฐผู้รับนอกจากตัวแทนทางทูตครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นไว้ในนามของรัฐผู้ส่งเพื่อความมุ่งประสงค์ของคณะผู้แทน

(ค) อากรกองมรดกการสืบมรดกหรือการรับรองซึ่งรัฐผู้รับเรียกเก็บภายในบังคับแห่งบทของวรรค ๔ ของข้อ ๓๙

(ง) ค่าติดพันและภาษีจากเงินได้ส่วนตัวซึ่งมีแหล่งกำเนิดในรัฐผู้รับและภาษีเก็บจากเงินทุนซึ่งได้ลงทุนประกอบการพาณิชย์ในรัฐผู้รับ

(จ) ค่าภาระซึ่งเรียกเก็บสำหรับบริการจำเพาะที่ได้ให้

(ฉ) ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนค่าธรรมเนียมศาลหรือสำนวนความค่าติดพันในการจำนองและอากรแสตมป์ในส่วนที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติของข้อ ๒๓

ข้อ ๓๕

รัฐผู้รับจะยกเว้นตัวแทนทางทูตจากบริการส่วนบุคคลทั้งมวลจากบริการส่วนสาธารณะทั้งมวลไม่ว่าชนิดใดก็ตามและจากข้อผูกพันทางทหารเช่นที่เกี่ยวกับการเรียกเกณฑ์ส่วนบำรุงและการเรียกเอาที่อยู่เพื่อการทหาร

ข้อ ๓๖

๑. รัฐผู้รับจะอนุญาตให้นำเข้าและยกเว้นจากอากรศุลกากรภาษีและค่าภาระเกี่ยวข้องทั้งมวลนอกจากค่าภาระในการเก็บรักษาการขนส่งและบริการในทำนองเดียวกันตามกฎหมายและข้อบังคับซึ่งรัฐผู้รับอาจกำหนดไว้แก่

(ก) สิ่งของสำหรับใช้ในทางการของคณะผู้แทน

(ข) สิ่งของสำหรับใช้ส่วนบุคคลของตัวแทนทางทูตหรือคนในครอบครัวของตัวแทนทางทูตซึ่งประกอบเป็นส่วนของครัวเรือนของตัวแทนทางทูตรวมทั้งสิ่งของที่ได้เจตนาสำหรับการตั้งถิ่นฐานของตัวแทนทางทูตด้วย

๒. หีบห่อส่วนบุคคลของตัวแทนทางทูตจะได้รับยกเว้นจากการตรวจตรานอกจากมีมูลเหตุอันร้ายแรงที่ทำให้สันนิษฐานได้ว่าหีบห่อส่วนตัวนั้นบรรจุสิ่งของซึ่งไม่อยู่ในข่ายแห่งการยกเว้นที่ได้ระบุไว้ในวรรค ๑ ของข้อนี้หรือสิ่งของซึ่งการนำเข้าหรือส่งออกต้องห้ามตามกฎหมายหรือถูกควบคุมตามข้อบังคับว่าด้วยการกักตรวจโรคของรัฐผู้รับการตรวจตราเช่นว่านี้จะกระทำต่อหน้าตัวแทนทางทูตหรือต่อหน้าผู้แทนที่ได้รับมอบอำนาจของตัวแทนทางทูตเท่านั้น

ข้อ ๓๗

๑. คนในครอบครัวของตัวแทนทางทูตซึ่งประกอบเป็นส่วนของครัวเรือนของตัวแทนทางทูตถ้าไม่ใช่คนชาติของรัฐผู้รับจะได้อุปโภคเอกสิทธิและความคุ้มกันที่ได้ระบุไว้ในข้อ ๒๙ ถึง ๓๖

