หน้า:กฎบัตรสหประชาชาติ.pdf/8

หน้านี้ยังไม่ได้พิสูจน์อักษร
วิธีดําเนินการประชุม
มาตรา ๒๘

๑. คณะมนตรีความมั่นคง จักก่อตั้งขึ้นในลักษณะที่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้โดยต่อเนื่องเรื่อยไป เพื่อความมุ่งหมายข้อนี้ จึงให้สมาชิกแห่งคณะมนตรีความมั่นคง มีผู้แทนประจําอยู่ทุกเวลา ณ ที่ตั้งขององค์การ

๒. คณะมนตรีความมั่นคง จะประชุมกันเป็นครั้งคราว ซึ่งเมื่อปรารถนาสมาชิกแต่ละประเทศก็อาจให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลหรือผู้อื่นที่ได้กําหนดตัวเป็นพิเศษ เป็นผู้แทนของตนเข้าร่วมประชุมได้

๓. คณะมนตรีความมั่นคง อาจประชุม ณ สถานที่อื่น นอกไปจากที่ตั้งแห่งองค์การ หากวินิจฉัยเห็นว่าจะทําความสะดวกแก่การงานให้ดีที่สุด

มาตรา ๒๙

คณะมนตรีความมั่นคง อาจสถาปนาองค์กรย่อยเช่ที่เห็นจําเป็นสําหรับการปฏิบัติหน้าที่ของตน

มาตรา ๓๐

คณะมนตรีความมั่นคงจักรับเอาข้อบังคับระเบียบการประชุมของตนเองรวมทั้งวิธีเลือกตั้งประธาน

มาตรา ๓๑

สมาชิกใดๆ ของสหประชาชาติซึ่งมิได้เป็นสมาชิกของคณะมนตรีความมั่นคง อาจร่วมในการอภิปรายปัญหาใดๆ ที่นํามาสู่คณะมนตรีความมั่นคงได้ โดยไม่มีคะแนนเสียง ในเมื่อคณะมนตรีความมั่นคงพิจารณาเห็นว่า ผลประโยชน์ของสมาชิกนั้นได้รับความกระทบกระเทือนเป็นพิเศษ

มาตรา ๓๒

สมาชิกใดๆ ของสหประชาชาติซึ่งมิใช่สมาชิกของคณะมนตรีความมั่นคง หรือรัฐใดๆ ที่มิใช่สมาชิกของสหประชาชาติ หากตกเป็นฝ่าย ในกรณีพิพาทซึ่งอยู่ในการพิจารณาของคณะมนตรีความมั่นคง จักพึงได้รับเชิญให้เข้าร่วมการอภิปรายเกี่ยวกับกรณีพิพาทนั้นด้วย โดยไม่มีคะแนนเสียง คณะมนตรีความมั่นคงจักกําหนดเงื่อนไขเช่นที่เห็นเป็นการยุติธรรม สําหรับการเข้าร่วมของรัฐที่มิใช่สมาชิกของสหประชาชาติ

หมวดที่ ๖
การระงับข้อพิพาทโดยสันติวิธี
มาตรา ๓๓

๑. ผู้เป็นฝ่ายในกรณีพิพาทใดๆ ซึ่งหากดําเนินอยู่ต่อไป น่าจะเป็นอันตรายแก่การธํารงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ก่อนอื่นจักต้องแสวงหาการแก้ไขโดยการเจรจาการไต่สวน การไกล่เกลี่ย การประนีประนอม อนุญาโตตุลาการ การระงับโดยทางศาล การหันเข้าอาศัยทบวงการตัวแทน หรือการตกลงส่วนภูมิภาค หรือสันติวิธีประการอื่นใดที่คู่กรณีจะพึงเลือก

๒. เมื่อเห็นว่าจําเป็น คณะมนตรีความมั่นคงจักเรียกร้องให้คู่พิพาทระงับกรณีพิพาทของตนโดยวิธีเช่นว่านั้น