ระเบียบกระทรวงยุติธรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการประหารชีวิตนักโทษ พ.ศ. 2546

ระเบียบกระทรวงยุติธรรม
ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการประหารชีวิตนักโทษ
พ.ศ. ๒๕๔๖

ตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ ๑๘๐๗/๒๔๗๘ ลงวันที่ ๑๙ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๘ ได้วางระเบียบการประหารชีวิตนักโทษโดยการยิงด้วยปืนตามนัยมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา พุทธศักราช ๒๔๗๗ นั้น

โดยที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๑๖) พ.ศ. ๒๕๔๖ ได้แก้ไขมาตรา ๑๙ เปลี่ยนวิธีการประหารชีวิตจากการเอาไปยิงเสียให้ตายเป็นให้ฉีดยาหรือสารพิษให้ตาย ประกอบกับพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวงทบวงกรม พ.ศ. ๒๕๔๕ กำหนดให้กรมราชทัณฑ์อยู่ในสังกัดกระทรวงยุติธรรม และพระราชกฤษฎีกาโอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงระทรวงทบวงกรม พ.ศ. ๒๕๔๕ พ.ศ. ๒๕๔๕ ให้โอนอำนาจหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ กระทรวงมหาดไทย ไปเป็นของกรมราชทัณฑ์กระทรวงยุติธรรม ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการประหารชีวิตนักโทษด้วยวิธีการฉีดยาหรือสารพิษดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย อาศัยอำนาจตามความในวรรคสองของมาตรา ๑๙ แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๑๖) พ.ศ. ๒๕๔๖ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมจึงวางระเบียบการประหารชีวิตไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ  ระเบียบเรียกว่า "ระเบียบกระทรวงยุติธรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการประหารชีวิตนักโทษ พ.ศ. ๒๕๔๖"

ข้อ  ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๔๖ เป็นต้นไป

ข้อ  ให้ยกเลิกคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ ๑๘๐๗/๒๔๗๘ ลงวันที่ ๑๙ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๘ เรื่อง ระเบียบการประหารชีวิตนักโทษ และบรรดาระเบียบหรือหนังสือสั่งการที่ขัดหรือแย้งกับระเบียบฉบับนี้ โดยให้ใช้ระเบียบฉบับนี้แทน

ข้อ  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้รักษาการตามระเบียบนี้

ข้อ  เมื่อศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้ประหารชีวิตจำเลย และจำเลยนั้นถูกคุมขังหรือถูกส่งตัวเข้าคุมขังในเรือนจำ ให้เรือนจำถ่ายรูปจำเลยนั้นไว้ ๖ ชุด ชุดหนึ่งประกอบด้วยรูปครึ่งตัวหน้าตรงและรูปด้านข้างทั้งสองข้างขนาดรูปละ ๔″ × ๖″ ติดไว้ในกระดาษแผ่นเดียวกัน และระบุชื่อ-สกุล, ฐานความผิด, หมายเลขคดีแดง, ศาลที่พิพากษา และวันเดือนปีที่ถ่ายรูป และเจ้าพนักงานเรือนจำลงนามรับรองไว้ที่ด้านหน้ารูปทุกรูป และจัดทำแผ่นพิมพ์ลายนิ้วมือทั้งสองข้างของจำเลยไว้ ๓ แผ่น รวมทั้งจัดทำบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับตำหนิรูปพรรณของจำเลยไว้ ๑ ฉบับ แล้วให้ส่งรูปถ่ายไปที่กองทะเบียนประวัติอาชญากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และพนักงานสอบสวนเจ้าของคดี แห่งละ ๑ ชุด พร้อมแผ่นพิมพ์ลายนิ้วมือทั้งสองข้างแห่งละ ๑ แผ่น ส่งรูปถ่ายให้ศาลชั้นต้น ๒ ชุด กรมราชทัณฑ์ ๑ ชุด นอกนั้นให้เก็บไว้ที่เรือนจำเพื่อการตรวจสอบ