๒. บุคคลในคณะเจ้าหน้าที่ผ่ายธุรการและฝ่ายวิชาการของคณะผู้แทนรวมทั้งคนในครอบครัวของตนซึ่งประกอบเป็นส่วนของครัวเรือนของตนตามลำดับถ้าไม่ใช่คนชาติของรัฐผู้รับหรือมีถิ่นที่อยู่ถาวรในรัฐผู้รับจะได้อุปโภคเอกสิทธิและความคุ้มกันที่ได้ระบุไว้ในข้อ ๒๙ ถึง ๓๕ เว้นแต่ว่าความคุ้มกันจากอำนาจศาลทางแพ่งและทางปกครองของรัฐผู้รับที่ได้ระบุไว้ในวรรค๑ของข้อ๓๑นั้นไม่ขยายไปถึงการกระทำที่ได้ปฏิบัติไปนอกวิถีทางของหน้าที่ของตนบุคคลในคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรการและฝ่ายวิชาการจะได้อุปโภคเอกสิทธิที่ได้ระบุไว้ในข้อ ๓๖ วรรค ๑ ในส่วนที่เกี่ยวกับสิ่งของที่ได้นำเข้าเมื่อเข้ารับหน้าที่ครั้งแรกด้วย

๓. บุคคลในคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริการของคณะผู้แทนซึ่งไม่ใช่คนชาติของรัฐผู้รับหรือมีถิ่นที่อยู่ถาวรในรัฐผู้รับจะได้อุปโภคความคุ้มกันในส่วนที่เกี่ยวกับการกระทำที่ได้ปฏิบัติไปในวิถีทางของหน้าที่ของตนการยกเว้นจากค่าติดพันและภาษีสำหรับค่าบำเหน็จที่ตนได้รับโดยเหตุผลของการรับจ้างของตนและการยกเว้นที่ได้บรรจุไว้ในข้อ ๓๓

๔. คนรับใช้ส่วนตัวของบุคคลในคณะผู้แทนถ้าไม่ใช่คนชาติของรัฐผู้รับหรือมีถิ่นที่อยู่ถาวรในรัฐผู้รับจะได้รับยกเว้นจากค่าติดพันและภาษีสำหรับค่าบำเหน็จที่ตนได้รับโดยเหตุผลของการรับจ้างของตนในส่วนอื่นคนรับใช้ส่วนตัวเช่นว่านี้อาจได้อุปโภคเอกสิทธิและความคุ้มกันเท่าที่รัฐผู้รับยอมให้เท่านั้นอย่างไรก็ดีรัฐผู้รับต้องใช้อำนาจของตนเหนือบุคคลเช่นว่านี้ในทำนองเช่นที่จะไม่แทรกสอดโดยไม่สมควรในการปฏิบัติการหน้าที่ของคณะผู้แทน

ข้อ ๓๘

๑. เว้นแต่เท่าที่เอกสิทธิและความคุ้มกันเพิ่มเติมซึ่งรัฐผู้รับอาจจะให้ตัวแทนทางทูตซึ่งเป็นคนชาติของรัฐนั้นหรือมีถิ่นที่อยู่ถาวรในรัฐนั้นจะได้อุปโภคความคุ้มกันจากอำนาจศาลและความละเมิดมิได้ในส่วนที่เกี่ยวกับการกระทำในทางการที่ได้ปฏิบัติไปในการปฏิบัติหน้าที่ของตนเท่านั้น

๒. บุคคลอื่นในคณะเจ้าหน้าที่ของคณะผู้แทนและคนรับใช้ส่วนตัวซึ่งเป็นคนชาติของรัฐผู้รับหรือมีถิ่นที่อยู่ถาวรในรัฐผู้รับจะได้อุปโภคเอกสิทธิและความคุ้มกันเท่าที่รัฐผู้รับได้ยอมให้เท่านั้นอย่างไรก็ดีรัฐผู้รับต้องใช้อำนาจของตนเหนือบุคคลเช่นว่านี้ในทำนองเช่นที่จะไม่แทรกสอดโดยไม่สมควรในการปฏิบัติการหน้าที่ของคณะผู้แทน

