หน้า:คหก ขุนหลวงฯ - ๒๔๕๙.pdf/5

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
(๓)

พม่าซึ่งรู้แบบแผนขนบธรรมเนียมเปนกรรมการถามคำให้การทำนองเดียวกัน แต่การถามคำให้การอย่างนี้ ผู้ถามกับผู้ตอบพูดไม่เข้าใจภาษากัน ต้องใช้ล่ามแปลทั้งคำถามแลคำตอบ แล้วแต่ล่ามจะแปลว่ากะไร เมื่อล่ามแปลได้ความอย่างไร ก็จดลงเปนภาษาพม่า อย่างเราจดคำให้การพม่าลงเปนภาษาไทย เพราะฉนั้น หนังสือคำให้การขุนหลวงหาวัด ถ้ามีจริง ต้นฉบับเดิมคงเปนภาษาพม่า มิใช่ภาษาไทยที่หมอสมิธเอามาพิมพ์

ข้อ  ต้นฉบับคำให้การขุนหลวงหาวัดนั้น ถ้ามี คงจะมีอยู่ในหอหลวงเมืองพม่า ถ้าจะมีนอกจากฉบับหอหลวง ก็คงจะมีสำเนาอยู่ในกระทรวงเสนาบดีที่ได้มีน่าที่ถามคำให้การ เช่น กระทรวงมหาดไทยฤๅกระทรวงกระลาโหมของพม่า ว่าอย่างมากจะมีไม่เกิน ๔–๕ ฉบับ ทำไมจึงจะเข้ามาได้ถึงเมืองไทย แลมากลายเปนภาษาไทยอย่างวิปลาศเลอะเทอะเช่นหมอสมิธพิมพ์ ด้วยเหตุเหล่านี้ จึงสงไสยว่า หนังสือที่เรียกว่า “คำให้การขุนหลวงหาวัด” นี้ น่าจะเปนเรื่องราวที่ชาวกรุงเก่าผู้มีอายุอยู่มาจนในกรุงรัตนโกสินทร เรียบเรียงขึ้นไว้ตามรู้ตามเห็น ต่อมาเมื่อไม่รู้ว่าใครแต่งจึงไปเหมาให้เปนคำให้การของขุนหลวงหาวัดดอกกระมัง

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชาธิบายในเรื่องนี้ว่า หนังสือเรื่องคำให้การขุนหลวงหาวัดนั้น ฉบับเดิมจะได้มาอย่างไรแลได้มาเมื่อไรไม่ทรงทราบ แต่ฉบับหอหลวงของเรามีจริง ได้เคยทอดพระเนตรเห็นมาแต่ก่อน แต่ไม่