คดีซึ่งได้ใช้อยู่แล้วในมณฑลฝ่ายเหนือโดยสัญญาปี ค.ศ. ๑๘๘๓ นั้น ให้ขยายออกใช้ถึงคนในบังคับอังกฤษทุกคนที่ได้จดทะเบียนไว้ที่สถานกงสุลอังกฤษก่อนวันที่ ๑๐ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๐๙ (คือวันลงนามในสัญญานั้น) ส่วนคนอังกฤษทุกคนที่จดทะเบียนภายหลังสัญญา จะต้องขึ้นศาลไทยธรร⟨ม⟩ดา และสิทธิถอนคดีนั้นยังคงมีอยู่จนกว่ากรุงสยามจะได้ใช้ประมวลกฎหมายครบถ้วนแล้ว[1] อนึ่ง ตามมาตรา ๔ แห่งโปรโตคลท้ายสัญญาฉะบับนี้ ได้ตกลงกันว่า แต่ในคดีทุกคดี จะเป็นในศาลต่างประเทศก็ดี หรือศาลไทยธรรมดาก็ดี ซึ่งคนในบังคับอังกฤษเป็นจำเลยหรือผู้ต้องหาแล้ว จะต้องมีที่ปรึกษากฎหมายชาวยุโรปนั่งพิจารณาในศาลชั้นต้นหนึ่งนาย ในคดีที่ชนชาติอังกฤษหรือคนในบังคับอังกฤษที่ไม่ใช่เชื้อสายชาวเอเซียเป็นคู่ความ จะต้องมีที่ปรึกษาชาวยุโรปนั่งในฐานะเป็นผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นหนึ่งนาย และถ้าคนในบังคับประเภทนี้เป็นจำเลยหรือผู้ต้องหาแล้ว คำพิพากษานั้นต้องเป็นไปตามความเห็นของที่ปรึกษาผู้นั้น ที่ปรึกษาชาวยุโรปเหล่านี้เป็นข้าราชการของสยาม ซึ่งแปลว่า อยู่ในความบังคับบัญชาของรัฐบาลสยามทุกสิ่งทุกประการ สัญญาฉะบับนี้เรียกได้ว่า อังกฤษยอมสละสิทธิพิเศษให้แก่กรุงสยามบ้าง แต่ประเทศสยามก็ได้สละสิทธิบางอย่างเช่นเดียวกับสัญญาฝรั่งเศส คือ ๑–ตั้งแต่วันทำสัญญานี้เป็นต้นไป ประทเศสยามต้องจ้างที่ปรึกษาชาวยุโรป (โดยมากเป็นชาวฝรั่งเศสและอังกฤษ) เข้ามานั่งประจำในศาลไทย ในกรณีที่คนในบังคับอังกฤษเป็นจำเลยหรือคนในบังคับอังกฤษที่ไม่ใช่เชื้อสายเอเซียเป็นคู่ความ ๒–คนในบังคับอังกฤษจะต้องเริ่มมีเอกสิทธิทั่วไปในพระราชอาณาจักร์สยามเช่นเดียวกับคนพื้นเมือง มีอาทิ สิทธิในทรัพย์สิน สิทธิในการอาศัยและเดินทาง[2] ๓–“รัฐบาลสยามยอมโอนให้แก่รัฐบาลอังกฤษ บันดาอำนาจชอบธรรมฐานที่เป็นเจ้าใหญ่ปกครองป้องกันและบังคับบัญชา อันมีอยู่เหนือเมืองกลันตัน เมืองตรังกานู เมืองไทรบุรี เมืองปริศ และเกาะที่ใกล้เคียงเมืองเหล่านั้น”[3]
หน้า:การสิ้นสุดสภาพนอกอาณาเขต - ดิเรก ชัยนาม - ๒๔๗๙.pdf/22
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๑๘