ข้อ ๓๙

๑. บุคคลทุกคนที่มีสิทธิจะได้รับเอกสิทธิและความคุ้มกันจะได้อุปโภคเอกสิทธิและความคุ้มกันนั้นตั้งแต่ขณะที่บุคคลนั้นเข้ามาในอาณาเขตของรัฐผู้รับในการเดินทางไปรับตำแหน่งของตน หรือถ้าอยู่ในอาณาเขตของรัฐผู้รับแล้ว ตั้งแต่ที่ได้บอกกล่าวการแต่งตั้งของตนต่อกระทรวงการต่างประเทศ หรือต่อกระทรวงอื่นเช่นที่อาจจะตกลงกัน

๒. เมื่อการหน้าที่ของบุคคลซึ่งอุปโภคเอกสิทธิและความคุ้มกันยุติลง เอกสิทธิและความคุ้มกันเช่นว่า ตามปกติจะสิ้นสุดลงขณะที่บุคคลนั้นออกไปจากประเทศ หรือเมื่อสิ้นกำหนดระยะเวลาอันสมควรที่จะทำเช่นนั้น แต่จะยังมีเอกสิทธิและความคุ้มกันอยู่จนกระทั่งถึงเวลานั้น แม้ในกรณีของการขัดกันด้วยอาวุธ อย่างไรก็ดี ในส่วนที่เกี่ยวกับการกระทำที่ได้ปฏิบัติไปโดยบุคคลเช่นว่านั้น ในการปฏิบัติการหน้าที่ของตนในฐานะเป็นบุคคลในคณะผู้แทน ความคุ้มกันนั้นให้มีอยู่สืบไป

๓. ในกรณีการถึงแก่กรรมของบุคคลในคณะผู้แทน คนในครอบครัวของบุคคลในคณะผู้แทนจะได้อุปโภคเอกสิทธิและความคุ้มกันซึ่งเขามีสิทธิที่จะได้สืบไปจนกว่าจะสิ้นกำหนดระยะเวลาอันสมควรที่จะออกไปจากประเทศ

๔. ในกรณีการถึงแก่กรรมของบุคคลในคณะผู้แทนซึ่งไม่ใช่คนชาติของรัฐผู้รับหรือมีถิ่นที่อยู่ถาวรในรัฐผู้รับ หรือของคนในครอบครัวซึ่งประกอบเป็นส่วนของครัวเรือนของบุคคลในคณะผู้แทนดังกล่าว รัฐผู้รับจะอนุญาตให้ถอนสังหาริมทรัพย์ของผู้วายชนม์ไป ยกเว้นแต่ทรัพย์สินใดที่ได้มาในประเทศที่การส่งออกซึ่งทรัพย์สินนั้นเป็นอันต้องห้ามในเวลาที่บุคคลในคณะผู้แทนหรือคนในครอบครัวของบุคคลในคณะผู้แทนนั้นถึงแก่กรรม อากรกองมรดก การสืบมรดก และการรับมรดกนั้นจะไม่เรียกเก็บแก่สังหาริมทรัพย์ซึ่งอยู่ในรัฐผู้รับ เพราะการไปอยู่ ณ ที่นั้นแต่ถ่ายเดียวของผู้วายชนม์ในฐานะเป็นบุคคลในคณะผู้แทนหรือในฐานะเป็นคนในครอบครัวของบุคคลในคณะผู้แทน