เมื่อจำเลยต้องคำพิพากษาคดีถึงที่สุดให้ประหารชีวิตและถูกคุมขังหรือถูกส่งตัวเข้าคุมขังในเรือนจำ ให้เรือนจำดำเนินการถ่ายรูป จัดทำแผ่นพิมพ์ลายนิ้วมือ และบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับตำหนิรูปพรรณของจำเลยเช่นเดียวกับวรรคก่อน แต่ให้ระบุรายละเอียดเพิ่มเกี่ยวกับวันที่คดีถึงที่สุดและชั้นศาล เพื่อการตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง โดยให้จัดเก็บรูปถ่าย แผ่นพิมพ์ลายนิ้วมือ บันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับตำหนิรูปพรรณไว้ที่เรือนจำ ๑ ชุด นอกนั้นให้จัดส่งไปกรมราชทัณฑ์เพื่อจะได้ส่งต่อไปยังหน่วยงานตามวรรคหนึ่งตรวจสอบยืนยันตัวบุคคลว่า เป็นจำเลยในคดีที่ต้องคำพิพากษาให้ประหารชีวิตหรือไม่ โดยให้ผู้พิพากษาซึ่งนั่งพิจารณาคดีนั้น พนักงานสอบสวนเจ้าของคดี และกองทะเบียนประวัติอาชญากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แจ้งผลการตรวจสอบไปที่กรมราชทัณฑ์

ผลการตรวจสอบรูปถ่ายและลายพิมพ์นิ้วมือ ให้เก็บรักษาไว้ที่กรมราชทัณฑ์

ข้อ  ให้เรือนจำจัดให้มีการตรวจสุขภาพจิตของจำเลยที่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ประหารชีวิตทุกราย หากเป็นหญิง ให้เพิ่มการตรวจการตั้งครรภ์ด้วย และให้แจ้งสิทธิการถวายเรื่องราวขอพระราชทานอภัยโทษให้จำเลยทราบ และสอบถามว่า มีความประสงค์จะใช้สิทธิถวายเรื่องราวขอพระราชทานอภัยโทษหรือไม่ ถ้าประสงค์จะใช้สิทธิดังกล่าว ให้เรือนจำช่วยเป็นธุระจัดการไปตามสมควร

ไม่ว่านักโทษจะถวายเรื่องราวขอพระราชทานอภัยโทษภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ก็ตาม ให้เรือนจำรายงานไปกรมราชทัณฑ์โดยด่วน

ข้อ  ในการประหารชีวิตนักโทษนั้น ให้มีคณะกรรมการเป็นผู้ดำเนินการชุดหนึ่ง ประกอบด้วย ผู้บัญชาการเรือนจำแห่งท้องที่ที่จะทำการประหารชีวิตนักโทษเป็นประธาน มีผู้ว่าราชการจังหวัดแห่งท้องที่หรือผู้แทน อัยการจังหวัดแห่งท้องที่หรือผู้แทน และเจ้าพนักงานเรือนจำตำแหน่งตั้งแต่พัศดีขึ้นไปแห่งเรือนจำท้องที่ที่ประหารชีวิตนักโทษ ๑ คน ร่วมเป็นคณะกรรมการ และในการนี้ ให้มีผู้แทนกรมราชทัณฑ์และผู้กำกับการสถานีตำรวจแห่งท้องที่หรือผู้แทนร่วมเป็นสักขีพยาน

เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการที่จะตรวจตราระวังให้การประหารชีวิตนักโทษดำเนินการไปตามกฎหมายและระเบียบแบบแผน

