หน้า:ข้อกำหนดตาม ม ๙ (ฉ ๒๘, ๒๕๖๔-๐๗-๑๘).pdf/1

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

เล่ม ๑๓๘ ตอนพิเศษ ๑๖๐ ง

๑๘ กรกฎาคม ๒๕๖๔
หน้า ๑
ราชกิจจานุเบกษา

ข้อกำหนด
ออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนด
การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘
(ฉบับที่ ๒๘)

ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ นั้น

โดยที่สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด - 19 ที่มีการกลายพันธุ์เป็นหลายสายพันธุ์ยังคงทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเสี่ยงที่จะเกิดภาวะวิกฤติด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งรัฐบาลโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่าง ๆ ได้ดำเนินการอย่างเข้มแข็งและจริงจังในการเพิ่มศักยภาพด้านการตรวจคัดกรอง การรักษาพยาบาล และการเร่งรัดการจัดฉีดวัคซีนให้กับประชาชน อย่างไรก็ตาม เมื่อได้มีการประเมินสถานการณ์ภายหลังการมีผลใช้บังคับของข้อกำหนด (ฉบับที่ ๒๗) ลงวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ ปรากฏว่ายังไม่อาจชะลออัตราการเพิ่มของจำนวนผู้ติดเชื้อและจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเฝ้าระวังอาการโดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่เป็นผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และกลุ่มผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และภูมิภาคหลายจังหวัดที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมีแนวโน้มต่อเนื่อง ซึ่งมักเป็นการติดเชื้อจากการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในครอบครัวและชุมชน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องยกระดับความเข้มข้นของมาตรการและการบังคับใช้อย่างจริงจังเพิ่มเติมขึ้นจากข้อกำหนดที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้า เพื่อเร่งแก้ไขและบรรเทาสถานการณ์ฉุกเฉินให้คลี่คลายลงโดยเร็วที่สุด

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ และมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลาย ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ความมุ่งหมายของมาตรการ มาตรการและข้อปฏิบัติต่าง ๆ ในข้อกำหนดฉบับนี้มุ่งหมายเพื่อกำหนดมาตรการที่จำเป็นและต้องเร่งดำเนินการโดยด่วน เพื่อลดการออกนอกเคหสถานของประชาชนอันเป็นเหตุให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่ของโรคติดเชื้อโควิด - 19 โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล และจังหวัดที่ได้กำหนดเป็นเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เนื่องจากมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น และโดยส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อโรคกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลด้าที่แพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วและส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชีวิตและสุขภาพ โดยเฉพาะบุคคลกลุ่มเสี่ยงทั้งผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่แม้บุคคลเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วมักจะอยู่ประจำในที่พำนัก แต่ประวัติการสัมผัสเชื้อมักเกิดขึ้นในครอบครัว โดยการติดต่อสัมผัสกับบุคคลที่ได้มีการเดินทาง ซึ่งจากข้อมูลพบว่า การติดเชื้อและแพร่ระบาดในครอบครัวและเขตชุมชนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีอัตราเพิ่มจำนวนขึ้นสูงมากแม้จะได้มีการเร่งฉีดวัคซีนเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่แล้วก็ตามแต่ย่อมต้องอาศัยระยะเวลาเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน