หน้า:คดีอาญา - ถวิล ระวังภัย - ๒๔๗๗.pdf/14

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

มิได้บัญญัติไว้ในกฎหมายไม่ได้. เว้นแต่จะปฏิบัติตามวิถีทางแห่งนีติบัญญัติ, สำหรับประเทศสยาม. พระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. ๒๔๗๒ บัญญัติไว้ในมาตรา ๔ ว่า แม้จะไม่มีสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนก็ดี ถ้ารัฐบาลสยามพิจารณาเห็นเป็นการสมควร ก็อาจส่งตัวบุคคลผู้ต้องหาหรือที่พิจารณาเป็นสัตย์ว่า กระทำผิดมีโทษอาชญาภายในเขตต์อำนาจศาลของต่างประเทศใด ๆ ให้แก่ประเทศนั้น ๆ ได้. แต่การกระทำผิดเช่นว่านี้ต้องเป็นความผิดซึ่งกฎหมายสยามกำหนดโทษจำคุกไม่น้อยกว่า ๑ ปี.

ได้มีหลายประเทศพยายามที่จะให้การส่งผู้ร้ายข้ามแดนเป็นระเบียบเดียวกันหมดในทุก ๆ ประเทศ, ถึงกับได้มีการประชุมกันทำความตกลงเป็นหลายครั้งหลายคราว เช่น ในคราวประชุมปี ค.ศ. ๑๙๐๒. รัฐต่าง ๆ ในทวีปอเมริการวม ๑๒ รัฐได้ทำความตกลงกันในเรื่องส่งผู้ร้ายข้ามแดน, แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ เพราะหลายประเทศไม่ยอมให้สัตยาบัน. มีบางคนเห็นว่า ความดำริอันนี้จะไม่มีทางสำเร็จได้เลย.

ตามหลักทั่วไปที่ว่า สัญญาต่าง ๆ ย่อมยกเลิกเมื่อเกิดสงครามนั้น, ก็จำต้องถือว่า สัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนก็หมดอายุในเมื่อเกิดการสงครามขึ้นในระหว่างประเทศคู่สัญญา. เมื่อคราวมหายุทธสงคราม ค.ศ. ๑๙๑๔–๑๙๑๘ ก็เป็นเช่นนั้น. เมื่อเลิกสงครามแล้ว, ประเทศฝรั่งเศสได้แจ้งไปยังประเทศเยอรมันและประเทศออสเตรียฮังกา