ข้อ  เมื่อจะต้องทำการประหารชีวิตนักโทษรายใด ให้กรมราชทัณฑ์แจ้งให้เรือนจำทราบพร้อมส่งผลการตรวจสอบรูปถ่ายและลายพิมพ์นิ้วมือที่เก็บรักษาไว้ไปด้วย การประหารชีวิตจะทำในวันเวลาใด ให้เรือนจำเป็นผู้กำหนด และให้แจ้งคณะกรรมการและสักขีพยานตามข้อ ๗ และกองทะเบียนประวัติอาชญากรตามข้อ ๙ ทราบ แต่ทั้งนี้ ให้งดทำการประหารชีวิตในวันหยุดราชการ วันหยุดนักขัตฤกษ์ วันพระ กับวันสำคัญทางศาสนาของนักโทษผู้ที่จะถูกประหารชีวิตนั้น

ข้อ  ก่อนทำการประหารชีวิต ให้ประธานพร้อมด้วยคณะกรรมการตามข้อ ๗ ตรวจสอบผลการตรวจรูปถ่ายและลายพิมพ์นิ้วมือที่กรมราชทัณฑ์ส่งไปกับที่ทางเรือนจำได้เก็บรักษาไว้ตามข้อ ๕ โดยถือเอาผลการตรวจสอบลายพิมพ์นิ้วมือเป็นสำคัญ แต่ให้นำผลการตรวจสอบรูปถ่ายเป็นข้อมูลประกอบด้วย

การประหารชีวิตนักโทษ ณ เรือนจำที่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครหรือจังหวัดปริมณฑล ให้กองทะเบียนประวัติอาชญากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดเจ้าหน้าที่ไปทำการพิมพ์ลายนิ้วมือของนักโทษในขณะ ก่อน และหลังการประหารชีวิต โดยพิมพ์ลายนิ้วมือเป็น ๓ ชุด เพื่อตรวจสอบกับลายพิมพ์นิ้วมือนักโทษประหารชีวิตของกองทะเบียนประวัติอาชญากรต่อหน้าคณะกรรมการ เมื่อตรวจสอบถูกต้องแล้ว ให้คณะกรรมการและเจ้าหน้าที่กองทะเบียนประวัติอาชญากรลงนามกำกับในแผ่นพิมพ์ลายนิ้วมือ หากทำการประหารชีวิต ณ เรือนจำในท้องที่จังหวัดอื่น ให้เป็นหน้าที่ของตำรวจภูธรในจังหวัดนั้นจัดเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญการตรวจสอบลายพิมพ์นิ้วมือไปดำเนินการในทำนองเดียวกัน

ภายหลังการประหารชีวิต ให้เก็บลายพิมพ์นิ้วมือดังกล่าวไว้ที่เรือนจำ กรมราชทัณฑ์ และกองทะเบียนประวัติอาชญากร แห่งละ ๑ ชุด

อนึ่ง ก่อนนำตัวไปประหารชีวิต ให้ผู้บัญชาการเรือนจำที่จะทำการประหารชีวิตนักโทษนำเอกสารอันเกี่ยวข้องกับผลการขอพระราชทานอภัยโทษไปอ่านให้นักโทษผู้นั้นฟัง

ข้อ ๑๐ ให้เรือนจำสอบถามนักโทษที่จะถูกประหารชีวิตถึงการจัดการทรัพย์สิน ถ้าหากนักโทษแสดงเจตนาที่จะจัดการทรัพย์สินของตน ก็ให้แสดงเจตนาไว้เป็นลายลักษณ์อักษร

กรณีนักโทษเขียนหนังสือไม่ได้ ให้เจ้าพนักงานเรือนจำเป็นผู้เขียนให้ แล้วอ่านให้นักโทษผู้นั้นฟัง แล้วให้ลงลายมือชื่อหรือลายพิมพ์นิ้วมือไว้เป็นหลักฐาน โดยมีพยานอย่างน้อยสองคนลงชื่อรับรองลายมือชื่อหรือลายพิมพ์นิ้วมือนั้น

