หน้า:คำพิพากษาฯ รัชกาลที่ 8 - ๒๔๙๘.pdf/36

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
(๒๐)

เทียบกับการปฏิบัติอื่น ๆ แล้ว ดูเป็นการปฏิบัติขัดกันอยู่ และก็นับว่า เป็นข้อสำคัญที่เจ้าพนักงานสอบสวนจะต้องพิจารณา มิฉะนั้น ถ้าการสอบสวนปรากฏว่า มีคนเข้าไปลอบปลงพระชนม์แล้ว คำทหารยามนี้ก็จะขัดกันขึ้น จึงต้องพยายามติดตามทหารทั้ง ๒ ที่ปลดเป็นกองหนุนแล้วมาทำการสอบสวนให้กระจ่างชัด เดชะบุญก็ได้ตัวมาสมประสงค์ พนักงานสอบสวนจึงสอบถามถึงเริ่มแรกการรับราชการทหารจนมีโอกาสมาอยู่ยามที่พระที่นั่งบรมพิมาน คงได้ความว่า คนทั้ง ๒ เพิ่งมาอยู่ยามในหน้าที่ ๆ พระที่นั่งบรมพิมานเพียง ๒–๓ ครั้ง ๆ ละ ๒ ชั่วโมง รวมทั้งครั้งที่เกิดเหตุด้วย จึงสอบถามต่อไป ได้ความว่า ก่อนเข้ารับราชการทหาร ตลอดจนกระทั่งถึงวันเวลาเกิดเหตุนี้ ไม่เคยรู้จักชื่อมหาดเล็ก แม้แต่หน้าก็จำไม่ได้ว่า คนใดเป็นมหาดเล้ก คนใดไม่ใช่ ตามที่ให้การไว้ต่อศาลกลางเมืองว่า หลังเสียงปืนดังบนพระที่นั่งแล้ว ไม่มีคนอื่นลงบันไดจากพระที่นั่งสู่ถนนนอก นอกจากมหาดเล็กนั้น ก็ได้โดยความเข้าใจของเขา เพราะปรกติ คนลงจากบนพระที่นั่ง มีแต่มหาดเล็ก โดยเป็นผู้รับใช้พระเจ้าแผ่นดิน เขาจึงให้การว่า คนอื่นไม่มีลง มีแต่มหาดเล็ก พนักงานสอบสวนยังได้สอบหลักฐานบัญชีการอยู่ยามและผู้บังคับบัญชา ก็คงได้ความว่า ทหารทั้ง ๒ นี้พึ่งมาอยู่ยามในพระบรมมหาราชวังจริง เมื่อปรากฏดังนี้ พนักงานสอบสวนก็หายข้องใจในถ้อยคำของคนทั้ง ๒ ที่ให้การไว้ยังศาลกลางเมือง

ได้กล่าวมาแล้วว่า พนักงานสอบสวนกำหนดการสอบสวนทั้ง ๓