ข้อ ๔๐

๑. ถ้าตัวแทนทางทูตเดินทางผ่าน หรืออยู่ในอาณาเขตของรัฐที่สามซึ่งได้ให้การตรวจลงตราหนังสือเดินทางแก่ตัวแทนทางทูตนั้น ถ้าการตรวจลงตราเช่นนั้นเป็นการจำเป็น ขณะเดินทางไปรับหรือกลับไปยังตำแหน่งของตน หรือเมื่อกำลังกลับไปยังประเทศของตน รัฐที่สามจะต้องอำนวยความละเมิดมิได้และความคุ้มกันอย่างอื่นเช่นที่อาจจำเป็นเพื่อประกันการผ่านหรือการกลับของตัวแทนทางทูตนั้น ความละเมิดมิได้และความคุ้มกันอย่างอื่นเช่นเดียวกันนี้จะใช้ในกรณีที่คนใดในครอบครัวของตัวแทนทางทูตซึ่งอุปโภคเอกสิทธิหรือความคุ้มกัน และซึ่งร่วมเดินทางไปกับตัวแทนทางทูต หรือเดินทางต่างหากเพื่อไปรวมกับตัวแทนทางทูตหรือเพื่อกลับไปยังประเทศของตนด้วย

๒. ในพฤติการณ์คล้ายคลึงกับที่ได้ระบุไว้ในวรรค ๑ ของข้อนี้ รัฐที่สามจะไม่ขัดขวางการเดินทางของบุคคลในคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรการและฝ่ายวิชาการ หรือฝ่ายบริหารของคณะผู้แทนและของคนในครอบครัวของบุคคลในคณะเจ้าหน้าที่เหล่านี้ ผ่านอาณาเขตของตน

๓. รัฐที่สามจะประสาทให้เสรีภาพและความคุ้มครองแก่หนังสือโต้ตอบทางการและการติดต่อทางการอย่างอื่นในการผ่าน รวมทั้งสารเป็นรหัสหรือตัวเลขรหัส เช่นเดียวกันกับที่รัฐผู้รับประสาทให้ รัฐที่สามจะประสาทให้ความละเมิดมิได้และความคุ้มครองแก่ผู้ถือสารทางทูตซึ่งได้รับการตรวจลงตราหนังสือเดินทาง ถ้าการตรวจลงตราเช่นนั้นเป็นการจำเป็น และแก่ถุงทางทูต ในการผ่านเช่นเดียวกันกับที่รัฐผู้รับมีพันธะที่จะต้องประสาทให้

๔. ข้อผูกพันของรัฐที่สามภายใต้วรรค ๑, ๒ และ ๓ ของข้อนี้ จะใช้แก่บุคคลที่ได้บ่งไว้ตามลำดับในวรรคเหล่านั้น และแก่การติดต่อทางการและถุงทางทูต ซึ่งปรากฏอยู่ในอาณาเขตของรัฐที่สามนั้นเพราะเหตุสุดวิสัยด้วย

ข้อ ๔๑

๑. โดยไม่กระทบกระเทือนต่อเอกสิทธิและความคุ้มกันของตนเป็นหน้าที่ของบุคคลทั้งมวล ซึ่งอุปโภคเอกสิทธิและความคุ้มกันเช่นว่านี้ที่จะเคารพกฎหมายและข้อบังคับของรัฐผู้รับ บุคคลเหล่านี้มีหน้าที่ที่จะไม่แทรกสอดในกิจการภายในของรัฐนั้นด้วย

๒. ธุรกิจในทางการทั้งมวลกับรัฐผู้รับ ซึ่งรัฐผู้ส่งได้มอบหมายแก่คณะผู้แทน จะกระทำกับหรือผ่าน กระทรวงการต่างประเทศของรัฐผู้รับ หรือกระทรวงอื่นเช่นที่อาจจะตกลงกัน

๓. สถานที่ของคณะผู้แทนต้องไม่ใช่ในลักษณะซึ่งไม่ต้องด้วยกับการหน้าที่ของคณะผู้แทนดังที่ได้กำหนดลงไว้ในอนุสัญญานี้ หรือโดยกฎเกณฑ์อื่นของกฎหมายระหว่างประเทศทั่วไป หรือโดยความตกลงพิเศษใดที่ใช้บังคับอยู่ระหว่างรัฐผู้ส่งกับรัฐผู้รับ

ข้อ ๔๒

ตัวแทนทางทูตจะต้องไม่ปฏิบัติกิจกรรมใดทางวิชาชีพหรือพาณิชย์เพื่อประโยชน์ส่วนตัวในรัฐผู้รับ