หากนักโทษมีความประสงค์จะเขียนจดหมาย หรือส่งข้อความบอกกล่าว หรือจะโทรศัพท์พูดกับญาติหรือผู้ใด หรือมีความประสงค์จะทำสิ่งใด ซึ่งเจ้าพนักงานเรือนจำพิจาณาแล้วเห็นสมควร ก็ให้เรือนจำอำนวยความสะดวกให้ แต่การส่งข้อความหรือการพูดคุยโทรศัพท์สามารถกระทำได้ตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร ทั้งนี้ ให้เรือนจำจัดเตรียมโทรศัพท์หรือเครื่องมือสื่อสารไว้เป็นการเฉพาะ

ให้เรือนจำสอบถามนักโทษถึงอาหารมื้อสุดท้าย และหากไม่เป็นการเหลือวิสัย ให้เรือนจำจัดให้ตามสมควรและเหมาะสม

ข้อ ๑๑ ก่อนจะนำตัวไปประหารชีวิต ให้นักโทษได้มีโอกาสประกอบพิธีกรรมทางศาสนาหรือลัทธิตามความเชื่อของตนในเวลาที่พอเหมาะ

ข้อ ๑๒ ให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์ โดยความเห็นชอบของกระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศกำหนดชนิด ประเภท และปริมาณของยาหรือสารพิษที่จะใช้ในการประหารชีวิต และให้จัดเก็บยาหรือสารพิษที่จะใช้ไว้ที่โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลของกรมราชทัณฑ์

ข้อ ๑๓ เมื่อจะทำการประหารชีวิตนักโทษในวันใด ให้เรือนจำจัดเจ้าพนักงานเรือนจำไม่น้อยกว่า ๓ คนไปรับยาหรือสารพิษที่กำหนดในข้อ ๑๒ จากโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลของกรมราชทัณฑ์ โดยต้องมีหัวหน้าเจ้าพนักงานเรือนจำเป็นข้าราชการไม่ต่ำกว่าระดับ ๗ ทั้งนี้ อุปกรณ์บรรจุยาหรือสารพิษ ให้เรือนจำเป็นผู้จัดหา และให้เภสัชกรของโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลของกรมราชทัณฑ์บรรจุยาหรือสารพิษลงในอุปกรณ์ดังกล่าว แล้วให้ผนึกอุปกรณ์ให้แน่นหนา และลงชื่อกำกับโดยชัดเจน

การเปิดผนึกอุปกรณ์บรรจุยาหรือสารพิษ จะต้องทำต่อหน้าคณะกรรมการตามข้อ ๗ และให้หัวหน้าเจ้าพนักงานเรือนจำผู้ไปรับยาหรือสารพิษและคณะกรรมการลงชื่อรับรองความเรียบร้อยไว้เป็นหลักฐาน

ข้อ ๑๔ ให้เรือนจำจัดเตรียมสถานที่สำหรับการประหารชีวิต และจัดหาอุปกรณ์ที่จะใช้ในการฉีดยาหรือสารพิษเข้าสู่ร่างกายของนักโทษที่จะถูกประหารไว้ให้พร้อม รวมถึงเจ้าพนักงานเรือนจำผู้ทำการฉีดยาหรือสารพิษไม่น้อยกว่า ๒ คน

ข้อ ๑๕ สถานที่สำหรับทำการประหารชีวิตนักโทษ ประกอบด้วย ห้องสำหรับควบคุมนักโทษก่อนทำการประหาร ห้องทำการประหาร ห้องเตรียมตัวของเจ้าพนักงานรวมถึงวัสดุ อุปกรณ์ที่ใช้ในการประหาร ห้องคณะกรรมการกับสักขีพยาน และห้องประกอบพิธีทางศาสนา

ข้อ ๑๖ เมื่อถึงเวลาประหารชีวิตนักโทษ ให้เรือนจำจัดพนักงานเรือนจำรักษาความปลอดภัยและระวังเหตุให้อยู่ในความเรียบร้อยตามสมควร แล้วนำนักโทษที่จะทำการประหารชีวิตไปยังสถานที่ซึ่งได้เตรียมไว้ และดำเนินการดังนี้

