หน้า:คดีอาญา - ถวิล ระวังภัย - ๒๔๗๗.pdf/22

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๑๕

(๓) เป็นการดูหมิ่นประเทศอื่นที่คิดเอาว่า ศาลแห่งประเทศนั้น ๆ จะไม่ยุตติธรรมพอ เพราะเหตุว่า ผู้ที่ขึ้นศาลนั้นไม่ใช่พลเมืองแห่งประเทศนั้น ถ้าไม่ไว้ใจกันในวิธีให้ความยุตติธรรมในประเทศทั้งสองแล้ว ก็ควรจะห้าม ไม่ใช่แต่เพียงไม่ส่งคนสัญชาติของตนข้ามแดนเท่านั้น ควรจะห้ามตลอดถึงการส่งผู้ร้ายข้ามแดนทั้งเรื่องทีเดียว

(๔) การห้ามไม่ให้ส่งคนสัญชาติตนข้ามแดนนั้น อาจมีกรณีที่ผู้กระทำผิดหลุดพ้นอาชญาไปได้เป็นอันมาก เช่น คนฝรั่งเศสที่ถูกจับและพิพากษาลงโทษในต่างประเทศในฐานที่ได้กระทำผิดในประเทศนั้นแล้วสามารถหลบหนีเข้ามาในประเทศฝรั่งเศส ศาลของฝรั่งเศสไม่มีอำนาจที่จะบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลประเทศอื่นได้ และทั้งเหตุที่เป็นคดีที่ได้ตัดสินเด็ดขาดแล้ว จะจับกุมฟ้องร้องผู้กระทำผิดใหม่อีกในประเทศฝรั่งเศสไม่ได้ นอกจากวิธีการที่ไม่ส่งสัญชาติตนข้ามแดนยังเป็นเหตุให้เกิดความไม่สะดวกได้อีกบางประการ คือ ในกรณีที่การกระทำผิดในต่างประเทศนั้นมีผู้กระทำด้วยกันหลายคน ซึ่งบางคนเป็นพลเมืองที่หลบหนีเข้ามาในประเทศที่ตนสังกัด ดั่งนี้ ก็ต้องมีการฟ้องร้องคดีถึงสองแห่งในความผิดอันเดียวกัน คดีหนึ่งต่อศาลท้องที่ที่เกิดเหตุ และอีกคดีหนึ่งต่อศาลแห่งประเทศของผู้หลบหนี ซึ่งอาจพิพากษาตัดสินไปคนละอย่างหรือลงโทษแตกต่างกัน