หน้า:ข้อกำหนดตาม ม ๙ (ฉ ๒๕, ๒๕๖๔-๐๖-๒๖).pdf/4

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

เล่ม ๑๓๘ ตอนพิเศษ ๑๔๐ ง

๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๓
หน้า ๔
ราชกิจจานุเบกษา

(๔) กิจกรรมการรวมกลุ่ม ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่ายี่สิบคน เว้นแต่กรณีได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมที่ดำเนินการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นสถานกักกันโรค

ข้อ ๕ มาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดในเขตชุมชน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่และเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดกวดขันการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อในการเข้าไปตรวจตราเขตชุมชน ตลาด หรือสถานที่ที่ได้ประเมินแล้วว่ามีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรค โดยดำเนินการร่วมกับกระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจคัดกรองเชิงรุก และเร่งค้นหาผู้ติดเชื้อเพื่อมุ่งจำแนกและจำกัดเขตพื้นที่การระบาด และจัดให้ผู้ที่มีความเสี่ยงหรือผู้ติดเชื้อเข้ารับการแยกกัก กักกัน หรือคุมไว้สังเกต หรือเข้ารับการรักษาตามกระบวนการทางสาธารณสุขต่อไป

เมื่อพบแหล่งที่มีการระบาดของโรคแบบกลุ่มก้อน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัดอาจดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อเพื่อมีคำสั่งปิดเขตชุมชนหรือสถานที่ดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราว หรือกำหนดเงื่อนไขเพื่อกำกับหรือจำกัดการเคลื่อนย้ายเดินทางเข้าออกพื้นที่ระบาด และดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรคที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดต่อไป ทั้งนี้ การออกคำสั่งของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัดดังกล่าวให้เป็นไปตามแนวทางที่นายกรัฐมนตรีหรือ ศบค. กำหนดด้วย

ข้อ ๖ การให้ความช่วยเหลือประชาชน เมื่อได้มีคำสั่งและดำเนินมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดตามข้อ ๕ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร หรือจิตอาสาโดยการสนับสนุนจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร จังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ความช่วยเหลือบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งปิดสถานที่หรือจำกัดการเดินทางเข้าออกพื้นที่จากการระบาดแบบกลุ่มก้อนในเขตชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ หรือบุคคลที่ควรได้รับความช่วยเหลือตามความเหมาะสม

ข้อ ๗ กำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมและตรวจคัดกรองการเดินทาง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่โดยการสนับสนุนจากศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง กระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจ หรือจุดสกัดเพื่อคัดกรองการเดินทางตามแนวทางที่ ศปก.ศบค. กำหนด เป็นระยะเวลาอย่างน้อยสามสิบวัน โดยกำหนดรายละเอียดแยกตามพื้นที่ ดังนี้

(๑) เส้นทางคมนาคมเข้าออกจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดสงขลา) การตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจ หรือจุดสกัดเพื่อตรวจคัดกรองการเดินทาง ให้ดำเนินการอย่างเข้มงวด เพื่อสกัดกั้นและยับยั้งการระบาดของโรคอย่างรวดเร็วและเด็ดขาดโดยบุคคลที่ประสงค์จะเดินทางออกนอกพื้นที่จังหวัดตามข้อนี้ ต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชน