หน้า:คำพิพากษาฯ รัชกาลที่ 8 - ๒๔๙๘.pdf/40

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
(๒๔)

โปรดเกล้าให้นัดหมายพระราชกิจและให้เข้าเฝ้าไว้ในวันรุ่งขึ้นจากวันสวรรคต พนักงานสอบสวนชุดนี้จึงสอบหลักฐานพยานบุคคลและเอกสารมาประกอบให้แน่ชัดยิ่งขึ้นโดยปราศจากข้อสงสัย และยังได้สอบสวนพยานในประเด็นกว้างขวางออกไปว่า พระองค์ท่านทรงกริ้วหรือมีเหตุอะไรที่จะทำให้พระองค์เสียพระทัยมากมายบ้างหรือหาไม่ ก็ไม่ปรากฏว่า มีเหตุอะไรเลยแม้แต่น้อย เป็นแต่ปรากฏความว่า ใกล้ ๆ วันที่ถูกปืนสวรรคตนั้น นายปรีดี พนมยงค์ เข้าเฝ้า และมีความเห็นขัดแย้งกับพระองค์เกี่ยวแก่การแต่งตั้งบุคคลที่จะเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เหตุขัดแย้งไม่เป็นที่ตกลงกันได้ เมื่อนายปรีดีกลับจากเข้าเฝ้าแล้ว พระองค์รับสั่งกับพระราชชนนีว่า เรื่องตั้งผู้สำเร็จราชการไม่ตกลง ดูนายปรีดีเขาโกรธมาก และรับสั่งต่อไปว่า เอาไว้วันจันทร์ (คือ รุ่งขึ้นจากวันสวรรคต) จะเชิญประธานสภาทั้ง ๒ มาปฤกษา (เวลานี้มี ๒ สภา คือ สภาผู้แทนราษฎร และสภาสูง) นายปรีดียังพูดกับมหาวงศ์ว่า ต่อไปนี้ จะไม่สนับสนุนราชบรรลังก์ เมื่อเป็นดังนี้ นับว่า เป็นกรณีหนึ่งที่พนักงานสอบสวนจะต้องพิจารณาต่อไป

ได้กล่าวมาแล้วว่า เวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๘ สวรรคตด้วยปืนนั้น นายปรีดีเป็นนายกรัฐมนตรีและเป็นผู้บังคับบัญชาสำนักพระราชวัง การแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ให้เพียงพอแก่สถานที่และความปลอดภัยในองค์พระมหากษัตริย์นั้นอยู่ในหน้าที่และความรับผิดชอบของนายปรีดี

เมื่อประมวลเหตุผลดังที่กล่าวมาแต่หนหลัง ท่านผู้อ่านพอจะ