ข้อ ๔๓

นอกจากประการอื่นแล้ว การหน้าที่ของตัวแทนทางทูตยุติลง

(ก) เมื่อมีการบอกกล่าวโดยรัฐผู้ส่งไปยังรัฐผู้รับว่า การหน้าที่ของตัวแทนทางทูตได้ยุติลงแล้ว

(ข) เมื่อมีการบอกกล่าวโดยรัฐผู้รับไปยังรัฐผู้ส่งตามวรรค ๒ ของข้อ ๙ ว่า รัฐผู้รับปฏิเสธที่จะยอมรับตัวแทนทางทูตในฐานะเป็นบุคคลในคณะผู้แทน

ข้อ ๔๔

แม้ในกรณีการขัดกันด้วยอาวุธ รัฐผู้รับต้องอำนวยความสะดวกเพื่อให้บุคคลซึ่งอุปโภคเอกสิทธิและความคุ้มกันนอกจากคนชาติของรัฐผู้รับ และคนในครอบครัวของบุคคลเช่นว่านี้โดยไม่คำนึงถึงสัญชาติของบุคคลเหล่านั้นออกไปโดยเร็วที่สุดที่จะเป็นไปได้ รัฐผู้รับต้องจัดพาหนะในการขนส่งที่จำเป็นสำหรับตัวบุคคลเหล่านั้นและทรัพย์สินของบุคคลเหล่านั้นให้โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องการ

ข้อ ๔๕

ถ้าความสัมพันธ์ทางทูตระหว่างสองรัฐขาดลง หรือถ้าคณะผู้แทนถูกเรียกกลับเป็นการถาวรหรือชั่วคราว

(ก) แม้ในกรณีการขัดกันด้วยอาวุธ รัฐผู้รับต้องเคารพและคุ้มครองสถานที่ของคณะผู้แทนรวมทั้งทรัพย์สินและบรรณสารของคณะผู้แทนด้วย

(ข) รัฐผู้ส่งอาจมอบหมายการพิทักษ์สถานที่ของคณะผู้แทนรวมทั้งทรัพย์สินและบรรณสารของคณะผู้แทนแก่รัฐที่สามซึ่งเป็นที่ยอมรับได้แก่รัฐผู้รับก็ได้

(ค) รัฐผู้ส่งอาจมอบหมายการอารักขาผลประโยชน์ของตนและของคนชาติของตนแก่รัฐที่สามซึ่งเป็นที่ยอมรับได้แก่รัฐผู้รับก็ได้

ข้อ ๔๖

ด้วยความยินยอมล่วงหน้าของรัฐผู้รับและโดยคำขอร้องของรัฐที่สาม ซึ่งไม่มีผู้แทนอยู่ในรัฐผู้รับ รัฐผู้ส่งอาจรับให้การอารักขาชั่วคราวแก่ผลประโยชน์ของรัฐที่สาม และของคนชาติของรัฐที่สามก็ได้

ข้อ ๔๗

๑. ในการใช้บทบัญญัติของอนุสัญญานี้ รัฐผู้รับจะไม่เลือกปฏิบัติในระหว่างรัฐ

๒. อย่างไรก็ดี จะไม่ถือว่าได้มีการเลือกปฏิบัติ

(ก) เมื่อรัฐผู้รับใช้บทบัญญัติข้อใดข้อหนึ่งของอนุสัญญานี้อย่างกำกัด เพราะมีการใช้บทบัญญัติอย่างกำกัดแก่คณะผู้แทนของตนในรัฐผู้ส่ง

(ข) เมื่อตามประเพณี หรือความตกลง รัฐทั้งหลายขยายให้แก่กันและกันซึ่งผลปฏิบัติที่เป็นการอนุเคราะห์มากกว่าที่จำต้องให้ตามบทบัญญัติของอนุสัญญานี้

