หน้า:ข้อกำหนดตาม ม ๙ (ฉ ๒๕, ๒๕๖๔-๐๖-๒๖).pdf/1

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

เล่ม ๑๓๘ ตอนพิเศษ ๑๔๐ ง

๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๓
หน้า ๑
ราชกิจจานุเบกษา

ข้อกำหนด
ออกตามความในมาตรา ๙
แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘
(ฉบับที่ ๒๕)

ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปเป็นระยะอย่างต่อเนื่องจนถึงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ นั้น

โดยที่ปัจจุบันสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด - 19 โดยเฉพาะในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลอยู่ในความเสียงต่อการเกิดภาวะวิกฤติด้านสาธารณสุข เห็นได้จากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่มีจำนวนมากกว่าหลายพันรายต่อวันและมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากไม่เร่งจัดการอาจกระทบต่อระบบบริการทางสาธารณสุขไม่ว่าจะเป็นบุคลากรทางการแพทย์ เตียงผู้ป่วย เครื่องช่วยหายใจและอุปกรณ์การแพทย์ที่รองรับผู้ป่วยอาการหนักหรือผู้ป่วยภาวะฉุกเฉินซึ่งมีอยู่จำกัด ประกอบกับพบการระบาดเกิดขึ้น อันเป็นผลจากการตรวจคัดกรองเชิงรุกเพื่อค้นหาและสกัดกั้นการระบาดแบบกลุ่มก้อน ทำให้พบกลุ่มผู้ติดเชื้อกระจายอยู่โดยรอบพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นในที่พักแรงงานก่อสร้าง สถานประกอบการ โรงงาน ตลาดและแหล่งชุมชน อีกทั้งพบกลุ่มผู้ติดเชื้อในสถานสงเคราะห์เด็กอ่อนและในบ้านพักคนชราที่เป็นกลุ่มเสี่ยง นอกจากนี้ จากการตรวจคัดกรองเชิงรุกพบการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด - 19 กลายพันธุ์ชนิดสายพันธุ์เบตาที่ทำให้ป่วยรุนแรงและมีความเสี่ยงต่อชีวิตในอัตราสูงในพื้นที่สี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศ ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลโดยข้อเสนอแนะของฝ่ายสาธารณสุข ประกอบกับความเห็นของคณะที่ปรึกษาด้านการสาธารณสุขในศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 จึงจำเป็นต้องกำหนดพื้นที่เป้าหมายเฉพาะและบังคับใช้มาตรการควบคุมที่จำเป็นเพื่อมุ่งชะลอและสกัดกั้นการระบาดของเชื้อโรคอย่างเร่งด่วนและหยุดยั้งอัตราการเร่งของจำนวนผู้ป่วย

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ และมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ มาตรการเร่งด่วนเพื่อสกัดกั้นการระบาดในพื้นที่เป้าหมายเฉพาะ มาตรการและข้อปฏิบัติต่าง ๆ ตามข้อกำหนดนี้ มุ่งเพื่อการปฏิบัติการของพนักงานเจ้าหน้าที่อย่างเร่งด่วนในเขตพื้นที่สถานการณ์ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล (จังหวัดนครปฐม จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดสมุทรสาคร) และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดสงขลา) โดยให้ดำเนินการต่อเนื่องไปเป็นระยะเวลาอย่างน้อยสามสิบวันเพื่อเข้าควบคุมและชะลอการระบาด