หน้า:คำพิพากษาฯ รัชกาลที่ 8 - ๒๔๙๘.pdf/31

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
(๑๕)

ในพระที่มาเทียบเคียงด้วยตาเปล่าและด้วยวิชา ปรากฏว่า รอยทะลุที่พระเขนยนั้นเล็กใกล้กับส่วนโตของหัวกระสุน ส่วนรอยทะลุในพระที่นั้นเป็นปากฉลาม กว้างมากตั้ง ๒๒ เซ็นต์ พอดีกับนิ้วมือล้วงได้ถนัด เมื่อปรากฏว่า กระสุนนัดเดียวกันทะลุในเวลาเดียวกัน รูผ้าที่กระสุนผ่านผิดแผกแตกต่างกันมากเช่นนี้ และประมวลเข้ากับเหตุผลต่าง ๆ เกี่ยวแก่หัวกระสุนของกลาง ตลอดจนเหตุที่ไม่สนใจว่า กระสุนทะลุหรือไม่ อย่างหนึ่ง และไม่กระตือลือล้นเอากระสุนออกจากในพระที่ในทันทีทันใดเมื่อทราบว่า กระสุนทะลุ อย่างหนึ่ง เป็นข้อที่แสดงว่า หัวกระสุนของกลางนั้นไม่ควรยึดถือโดยเด็ดขาดว่า เป็นหัวกระสุนทำให้ล้นเกล้าล้นกระหม่อมสวรรคต เพราะเหตุผลต่าง ๆ แสดงให้สงสัยเป็นอย่างมากว่า หัวกระสุนนัดที่ทำให้ล้นเกล้าล้นกระหม่อมสวรรคตนั้นคงถูกเปลี่ยนเอานัดของกลางเข้าแทน รอยบุบและเหตุผลจึงปรากฏดังกล่าว

ปัญหาเกิดแก่พนักงานสอบสวนต้องค้นหาต่อไปว่า ถ้าเปลี่ยน ใครเล่าเป็นผู้เปลี่ยน ผลการสอบสวนพยานและประกอบด้วยเหตุต่าง ๆ ที่กล่าวข้างต้น ได้ความชัดปราศจากข้อสงสัยว่า นายชิตมีบทบาทเกี่ยวแก่หัวกระสุนปืนของกลางมาแต่ผู้เดียว โดยปราศจากข้อสงสัยใด ๆ ว่า ถ้าเปลี่ยนกระสุน ผู้ที่เปลี่ยนก็ตัวนายชิตแต่ผู้เดียว

เกี่ยวแก่ท่าทางพระบรมศพนั้น ตามทางสอบสวนทุก ๆ ระยะมา คงได้หลักฐานเป็นที่แน่นอนว่า บรรทมหงายพระเศียรหนุนพระเขนย