(๑) นำตัวนักโทษที่จะทำการประหารชีวิตให้นอนลงบนเตียงที่จัดเตรียมไว้เพื่อการประหารชีวิต พร้อมทั้งทำการพันธนาการป้องกันมิให้นักโทษดิ้นรนขัดขืน

(๒) ให้เจ้าพนักงานเรือนจำซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยคำสั่งของผู้บัญชาการเรือนจำจัดเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการไว้ให้พร้อม และทำการแทงเข็มสำหรับฉีดยาหรือสารพิษเข้าเส้นเลือดในร่างกายของนักโทษที่จะถูกประหารรอไว้ โดยต่อเข้ากับสายท่อหรืออุปกรณ์บรรจุยาหรือสารพิษที่จะปล่อยเข้าสู่ร่างกายของนักโทษที่จะถูกประหาร พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องตรวจวัดสัญญาณการเต้นของหัวใจเข้ากับร่างกายนักโทษที่จะถูกประหาร หันจอแสดงให้คณะกรรมการและสักขีพยานได้สังเกตเห็นโดยชัดเจน

(๓) เมื่อการดำเนินการตามข้อ (๒) เสร็จเรียบร้อย และได้รับสัญญาณให้ทำการประหารชีวิต ให้เจ้าพนักงานเรือนจำผู้ทำการฉีดยาหรือสารพิษจัดการปล่อยหรือฉีดยาหรือสารพิษเข้าสู่ร่างกายของนักโทษประหารให้ตายเสียต่อหน้าคณะกรรมการและสักขีพยาน

(๔) ให้แพทย์ประจำเรือนจำที่ทำการประหารชีวิตนักโทษหรือแพทย์ของทางราชการ ๑ คน ร่วมกับคณะกรรมการตามข้อ ๗ ตรวจพิสูจน์การตายของนักโทษ โดยให้แพทย์และคณะกรรมการทำบันทึกยืนยันการตายของนักโทษที่ถูกประหารชีวิต และประกาศผลการประหารชีวิตให้สักขีพยานทราบในวันนั้น

ข้อ ๑๗ การถ่ายภาพหรือบันทึกให้ปรากฏด้วยแถบเสียง แถบภาพ หรือด้วยวิธีอื่นที่จะเกิดผลในทำนองเดียวกันต่อนักโทษที่จะถูกประหาร สถานที่ประหารชีวิต และวิธีการประหารชีวิตนั้น จะกระทำมิได้ เว้นแต่เป็นการดำเนินการในทางราชการ

ข้อ ๑๘ ให้เรือนจำจัดเก็บศพของนักโทษที่ถูกประหารชีวิตไว้ในเรือนจำเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า ๑๒ ชั่วโมง เมื่อล่วงเลยระยะเวลาดังกล่าวแล้ว ให้แพทย์ของทางราชการร่วมกับผู้บัญชาการเรือนจำตรวจสอบโดยทำบันทึกยืนยันการตายอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อนักโทษเสียชีวิตแล้ว ให้เรือนจำแจ้งญาติทราบในโอกาสแรก หากมีญาติมาขอรับ ให้มอบศพนั้นไป แต่ถ้าไม่มีญาติมาขอรับ ก็ให้จัดการเผาหรือฝังตามที่เรือนจำจะเห็นสมควรต่อไป

ข้อ ๑๙ ให้เรือนจำรายงานผลการดำเนินการประหารชีวิต พร้อมบันทึกของแพทย์และคณะกรรมการยืนยันผลการตรวจพิสูจน์การตาย ตามข้อ ๑๖ (๔) และผลการตรวจสอบยืนยันภายหลังการตายตามข้อ ๑๘ ให้กระทรวงยุติธรรมทราบโดยเร็ว

  • ประกาศ ณ วันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖
  • พงศ์เทพ เทพกาญจนา
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

บรรณานุกรม แก้ไข

 

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (3) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"