หน้า:ข้อกำหนดตาม ม ๙ (ฉ ๔๗, ๒๕๖๕-๐๗-๒๗).pdf/1

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

เล่ม ๑๓๙ ตอนพิเศษ ๑๗๕ ง

๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๕
หน้า ๑๖๙
ราชกิจจานุเบกษา

ข้อกำหนด
ออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนด
การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘
(ฉบับที่ ๔๗)

ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ นั้น

โดยที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ในหลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งในทวีปเอเชียมีแนวโน้มพบการติดเชื้อเพิ่มขึ้นในลักษณะที่เป็นการระบาดระลอกเล็ก ๆ (Small Wave) อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 สายพันธุ์ย่อยโอมิครอน (Omicron) BA.4 และ BA.5 ภายหลังที่หลายประเทศได้ดำเนินนโยบายเปิดประเทศควบคู่กับการผ่อนคลายมาตรการควบคุมและป้องกันโรค สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยแม้ว่าประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่เข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น (Booster Dose) จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงปรากฏการระบาดลักษณะเป็นกลุ่มก้อนในสถานที่เสี่ยงโดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้งจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ส่งผลให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยกำลังรักษาและผู้ป่วยหนักเพิ่มขึ้นจากเดิม ขณะที่องค์การอนามัยโลกยังคงระดับการเฝ้าระวัง การป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคโควิด - 19 เป็นโรคระบาดใหญ่ (Pandemic) กอปรกับโรคติดเชื้อนี้ยังคงกำหนดเป็นโรคติดต่ออันตรายตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. ๒๕๕๘ ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบอยู่ระหว่างการดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระยะ Post-Pandemic รัฐบาลโดยข้อเสนอของฝ่ายสาธารณสุขจึงเห็นควรปรับมาตรการเพื่อการป้องกันและควบคุมโรคที่จำเป็นสำหรับการดำเนินกิจกรรมบางประการ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์ย่อยใหม่ต่าง ๆ รวมถึงการเตรียมความพร้อมของทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนการบริหารจัดการโรคโควิด - 19 เข้าสู่ระยะเปลี่ยนผ่านอันจะทำให้การบริหารจัดการด้านสาธารณสุขเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายด้านการเปิดประเทศและการฟื้นฟูเศรษฐกิจดำเนินไปควบคู่กับมาตรการด้านสาธารณสุขได้อย่างเข้มแข็งและสมดุล

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ และมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลายตามคำแนะนำของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) (ศบค.) ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ การกำหนดพื้นที่สถานการณ์จำแนกตามเขตพื้นที่จังหวัด ให้การกำหนดระดับของพื้นที่สถานการณ์ที่ทุกเขตพื้นที่จังหวัดทั่วราชอาณาจักรเป็นพื้นที่เฝ้าระวัง เพื่อการบังคับใช้มาตรการ