ข้อ ๔๘

อนุสัญญานี้จะเปิดให้มีการลงนามโดยรัฐสมาชิกทั้งปวงของสหประชาชาติหรือของทบวงการชำนัญพิเศษใด หรือโดยภาคีใดของธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ และโดยรัฐอื่นใดที่สมัชชาสหประชาติเชิญให้เข้าเป็นภาคีแห่งอนุสัญญา ดังต่อไปนี้: จนถึงวันที่ ๓๑ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๖๑ (พ.ศ. ๒๕๐๔) ณ กระทรวงการต่างประเทศของสหพันธ์ออสเตรีย และต่อไปจนถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๖๒ (พ.ศ. ๒๕๐๕) ณ สำนักงานใหญ่ของสหประชาชาติในนครนิวยอร์ก

ข้อ ๔๙

อนุสัญญานี้จะต้องได้รับการสัตยาบัน สัตยาบันสารจะมอบไว้กับเลขาธิการสหประชาชาติ

ข้อ ๕๐

อนุสัญญานี้จะยังคงเปิดให้มีการภาคยานุวัติโดยรัฐใดที่อยู่ในประเภทหนึ่งใดในสี่ประเภทที่ได้กล่าวไว้ในข้อ ๔๘ ภาคยานุวัติสารจะมอบไว้กับเลขาธิการสหประชาชาติ

ข้อ ๕๑

๑. อนุสัญญานี้จะเริ่มใช้บังคับในวันที่สามสิบต่อจากวันมอบสัตยาบันสาร หรือภาคยานุวัติสาร ฉบับที่ยี่สิบสอง ไว้กับเลขาธิการสหประชาชาติ

๒. สำหรับแต่ละรัฐที่ให้สัตยาบันหรือภาคยานุวัติแก่อนุสัญญานี้หลังจากการมอบสัตยาบันสาร หรือภาคยานุวัติสาร ฉบับที่ยี่สิบสองแล้ว อนุสัญญานี้จะเริ่มใช้บังคับในวันที่สามสิบหลังจากการมอบสัตยาบันสารหรือภาคยานุวัติสาร โดยรัฐเช่นว่านั้น

ข้อ ๕๒

เลขาธิการสหประชาชาติจะแจ้งให้รัฐทั้งมวลที่อยู่ในประเภทหนึ่งใดในสี่ประเภทที่ได้บ่งไว้ในข้อ ๔๘ ทราบถึง

(ก) การลงนามอนุสัญญานี้ และการมอบสัตยาบันสารหรือภาคยานุวัติสาร ตามข้อ ๔๘, ๔๙ และ ๕๐

(ข) วันที่อนุสัญญานี้จะเริ่มใช้บังคับ ตามข้อ ๕๑

ข้อ ๕๓

ต้นฉบับของอนุสัญญานี้ ซึ่งตัวบทภาษาจีน ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษารัสเซีย และภาษาสเปน เป็นหลักฐานเท่าเทียมกันนั้น จะมอบไว้กับเลขาธิการสหประชาชาติ ผู้ซึ่งจะส่งสำเนาอนุสัญญาดังกล่าวที่ได้รับรองแล้วไปให้รัฐทั้งมวลที่อยู่ในประเภทหนึ่งใดในสี่ประเภทที่ได้บ่งไว้ในข้อ ๔๘

เพื่อเป็นพยานแก่การนี้ ผู้มีอำนาจเต็มที่ลงนามข้างท้ายนี้ซึ่งได้รับมอบอำนาจโดยถูกต้องเพื่อการนี้จากรัฐบาลของตนแต่ละฝ่าย ได้ลงนามอนุสัญญานี้

ทำ ณ กรุงเวียนนา เมื่อวันที่สิบแปด เมษายน คริสตศักราชหนึ่งพันเก้าร้อยหกสิบเอ็ด (พ.ศ. ๒๕๐๔)

บรรณานุกรม แก้ไข

 

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (5) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"