หน้า:คำพิพากษาฯ รัชกาลที่ 8 - ๒๔๙๘.pdf/622

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๕๖๙

กษัตริย์นั่นเอง โจทก์ไม่มีข้อสงสัยในถ้อยคำของนายวงษ์ เชาวนะกวี ว่า จะเสกสรรค์ปั้นเรื่องมากล่าวใส่ร้ายนายปรีดี พนมยงค์ ด้วยเหตุผลประการใด เป็นข้อที่ควรรับฟังได้ เหตุผลเป็นมาอย่างไรจึงทำให้นายปรีดี พนมยงค์ ถึงกับกล่าวเช่นนั้น ตัวนายปรีดี พนมยงค์ คนเดียวเป็นผู้รู้ดี ส่วนคนภายนอกจะทราบได้ก็เพียงเท่าที่มีพฤติการณ์แวดล้อมและตัวนายปรีดี พนมยงค์ แสดงออกให้ปรากฏเท่านั้น ประกอบกับกรณีที่ล้นเกล้าล้นกระหม่อมทรงรับสั่งกับหม่อมราชวงศ์สุมนชาติ พยานโจทก์ เป็นทีเล่นทีจริงว่า จะสละราชสมบัติให้ในหลวงองค์ปัจจุบัน แล้วสมัครเป็นผู้แทนราษฎร เมื่อไดรับเลือกแล้ว มีโอกาสได้เป็นนายกรัฐมนตรี นั้น ก็เป็นข้อเท็จจริงที่ควรฟังได้เช่นกัน การรับสั่งเช่นนี้จะเป็นเรื่องที่ล้นเกล้าล้นกระหม่อมทรงตั้งพระทัยจริงหรือไม่ก็ตาม โจทก์เห็นว่า เป็นเรื่องที่อาจเป็นไปได้ ยิ่งเมื่อปรากฏเป็นที่ประจักษ์อย่างเปิดเผยว่า ล้นเกล้าล้นกระหม่อมทรงสนพระทัยในกิจราชการบริหารเป็นพิเศษ เช่น ให้ข้าราชการชั้นอธิบดีเข้าเฝ้า และทรงรับฟังเหตุการณ์เกี่ยวกับบ้านเมือง ดังได้เรียนมาแล้ว นายปรีดี พนมยงค์ ย่อมจะรู้สึกว่า อาจไม่ใช่ทรงรับสั่งเล่น ๆ หรือตอนแรกว่าเล่น แต่สุดท้ายอาจเป็นความจริงขึ้นมาก็ได้ เมื่อประชาชนรักพระมหากษัตริย์มากถึงขนาด การเป็นนายกรัฐมนตรีของล้นเกล้าล้นกระหม่อมดูจะไม่ยาก หากสภาพการเป็นจริงเช่นนั้น ฐานะของนายปรีดี พนมยงค์ ตลอดจนพวกที่ร่วมทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาด้วยกัน จะเป็นอย่างไรต่อไป เหตุการณ์บ้านเมือง